8 หนทางอันประเสริฐที่มนุษย์ควรก้าวตาม “อริยมรรค” (ตอนสาม)

 

8 หนทางอันประเสริฐที่มนุษย์ควรก้าวตาม

“อริยมรรค” (ตอนที่สาม : วิธีคิดแบบพุทธะ ภาค 2)

 

ช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของบุคคลหนึ่งอาจเป็นความ “ตกต่ำ” ที่มิอาจฟื้นคืนกลับมาได้ ยิ่งหวังให้สิ่งต่างๆ “หวนคืน” เป็นอย่างเก่าก็มีแต่ความ “ตีบตัน” อับจนหนทาง

หากบุคคลนั้นเห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวคือโอกาสทองของการ “ตกผลึก” ยอมรับความไม่เที่ยงแท้แล้ว “หวนคิด” เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองจนมิต้องหวังย้อนหลังกลับสู่สิ่งที่ล่วงเลย แต่ตั้งใจ “ตั้งต้น” เริ่มต้นใหม่ ชีวิตก็ยังดำเนินได้อีกยาวไกล มิต้องอาลัยกับเส้นทางที่ผ่านมา

คนเราไม่ได้อับจนหนทางเพราะทางมันตันเพียงอย่างเดียว แต่ยังเพราะการคิดที่ตีบตันและคับแคบ รถแล่นเข้าซอยตันก็ยังดั้งด้นหาหนทางกลับออกมาได้ แต่วิธีคิดที่ผิดพลาดยิ่งคิดยิ่งล้มเหลวและเป็นทุกข์ แต่ก็ยังจะคิดแบบเดิมทำแบบเดิมอยู่ต่อไป ชนกำแพงแล้วก็ยังชนเข้าไปอีกด้วยหวังว่าจะทะลุผ่านได้ในที่สุด ไม่ยอมหันเลี้ยวไม่ยอมถอย หรือไม่ยอมรับว่ามันมีกำแพงอยู่ตรงนั้น ชีวิตก็ตันเสียแล้ว

หากเราเห็นว่าวิธีคิดที่ใช้คือตัวปัญหา…เพราะเอาแต่คิดแบบนี้จึงได้เป็นแบบนี้… แล้วย้อนกลับมาเปลี่ยนแปลงวิถีดำริหรือการคิดของตนเสียใหม่ เหมือนถอยรถหรือกลับลำหันออกมาเลือกทางใหม่ที่เลี้ยวผิด ชีวิตก็จะไม่ตีบตันอีกแล้ว

ชีวิตเปรียบดั่งรถเรือ สารถีคนขับก็คือความคิด แทนที่จะเอาแต่โทษสิ่งนอกตัวหรือคนอื่นเป็นผู้ผิดอย่างเดียว เหมือนเฝ้าก่นด่ากำแพงกับซอยแคบ หรือด่าจีพีเอส เมื่อเลี้ยวเข้าทางตันทั้งที่มีป้ายบอกเตือน เราควรย้อนกลับมาดูว่าสารถีในใจทำหน้าที่อย่างไร

เราทุกคนมีสิทธิ์คิดผิดได้เสมอ ต่อให้แม้มีปัญญาประสบการณ์เพียงใดก็ตาม เพียงแต่ว่าเมื่อคิดผิดแล้ว เลือกยอมรับความจริงแล้วถอยหลังเพื่อคิดใหม่ หรือดันทุรังชนกำแพงจนพังภินท์ไปทั้งตนและคนอื่น

หากกำลังเป็นทุกข์ ชีวิตกำลังอับจนหนทาง หรือตระหนักว่ากำลังเวียนวนพบเจอกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่คือโอกาสถอยหลังให้แลเห็นว่า วิถีแห่งการคิด หรือ สังกัปปะ ที่เราใช้ มันถูกต้องหรือผิดพลาดมาอย่างไร

“ความคิด” เป็นแค่ “เครื่องมือ” ให้เราใช้ อย่าไปถือว่ามันคือตนหรือของตน จนมิอาจปล่อยของเก่าที่ใช้มาจนพังแล้ว

 

บทความนี้เป็นภาคต่อของบทความตอนที่สอง ผู้สนใจอ่านให้ครบถ้วนเนื้อหาที่ปูพื้นไว้สามารถย้อนอ่านได้ทางลิงก์

youngawakening.org/write4life/สัมมาสังกัปปะ/

 

 

#วิธีคิดแบบพุทธะ
#ดำริเพื่ออิสระและถูกต้อง #สัมมาสังกัปปะ #ภาคสอง

 

ตามที่ผู้เขียนได้เล่าไว้ในบทความ “สัมมาทิฏฐิ : ดวงตาแห่งพุทธะ” ความถูกความผิดในพุทธศาสนาตัดสินกันสองระดับ

ทางโลก ไม่ถูกต้องทางโลก เช่น ผิดประเพณี ผิดมารยาท ผิดกติกาของสังคม ผิดกฎหมาย หลักเกณฑ์เหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย

ทางธรรม ไม่ถูกต้องทางธรรม คือไม่ช่วยให้หลุดพ้นจากทุกข์ ไม่ส่งเสริมการละจากกิเลส ไม่สอดคล้องกับความจริงที่เรียกว่า “ไตรลักษณ์” ทำให้ผิดไปจากอริยมรรคในข้อต่างๆ ซึ่งเรียกว่าผิด “พรหมจรรย์” คือไม่ได้ครองตนบนหนทางที่ประเสริฐที่ถูกที่ควรทั้งแปดประการ หรือเรียกว่าผิดจาก “อริยมรรค”

ทั้งสองประการต่างก็มีจุดร่วมกัน คือความถูกต้องนั้นทำให้เกิดประโยชน์ในการใช้ชีวิต ไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ส่งเสริมก่อให้เกิดปัญหาหรือความทุกข์ขึ้นทั้งในเวลานี้และเวลาหน้า

เพียงแต่ความถูกต้องทางโลก ยังไม่พ้นจากความ “ถูกใจ” ของคนร่วมสังคม คนที่เห็นดีเห็นงามกับความประพฤตินั้นๆ ก็จะตัดสินว่า “ถูกต้อง” ส่วนคนที่เห็นค้านเห็นต่างก็จะลงความเห็นว่าความประพฤตินั้น “ไม่ถูกต้อง” บรรทัดฐานในการตัดสินไม่แน่นอน การรับผลจากการทำถูกผิดก็ขึ้นอยู่กับคนอื่นหรือเพื่อนร่วมสังคมจะลงโทษหรือให้รางวัลอย่างไร กติกาทางโลกเขียนแล้วลบใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับความเห็นร่วมกันของคนส่วนใหญ่ หรือผู้มีอำนาจของสังคมในช่วงเวลานั้น

ทว่าความถูกต้องทางธรรม ไม่ขึ้นอยู่กับความถูกใจหรือไม่ถูกใจ ไม่ขึ้นอยู่กับว่าใครตรากฏหมายไว้หรือไม่ ไม่มีใครให้โทษหรือให้รางวัล เมื่อทำถูกต้องในธรรม คิดถูกต้องในธรรม สิ่งนั้นก็จะให้ผลตอบแทนแก่เราในทันที หากทำผิดคิดเลวร้ายในธรรม การกระทำและความคิดนั้นก็จะลงทัณฑ์เราตั้งแต่ตอนนั้นเช่นเดียวกัน โดยบางครั้งผลที่ได้รับอาจจะเริ่มจากเล็กน้อยก่อนแต่ค่อยๆ ขยายใหญ่มากขึ้นในภายหน้า

คำว่า ธรรม ในทางธรรม หมายถึงอะไร คำว่า “ธรรม” มีความหมายที่กว้าง แปลว่า ความเป็นจริง สิ่งที่มีอยู่จริง แบบแผน สภาวะหนึ่งๆ และ หน้าที่ อย่างคำว่า “นามธรรม” ก็หมายถึง สภาวะความเป็นจริงที่จับต้องไม่ได้ สิ่งที่มีอยู่แต่รับรู้ผ่านตา หู จมูก ลิ้น และกายไม่ได้ หรืออาจจะแปลว่า สิ่งที่ทำหน้าที่ของมันในสภาพที่จับต้องไม่ได้ หรือคำว่า “ธรรมดา” ก็หมายถึง ความเป็นจริงที่เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว สิ่งที่เป็นอยู่ทำหน้าที่ตามปกติอย่างนั้น

หากเป็นภาษาปากหรือภาษาชาวบ้านทั่วไป จะใช้คำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ ในความหมายว่า “คุณความดี” หรือ หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือศาสดาทั้งหลาย ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าและศาสดาทั้งหลายทรงสอนก็คือการสอนให้เห็นถึง ความเป็นจริงของชีวิต สอนให้เคารพความจริงแล้วประพฤติตนอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง คนที่กระทำตามคำสอนของท่านคือครองกาย วาจา และใจอย่างเคารพต่อความจริงแห่งชีวิตก็ย่อมไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น จึงจะเรียก ธรรม ว่าเป็น คุณความดี ก็ไม่ผิดเพราะเป็นสิ่งที่เคารพกับกระทำตามแล้วก็จะให้คุณหรือประโยชน์ตอบแทนในทางที่ดี ทำผิดหรือไม่เคารพธรรมก็ผลลบร้ายกลับคืนมา

การตัดสินว่าถูกหรือผิด เราก็ต้องคำนึงให้ดีว่า มาตรฐานที่เราใช้ชี้วัดนั้น เป็นแค่ทางโลก หรือเป็นในทางธรรม ไม้บรรทัดนั้นสร้างขึ้นเพราะความถูกใจของเราคนเดียว ความถูกใจของคนที่เห็นพ้องด้วย หรือสร้างขึ้นเพียงเพราะการยึดถือต่อๆ กันมา

สิ่งที่ถือว่า “ผิด” ในสมัยนี้ มีมากมายเพียงใดที่เคย ถูกต้อง หรือไม่ผิด ในสมัยก่อน และสิ่งที่เราถือว่า ถูก ในสมัยนี้ แท้จริงแล้วมากแค่ไนที่เคยเป็นเรื่อง ผิด หรือ ไม่ถูกต้อง ในสมัยก่อน

การคิดอะไรก็ตามที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม คิดในทางผิดครรลองธรรมเนียมอันดีงาม คิดล่วงเกินกฏหมาย หรือเราเรียกกันว่าคิดไปในทางไม่สร้างสรรค์ ก็เรียกว่า “คิดผิด” เป็นการคิดไม่ถูกต้องในทางโลก แต่ส่วนนี้เมื่อบริบทเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่เรียกว่าผิดอาจกลายเป็นถูกได้ สิ่งที่เคยเป็นความคิดที่ถูกต้องก็ผันกลายเป็นความผิดได้เหมือนกัน

หากเรายึดถือใน “ทิฏฐิ” เชื่อในความเห็นของตนเองอย่างสุดโต่งว่านั่นคือการคิดผิด พวกเขาคิดผิด ฉันคิดถูก โดยหารู้ไม่ว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นแค่ระดับทางโลก เป็นแค่ความเป็นจริงอันตื้นเขินและเปลี่ยนแปลงง่าย เราก็มีวิธีคิดที่ผิดพลาดแล้ว เพราะถือความเห็นตนเป็นใหญ่โดยละเลยความเป็น “อนิจจัง” คือความไม่เที่ยงแท้

การคิดอะไรก็ตามที่สุดโต่ง ยึดถือในความเห็นหรือเรียกว่า “มีทิฐิ” นั่นก็เป็นการคิดที่ไม่ถูกต้องในธรรม แม้จะคิดด้วยความหวังดีหรือด้วยสาระอันเป็นประโยชน์ก็ตาม แต่หากไม่ช่วยให้ “ลดละ” แต่เพิ่มพูนความมั่นหมาย ก็ยังไม่ใช่ “สัมมาสังกัปปะ”

มิจฉาสังกัปปะ คือการคิดในทางที่ผิดจากธรรม คือผิดจากความดีงามและหน้าที่ที่ควร คิดแล้วไม่ทำให้เกิดการยอมรับความเป็นจริง คิดแล้วไม่ทำให้เกิดความถูกต้องในด้านต่างๆ ของอริยมรรคทั้ง 7 ข้อที่เหลือ เป็นความคิดที่ไม่ช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ คิดแล้วส่งเสริมกิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือเป็นความคิดที่ไม่สอดคล้องกับหลักไตรลักษณ์ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา

ครั้นหนึ่งที่แคว้นโกศล พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนชาวบ้านกับนักบวชทั้งหลาย ณ เคหาของพราหมณ์ที่ชื่อว่า ศาลา มีใจความดังนี้

…พราหมณ์บางส่วนไม่ยอมเว้นการกระทำทางกาย วาจา และใจอันทุจริต คือไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม แต่เว้นจากการกระทำทางกาย วาจา และใจอันสุจริต คือถูกต้อง เหมาะสม… เพราะพวกเขาไม่เห็นโทษของอกุศลธรรม (ความเลวทราม) และไม่เห็นประโยชน์ของกุศลธรรม (ความดีงาม)

พราหมณ์เหล่านั้นมีความเชื่อกับความคิดที่ผิดไปจากความจริงอันผู้ประพฤติโดยชอบได้รู้แจ้งด้วยปัญญาแล้ว… เช่น โลกหน้ามีอยู่จริง ก็เชื่อและคิดว่าไม่มีอยู่จริง การทำทานมีผลก็เชื่อและคิดว่าไม่มีผล ฯ ความเห็นความดำริของพราหมณ์เหล่านั้นก็เป็น “มิจฉาทิฏฐิ” และ “มิจฉาสังกัปปะ” *(A)

ใจความสำคัญในคำสอนที่ยกมาข้างต้นนี้ก็คือ การคิด หรือ วิธีคิดที่ไม่ซื่อตรงต่อความจริง หรือหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับความเป็นจริง เป็นวิธีคิดที่ผิด เรียกว่า มิจฉาสังกัปปะ มุมมองความเห็นที่ผิดเพี้ยนไปจากการยอมรับความเป็นจริงก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ

ไม่คิดถึงโทษของสิ่งที่เป็นโทษ ไม่คิดถึงประโยชน์ของสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ยอมตัดสินในสิ่งที่พึงตัดสิน แต่คิดไปตามอำนาจของกิเลสในใจ หรือคิดไปตามความเห็นที่ยึดถือไว้โดยไม่ไตร่ตรองความจริงให้ดี นี่ก็ถือว่าคิดไม่ซื่อตรงต่อความเป็นจริง

“มิจฉาสังกัปปะ” คือ วิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง ผิดเพี้ยน ไม่เหมาะสม หรือเรียกอีกแบบว่า “อกุศลสังกัปปะ” หมายถึงวิธีคิดที่ไม่ก่อประโยชน์ อันเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ปัญหา และความทุกข์ หากจัดหมวดหมู่จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท *(B) ได้แก่

1. กามสังกัปปะ หมายถึง มีความดำริหรือวิธีคิดไปในทางกาม ความโลภ และความอยาก เป็นไปเพื่อส่งเสริมหรือมีสิ่งเหล่านี้เป็นตัวส่งเสริมการคิด

ทั้งนี้คำว่า กาม ไม่ได้หมายถึงเรื่องทางเพศ เหมือนคำว่า บ้ากาม ที่คนไทยใช้ แต่หมายถึง Sensual Pleasures คือความพึงพอใจ ความเพลิดเพลิน จากการรับรู้ทางประสาทสัมผัสหรืออายตนะ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รวมทั้งยังหมายถึงการตอบสนองต่อความอยากซึ่งก็เกิดจากประสาทสัมผัสนั้นแล

หากใช้ความหมายตามหลักธรรมแล้ว “บ้ากาม” ก็จะหมายถึง บ้าความสุขทางอายตนะ หรือ บ้าประสาทสัมผัส ซึ่งการคิดที่เป็นไปอย่างบ้ากามหรือเพื่อตอบสนองต่อความสุขทางประสาทสัมผัสของตน ล้วนให้ผลสุขเพียงชั่วคราว และทุกข์อันยาวนาน

วิธีคิดที่มองแต่ด้านดีด้านเดียว คิดในแง่ดีเกินไป สามารถสอดคล้องกับข้อนี้ หากมีกิเลส คือ โลภะ ความโลภ ความอยาก ฯ อยู่เบื้องหลัง เพราะท้ายที่สุดการคิดนั้นก็จะเป็นการรับใช้ความสุขทางกาม เพื่อความหลงความพอใจทางอายตนะอยู่นั่นเอง แต่ไม่ได้รับใช้ความเป็นจริง

2. พยาบาทสังกัปปะ หมายถึง มีความดำริหรือวิธีคิดไปทางพยาบาท ความโกรธ ความไม่พอใจ ความขุ่นเคือง ความตึงเครียด หรือการเพ่งเล็งแง่ร้าย เป็นไปเพื่อส่งเสริมหรือมีสิ่งเหล่านี้ส่งเสริมการคิด

ไม่ใช่เพียงการคิดโกรธคนอื่น แต่รวมถึงการโกรธตัวเอง และการดำริใดๆ ด้วยความชัง ความไม่พอใจ หรือความขุ่นข้องหมองมัว หากเป็นไปด้วยอารมณ์มากกว่าสติปัญญา นั่นก็เป็นพยาบาทสังกัปปะ เป็นการคิดที่รับใช้ความโกรธเกลียด

แม้จะเป็นการคิดเกี่ยวกับความเลวร้ายของสิ่งที่พบเจอ แต่การคิดด้วยโทสะหรือพยาบาท มันไม่ได้เผาลนคนอื่น แต่เผาลนตัวเองจนสิ่งที่ดีในใจเราก็มอดไหม้เลือนหายไปด้วย ความโกรธในใจต่อสิ่งทั้งหลาย มักสะท้อนความไม่พอใจต่อตัวเองที่แอบซ่อนอยู่เบื้องหลังเช่นกัน

วิธีคิดที่มองโลกแต่ด้านร้ายด้านเดียว คิดในทางลบเกินไป สามารถสอดคล้องกับข้อนี้ หากมีกิเลส คือ โทสะ ความโกรธ ความชัง ฯ อยู่เบื้องหลัง เพราะท้ายที่สุดการคิดนั้นก็จะเป็นการรับใช้ความพยาบาท เพื่อตอบสนองความขุ่นเคือง เคียดแค้น หรือเกลียดชัง มิใช่ความดีงามอย่างที่ควร

3. วิหิงสาสังกัปปะ หมายถึง มีความดำริหรือวิธีคิดไปทางเบียดเบียน ตอบสนองความรุนแรง มุ่งทำร้ายรังแก แก่งแย่ง หวังทำลาย ชิงดีชิงเด่น และการพยายามเอาชนะ

การคิดที่เป็นวิหิงสา เกิดจากโมหะ คือความหลงมัวเมา เป็นปัจจัยทำให้เกิดกิเลสอื่น เช่น มานะ ทิฏฐิ ฯ ทำให้การคิดนั้นมีเจตนาเป็นอาวุธเพื่อเชือดเฉือน บั่นทอน เกทับ หรือพยายามเป็นใหญ่กว่า

แม้จะเป็นการคิดที่มีสาระประกอบอันเป็นประโยชน์ แต่ผลดีก็เกิดขึ้นไม่เต็มที่ อาจพยายามคิดในครรลองเหตุผลเพียงแต่ด้านเดียวเพื่อหาจุดที่จะเอาชนะให้ได้ จนใจไม่เปิดกว้างให้มีความเห็นต่าง ไม่ยอมรับช่องโหว่ในมุมมองของตนเอง

เหมือนการอภิปรายในสภาฯ ของนักการเมืองทั้งหลาย ซึ่งมีสาระในสิ่งที่ยกมานำเสนอหรือคัดค้าน แม้ส่วนตัวพวกเขาอาจไม่ได้รักชอบหรือโกรธเกลียดกัน แต่ก็ถกเถียงอภิปรายเชือดเฉือนในทางให้เกิดความขัดแย้ง ไม่พยายามก่อความร่วมมือและการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ร่วมกัน เพราะต่างฝ่ายต่างมีวิธีคิดแบบวิหิงสาในการอภิปราย มุ่งที่จะเอาชนะกันเป็นใหญ่

หากสมองหรือจิตใจเราเป็นเหมือนสภาผู้แทนราษฎรเช่นนี้ ความเจริญของชีวิตก็เกิดขึ้นได้ยาก เฉกเช่นประเทศที่ผู้แทนประชาชนกับรัฐบาลต่างพยายามขับเคี่ยวเอาชนะกันเพียงอย่างเดียว

“สังกัปปะ” เปรียบเหมือนคนขับรถ หากคนขับรถหิวข้าวมากจนไม่อาจทนไหว ย่อมมองหาร้านอาหารหรือร้านสะดวกซื้อ แล้วนำพาหนะแล่นไปเทียบท่าพักเติมเสบียงรองท้อง นี่ก็คือ “กามสังกัปปะ” เป็นการคิดแล่นไปหากามเพื่อเติมเต็ม

นอกจากนี้ก็ กามสังกัปปะ ยังเปรียบได้กับคนขับที่ง่วงนอนมาก ร่างกายไม่ไหว สติลางเลือน เขาก็ย่อมแวะจอดข้างทางหรือหลับในโดยไม่ทันรู้ตัว เหมือนคนที่มีความคิดไปในทางกามก็ย่อมพาให้ไม่เป็นอันมีแรงทำอะไร ขี้เกียจขี้คร้าน เหนื่อยหน่ายง่าย อ่อนไหวตามอารมณ์

หากคนขับรถปวดท้องถ่าย ปวดเกร็งไม่สบาย เหมือนมีความคับแค้นใจ แต่นี่คือคับแค้นในลำไส้ เขาก็ย่อมขับรถแล่นไปพักข้างทาง หรือแวะปั้มหรือที่ใดที่มีห้องน้ำแทบจะในทันที นี่ก็เสมือน “พยาบาทสังกัปปะ” เป็นการคิดแล่นไปหาพยาบาทเพื่อระบาย

พยาบาทสังกัปปะ ยังเปรียบได้กับสารถีที่ฉุนโกรธหรือเครียดกับเรื่องต่างๆ มาก่อน เมื่อจับพวงมาลัยก็เผลอใจเผลอตัว เหยียบคันเร่งปลดปล่อยอารมณ์จนความเร็วเกินสมควร นำไปสู่อันตรายต่อตนเองและคนรอบข้าง

หากไม่ได้โกรธ แต่คนขับรถแค่นึกอยากแข่งความเร็ว เพราะต้องการโอ้อวด ความท้าทาย หรือพยายามทำรอบให้ทันเวลา เขาย่อมขับรถด้วยความประมาทหวาดเสียว หรือขับขี่ด้วยท่าทางที่ไม่สมควร ไม่คำนึงถึงความประมาณเพราะมีความประมาท นี่ก็เปรียบกับ “วิหิงสาสังกัปปะ” เป็นการคิดแล่นไปหาความรุนแรงและความเลินเล่อ

เห็นสัญญาณจราจรเป็นไฟเหลืองแล้วไม่ชะลอหยุด แต่เร่งเครื่องขับความเร็วจะฝ่าแยกไปให้ทันก่อนไฟแดง นี่ก็เป็นวิธีคิดบนความอยากเอาชนะ เป็น วิหิงสาสังกัปปะ เช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุและการสูญเสียชีวิตนับครั้งไม่ถ้วน

เราจะเห็นว่าในคำสอนเกี่ยวกับ สังกัปปะ ท่านไม่ได้ห้ามคิดอะไรโดยตรง แต่จะบอกว่าการคิดที่มีอิทธิพลจากอะไร บนแนวทางใด หรือเป็นไปเพื่อส่งเสริมอะไรจึงเป็นการคิดที่ไม่ถูกต้อง

แม้เป็นความคิดดี ความคิดบวก ความคิดสร้างสรรค์ แต่ถ้ามันมีความใคร่ในกาม ความพยาบาท และวิหิงสามาเกี่ยวข้อง นั่นก็ยังไม่ใช่ สัมมาสังกัปปะ หรือการคิดอย่างพระพุทธเจ้า…

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เปิดกว้างในการคิดต่างคิดแย้งคิดหลากหลาย ตราบใดที่การคิดนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อส่งเสริมกิเลสในใจตนเอง ไม่ได้เป็นวิธีคิดที่รับใช้ความโลภ โกรธ หลง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ฯ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความทุกข์แก่ตนเอง ผู้อื่น และสังคม

ที่พระองค์ทรงตรัสห้ามเกี่ยวกับการคิดเพื่อสนองกาม ความพยาบาท และวิหิงสาหรือความรุนแรง เพราะว่า…

“วิตกเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

“เธอทั้งหลายเมื่อจะตรึก พึงตรึกว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความตรึกเหล่านี้มีประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน” *(C)

ท่านทรงตรัสแนะนำให้เลือกการคิดที่เป็นประโยชน์ การคิดที่ส่งเสริมพรหมจรรย์ หมายถึง อริยมรรคทั้งแปดประการ และการคิดที่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ดับจากกิเลส คลายจากความกำหนัด ซึ่งนำไปสู่การตรัสรู้ความเป็นจริงแห่งชีวิต และพ้นจากทุกข์สิ้นเชิง

จากข้อความข้างต้นยังแสดงให้เห็นว่า วิธีคิดแบบพุทธะที่ท่านทรงแนะนำด้วยพระองค์เอง คือการตรึกตรองเกี่ยวกับ อริยสัจสี่ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค ใคร่ครวญให้เห็นแจ้งว่าความทุกข์คืออะไร สิ่งใดบ้างที่เป็นทุกข์ สาเหตุแห่งความทุกข์นั้นมาจากที่ใด อะไรเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ที่แท้จริง การพ้นไปจากทุกข์เป็นอย่างไร การดับสิ้นเชิงแล้วแห่งทุกข์คืออะไร แล้วทำอย่างไรจึงจะก้าวไปบนเส้นทางแห่งการพ้นจากทุกข์ได้

เพราะการคิดเช่นนี้มีประโยชน์ การคิดไล่คว้าตามกิเลสไม่เกิดประโยชน์ เวลาชีวิตมีอยู่อย่างจำกัด เราจะเสียเวลาเป็นทุกข์ เพราะการคิดที่ไม่เป็นประโยชน์หรือส่งเสริมให้เกิดปัญหาไม่สิ้นสุดเพื่ออะไร

นอกจากนี้ท่านยังทรงตรัสห้ามคิดเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ ที่มิเป็นไปเพื่อประโยชน์ แต่เป็นไปเพื่อความหมายมั่น มิว่าจะเป็นการคิดว่าโลกนี้เที่ยงแท้หรือไม่ ร่างกายกับวิญญาณเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไหม สัตว์ทั้งหลายตายแล้วไปเกิดอีกไหม ฯ การคิดที่พยายามหาที่สุดและความเที่ยงแท้ทั้งหลาย พระองค์ทรงตรัสว่า “ความคิดนี้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย” ไม่นำไปสู่นิพพาน *(D)

อย่างไรก็ตาม ความคิด ก็เป็นแค่เครื่องมือให้เราหยิบใช้ เป็นแค่ภาวะหรือการทำหน้าที่หนึ่งของนามธรรม มิได้เป็นตัวตน ของตน หรือจิตใจใคร บางครั้งเราก็มีความเห็นในทางยึดถือเป็นตัวตน เช่นคิดว่า ตัวตนของฉันคือการคิดบวก คนๆ นี้มีตัวตนคือการคิดลบ หรือกล่าวง่ายๆ ว่า… ฉันไม่มีความคิดลบเลย ฉันมีแต่ความคิดบวก เขามีแต่ความคิดลบ เขาไม่มีความคิดบวกเลย… การกล่าวอย่างนี้ก็ยังไม่ถูกต้องในทางธรรม

เพราะพระพุทธเจ้า ท่านทรงตรัสว่า…

กามวิตก” คือ ความคิดทางกาม , “พยาบาทวิตก” คือ ความคิดทางพยาบาท และ “วิหิงสาวิตก” คือ ความคิดทางเบียดเบียน เหล่านี้มีเหตุให้เกิดจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่ไม่มีเหตุจึงเกิดขึ้น…

“กามสังกัปปะ คือ ความดำริในกาม เกิดขึ้นเพราะ “กามสัญญา” คือความจำได้หมายมั่นในกาม กามสัญญาก็เกิดขึ้นเพราะ “วัตถุกาม” หรือ “กามธาตุ” คือการรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ที่ชอบใจอย่างขาดสติ…

“ความดำริในกาม เป็นเหตุทำให้เกิด “กามฉันทะ” คือความพอใจในกาม จึงทำให้เกิด “กามปริฬาหะ” คือความดิ้นรนเร่าร้อนเพราะกาม แล้วจึงทำให้เกิด “กามปริเยสนา” การเสาะแสวงหากามหรือการทำตามกาม…

“พยาบาทสังกัปปะ คือ ความดำริในพยาบาท เกิดขึ้นเพราะ “พยาบาทสัญญา” คือความจำได้หมายมั่นในพยาบาท พยาบาทสัญญาก็เกิดขึ้นเพราะ “วัตถุพยาบาท” หรือ “พยาบาทธาตุ” คือการรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ที่ไม่ชอบใจอย่างขาดสติ…

“ความดำริในพยาบาท เป็นเหตุทำให้เกิด “พยาบาทฉันทะ” คือความพอใจในการพยาบาท จึงทำให้เกิด “พยาบาทปริฬาหะ” คือความดิ้นรนเร่าร้อนเพราะพยาบาท แล้วจึงทำให้เกิด “พยาบาทปริเยสนา” การเสาะแสวงหาการพยาบาทหรือการทำตามพยาบาท…

“วิหิงสาสังกัปปะ คือ ความดำริในการเบียดเบียน เกิดขึ้นเพราะ “วิหิงสาสัญญา” คือความจำได้หมายมั่นในวิหิงสา วิหิงสาสัญญาก็เกิดขึ้นเพราะ “วัตถุวิหิงสา” หรือ “วิหิงสาธาตุ” คือการรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์อย่างขาดสติ…

“ความดำริในการเบียดเบียน เป็นเหตุทำให้เกิด “วิหิงสาฉันทะ” คือความพอใจในการเบียดเบียน จึงทำให้เกิด “วิหิงสาปริฬาหะ” คือความดิ้นรนเร่าร้อนเพราะการเบียดเบียน แล้วจึงทำให้เกิด “วิหิงสาปริเยสนา” การเสาะแสวงหาการเบียดเบียน…

“ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุทำให้เกิดการกระทำผิดทางกาย วาจา และใจ เรียกว่าเป็นตัวการทำให้เกิดการทำกรรมชั่วขึ้น… *(E)

ความคิดบวก ความคิดลบ หรือดำริใดๆ ก็ไม่ใช่ตัวตนของใคร มิได้มีอยู่แล้วอย่างเที่ยงแท้ แต่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ปรุงแต่งจากการรับรู้และความหมายมั่นที่เรียกว่า “สัญญา” แล้วจึงเป็นปัจจัยนำมาสู่การกระทำที่แสดงออก

ไม่ว่าฉันหรือเขาต่างก็สามารถมีความคิดอันไม่ถูกต้องทั้งสามแบบนี้ได้ทั้งสิ้น อยู่ที่เหตุปัจจัย การกระทำตัว และ สติ…

สัญญา แปลว่า ความจำได้ และ ความหมายมั่น คำว่า “จิตใต้สำนึก” ในจิตวิทยาตะวันตก ก็คือสิ่งที่เรียกว่า สัญญา ด้วยในความหมายหนึ่งแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

ความจำได้ หมายถึงความทรงจำ ส่วนความหมายมั่น แปลว่านอกจากจำแล้วยังมีการตีความ หรือการยึดถือไว้ด้วย

ขอยกตัวอย่าง “วิหิงสา” …การที่คนๆ หนึ่งจะมีวิธีคิดไปในทางเบียดเบียน คือมี “วิหิงสาสังกัปปะ” คิดในการทำร้ายคนอื่น แก่งแย่งแข่งขัน พยายามเอาชนะ หรือมีความคิดประเภทที่เรียกว่า หัวรุนแรง เป็นเพราะว่าเขามี “สัญญา” ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้

เขาอาจเคยมีประสบการณ์การถูกทำร้ายในวัยเด็ก อยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง ประสบพบเจอกับเหตุการณ์อยุติธรรม เจอความเอารัดเอาเปรียบหรือกลั่นแกล้ง “Bully” จากคนอื่น สิ่งเหล่านั้นที่เกิดกับตัวเขาก็จดจำเป็นสัญญา มีการตีความว่าโลกมันเป็นแบบนี้ จะอยู่รอดต้องทำแบบนี้ ฯ มีความยึดมั่นถือมั่นความรุนแรงไว้ในจิตใต้สำนึก

เมื่อมี “วิหิงสาสัญญา” เป็นปัจจัย เขาก็ถูกหล่อหลอมวิธีคิดในทางความรุนแรง ทำให้เกิดความรู้สึกพออกพอใจที่ได้ใช้ความรุนแรงหรือเกี่ยวข้องกับความเบียดเบียนต่างๆ บ้างก็เลือกเป็นผู้กระทำ บ้างก็เลือกพอใจกับการถูกกระทำ อยู่ที่ว่าจิตใจเขาใช้กลไกปกป้องตัวเองแบบ “สู้” หรือแบบ “หนี” นี่ก็คือเกิดฉันทะหรือความพอใจในความรุนแรง เรียกว่า “วิหิงสาฉันทะ” นั่นเอง

จากนั้นหากเขาได้เห็นการใช้ความรุนแรง โอกาสได้เป็นผู้กระทำ หรือโอกาสที่อาจถูกกระทำ หรือระลึกถึงเหตุการณ์เก่าๆ ก็ดี ย่อมทำให้เขารู้สึก “อิน” มีจิตใจร้อนรนไม่เป็นสุข กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หรือหวั่นไหวภายในใจ นั่นคือเกิด “วิหิงสาปริฬาหะ” คือความดิ้นรนเร่าร้อนเพราะการเบียดเบียน แล้วจึงทำให้เกิด “วิหิงสาปริเยสนา” การเสาะแสวงหาการเบียดเบียน

ทำให้กลายเป็นคนเสพติดความรุนแรง ชอบเสพสื่อที่มีการเข่นฆ่า เข้าหาการกระทำที่เบียดเบียน รบกวนคนอื่น หรือการแก่งแย่งแข่งขันต่างๆ หรือในทางกลับกันก็พาตัวเองไปหาสถานการณ์ที่อันตราย นั่นก็เพราะด้วยอำนาจของ วิหิงสาปริเยสนา จนทำให้เกิดการกระทำทางกาย วาจา หรือใจ ในทางเบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น

จึงกล่าวว่าไม่มีคนที่ชั่วร้าย ไม่มีคนที่ดีงาม ไม่มีใครคิดดี ไม่มีใครคิดร้าย แต่การกระทำทั้งหลายก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นเพราะกิเลส หรือไม่เกิดขึ้นเพราะปราศจากกิเลส หรือมีกิเลสเป็นเหตุปัจจัย แต่ชนะได้ด้วยคุณธรรมและสติสำนึกที่มีอยู่ เป็นไปตามหลัก “อิทัปปัจยตา” คือตามเหตุปัจจัย คิดดีคิดร้ายมิใช่ตัวตน ของๆ ตน หรือจิตใจใคร

จุดร่วมอย่างหนึ่งที่ มิจฉาสังกัปปะ ทั้งหลายมีอยู่ร่วมกัน คือภาวะที่จิตยกขึ้นแนบชิดกับอารมณ์ หมกมุ่นในอารมณ์ หรือจมกับการคิดอย่างแรงกล้า *(F) กล่าวง่ายๆ ว่าวิธีคิดที่ไม่ถูกต้องก็คือการคิดที่เกลือกกลั้วกับอารมณ์ และการคิดอย่างหมกมุ่นมากเกินไป

อารมณ์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง สุข ทุกข์ ชอบ ชัง หรือความรู้สึกทางใจอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงภาวะจากการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย

อารมณ์จากการรับรู้ เป็นบ่อเกิดของ “วิตก” คือความนึกคิดเกี่ยวกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และความรู้สึก เรียกว่า รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก อันเป็นแดนให้เกิด “ตัณหา” คือความอยาก ขึ้นมา

พระพุทธเจ้าท่านทรงเคยตรัสว่าข้างต้นนี้ก็คือ “ทุกขสมุทัยอริยสัจ” เป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ *(G)

นี่คือการคิดที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ไม่จบสิ้นของคนทั่วไป ต่อให้แม้คิดดี คิดบวก หรือพยายามคิดสร้างสรรค์แล้ว แต่เมื่อยังไม่พ้นไปจากความอยากใคร่อันเนื่องมาจากการรับรู้ที่ขาดสติ มันก็เป็นการคิดที่ผิดซึ่งพาเราไปสู่บ่อลึกแห่งปวงทุกข์ ก่อนมันจะกลายเป็นน้ำหนักที่ถ่วงดึงเราให้จมลงสู่ “อบาย”

“อบาย” หมายถึงความเสื่อม ตกต่ำ ปราศจากความเจริญ ที่กล่าวถึง อบายภูมิ ก็มิได้อยู่ไกล ณ ที่แห่งหนใดเลย นอกจากในใจเรานี้ ในชาตินี้ เมื่อประมาทในอกุศลธรรม แต่เว้นจากกุศลธรรม ชีวิตจิตใจก็ตกต่ำลงสู่อบายทีละน้อยละน้อย กลายเป็น เดรัชฉาน (ถูกครอบงำด้วยความโง่เขลา) เปรต (ถูกครอบงำด้วยความหิวกระหาย) และ อสุรกาย (ถูกครอบงำด้วยความกลัว) ได้ตั้งแต่ในชาตินี้

เมื่อทราบดังนี้แล้ว เราจะปล่อยให้การคิดของเราเป็นสาเหตุที่พาชีวิตเราตกต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างนั้นหรือ…

เพราะการไม่รู้จักโทษของ มิจฉาสังกัปปะ ย่อมพาให้เราหลงตามวิธีคิดที่ผิดพลาด เพราะการดำริในกาม ดำริในพยาบาท และการดำริในวิหิงสา มันมีเปลือกอันหอมหวานที่ฉาบทาไว้ยั่วยวน คอยจิตอันเป็นผึ้งแมลงเข้ามาตอม

กามสังกัปปะ ก็ฉาบเคลือบไว้ด้วยความสุขสม พยาบาทสังกัปปะ ก็ฉาบเคลือบไว้ด้วยความสะใจ วิหิงสาสังกัปปะ ก็ฉาบเคลือบไว้ด้วยความภาคภูมิ หลอกล่อให้ติดกับด้วยความเคลิบเคลิ้ม ก่อนรับผลเสียที่ตามมา

ทั้งหมดล้วนเป็นความหอมหวานอันชั่วคราว เมื่อได้ผลดั่งคิดแล้วมันก็เกิด กามสัญญา กามฉันทะ หรือพยาบาทสัญญา พยาบาทฉันทะ หรือวิหิงสาสัญญา วิหิงสาฉันทะ ปรุงแต่งให้เกิดความดิ้นรนต้องออกไปเสาะแสวงหาเพื่อสนองกาม พยาบาท หรือวิหิงสา ไม่รู้สิ้นสุด แม้จบสิ้นชีวิตลงก็ตาม

โลกของกิเลส คือเมืองซอยตัน หันเข้าหากิเลสก็คือหลงเข้าเมืองที่ประดับประดับด้วยแสงสี แต่มีตรอกซอยย่อยซับซ้อนและทางตันเต็มไปหมด แล่นรถเข้าไปชื่นชมเพลิดเพลินกว่าจะรู้ตัวก็เปลืองเงินเปลืองน้ำมันจนหมดตัว เปรียบดังความประมาทที่แลกด้วยชีวิต เพราะไม่ยอมออกห่างจากกิเลสทั้งหลาย

หากเราไม่ต้องการชีวิตตีบตันอับจนหนทาง ควรฝึกสารถีของใจ คือความคิด ให้ขับเคลื่อนชีวิตเลี่ยงเมืองนี้ ไกลจากแสงสี ดำริออกจากโลกของกิเลส เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ให้เป็นวิธีคิดที่ถูกต้อง ซึ่งนำทางชีวิตไปสู่การพ้นจากทุกข์ มิใช่ทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าดังที่เคยเป็นมา

สัมมาสังกัปปะ คือวิธีคิดแห่งพุทธะ เป็นหนทางการคิดที่ทำให้ตื่น เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่าย เพื่อให้คลายจากการกำหนัด เป็นไปเพื่อการดับ เพื่อสงบระงับ ไปสู่การตรัสรู้ และนิพพาน

คำว่า “เบื่อหน่าย” ไม่ใช่มีอารมณ์เบื่อๆ ไม่อยากทำอะไร แต่เป็นความเบื่อละอาต่อกิเลสซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ทั้งหลาย เบื่อละอาที่ต้องเป็นทาสและทุกข์เพราะสิ่งเหล่านั้น ไม่ปรารถนาจะต้องทุกข์เพราะมันอีกต่อไป

คล้ายกับความเบื่อขี้หน้าแฟนเก่า เมื่อเราต้องทนทุกข์อยู่กับเขามาเนิ่นนาน เราก็อาจรู้สึกประมาณว่า… ไม่เอาอีกแล้ว จะไม่ทุกข์เพราะเขาอีกแล้ว ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกันอีกต่อไป… หรือกล่าวอีกมุมหนึ่ง เบื่อหน่าย ในที่นี้ก็คือการ ไม่รู้สึกอยาก หรือไม่มีความอยากต่อกันแล้ว

แต่หากเบื่อหน่ายแล้ว ยังมีความ “กำหนัด” มันก็เหมือนคู่คนเคยรักที่ตัดกันไม่ขาด แม้รู้สึกเบื่อละอาแต่ก็ยังมีเผลอใจหวังข้องเกี่ยว วันนี้ไม่อยาก วันหน้าก็อยากได้ นี่เปรียบเหมือนความกำหนัด หมายถึงความใคร่ ยังมีเยื่อใยกับความเป็นทุกข์และเหตุแห่งทุกข์อยู่

คิดอย่างไรให้ถึงความเบื่อละอาเหตุแห่งทุกข์และการเป็นทุกข์ คิดอย่างไรให้คลายจากเยื่อใยที่มีต่อสิ่งเหล่านั้น ไม่ต้องคิดถึงพวกมันที่ก่อทุกข์ทั้งหลายอีก นี่ก็คือลักษณะหนึ่งของ “สัมมาสังกัปปะ” วิธีคิดที่ถูกต้องของมนุษย์

วิธีคิดที่ถูกต้องแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ *(H)

สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ คือการดำริของผู้ที่ยังตัดกิเลสไม่หมดเชื้อ ยังมี “อาสวกิเลส” ที่ดองนองเนือง แต่มีลักษณะการคิดที่เป็นไปในสามประการนี้ คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท และความดำริในการไม่เบียดเบียน ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ให้คุณประโยชน์เพื่อการละจากกิเลสจนไปสู่ความเป็นอนาสวะต่อไป

สัมมาสังกัปปะที่เป็นอนาสวะ คือการดำริของผู้ที่ตัดกิเลสจนหมดเชื้อ ละแล้วซึ่ง อาสวกิเลส ไม่มีความมัวหมองหมักดองในก้นบึ้งใจอีกต่อไป ซึ่งก็ยังมีการคิดในลักษณะสามประการข้างต้นอยู่ด้วยเช่นกัน

หากเปรียบชีวิตดั่งรถเรือที่โลดแล่นสู่จุดหมาย สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ ก็เหมือนคนขับที่ยังไม่เชี่ยวชาญถึงที่สุด เรียกได้ว่ายังไม่เป็น “เซียน” แต่ก็ขับขี่บนความถูกต้องไม่ประมาท อาจจะมีความพลาดพลั้งบ้าง แต่ก็จะสั่งสมประสบการณ์จนเชี่ยวชาญในการขับขี่ต่อไป

เราสามารถมีวิธีคิดที่ถูกต้อง ตามรอยพระพุทธเจ้าได้ แม้ยังมีกิเลสหมักหมม ยังเป็นสาสวะไม่สิ้นเชื้อ เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ต้องรอหลุดพ้นก่อน อาจเผลอคิดผิดตามกิเลสบ้างก็ไม่เป็นไร เพียงฝึกการดำริหรือวิธีคิดให้เป็นไปตามลักษณะสามประการ ตามที่ได้กล่าวเบื้องต้นแล้ว อันได้แก่

1. เนกขัมมสังกัปปะ คือวิธีคิดบนความพอเพียง ปราศจากความโลภะคือความโลภ คิดในทางละเว้นออกจากกาม การพัวพันด้วยความอยาก ความหลงชอบพึงพอใจ หรือความละโมบทั้งหลาย คิดชนะใจตนเองแล้วสวนกระแสตัณหาคือความอยากใคร่ เหมือนทวนกระแสน้ำเข้าหาฝั่ง

ในพระไตรปิฎก *(I) พระพุทธเจ้าได้ทรงอุปมาสอนภิกษุว่า ตัณหาเหมือนกระแสน้ำที่พัดเชี่ยว ท่านเป็นเหมือนบุรุษผู้ยืนอยู่บนฝั่ง ร้องเรียกผู้ตกน้ำให้แหวกว่ายด้วยความเพียรพยายามใช้สองมือสองเท้าว่ายทวนกระแสฝ่าคลื่น เพราะหากปล่อยตัวไหลตามน้ำก็จะถูกคลื่นพัดวนเวียนให้จมสู่ห้วงน้ำข้างใต้ จนถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย

เขกขัมมะ คือการขัดใจหรือทวนกระแสตัณหา วิธีคิดแบบเนกขัมมะ ก็คือการคิดอย่างขัดใจตน ไม่ยอมไหลตามความเพลิดเพลินพอใจทางประสาทสัมผัสทั้งหลาย หรือความละโมบ ความใคร่อยาก หรือความสุขต่างๆ ซึ่งจะพาเราหลงวนเวียนกับ “กามคุณ” จนจมดิ่งลงสู่อบายหรือความเสื่อม

คนที่ยังขาดการฝึกใจ จะปล่อยให้ความคิดไหลตามใจตัวเอง ยอมต่อกระแสคลื่นของความอยากความลุ่มหลงให้ปรุงแต่งการคิดไปต่างๆ นานา จนเป็นเหตุให้เกิดความข้องเกี่ยว ความยึดเหนี่ยว และการแสวงหาตามตัณหาจนเป็นทุกข์

ประสาทสัมผัสที่รับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือพลังงานความรู้สึกใดๆ แม้ยั่วยวนก็อย่าคิดหลงตามมัน คิดให้รู้เท่าทัน พินิจพิจารณาให้เห็นธาตุแท้หรือมายาของสิ่งเหล่านั้น มองให้เห็นว่ามันเป็นเหตุแห่งทุกข์ต่อไปอย่างไร ถ้าหลงตามใจไหลไปกับมัน

การมีวิธีคิดแบบเนกขัมมะ เหมือนกับการขับรถเดินเรือที่ใช้ความเร็วแต่พอดี มีความสำรวมระวัง เดินทางตามแผนการหรือเส้นทางที่ควรไม่ได้แวะเลี้ยวหรือมัวกินลมชมวิวตามใจอยากจนเสียเวลา ไม่ได้ขับขี่ด้วยอารมณ์ที่เพลิดเพลินเกินไปจนเกิดความประมาท แตะเบรกก่อนทางโค้งทางแยกเพื่อรักษาความเร็วของยานยนต์ให้สมดุล การคิดเช่นนี้ก็จะดำเนินไปบนทางสายกลาง อยู่บนความพอดี พอประมาณ ซึ่งเรียกว่า “สันโดษ”

อะไรที่เข้ามายั่วยวน น่าไขว่คว้าให้โลภอยากได้ใคร่มี เกินจำเป็นเกินสมควร ลองกลับมาอยู่กับตัว ดำริคิดบอกในใจตนว่า …พอแล้ว ฉันพอแล้ว ฉันมีพอแล้ว ฉันมีมากแล้ว ฉันพอใจสิ่งที่มี ความมีก็เป็นทุกข์ ความอยากมีแต่ไม่มีก็เป็นทุกข์ มีมากเกินจำเป็นก็เป็นทุกข์ มีน้อยตามจำเป็นนั้นเป็นสุข…

เมื่อเราคิดด้วยความสันโดษ มีจิตที่รู้พึงพอใจสิ่งที่ตนมี สิ่งที่ตนเป็น สิ่งที่สามารถทำได้หรือหาได้แต่เพียงความพอดี พอประมาณ ตามความสมควรแก่ชีวิต เมื่อนั้นความคิดก็ไม่ต้องวิ่งแล่นไปในความวุ่นวาย จนหลงเข้าไปในเมืองซอยตันแห่งกิเลส แล้วถึงความสงบ ความตื่นรู้ และความพึงพอใจในชีวิต ชนิดที่ผู้เอาแต่หาให้มากมีให้มากไม่อาจสัมผัสได้

2. อัพยาปาทสังกัปปะ คือวิธีคิดบนความเมตตา ปราศจากโทสะคือความเกลียดชัง คิดในทางละเว้นออกจากความโกรธ ความเคียดแค้น ความขุ่นเคือง ความตึงเครียด และการกล่าวโทษทั้งหลาย ดับไฟภายในด้วยการดำริอย่างเห็นอกเห็นใจ กรุณาปรานี อภัย และปรารถนาดีต่อกัน ในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์ ผู้เวียนว่ายในวัฏสงสารมิต่างกัน

ความโกรธเหมือนไฟที่เผาลน ลุกลามไหม้ไปทั้งกาย วาจา ใจ พาให้ย่อยยับทั้งการคิดการประพฤติการตัดสินใจ เพราะสติปัญญาถูกควันไฟภายในนั้นบดบังเสียสิ้น เมื่อความโกรธเผาลนใจเมื่อนั้นตรรกะเหตุผลต่างๆ ก็วิบัติไปจากใจ จากที่เคยมีสติปัญญาดีก็บั่นทอนเสื่อมหาย จากฉลาดหลักแหลมก็โง่เขลาลงทันใด

เปรียบดั่งผู้เห็นไฟกำลังลุกไหม้ในทุ่งหญ้าใกล้บ้านตน หากเห็นคุณค่าของเคหาที่อาศัยและตระหนักถึงอันตรายของไฟลามทุ่ง ย่อมหาทางดับไฟเหล่านั้นด้วยน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ ฉันใด ผู้ที่ตระหนักแล้วว่าไฟกำลังจะลุกไหม้หรือกำลังเผาผลาญภายในใจตนเองแล้ว เป็นผู้เห็นคุณค่าของชีวิตและอันตรายของความโกรธ ย่อมหาดับไฟเหล่านั้นทันที ไม่ส่งเสริมหรือปล่อยปละไว้ ฉันนั้น

พระองค์ทรงแนะนำว่า “กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้สันตบท พึงบำเพ็ญไตรสิกขา กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษเลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบแล้ว มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย และไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ พึงเจริญเมตตาในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด…

“ไม่พึงปรารถนาทุกข์ให้แก่กันและกัน เพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้น มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น กุลบุตรนั้นพึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ ไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู” *(J)

“กุลบุตร” หมายถึง ผู้มีชาติตระกูล โดยในที่นี้หมายถึงผู้ที่จะออกบวช หรือหากแปลให้ร่วมสมัย กุลบุตร ก็คือคนทั้งหลายที่ตั้งใจหรือสนใจปฏิบัติธรรม ต้องการศึกษาธรรม หรือหวังบ่มเพาะจิตใจให้งอกงาม ท่านทรงแนะนำว่า กุลบุตรทั้งหลายที่ใฝ่ในการเจริญรอยตามท่าน พึงประพฤติตนเช่นใด ซึ่งคำแนะนำสำคัญของท่านในที่นี้ คือการเจริญเมตตาให้มีอยู่ในใจอย่างไม่มีประมาณ ชนิดดั่งมารดายอมสละชีพเพื่อบุตร ไม่พึงถือโทษโกรธเคืองใคร ไม่เคียดแค้นอาฆาต ไม่ข่มขู่ดูหมิ่นแคลน หรือปรารถนาทุกข์ให้เกิดต่อกัน พึงปรารถนาดีขอสรรพสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด

พึงเป็นผู้กล้าหาญ เป็นผู้ตรง ผู้ซื่อตรง ยอมรับความเป็นจริง และองอาจเพียงพอที่จะหาญสู้กับเพลิงอันแผดเผาในจิตใจตน เพราะผู้ที่ปล่อยให้ไฟโทสะทำลายชีวิตตนเองกับผู้อื่นอย่างย่อยยับ คือผู้อ่อนแอ ผู้ขลาดกลัว ผู้ไม่ซื่อตรงต่อคุณค่าของชีวิตและหน้าที่ที่เกิดมา

การมีวิธีคิดแบบ อัพยาปาท หรือ อพยาบาท เหมือนกับการขับรถเดินเรืออย่างมีน้ำใจไมตรีต่อเพื่อนร่วมทาง เห็นอกเห็นใจ รู้จักให้ทาง ใจกว้าง ฝ่ายใดทำผิดพลาดอย่างไรก็รู้จักอภัย ขับขี่ด้วยเหตุผล มิได้ใช้ถนนเพื่อระบายอารมณ์จนเป็นภัยแก่ผู้อื่น การเดินรถเดินเรือนั้นก็จะทำได้โดยสะดวก เดินทางอย่างผ่อนคลายสบายใจ เพราะมิว่าเห็นอุปสรรคใดๆ ก็จะไม่คิดว่าเป็นศัตรูแก่ตัวเอง ไม่ขัดข้องต่อสิ่งเหล่านั้น พลขับย่อมทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพที่เขามี

ในเมื่อเราไม่ปรารถนาสร้างศัตรูขึ้นในโลกมิว่าทิศใด ไม่ผูกเวรจองกรรมไว้กับใครทั้งผอง ความคิดและสติปัญญาของเราก็จะร้างจากศัตรูคือความโกรธ ความชัง ความไม่พอใจ ความคับแค้นใจ หรืออารมณ์ใดๆ ที่ปิดกั้นบดบังสติปัญญา การคิดด้วยความเมตตา ปราศจากพยาบาท จึงเป็นการคิดชนิดที่เปิดกว้าง กระจ่างชัดเจน ไม่ขุ่นข้องมัวหมองหรือตึงเครียด คิดได้อย่างวางใจและผ่อนคลาย สามารถไตร่ตรองสถานการณ์ต่างๆ ด้วยเหตุผลเต็มศักยภาพ

อะไรก็ตามที่ทำให้ขุ่นข้องหมองใจ ลองกลับมาอยู่กับตัว แล้วดำริคิดบอกในใจตนว่า …ฉันขอบคุณ ฉันขอโทษ ขอให้เป็นไปในทางที่ดีที่สมควรตามเหตุปัจจัย ฉันขออภัยโปรดเมตตา ขออย่าได้จองเวรจองกรรมกันอีกต่อไป ฉันขอเรียนรู้เพื่อสร้างกรรมใหม่ที่ดีกว่า…

การตั้งจิตขอขมา และการอโหสิกรรม ต่างเป็นส่วนหนึ่งของการดำริเพื่อขจัดพยาบาท สิ่งใดๆ ที่กระทบใจสะเทือนใจ มิว่าเกิดขึ้นเพราะบุคคลอื่น ตัวเอง หรือสถานการณ์ใดก็ตาม ลองหักห้ามใจไม่ให้คิดโกรธกล่าวโทษใดๆ แล้วขอขมา ขออโหสิกรรม ด้วยใจตนเองอย่างเปิดกว้างไร้เงื่อนไข มิจำเป็นต้องใช้คำสวยหรูยืดยาว เพียงคำสามัญธรรมดาสั้นง่ายที่สื่อถึงการยอมสละซึ่งความโกรธเกลียดก็พอแล้ว

“อโหสิกรรม” หมายถึง กรรมที่ไม่ให้ผล เป็นกรรมหรือการกระทำที่มุ่งหวังตัดรอนไม่ให้เกิดผลเสียใดๆ ต่อกันสืบจากนี้ไป เช่น การขอโทษและการให้อภัย ส่วนคำว่า “ขมา” หมายถึง อดทน อดกลั้น และหนักแน่นดั่งแผ่นดิน ทั้งสองอย่างนี้มีแก่นแท้คือการขัดเกลาจิตใจและเมตตาตนเองอย่างแท้จริง เพื่อเอาชนะปีศาจร้ายด้วยความอดทนอดกลั้น ยอมลดตัวขออภัยแม้ไม่ผิด ยอมไม่มุ่งหวังผลใดๆ เพื่อมิให้เกิดทุกข์ใดๆ ต่อกันนับจากนี้

3. อวิหิงสาสังกัปปะ คือวิธีคิดบนความสันติ ปราศจากความรุนแรงและการเบียดเบียน มุ่งหมายในทางละเว้นการแก่งแย่งแข่งดี การทำร้าย การเอาชนะ หรือการเบียดเบียนบั่นทอนต่อกัน เป็นความดำริที่อาศัยปัญญา เช่น ความเข้าใจจริงเกี่ยวกับชีวิต กฏแห่งกรรม และความเป็นเหตุปัจจัยที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา เพื่อคิดเห็นอย่างเป็นกลาง เคารพในทุกคุณค่าของชีวิต และตัดรอนโมหะให้สิ้นไป

“โมหะ” คือความมืดบอด หมายถึงความหลงมัวเมา ไม่เข้าใจความจริงอย่างที่เป็นจริง ไม่เห็นคุณค่าแท้ของชีวิต ยังไม่ตระหนักถึงความเป็นไตรลักษณ์ อันได้แก่ อนิจจัง (ความไม่เที่ยงแท้ ต้องเปลี่ยนแปลงมิอาจคงอยู่ตลอดไป) ทุกขัง (เป็นปัญหาหรือถึงความเสื่อมอยู่เป็นธรรมดา) และ อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นของๆ ตน เป็นความว่างเปล่าจากการยึดถือ)

เมื่อมีโมหะ เมื่อนั้นก็จะใฝ่หาการมีตัวตน หวังการมีคุณค่า การเป็นที่ยอมรับ หรือความมั่นคงเที่ยงแท้แก่ตัวเอง จึงเกิดความคิดพยายามเอาชนะ เบียดเบียด ทำร้าย แก่งแย่งแข่งดีกับคนอื่น จนเป็นเหตุของการจองเวร การสร้างปัญหา การบั่นทอนกันไม่สิ้นสุด หรือหากไม่เป็นเช่นนั้นก็จะเป็นการคิดตอกย้ำตัวเองในทางลบ คิดเบียดเบียนบั่นทอนกายใจ คิดในทางไม่เคารพตนหรือทำร้ายตัวเอง ก็เพราะด้วยมี โมหะ ยังไม่เข้าใจชีวิตและคุณค่าที่แท้จริงอย่างถ่องแท้

ในพระไตรปิฎกนั้นได้บรรยายคุณลักษณประการหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เราทั้งหลายน้อมนำมาเป็นแบบว่า “ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนพระองค์เอง ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายประทับนั่ง ทรงดำริแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวง” *(K)

ทุกชีวิตเกิดมาล้วนมีคุณค่า ดังนั้นเราจึงควรมีวิธีคิดหรือการดำริที่เห็นคุณค่าในตนเอง ผู้อื่น สรรพสัตว์ทั้งหลาย และโลก เพราะการคิดเช่นนี้มีประโยชน์ต่อทุกฝ่าย มากกว่าการคิดเบียดเบียนทำร้าย หรือแก่งแย่งแข่งดีกัน ซึ่งล้วนบั่นทอนคุณค่าและทำให้เกิดปัญหาไม่จบสิ้น

โลกนี้ไม่ได้หมุนไปตามใจเรา แต่หมุนไปตามเหตุปัจจัย เรียกว่ากฎแห่งกรรม ดำเนินไปตามกลไกของการกระทำต่อกันและกัน ระหว่างตัวเราเองกับผู้อื่น และระหว่างสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย ส่งผลกระทบหนุนเนื่องถักร้อยดั่งสายใย เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการกระทำในจุดหนึ่งก็ส่งผลเชื่อมโยงกันไปทั่ว อยู่ภายใต้กฏหนึ่งเดียวคือ “อิทัปปัจจยตา” ความเป็นแค่เช่นนั้นเอง ตามเหตุปัจจัยอย่างนั้นเอง แม้ร่างกาย จิตใจ ตัวฉัน ล้วนแล้วแต่เป็นเพียง อิทัปปัจจยตา ซึ่งเชื่อมโยงกับผู้อื่น สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งมิได้แยกขาด

เขากับเรา พวกเดียวกันหรือต่างฝ่าย ล้วนแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเส้นสายใยแห่งเหตุปัจจัยที่ถักร้อยเข้าด้วยกัน ไม่ได้แบ่งเขาแบ่งเราอย่างแท้จริง เราทำร้ายเขาก็เท่ากับทำร้ายตัวเราเอง เขาทำร้ายเราก็เท่ากับเขาทำร้ายตัวเขาเอง จะมีเหตุผลใดที่ต้องเบียดเบียนหรือทำลายกันและกัน ในเมื่อเรากับเขาก็ไม่ได้แบ่งแยกกันอย่างแท้จริง

เมื่อเห็นความเป็นจริงของ อิทัปปัจจยตา เราจะลดการถือตัวตนเป็นที่ตั้ง ลดการเบียดเบียนแก่งแย่งแข่งดี แล้วคำนึงถึงประโยชน์ คุณค่า และส่วนร่วมเป็นที่ตั้งมากขึ้น หากเปรียบดำริดั่งการขับรถเดินเรือ การคิดแบบอวิหิงสา หรือการคิดอย่างสันติ เป็นเหมือนการขับยานพาหนะโดยไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ แต่เอาความจริงเป็นใหญ่ หน้าที่เป็นใหญ่ กฏจราจรเป็นใหญ่ ควบคุมพวงมาลัยด้วยความเข้าใจว่าท้องถนนหรือท้องทะเลมีความเป็นไปอย่างไร มุ่งสู่จุดหมายและรักษาประโยชน์ส่วนรวมของผู้ร่วมทาง เป็นพลขับที่ให้ความเคารพแก่คนอื่น เขาย่อมได้รับความเคารพกลับคืนมา

เมื่อความมืดบอดกำลังครอบงำใจ อยากเบียดเบียนทำร้าย อยากเอาชนะ อยากกดขี่ข่มเหง หรืออยากแข่งดีแข่งเด่น ลองกลับมาอยู่กับตัว แล้วดำริคิดบอกในใจตนว่า …ฉันเห็นทุกข์ ความอยากนี้หนอคือทุกข์ การเบียดเบียนผู้อื่นนำมาซึ่งความทุกข์ การกดขี่ข่มเหง การแก่งแย่ง ความอยากเอาชนะ ความอยากมีตัวตน นำมาซึ่งความทุกข์… โมหะคือเหตุแห่งทุกข์ ความรุนแรงคือเหตุแห่งทุกข์ อัตตาตัวตนคือเหตุแห่งทุกข์ ความไร้ปัญญาคือเหตุแห่งทุกข์… ความสุขและประโยชน์ของทุกฝ่ายคือการพ้นทุกข์ ฉันตั้งใจหาทางออกที่มีคุณค่าสำหรับตนเองและผู้อื่น…

การคิดด้วยหลักอริยสัจสี่ ประกอบด้วยการไตร่ตรองทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค คือวิธีคิดแบบหนึ่งที่ขจัดความรุนแรงภายในใจและในโลกใบนี้ เมื่อต่างเห็นทุกข์อย่างถ่องแท้ ตระหนักในเหตุแห่งทุกข์และการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง มรรคหรือทางพ้นทุกข์ก็อยู่เบื้องหน้าเรานี้เอง สันติก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ความเบียดเบียนทั้งหลายก็ไม่มี ทางสายกลางก็ดี อริยมรรคทั้งแปดประการก็ดี ก็จะเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ณ ตรงนี้

วิธีคิดทั้งสามลักษณะ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปปะ , อัพยาปาทสังกัปปะ และ อวิหิงสาสังกัปปะ คือการดำริอย่างพุทธะ เป็นการคิดเพื่อความเป็นผู้ตื่น ผู้รู้ และผู้เบิกบานในชีวิตอย่างแท้จริง นี่คือ “สัมมาสังกัปปะ”

ท่านทรงสอนให้ “คิดบวกเหนือบวก” เหนือกว่าหลักคำสอนสมัยใหม่จากคอร์สต่างๆ มากนัก เพราะ “คิดบวก” แบบที่สอนทั่วไป ก็อาจเป็นการคิดจากความโลภ คือความอยากได้ใคร่มีไม่สิ้นสุด ซึ่งมิอาจทำให้เป็นสุขอย่างแท้จริงเลย มอบแค่เพียงความพอใจชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ยิ่งพยายามเติมเต็มก็ยิ่งรู้สึกขาดพร่อง มันก็ทำให้เราไม่อาจพึงพอใจได้เสียทีเมื่อคิดบนความโลภ

คิดบวกแบบคนทั่วไปที่ว่าก็อาจเกิดจากความหลง ทำให้เกิดความอยากดี อยากเป็นหนึ่ง อยากประสบความสำเร็จ จนทำความเบียดเบียนตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่น เพราะความบีบคั้นกดดัน เคี่ยวเข็ญเกินไป ไม่ประมาณตน อาจส่งเสริมหรือทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม ครอบครัวและสภาพสังคม ด้วยความถือตนเป็นใหญ่จนมิได้สนใจส่วนรวม

ขณะเดียวกันสิ่งที่เรียกว่า “คิดลบ” ในมุมของคนทั่วไปก็อาจไม่ใช่ พยาบาทวิตก หรือ พยาบาทสังกัปปะ ก็ได้ แม้การคิดนั้นๆ อาจจะดูไม่เข้าท่า ขัดแย้งกับสิ่งที่เราคิดเห็น หรือเป็นการมองโลกแง่ร้ายก็ตาม หากการคิดนั้นมิได้เป็นไปเพราะความโกรธ ความขุ่นเคือง มานะถือตัว ตัณหาความอยากใคร่ หรือกิเลสใดๆ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการคิดลบที่แท้จริง แต่อาจเป็นการคิดบวกที่ส่งเสริมสติปัญญาและการรู้เท่าทันในมุมต่างก็ได้ เราไม่สามารถใช้ทัศนคติของตนเองเพียงอย่างเดียวตัดสินความคิดของคนอื่นได้ อย่างน้อยต้องคำนึงถึงกุศลหรืออกุศลที่ผลักดันอยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ตามมิว่าคิดบวกหรือลบของคนทั่วไป มักยังไม่พ้นจากความทุกข์ อย่างมากก็เพียงสร้างสุขชั่วครั้งชั่วคราว ไม่เพียงเท่านั้น คิดบวกคิดลบที่เรายึดถือว่าดี หรือมั่นหมายเป็นของฉันเป็นตัวฉัน มันอาจเป็นเหตุแห่งทุกข์ของชีวิตเสียเอง หากการคิดนั้นยังไม่ใช่ สัมมาสังกัปปะ หรือการคิดที่ถูกต้องในธรรม ซึ่งเป็นการคิดบวกที่แท้จริง

คิดบวกที่แท้จริง” ต้องปราศจากรับใช้โลภะ โทสะ และโมหะ แต่ต้องรับใช้คุณงามความดีอย่างเต็มเปี่ยม ด้วยสติปัญญาที่รู้เท่าทันกิเลสในใจตน

การคิดผิด หรือ “การคิดลบที่แท้จริง” คือการคิดเข้าหากิเลส ซึ่งเปรียบเหมือนเมืองซอยตัน โลกที่ตีบตันและเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงวุ่นวาย หากเราปล่อยให้วิธีคิดหรือการดำริเป็นเหมือนการขับรถหลงเข้าไปในเมืองแห่งนี้ ความทุกข์กับปัญหาต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นมากมายไม่จบไม่สิ้นในชีวิต และรู้สึกอับจนไร้หนทาง

เราควรฝึกวิธีคิดอย่างพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นแบบอย่างของการพ้นจากทุกข์สิ้นเชิงแล้ว ผู้ทรงเป็นแบบอย่างให้เราเห็นว่า เราควรคิดขัดใจตัวเองบ้าง ขัดกระแสความอยาก ความโกรธ และความหลง แล้วมุ่งหน้าหนีออกมาจากโลกอันตีบตันแห่งกิเลส เพื่อชีวิตจะได้เห็นหนทางอันกว้างใหญ่ ไม่ต้องรู้สึกว่าชีวิตช่วงยุ่งยากยุ่งเหยิงอีกต่อไป

หากยังใช้วิธีคิดที่ผิด พยายามคิดอย่างไรก็ไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง หากยังใช้วิธีคิดแบบที่สร้างความทุกข์ไม่สิ้นสุด คิดอย่างไรก็ไม่เป็นสุขอย่างแท้จริง…

 

…คิดตามความอยาก นี่เป็นทุกข์
คิดพอเพียงเอาชนะใจ นี่เป็นสุข

คิดสนองความโกรธเกลียด นี่เป็นทุกข์
คิดเมตตาไร้เงื่อนไข นี่เป็นสุข

คิดมุ่งเอาชนะเบียดเบียน นี่เป็นทุกข์
คิดลดละอัตตาตัวตน นี่เป็นสุข…

กลับมากุมบังเหียนของจิต กำกับความคิดให้เป็นไท อำนาจอยู่ที่สติ นำกาย วาจา ใจสู่ทิศทางใหม่ที่ถูกต้อง

สุขแท้จึงจะเกิด เมื่อฝึกจิตดำริอย่างพุทธะ

 

… บทความเรื่อง “สัมมาสังกัปปะ : วิธีคิดแบบพุทธะ” ยังไม่จบ
พบกับตอนต่อไปในเดือนเมษายน 2565

 

อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 68

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/

> > > สนับสนุนโครงการ ผ่านคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

*(A) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๑๐๖]
*(B) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ๒. สนิทานสูตร ว่าด้วยธรรมที่เป็นต้นเหตุ [๙๖]
*(C) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๗. วิตักกสูตร ว่าด้วยการตรึกถึงอริยสัจ [๑๐๗๗]
*(D) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๑๖๖๑]
*(E) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค [๒๒๘]
*(F) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๑ ธรรมสังคณีปกรณ์ อกุศลธรรม อกุศลจิต ๑๒ จิตดวงที่ ๑ ปทภาชนีย [๒๙๒]
*(G) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒๙)]
*(H) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒๖๒]
*(I) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ๑๐. ปุริสสูตร [๒๘๙]
*(J) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต เมตตสูตรที่ ๘ [๓๐๘]
*(K) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค ๑. พรหมายุสูตร พรหมายุพราหมณ์ต้องการเฝ้าพระพุทธเจ้า [๕๘๙]