สถาบันธรรมวรรณศิลป์

โลโก้TW copy

 

 

เกี่ยวกับสถาบันธรรมวรรณศิลป์

ที่มาและปรัชญาการดำเนินงาน

ผู้อำนวยการและผู้ให้คำปรึกษา

โครงการเพื่อการกุศล

การติดต่อ

 


 

 

นิยามธรรมวรรณศิลป์

ธรรมวรรณศิลป์ ประกอบด้วย ๒ นัยสำคัญ ดังนี้

๑. วรรณศิลป์หรือกระบวนการเขียนที่เผยแพร่และส่งต่อความดี ความงาม และความจริงสู่ผู้อ่านและสังคม

๒. วรรณศิลป์หรือกระบวนการเขียนที่ขัดเกลาและบ่มเพาะชีวิตจิตใจของผู้เขียนนั้นเอง

 

 

วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน

๑. สร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้เพื่อการบ่มเพาะจิตใจและการเติบโตของชีวิต เข้าถึงผู้คนในสังคมหลายกลุ่มและหลายสถานภาพ

๒. พัฒนากระบวนการเขียนที่ผสานความรู้ด้านวรรณศิลป์ จิตวิทยา ศาสนธรรม และองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อการพัฒนาชีวิตปัจเจกบุคลและสังคม

๓. ส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาที่นำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้

๔. เยียวยาบาดแผลทางจิตใจและสร้างความตระหนักรู้ในชีวิตกับผู้คนในสังคม

๕. พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาและวรรณศิลป์ทั้งด้านสื่อสารสนเทศและสื่อเทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมายวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ของสถาบันธรรมวรรณศิลป์

 

 

วิสัยทัศน์

 

ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า “หากศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ” หมายถึง สังคมจะอยู่รอดอย่างเย็นและเป็นสุขได้ต้องอาศัยการบ่มเพาะจิตใจของผู้คนในสังคม ผ่านหนทางอันหลากหลายบนพื้นฐานของความดี ความงาม และความจริง การมีศีลธรรมนั้นมิใช่เกิดขึ้นด้วยสอนแบบบอกความรู้เท่านั้น เนื่องด้วยธรรมชาติของจิตใจมนุษย์มีคุณงามความดีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เพียงความไม่รู้และการขาดการเห็นคุณค่าในตนอย่างแท้จริงเสมือนหมอกม่านกำบังไว้ การเติบโตและการเยียวยาจิตใจที่เจ็บป่วยจึงนำมาสู่ศีลธรรมตามธรรมชาติ เมื่อผู้คนมีศีลธรรม สังคมและโลกย่อมพ้นภัยอันเกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์นั้นเอง

 

สถาบันธรรมวรรณศิลป์มุ่งมั่นสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะจิตใจผู้คนผ่านเครื่องมือสมัยใหม่อย่างการเขียนเชิงจิตวิทยา กระบวนการอบรมร่วมสมัย การเรียนการเขียนเยียวยาผ่านทางไกล สื่อสิ่งพิมพ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผสานองค์ความรู้ตะวันออกและตะวันตก เป็นต้น ทั้งในกลุ่มเยาวชนและผู้ใหญ่ เพื่อเยียวยาบาดแผลทางจิตวิทยาที่มีร่วมกันในสังคมร่วมสมัยที่ระอุร้อนด้วยการแข่งขัน ความแตกแยก การขาดราก และความโดดเดี่ยว และเพื่อบ่มเพาะคุณธรรมบนพื้นฐานของความรักและการรู้จักตนเอง ด้วยศาสตร์และศิลป์ที่มีศาสนธรรมเป็นพื้นฐาน จิตวิทยาและองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องเป็นเครื่องมือ

 

สถาบันจะดำเนินงานเป็นแบบอย่างขององค์กรแห่งการเรียนรู้ ให้การงานเป็นคุรุ ฝึกฝนตนพร้อมกับการสอนผู้อื่น พัฒนานวัตกรรมและปรับประยุกต์กระบวนการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง ดำเนินงานเริ่มจากการเป็นองค์กรขนาดเล็กที่คิดการณ์ใหญ่ แต่ยังอ่อนน้อมเช่นกล้าไม้นบน้อมต่อธรรมชาติ ไม่หยุดใฝ่ฝันกับเป้าหมายสำคัญเพื่อสังคม ทุ่มเทให้มากยิ่งกว่ากำลังร่างกายและจิตใจที่มีอยู่ มองข้ามอุปสรรคให้เห็นความเป็นไปได้ในความเป็นไปได้ยากยิ่ง คนทำงานเพื่อสังคมจะต้องก้าวย่างเติบโตพร้อมกับองค์กรมุ่งสู่การบรรลุศักยภาพในตนและภารกิจแห่งชีวิต

 

 

“ถ้าเราย้อนดูบันทึกจะเห็นตัวตนที่หลากหลาย ในแต่ละบันทึก เราก็จะต้องทำความเข้าใจในตัวตนของเรา เพื่อให้การดำรงอยู่ของเราไม่ขัดแย้งกันทั้งภายในและภายนอก บันทึกช่วยให้เราได้สำรวจตัวเองได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ใจเย็นมากขึ้น เมื่อคนในครอบครัวมีปัญหาจากความคิดภายใน เราก็เข้าใจตัวเองได้ทันทีว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเราแต่เป็นเพราะความคิดของเขา เราสามารถสังเกตคนอื่นให้เป็นกระจกสะท้อนตัวเรา และเห็นใจคนอื่นได้ด้วย สรุปได้ว่า การเขียนเป็นการค้นพบตัวเองอย่างแท้จริง และเราควรนำมาใช้ตลอดชีวิต ไม่ควรละ เลิก ในการเขียนเพื่อค้นพบตัวเองไปตลอดจนกว่าชีวิตจะหาไม่ค่ะ”
คุณหมวย อาชีพ รับราชการ