เรื่องเล่าจากโครงการอบรมเขียนบำบัดแก่ผู้ต้องขัง รุ่นที่ 3 ของเรา (1)

 

…บทเรียนจากความทุกข์ มุมมองที่เปลี่ยนไป…
 
การเขียนบำบัดเป็นเครื่องมือเรียบง่ายที่ทรงพลัง ซึ่งไม่เพียงช่วยเหลือด้านอารมณ์หรือการผ่อนคลายความรู้สึกของผู้เขียน ยังช่วยในการใคร่ครวญ ย้อนมองชีวิต และตกผลึกความคิดเกี่ยวกับตนเอง
โครงการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาผ่านการเขียนบำบัด กลุ่มผู้ต้องขังแดนหญิงในเรือนจำสมุทรปราการ ที่เราได้ดำเนินการตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา จนครบจำนวน 12 ครั้ง ในการชวนผู้ต้องขังได้ดูแลตนเองผ่านการเขียนบำบัด 4 รูปแบบ
การย้อนมองความทุกข์ของตนเอง ด้วยเครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสม ทำให้เราเกิดการยอมรับและความเข้าใจ เราอาจจะ “เสียใจ” ในสิ่งที่เคยทำหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่มันก็จะทำให้เรา “กลับใจ” ด้วย ซึ่งจะทำให้เราเริ่มต้นใหม่ได้ดีกว่าเดิม แม้จะไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ แต่เราแก้ไขอิทธิพลจากอดีตได้
.
เราพบข้อความในสมุดของผู้เรียน ที่เป็นการถอดบทเรียนจากความทุกข์ในอดีตที่ผ่านมา พวกเขาบางคนเล่าว่า
“ความทุกข์นี้เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งเรามองรอบๆข้างต่างก็มีความทุกข์คนละแบบ ซึ่งต้องแก้ปัญหากัน และก็เป็นบทเรียนที่ไม่อาจจะลืมได้เลย ถ้าเราเอาความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน จะทำให้เราไม่กล้ากลับไปทำ และต้องทบทวนก่อนที่จะทำในครั้งต่อไป ความทุกข์ที่เป็นบทเรียนและสอนให้เราต้องจดจำไปตลอดชีวิต คือความผิดพลาดเกี่ยวกับการทำงานที่มีการวางแผนไว้ไม่ถี่ถ้วน ทำให้มีปัญหาพอกพูนจนไม่สามารถแก้ไขได้ พัวพันไปหมด ไม่มีทางแก้ไขจนถึงขั้นต้องโดนฟ้องและจำคุกในที่สุด ซึ่งเป็นความทุกข์อันยิ่งใหญ่ในชีวิต ต้องจดจำไปตลอด คิดถึงทุกครั้งก็เสียใจ และทำให้ครอบครัวเสียใจไปกับเหตุการณ์ที่เรากระทำไปด้วย”
“ความทุกข์ที่ผ่านมาสอนฉันหลายอย่าง และเรารู้ว่าใครที่รักเราจริงๆและรักเราที่สุด แม่จ๋า ถ้าลูกได้ออกไป จะไปกราบแม่ที่แสนดีที่สุด รอลูกก่อนนะแม่ ลูกจะพาไปทานอาหารอร่อยและดีที่สุด ไปซื้อเสื้อผ้าใหม่ พาไปทำบุญ คิดถึงพ่อจัง พ่ออยู่บนสวรรค์จะเห็นลูกสาวคนนี้ไหมนะ สักวันเราคงได้เจอกันนะ”
“คนเราเวลาทำความผิดก็ทุกข์แล้ว บางครั้งเราก็ทุกข์เรื่องของคนอื่น เรื่องคนในครอบครัวและคนรอบข้าง ความทุกข์สอนให้เรามีสติเวลาที่จะทำอะไรให้คิดให้รอบคอบ ถ้าเราคิดดีทำดี จิตใจแจ่มใส เราก็จะลืมเรื่องที่ทำให้เราทุกข์ได้เสมอ ขอบคุณเหตุการณ์หรือสิ่งที่เคยเจอเคยได้รับ เราผ่านเหตุการณ์หลายอย่างมา บางครั้งไม่น่าจดจำบางครั้งก็น่าจดจำ บางเหตุการณ์มันทำให้เราได้คิดทบทวน สอนให้เรารู้จักระวังตัวเรา และต้องมีสติ”
“ความทุกข์ที่ผ่านมาสอนให้ดิฉันรู้สึกว่า การตัดสินใจที่ผิดทำให้เราต้องมาตกนรกทั้งเป็น ใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างมาก เพื่อก้าวผ่านมรสุมชีวิตที่ต้องพบเจอไปให้ได้ เพื่อคนที่รอคอยเราอยู่ข้างหลัง ความคิดถึงไม่ว่าจะเป็นบ้าน เป็นลูกๆหรือหลานๆ มันทรมานจิตใจมากค่ะ ถึงอย่างไรดิฉันก็ต้องขอขอบคุณเหตุการณ์ที่ผ่านมา สอนให้ดิฉันมีความอดทนอดกลั้น และเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้ฉันได้มีโอกาสเรียนในสิ่งที่ฉันยังไม่เคยได้รู้มาก่อน เช่น จับจีบผ้า นักธรรมตรี พัชรธรรม เป็นต้น ทำให้ดิฉันได้รับความรู้ดีๆติดตัวออกไปเพื่อใช้ประโยชน์ และนำไปปฏิบัติต่อได้เมื่อพ้นโทษ สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ใจคน ศึกษาเท่าไรก็ไม่จบสักที สมกับคำโบราณท่านว่าไว้จริงๆ “อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง” หรือ “ใจมนุษย์ยากแท้หยั่งถึง”
“ดิฉันได้รับบทเรียนราคาแพงจากความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ในอดีตเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้ดิฉันคิดได้ว่าสิ่งใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผิดกฎหมาย ดิฉันจะไม่ขอเข้าไปข้องเกี่ยวกับมันอีกเลย การที่ได้เข้ามาอยู่ในเรือนจำเหมือนตกนรก แต่ก็ได้บทเรียนสองแง่สองมุม มีทั้งข้อดีและข้อเสีย”
.
ข้อความเหล่านี้มาจากบันทึกของผู้เขียนเอง ในช่วงการเรียนการเขียนบำบัดแบบที่ 2 คือการเขียนใคร่ครวญ “Reflection Writing” ซึ่งเป็นขั้นบันไดถัดจากการเขียนแบบที่ 1 นั่นคือการเขียนเล่าเรื่อง “Narative Writing”
ขณะอบรม พวกเขาบอกเล่าประโยชน์ของการเขียนไว้ว่า “เราพูดอะไรออกไป พูดแล้วก็ลืม เพราะอายุเยอะแล้ว แต่เขียนแล้วมันจะไม่ลางเลือน มันมีความจำในนี้ คำพูดสู้สมุดไม่ได้”, “ได้เห็นว่าชีวิตที่ผ่านมาได้เจอปัญหาหลายอย่าง แต่สุดท้ายเราก็ผ่านมาได้ เราสามารถเก็บมาเป็นบทเรียน เป็นแรงผลักดันให้กับชีวิตต่อไป”
“ทำให้เรามองโลกดีขึ้น มองเห็นคนที่แย่กว่าเราเยอะมาก ชีวิตเรายังไม่เคยถึงจุดนั้นเลย จากที่เรามองแง่ลบ ร้องไห้ คิดนุ่นนี่ หลายอย่างที่เราคิดไปเอง พยายามมองโลกในแง่ดี ปรับปรุงตัวเองเรื่องคำพูดมากขึ้น บางคำที่พูดไปแล้วคนอื่นไม่ชอบ หรือดูก้าวร้าวกับเค้า ก็ทำให้เกิดความทุกข์ พอเราไปแรงใส่ ทุกคนก็เกิดอารมณ์ ต่างคนต่างแรงใส่ เราเลือกที่จะเงียบ และปรับปรุงตัวเองดีกว่า มีเมตตาต่อกัน ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าจิตใจทุกคนมันไม่ได้แย่เหมือนที่เราเคยคิด ทุกคนก็มีจิตใจที่ดี ขึ้นกับว่าจะแสดงออกอย่างไรออกมา”
ด้านล่างนี้เป็นคำบอกเล่าในการสัมภาษณ์ส่งท้ายโครงการ เรารับฟังแล้วก็รู้สึกยินดีไปกับเขา ที่การเขียนบำบัดและกระบวนการในการให้ได้คุยและรับฟังกัน มิได้เพียงช่วยให้เขารู้สึกดีกับตนเองมากขึ้น แต่ยังทำให้เขามีมุมมองต่อโลกและผู้อื่นด้วยความเข้าใจ และเห็นใจมากขึ้น มุมมองที่เปลี่ยนไปบวกกับใจที่ดีขึ้น ย่อมทำให้เขาสามารถเลือกทางเดินที่มีคุณค่าต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมมากขึ้นหลังจากได้พ้นโทษแล้ว
สุขภาวะทางปัญญาที่ดีขึ้นของคนๆ หนึ่ง และกลุ่มคนเล็กๆ ที่เคยผิดพลาด เป็ของขวัญที่มีค่าต่อโลกใบนี้
.
อ่านรายงานโครงการนี้ได้ที่
.
เข้าร่วมกิจกรรมรับสมัครบุคคลทั่วไป เพื่อสนับสนุนโครงการของเรา