โครงการ พัฒนาสุขภาวะทางปัญญาผ่านการเขียนบำบัด กลุ่มผู้ต้องขังแดนหญิงในเรือนจำสมุทรปราการ

โครงการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาผ่านการเขียนบำบัด

กลุ่มผู้ต้องขังแดนหญิงในเรือนจำสมุทรปราการ

 

 

ระยะเวลาดำเนินโครงการ เดือน กุมภาพันธ์ 2566 – ตุลาคม 2566 (รวม 12 วัน)

 

วัตถุประสงค์โครงการ ส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญาแก่ผู้ต้องขังแดนหญิงที่มีโรคเจ็บป่วยเรื้อรังและไม่มีโรคเรื้อรัง ผ่านกระบวนการเขียนบำบัด พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้เครื่องมือนี้เป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยและบุคคลทั่วไป เป็นที่แพร่หลายในสังคมมากขึ้น

 

ผู้ดำเนินโครงการ

  1. นายอนุรักษ์ เม่นหรุ่ม (ครูโอเล่) วิทยากร สถาบันธรรมวรรณศิลป์, ผู้รับผิดชอบโครงการ
  2. สพ.ญ.ณัชชารีย์ สิรินธรานนท์ (หมอผึ้ง), อาสาสมัครโครงการ
  3. นางณัชชา คำเครือ (คุณติบ) พยาบาลชำนาญการ โรงพยาบาลบางบ่อ, ผู้ประสานงานโครงการ

 

ในความร่วมมือระหว่าง สถาบันธรรมวรรณศิลป์ โรงพยาบาลบางบ่อ และเรือนจำกลางสมุทรปราการ ให้การสนับสนุนโดย โครงการสุขภาวะทางปัญญาเพื่อการขยายเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะด้วยพุทธกระบวนทัศน์

โครงการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาผ่านการเขียนบำบัด กลุ่มผู้ต้องขังแดนหญิงในเรือนจำสมุทรปราการ ได้จัดการอบรมอย่างต่อเนื่องจำนวน 12 ครั้ง เดือนละ 1-2 ครั้ง และทำการเก็บข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนกันยายน โดยใช้การเขียนบำบัดในรูปแบบ Narrative Writing (การเขียนเล่าเรื่อง), Reflection Writing (การเขียนใคร่ครวญ), Persuasive Writing (การเขียนจูงใจ) และ Article Craft (การเขียนงานสร้างสรรค์) พร้อมกับการส่งเสริมการเขียนบันทึกในชีวิตประจำวัน โดยมีผู้ต้องขังแดนหญิงที่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องจำนวน 19 คน มีร้อยละ 68.42 ที่ได้มีการเขียนบันทึกอย่างต่อเนื่องทั้งในระหว่างการอบรมและในชีวิตประจำวัน

 

ผลการเก็บแบบประเมินก่อนหลังพบว่า ค่าเฉลี่ยของการตอบคำถามมีคะแนนเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมากขึ้น โดยมีค่า P-value เท่ากับ 0.03 (T-Test) และเมื่อเทียบคะแนนรายบุคคลเฉพาะแบบประเมินสุขภาวะทางปัญญาของ สสส. มีค่า P-value เท่ากับ 0.04 (T-Test) และเมื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงรายหัวข้อของทุกแบบประเมินในหัวข้อที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเปอร์เซ็นต์สูงกว่าค่าเฉลี่ยพบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการมีการพัฒนาในด้านการฟื้นตัวจากความทุกข์ในอดีต การมีมุมมองเชิงบวกกับตนเอง ความสามารถปรับตัวในการอยู่ในเรือนจำ ความสามารถในการดูแลจัดการความรู้สึกของตนเอง การยอมรับและเข้าใจคนอื่น ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มและสังคม และการเห็นคุณค่าของตนเองจากสิ่งที่ทำและผลกระทบต่อส่วนรวม

 

ผลการเก็บข้อมูลจากสมุดบันทึกพบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการร้อยละ 73.68 มีความเข้าใจในคุณค่าของตนเองมากขึ้น สามารถกำหนดเป้าหมายในอนาคตและการชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าและมีความสุข โดยวิเคราะห์จากงานเขียนก่อนหลังการเข้าโครงการ และการเก็บข้อมูลจากเนื้อหาในบันทึกที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าของตนเองและการวางเป้าหมาย โดยนอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเขียนเพื่อดูแลจิตใจของตนเอง ถอดบทเรียนจากชีวิตและความทุกข์ที่เคยประสบพบเจอได้

 

ในการให้สัมภาษณ์ผ่านการแลกเปลี่ยนในกลุ่ม ผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ได้บอกเล่าถึงการมีความสุข ความหวัง และกำลังใจในการอยู่ในเรือนจำ สามารถปรับตัวได้ดีมากขึ้น มีความเข้าใจต่อเพื่อนร่วมเรือนจำมากกว่าเดิม มีการเปลี่ยนแปลงในด้านอารมณ์ การมีสติ มุมมองเชิงบวก การคลี่คลายจากความท้อแท้ และการคิดทบทวนสิ่งต่างๆ ได้ดีมากกว่าเดิมหลังจากการได้เข้าโครงการ โดยได้สะท้อนถึงคุณประโยชน์จากการเขียนบันทึก อาทิ ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ได้ทบทวนชีวิต ได้เตือนใจตนเอง มีความหวัง และการเกิดข้อคิดในเรื่องต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต

 

อ้างอิงจากองค์ประกอบของสุขภาวะทางปัญญาจากการวิจัยของโครงการ ความสุขประเทศไทยและธนาคารจิตอาสา ร่วมกับ ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้ง 16 ด้าน เมื่อเทียบกับข้อมูลจากแบบประเมิน การเขียนบันทึก และการให้สัมภาษณ์จึงพบว่าการเขียนบำบัดที่ประกอบด้วยสี่รูปแบบและการเขียนบันทึกอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญาของผู้ต้องขังหญิงที่เข้าร่วมโครงการ

เอกสารรายงานโครงการ *ขอสงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่เว้นได้รับอนุญาตจากผู้เกี่ยวข้อง

โครงการการเขียนบำบัดร่วมกับกระบวนการจิตปัญญาศึกษา เพื่อส่งเสริมสุขภาวะผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเอชไอวี

คำให้สัมภาษณ์หลังจบโครงการ

 

“ก่อนหน้านี้เป็นคนชอบคิดอะไรในใจเยอะๆ เป็นความคิดที่บั่นทอนความรู้สึก และไม่ค่อยได้พูดกับใคร ไม่ค่อยได้คุยกับใคร คิดไปเรื่อย แต่พอได้เข้ามาทำกิจกรรม มันเหมือนเราได้ระบายความรู้สึกที่มันอยู่ในใจของเรา ที่คอยบั่นทอนความรู้สึกของเรา ทำให้รู้สึกโล่งและผ่อนคลายขึ้นเยอะ จากที่เคยมีอะไรที่หนักอึ้งอยู่ในหัว ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาเยอะเลยค่ะ กิจกรรมต่างๆทำให้ได้ผ่อนคลายสมองมากขึ้น”

 

“ก่อนเข้ามาเรียน เราไม่ค่อยคบใคร ไม่ค่อยยุ่งกับใคร ไม่กล้าแสดงออกเท่าไร ตอนนี้รู้สึกดี ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ดีดี กล้าแสดงออกมากขึ้น”

 

“ได้ปรับสมดุล ก่อนเรียนเรายังไม่ได้ปรับสมดุลทางความคิด ยังรู้สึกว่าความคิดเรายังไม่ตกตะกอน หลายๆอย่างพอเรียนแล้วก็รู้สึกว่าเริ่ม balance ตัวเองได้ ส่วนตอนนี้ได้แรงบันดาลใจ ตั้งแต่เรียนมาทำให้รู้ชีวิตหลายๆคน มีความทรงจำทั้งดีและไม่ดี ทำให้เห็นว่าบางทีอดีตของคนอื่นมันทำให้รู้ได้เห็นมากขึ้นว่ายังมีคนอื่นที่แย่กว่าเราเยอะนะ ทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการออกไปทำชีวิตให้มันดีขึ้น เข้ามาวันแรกไม่มีสติเลย ด้วยคดีของเราด้วย ไม่มีสติ ร้องไห้อย่างเดียว ใครถามอะไรก็ร้องไห้ ถามว่ามาคดีอะไรก็ร้องไห้ เคสเรามันกระทบกระเทือนจิตใจเราเยอะพอสมควร พออยู่ไปเรื่อยๆ เริ่มฟุ้ง เหมือนคนเพ้อเจ้อไปเรื่อยๆ คิดหาคำตอบวนอยู่อย่างนั้น คิดวนไปแต่เราก็ไม่ได้คำตอบ อยู่ที่นี่ได้ประมาณหนึ่งเดือน ก็มาเจอคอร์ส เลยขออบรมด้วย อย่างที่บอก พอมันฟุ้งมาก ก็ต้องหาที่ระบาย เราต้องรอให้ความคิดมันตกตะกอน พอมันเริ่มตกตะกอน ทำให้ balance กันมากขึ้น”

 

“ตอนแรกเลยคือรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะอยู่ได้ รู้สึกกระวนกระวายว่าเราจะอยู่ได้ไหม เราเพิ่งเคยโดนครั้งแรก แต่พอได้เข้ามาอบรม ได้เจอเพื่อนๆก็รู้สึกดี เลือกไพ่ ภาพความทรงจำ เพราะมันทำให้เราได้เห็นภาพความทรงจำที่หมอและอาจารย์ได้มาสอนเราให้มีความทรงจำที่ดี เจอเพื่อน เจออาจารย์ที่ดี มาสอนให้เราทำความรู้จักมิตรภาพที่ดี ภาพที่สองคือไพ่ชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่หลังเข้าอบรมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เราได้รู้ ได้ทำความเข้าใจว่าถ้าวันข้างหน้าที่เราออกไปแล้ว เราจะมองหาการใช้ชีวิตใหม่ของเราจากการอบรมได้”

 

“ได้รับการสอนเหตุผลให้คุยกัน แก้ปัญหาต่างๆ แม้แต่เราอยู่ในคุก ได้สติในการตัดสินใจ ทำใจได้ดีมากขึ้น”

 

“ก่อนหน้าที่จะมาเรียน รู้สึกท้อ ไม่อยากขึ้นมาเรียน แต่มาวันนี้ พอเรียนจบแล้ว รู้สึกโอเคมาก ได้ความรู้ ได้การกล้าแสดงออก ให้เรากล้าพูดกล้าทำ เมื่อได้มาเรียนวิชานี้ ได้รู้จักเพื่อน รู้จักความคิดความอ่าน อะไรที่เราเคยทำผิดต่อกัน ถือโทษโกรธกัน ก็ให้อภัย ได้ความคิดความเข้าใจ สุดท้ายก็กลับมามีความสุข”

 

“ได้แนวความคิดว่าควรคิดอย่างไร แนวทางไหน ได้สิ่งที่มีประโยชน์ มีคุณค่า จากที่อาจารย์สอน ได้เรียนรู้ว่าเพื่อนร่วมห้องของเราเป็นคนอย่างไร เช่นคนนี้เป็นคนคิดมาก อย่าพูดอะไรที่ทำให้เค้าเครียด สุดท้ายเลือกการเฉลิมฉลอง ทุกคนเรียนสำเร็จแล้ว ได้มีความคิดดีดีและกล้าแสดงออก ได้ดูการจดบันทึกของแต่ละคนว่าเค้าคิดอะไรบ้าง ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงการดูลมหายใจเข้าออกเพื่อให้เกิดสมาธิ”

 

“ก่อนหน้านี้บางครั้งเราก็ตัดสินใจผิดพลาด คิดมาก จากการเรียนสอนให้เราตัดสินใจอย่างระมัดระวัง ระวังความใจร้อนของตนเอง ทำให้ใจเย็นขึ้น ไม่ทะเลาะกับคนอื่น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ใจเย็นขึ้น มีสมาธิขึ้น อดทนได้มากขึ้น สบายใจมากขึ้นเยอะ”

 

“ทำให้กล้าแสดงออก มีสติขึ้น ทำให้คิดได้ ทำให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งที่คิดว่าควรปรับปรุงตัวเอง คือควรใจเย็นมากขึ้น อยู่กับตนเองมากขึ้น ไม่วุ่นวายกับใคร”

 

“ทำให้เรามองโลกดีขึ้น มองเห็นคนที่แย่กว่าเราเยอะมาก ชีวิตเรายังไม่เคยถึงจุดนั้นเลย จากที่เรามองแง่ลบ ร้องไห้ คิดนุ่นนี่ หลายอย่างที่เราคิดไปเอง พยายามมองโลกในแง่ดี ปรับปรุงตัวเองเรื่องคำพูดมากขึ้น บางคำที่พูดไปแล้วคนอื่นไม่ชอบ หรือดูก้าวร้าวกับเค้า ก็ทำให้เกิดความทุกข์ พอเราไปแรงใส่ ทุกคนก็เกิดอารมณ์ ต่างคนต่างแรงใส่ เราเลือกที่จะเงียบ และปรับปรุงตัวเองดีกว่า มีเมตตาต่อกัน ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าจิตใจทุกคนมันไม่ได้แย่เหมือนที่เราเคยคิด ทุกคนก็มีจิตใจที่ดี ขึ้นกับว่าจะแสดงออกอย่างไรออกมา”

 

“ทุกวันนี้ทำอะไรต้องมีเป้าหมายของชีวิต บทเรียนวิชานี้ก็มีเป้าหมายว่าจะเรียนจบเมื่อไร เราจะได้อะไรบ้าง มีความรู้และแผนการที่ดีของตัวเราเองไหม เมื่อเราเรียนรู้กับเพื่อนที่คล้ายกัน ทำให้เรามีตัวอย่างของชีวิตเพื่อนที่คล้ายกัน ทำให้รู้สึกคบกันไปได้เรื่อยๆ”

 

“ตอนแรกที่เค้าให้มาเรียนก็สงสัยว่าเค้าอบรมคนที่เป็นจิต แต่เราไม่ได้เป็น ถ้าอบรมไปนานๆฉันจะเป็นจิตไหม พอได้มาอบรมแล้ว จริงๆไม่ได้เป็นอย่างที่เค้าพูดหรือเราคิด คุณหมอและวิทยากรได้ให้ความรู้ ให้ความมั่นใจกับตัวเราเอง ตลอดเวลาที่มีการอบรมแต่ละครั้ง ก็รู้สึกดี และอยากมาทุกครั้ง ทำการบ้านทุกครั้งที่มีให้ จะไม่เพิกเฉย ส่วนภาพที่สอง เตรียมพร้อม หลังจากพ้นโทษออกไป ก็จะเตรียมพร้อมสำหรับตนเอง ตั้งเป้าหมายว่าจะไปขายของ ทำอาหารขาย”

 

“เป็นคนไม่รู้หนังสือ ไม่กล้าคุยกับใคร เพราะความคิดไม่ค่อยมี พอมาเข้าอบรมแล้ว รู้สึกว่าดี ได้คุยได้พูด ได้ระบาย และไม่ปิดกั้นตัวเอง มีอะไรเราก็พูดและแสดงออกมากขึ้น อะไรที่อยากปรับปรุง หาเพื่อน คุยกับเพื่อน และคิดให้น้อยลง”

 

“ก่อนเรียนรู้สึกว่ามันไม่มีพื้นที่ปลอดภัย ไม่มี safe zone ในนี้ พอได้เรียน ได้สมุด ได้เขียนมากขึ้น ทำให้เราเหมือนมีเพื่อน ได้ใช้ความคิด ได้มีพื้นที่ทำให้ได้ปลดปล่อยความคิด หรือสิ่งที่เราไม่สามารถพูดกับใครได้เลย ส่วนเรื่องที่อยากปรับปรุงตัวเอง มีสติ และเลิกปากหมา”

 

“ได้สติมากขึ้น ได้แสดงออกมากขึ้น จากคนที่คิดว่าตัวเองไม่ค่อยอยากจะพูด ไม่ค่อยอยากจะอะไรกับใคร ก็ทำให้เราสามารถพูดกับเพื่อนได้ แคร์ความรู้สึกกัน บอกกันได้ ทำให้เรารู้สึกดี และพอมีสมุด บางอย่างที่เราคิดอยู่คนเดียวในใจ ไม่สามารถที่จะบอกใครในเรื่องของเราได้ เราก็สามารถที่จะเขียนลงสมุดได้ ทำให้เรารู้สึกดีเวลาได้ระบายสิ่งที่เราอึดอัดในใจออกไป มันทำให้เรารู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็มีสมุดที่ยังเก็บความลับของเราได้ มันไม่สามารถที่จะพูดให้ใครฟังได้ เพราะสมุดไม่มีปาก สิ่งที่อยากปรับปรุง คือนิสัยตัวเอง ชอบคิดมาก ชอบคิดเรื่องนุ่นนี่ ชอบคิดว่าพูดไปแล้วมันจะใช่ไหม พูดไปแล้วคนอื่นจะเชื่อไหม”

 

“พอได้เขียนความรู้สึก ทุกๆหน้าที่เขียนออกมา มันเป็นความรู้สึกจริงๆ ทำให้เราได้พูด ได้ระบายสิ่งที่เราคิดมาก เราเป็นคนมีปมเยอะในอดีต ชอบคิดบั่นทอนตัวเอง แต่พอได้คุย ได้พูด ทำให้รู้สึกว่าได้ระบายบางส่วนออกไปจากใจของเรา สิ่งที่คิดว่าควรพัฒนาขึ้นก็คือความคิด ซึ่งตอนนี้ก็รู้สึกว่าคิดอะไรที่เกี่ยวกับอดีตน้อยลง จะพยายามไม่รื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อบั่นทอนจิตใจตัวเองอีกแล้ว เพราะมันไม่ใช่นิสัยจริงๆของเรา เลือกคิดในสิ่งที่ควรคิด”

 

“ทำให้เรามีสติขึ้น และคิดอะไรได้หลายๆอย่างว่าอันนี้ต้องทำยังไง สิ่งที่อยากปรับปรุงตัวเอง คือกินให้น้อยลง”

 

“รู้สึกดีหลายๆอย่าง ที่เราได้แชร์ความรู้สึกกับเพื่อนฝูง สิ่งใดที่เราไม่เคยรู้ เราก็ได้รู้ จริงๆแล้วเป็นคนเรียนน้อย ความรู้ที่อาจารย์ให้ดี ทำให้เรารู้จักคิด รู้จักใช้สติของเรา สิ่งที่อาจารย์สอน เราจะนำไปปฏิบัติ มันคือการสอน และการแชร์ประสบการณ์ โดยปกติส่วนตัวแล้วเป็นคนไม่ยุ่งกับใคร”

 

“ภายในระยะเวลาที่อบรม ทำให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น กล้าพูดมากขึ้น และที่พี่ๆเพื่อนๆลูกๆน้องๆได้พูดถึงเรื่องตัวเอง ทำให้เรารู้สึกว่าเรายังดีกว่าพวกเค้าเยอะ ยังมีโอกาสที่มากกว่าเค้า ทำให้เรารู้สึกมีความหวัง มีกำลังใจ แต่เรื่องหนึ่งที่ยังปรับปรุงไม่ได้ คือขี้เกรงใจคน”

 

“มีอยู่วันหนึ่งเพื่อนทุกข์มาก และมาระบายกับเรา ซึ่งบางทีเราก็ให้คำแนะนำเค้ามากไม่ได้ ก็เลยยื่นสมุดให้ และให้เค้าเขียน พอเขียนเสร็จแล้วก็ถามเค้าว่ารู้สึกยังไง เค้าก็บอกว่าโอเค มันดีขึ้นนะ มันได้ปลดปล่อยบางสิ่งที่เค้าพูดกับเราไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นในภาษาเค้าหรือภาษาเราก็ตาม จบออกไปแล้วก็คิดจะเขียน เขียนไว้มันดีกว่า มันมี space ของเรามากขึ้น”

 

“เป็นคนช่างเขียนอยู่แล้ว และไม่ชอบเอาความรู้สึกตัวเองไปใส่ให้เพื่อน ยอมรับความรู้สึกของเพื่อนถ้าเพื่อนมีปัญหาอะไรมา แต่สำหรับเรามีสมุดกับกระดาษเป็นเพื่อน และก็จะบอกกับคนอื่นว่าเวลามีอะไร เราจะเขียนใส่หนังสือนะ คอยบันทึกเพื่อให้ได้ระบาย หรือไม่ก็แหกปากดังดัง ตะโกนดังดัง และมันก็จะโล่ง ซึ่งบางทีคนส่วนน้อยที่จะจดจ่อกับกระดาษและปากกา แต่สำหรับฉันก็ยังเขียนต่อไป”

 

“ชอบเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ และแนะนำให้คนอื่นเขียน”

 

“เขียนต่อไป บางทีเหงาๆว่างๆการวาดรูปก็ทำให้รู้สึกดีขึ้น”

 

“อยากจะแนะนำเพื่อน บางทีตอนที่ทำงาน มีพี่ที่เคยทำด้วยกันและออกไปแล้ว เค้าก็ถามว่าที่ไปอบรม อบรมอะไร เราก็ไม่รู้หรอกว่าอบรมอะไร แต่อบรมมาแล้ว หนูได้เขียนและก็ทำให้รู้สึกดีขึ้น เค้าก็บอกว่าลองเขียนหน่อยได้ไหม หนูก็เอาสมุดให้เขียน เค้าก็เขียน และก็ทำให้เค้ารู้สึกดี สิ่งที่เค้าเก็บไว้และไม่สามารถแชร์ความรู้สึกให้คนอื่นฟังได้ เค้าได้แชร์ของเค้าลงในกระดาษ กระดาษแผ่นหนึ่งสำหรับเค้ามันก็มีค่า เหมือนได้ปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ภายในใจเค้า หรือความทุกข์นั้นออกมา ก็อยากให้เพื่อนลองเขียนดู สิ่งที่เราเคยเรียน สิ่งที่เราเคยเขียนไว้ มันก็ทำให้เรารู้สึกดีเหมือนกัน ออกไปจากเรือนจำ ปกติหนูมีสมุดประจำตัวของตัวเองอยู่แล้ว ก็ชอบเขียน ชอบพูดกับหนังสือเหมือนกัน ทำให้เราดีขึ้น บางทีเราไม่สามารถนำความทุกข์ของเราไปแชร์ให้กับคนที่กำลังมีความสุข ให้มารับรู้ความทุกข์ของเราด้วย เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่”

 

“ต่อไปก็อยากเขียน diary ของตัวเอง อย่างน้อยถ้าวันหนึ่งไม่มีเราแล้วก็ให้คนอื่นรู้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตเราเป็นอย่างไร อยากบอกว่าอย่าเอาคำพูดคนอื่นมาบั่นทอนจิตใจตัวเอง เราต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง”

 

“เป็นคนชอบขีดชอบเขียนอยู่แล้ว หลังอบรมเสร็จ ก็คิดว่าจะหาหนังสือธรรมะมาอ่าน ข้อความตรงไหนที่เราชอบก็จะจดลงในสมุด รวมถึงถ้าออกไปแล้ว ก็จะมีสมุดบันทึกให้หลานๆทั้งสี่คน คนละเล่ม และสอนให้เค้าเขียนบันทึก อาจจะก่อนนอนหรือหลังทำการบ้านเสร็จ เราจะได้รู้ว่าหลานๆของเราแต่ละคน ที่กำลังเริ่มโต 10-11 ขวบ เค้ามีปัญหาอะไรไหมจากที่โรงเรียน หรือมีปัญหาอะไรบ้าง กำลังคิดทำอะไรอยู่ เราจะได้รู้ทันและแก้ไขได้ อาจมีบางเรื่องที่เค้าไม่กล้าบอกเรา ถึงเราจะบอกเค้าว่ามีปัญหาอะไรให้คุยกับแม่ เหมือนแม่เป็นแม่ของหนู แม่จะไม่ดุไม่ว่าจะช่วยสอนให้ แต่บางทีเค้าอาจจะไม่กล้าบอกเรา อาจจะให้เขียนบันทึกลงไป เราอาจจะแอบอ่าน เพื่อให้รู้ว่าเค้าเป็นอย่างไรกันบ้าง”

 

“ตั้งแต่ที่อาจารย์สอนเรามาตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้าย ทำให้เรามีความคิดหลายอย่าง ต่อไปจะทำยังไง หรือบางเรื่องที่เราคิดอยู่ในใจ ไม่รู้จะระบายกับใคร อาจารย์ก็จะให้เราเขียนบันทึกลงในสมุด เพื่อระบายความในใจ ทำให้ดีขึ้น ขอบคุณสิ่งดีดีที่มีให้ในวันนี้และที่ผ่านมา”

 

“ขอบคุณในทุกอย่างที่อาจารย์ให้พวกเรา ทำให้พวกเรากล้าที่จะแสดงออก ทุกอย่างที่สอนมามีประโยชน์มาก”

คำบอกเล่าเพิ่มเติมของผู้ดำเนินงาน

 

“ได้มีโอกาสทำโครงการดูแลผู้ต้องขังร่วมกับอาจารย์โอเล่อีกครั้งหนึ่ง  การดำเนินการในครั้งนี้ได้เป็นผู้ประสานงานในการที่จะหาผู้เข้าอบรมที่มีความสนใจและจัดเวลาจัดสถานที่ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้อบรมในบรรยากาศที่พอจะมีความเงียบและเป็นส่วนตัวในระดับหนึ่งซึ่งยากมากในเรือนจำกลางสมุทรปราการเนื่องจากการเป็นผู้ต้องขังมีข้อจำกัดหลายอย่าง

 

“ทำโครงการแรกๆ ก็รู้สึกกังวลใจแทนวิทยากรผู้จัดกระบวนการเนื่องจากว่าผู้ต้องขังหลายคนมีปัญหาในเรื่องของการเขียนและการใช้ภาษา แต่ละครั้งต้องอาศัยความใจเย็นและกระบวนการที่นิ่มนวลมากแต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ด้วยกระบวนการเขียน การให้ความเป็นส่วนตัว การเคารพความเป็นบุคคล มีกิจกรรมที่ให้แสดงออกที่หลากหลาย การรับฟังอย่างตั้งใจ ทำให้ สามารถสะท้อนความคิดความรู้สึกออกมาได้จนเกิดเป็นพื้นที่ที่ผุ้ต้องขังรู้สึกว่าปลอดภัย

 

“กิจกรรมในครั้งต่อๆ มาทำให้เห็นถึงพัฒนาการในด้านการเขียนการที่เขารู้จักใช้พื้นที่ที่เป็นสมุดของตัวเขาสมุดจะสวยขึ้นน่ารักขึ้นและมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นทุกๆสัปดาห์ที่เข้าไป และรู้สึกทึ่งมากเมื่อบางความคิดความรู้สึกที่ผู้ต้องขังแสดงออกมานั้นทำให้เราตระหนักและซาบซึ้งถึงความทุกข์ยากของมนุษย์หลายผู้หลายคนทำให้อุปสรรคต่างๆและความทุกข์ที่เราได้เจอในชีวิตส่วนตัวและการทำงานดูน้อยลงไปมากเลยและรู้สึกว่าเรามีเพื่อนทางด้านอารมณ์ความรู้สึกและความทุกข์ที่ไม่ต่างกันนัก

 

“การเขียนบำบัดน่าจะเป็นหนทางที่จะช่วยเยียวยาให้ผู้ต้องขังและบุคคลชายขอบ ผู้ด้อยโอกาส และคนที่มีข้อจำกัด ต่าง ๆ ได้มีโอกาสได้เรียนรู้โลกภายในของตนเอง  ด้วยตนเอง  ผ่านการเขียนบำบัดและการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง  เพื่อตระหนักว่าตนเองมีคุณค่าได้มากกว่าที่เคยรู้สึก

 

“สุดท้ายแล้ววันที่ต้องปิดกลุ่มเราสัมผัสได้ถึงความรักความอบอุ่นและกำลังใจที่ทุกคนมีเพิ่มมากขึ้นกำลังใจที่จะอยู่ต่อในเรือนจำอย่างเข้าใจและมีความสุขขึ้นรวมถึงกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไปเมื่อพ้นโทษ  มีภาพความหวังและกำลังใจที่เป็นของตนเอง เป็นที่ตระหนักรู้และดูแลตนเองได้

 

ขอขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางสมุทรปราการทุกคนที่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมในครั้งนี้ขอบคุณพยาบาลในเรือนจำทุกท่านที่ช่วยให้พื้นที่ที่ปลอดภัยนี้แก่ผู้ต้องขังให้ได้รับการอบรมและขอบคุณ สสส. และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ช่วยกันเยียวยาผู้คนสร้างหนทางให้ชีวิตเขาได้เดินหน้าได้ต่อไป

 

“สำหรับตัวเองรู้สึกดีขึ้นทุกครั้งที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มผู้ต้องขังและเข้าใจว่าชีวิตนี้คุณค่าที่มากที่สุดที่ทำให้หัวใจเราเบ่งบานและพองโตก็คือการที่เราได้เข้าใจและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

/ ณัชชา (กระติบ)

 

 

“นับเป็นรุ่นที่สามที่ได้จัดอบรมให้กับผู้ต้องขังเรือนจำสมุทรปราการ ต้องขอบคุณคุณติบและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายๆ คนที่ช่วยประสานงานให้โครงการในครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้อีกครั้ง และขอขอบคุณโครงการสุขภาวะทางปัญญาเพื่อการขยายเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะด้วยพุทธกระบวนทัศน์ สสส. และสถาบันยุวโพธิชน ที่ช่วยส่งเสริมทุนจนเกิดโอกาสในการทำโครงการในครั้งนี้ ซึ่งผมเองรอเหตุปัจจัยในการทำโครงการนี้ต่อเป็นเวลาประมาณแปดปีแล้ว และต้องขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับ อาจารย์ประชา หุตานุวัตร ครูผู้ล่วงลับซึ่งได้แนะนำให้ผมเข้าร่วมรับทุนในครั้งนี้เพื่อส่งต่อความรู้และเครื่องมืออันเป็นประโยชน์แก่คนชายขอบที่ขาดโอกาสการพัฒนาทางด้านใน ซึ่งยังมีอีกมากมายในสังคม

 

“ภาพฝันใหญ่ของผมไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมตามใจปรารถนาและจบลงไปเท่านั้น แต่เป็นการศึกษา ส่งเสริม และเผยแพร่การเขียนบำบัดไปในกลุ่มผู้คนในระดับต่างๆ ของสังคม โดยเฉพาะในเรือนจำทุกแห่งซึ่งควรได้ใช้เครื่องมือการเขียนบำบัดและรวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมด้านการอ่านเขียน เป็นโอกาสในการพัฒนาสุขภาวะทางจิตใจและปัญญา เพื่อบ่มเพาะคนให้สามารถ “เกิดใหม่” มีสติรู้คิด และพ้นโทษออกมาเป็นบุคลากรทางสังคมที่มีความเข้มแข็งในด้านต่างๆ มากเพียงพอที่จะเอาชนะทั้งอุปสรรคภายในตนและภายนอกตน บนเส้นทางชีวิตที่มีปัจจัยรุมเร้ามากมายที่ชวนให้หันเหจากเส้นทางอันควร

 

“การเขียนบำบัดได้รับการพิสูจน์หลายร้อยครั้งในต่างประเทศว่ามีผลเชิงบวกในการเสริมสร้างสุขภาวะแก่มนุษย์มากเพียงใด ผลการศึกษาของโครงการนี้เป็นอีกก้าวย่างหนึ่งในประเทศไทยที่ผมหวังให้ไปสู่การส่งเสริมและยอมรับคุณค่าของการเขียนบำบัดอย่างกว้างขวางในสังคมแห่งนี้”

 

/ อนุรักษ์ (ครูโอเล่)

 

 

“เริ่มแรกที่ได้ทำโครงการ รู้สึกตื่นเต้นปนกับความกังวลใจ เพราะความแตกต่างด้านทักษะการเขียนของผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการในช่วงแรก ต้องมาช่วยกันคิดหาวิธีที่จะพาเขาไปด้วยกันกับเรา ให้เขาได้รับความสุข ยอมรับและเห็นคุณค่าตัวเองตามความมุ่งหวังของโครงการ พอเริ่มทำโครงการไปในแต่ละเดือน มีปัญหาและอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งอากาศภายนอก เสียงรบกวน งานของผู้ต้องขัง ญาติมาเยี่ยม การโยกย้ายเรือนจำ การพ้นโทษ และอื่นๆที่ทำให้ผู้ต้องขังไม่สามารถเข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องได้ แต่เราก็เห็นถึงความตั้งใจที่จะเรียน ความร่วมมือในการเขียน แชร์ประสบการณ์ เมื่อต่างคนต่างรับฟังกัน ทำให้เริ่มเห็นอกเห็นใจ เข้าใจความทุกข์ของผู้อื่น มองเห็นคุณค่าและสิ่งดีดีของเพื่อนและของตนเอง เริ่มเปิดใจ และรู้สึกถึงพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ได้รับประโยชน์จากการเรียน เราได้เห็นพัฒนาการทางความคิด และความสุขของผู้เข้ารับการอบรม รวมถึงการบอกต่อถึงวิธีการเขียนที่เป็นประโยขน์แก่เพื่อนภายนอกห้องเรียน รู้สึกดีใจและมีความสุขตามไปกับเขาด้วย

 

“สิ่งที่ได้รับนอกจากความสุขจากการเป็นผู้ให้แล้ว ยังได้เห็นถึงกำแพงความทุกข์ที่เราสร้างขึ้นมา แม้เราจะอยู่ภายนอกเรือนจำ แต่ในบางครั้ง เรากลับขังตัวเอง และจมอยู่กับสิ่งที่เราคิดว่ามันทุกข์ ซึ่งเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้รับฟังจากผู้เข้าอบรม เรื่องของเรามันเล็กน้อยมาก ทำให้เรากลับมามีพลังในการก้าวเดินในแต่ละวัน  มีความสุขกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น และออกจากความทุกข์หรือสิ่งที่ไม่เป็นดังใจได้ง่ายขึ้น

 

“ขอบคุณผู้เข้าอบรมที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยซึ่งกันและกัน ขอบคุณโครงการสุขภาวะทางปัญญาเพื่อการขยายเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะด้วยพุทธกระบวนทัศน์ ขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ร่วมกันส่งต่อความสุขในครั้งนี้ค่ะ”

 

/ ณัชชารีย์ (หมอผึ้ง)