คุณค่าของเธอ ไม่ได้ขึ้นกับความเข้าใจ(ของคนอื่น)

 

เมื่อใดที่คนอื่นเข้าใจตัวเราผิดพลาด แล้วทำให้รู้สึกหม่นหมอง เสียกำลังใจ โกรธหงุดหงิด หรือน้อยเนื้อต่ำใจ แสดงว่าใจเรากำลังผูกคุณค่าตนเองไว้ที่มุมมองกับความคิดของผู้อื่น และการได้รับความเข้าใจ จนเป็นทุกข์

การใส่ใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเราถือสิ่งนี้ไว้มากเกินไปจนไม่มีหลักยึดให้ใจหนักแน่นพอ หัวใจก็จะเป็นลูกบอลที่ถูกยื้อแย่งและส่งไปหาคนนั้นที คนนี้ที มิได้กลับมาหาคุณค่าที่ตนเองอย่างมั่นคง ความสุขทุกข์ก็จะขึ้นอยู่กับผู้อื่น

เรากำลังนำภาพที่คนอื่นมองเห็นมาเป็นเนื้อตัวเรา ทั้งที่ความคิดคนผันแปรไม่แน่นอน เมื่อใดอารมณ์ดีความคิดก็เป็นอย่างหนึ่ง เมื่อใดอารมณ์เสียความคิดก็เปลี่ยนแปลง ยามทำถูกใจก็ยกยอชื่นชม ยามขัดใจก็หมิ่นหยามหมางเมิน

ตัวเราคือสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ณ ตรงนี้ มิใช่ในดวงตาหรือความคิดใคร หากเราถือตนเองเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่คนอื่นมอง ก็เสมือนถือว่าภาพจากเครื่องฉายเป็นของจริง เมื่อใดเขาไม่สนใจไยดีหรือคิดเห็นเป็นอื่น เราก็รู้สึกด้อยค่าประหนึ่งไม่มีตัวตน

การถูกเข้าใจผิดมิได้ติดตราประทับไว้ที่ตัวเราแต่เพียงลำพัง คนที่ทำคุณงามความดีหลายคนย่อมเคยผ่านการถูกเข้าใจผิด หรือแม้แต่การถูกประณามหยามเกียรติ ศาสดาของศาสนาต่างๆ ย่อมเคยถูกเข้าใจผิดหรือคิดเห็นในทางลบร้ายจากผู้อื่น ก่อนที่ท่านจะก้าวผ่านด้วยสัจจะ ศรัทธา และปัญญา

หากพวกท่านนำคุณค่าจากสายตาผู้อื่นมาเป็นเครื่องชี้วัดตัดสินคุณค่าแล้ว โลกนี้ก็คงไร้ซึ่งศาสนาพยุงความดีของมนุษย์ และไม่มีคำสอนเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์มาจนถึงทุกวันนี้

คุณค่าของสิ่งใดๆ มีคุณค่าในตัวมันเอง การตีตราให้ราคาจากภายนอกมิใช่สิ่งที่เที่ยงแท้และยั่งยืน เปลี่ยนแปลงได้ตามอารมณ์ สถานการณ์ และปัจจัยมากมาย เราจะเลือกฝากคุณค่าของตัวเองไว้ที่ตาชั่งเหล่านั้นหรือไม่

ถึงอย่างนั้นมิใช่ห้ามเราไม่รับฟังผู้อื่นเลย มุมมองจากผู้อื่นเป็นแง่คิดให้เรารับฟังและเรียนรู้ได้เสมอ แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างคุณค่าของสิ่งที่เราเป็นหรือได้ทำ กับความคิดเห็นหรือความเข้าใจจากผู้อื่น สองส่วนนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน สิ่งที่คนอื่นบอกเป็นการ “เสนอแนะ” ความคิดเห็นเป็นสิ่งนอกตัว ส่วนคุณค่าที่มีจะ “แสดงออก” จากข้างใน

หากใจเราเผลอทุกข์และตอกย้ำตนเองเพราะความไม่เข้าใจของใคร ขอให้เราระลึกว่าตอนนั้นเรากำลัง “ชั่งใจ” กับคุณค่าใดมากเกินไป ชั่งใจคิดและชั่งใจให้ถูก คือเลือกวางคุณค่าของตนเองไว้กับสิ่งที่เหมาะสมมากกว่า แทนที่จะเป็นความคิดของคนอื่นอันไม่แน่นอน ฝึก “ช่างมัน” บ้าง

 

อ่านบทความเต็มได้ที่

“๕ แง่คิดเมื่อถูกเข้าใจผิด” คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 35

 

๕ แง่คิดเมื่อถูกเข้าใจผิด

 

เรียนรู้ออนไลน์ด้านการเขียนบำบัดฟรี

ในโครงการ “ปัญญ์ สเปซ”

https://punnspace.com/learning/