จิตโง่ Vs จิตฉลาด (ตอนแรก)

 

1 จิตที่โง่ เอาอัตตาไปรับคำวิจารณ์
จิตที่ฉลาด เฝ้าดูคำวิจารณ์แล้วรับประโยชน์
.
คำพูดหมิ่น คำด่าว่า คำวิจารณ์ อยู่ในสิ่งที่เรียกว่า วาจา โดยธรรมชาติของมันแล้วเป็นเพียงลมลอยออกมาจากปากพร้อมกับคลื่นเสียงที่สั่นสะเทือน หรืออาจเป็นเพียงอักษรที่ก่อร่างขึ้นด้วยหมึกและจอภาพ เหล่านี้คือธรรมชาติของวาจา เป็นแค่สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามปัจจัย
.
การคิดเอาว่านั่นเป็นวาจาที่ไม่ดี เป็นคำดูหมิ่น เป็นคำวิจารณ์ หรือเป็นคำตัดสิน เป็นธรรมชาติของจิตที่ตีความ ซึ่งสมมติให้สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน มีตัวตนขึ้นมา ตามสัญญาคือความจำได้หมายรู้แยกแยะเอาว่า คำแบบใดเป็นลักษณะที่น่าพึงใจไม่น่าพึงใจ
.
จิตที่โง่ นอกจากการจะตีความต่างๆ นานาจากลมที่พัดพาจากปากผู้อื่นหรืออักษรที่ปรากฏบนหน้ากระดาษและหน้าจอ เกิดเป็นความหมายที่ก่อความรู้สึกแก่ใจแล้ว ยังเอาอัตตาตัวเองไปรับให้เป็นทุกข์
.
ธรรมชาติของลม เมื่อพัดพาไปไม่เจอสิ่งที่ต้องกระทบมันก็จะเป็นเพียงอากาศเคลื่อนไหวซึ่งจะเบาลงไปตามกาล ธรรมชาติของวาจาก็เช่นกัน หากไม่มีสิ่งที่ต้องกระทบแล้วมันจะเลือนลางจางไปเอง
.
เพราะมีอัตตาเป็นตัวรับ วาจาจึงมีสิ่งให้ต้องกระทบ เกิดเป็นอารมณ์ความพึงใจ ไม่พึงใจ เกิดเป็นการตีความตามแต่ใจตัวเองไปต่างๆ นานา ทำให้วาจาที่เป็นแค่สิ่งไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงลมหรืออักษรกลายเป็นดาบที่ทิ่มแทงใจ
.
จิตโง่ก็จะโทษคนอื่น โทษสิ่งภายนอก คำพูดเธอทำให้ฉันทุกข์ใจ , เธอตัดสินฉัน , เธอด่าว่าฉัน , เธอทำร้ายฉันด้วยคำพูด ฯ ทั้งที่จริงๆ แล้วนั้น จิตโง่เป็นผู้ทำร้ายตัวเอง
.
การเอาอัตตาไปรับคำวิจารณ์นั้นก็คือตัวตนฉัน ความเป็นของๆ ฉัน ความมีฉันเป็นศูนย์กลาง ไปโยงผูกกับถ้อยคำเหล่านั้นไว้ เอาอัตตาตัวเองไปรับถ้อยคำไว้ให้เป็นทุกข์เสียเอง
.
จิตที่โง่อีกแบบหนึ่ง ปฏิเสธคำวิจารณ์อย่างสิ้นเชิงด้วยความอวดดีและความทะนงตน ไม่เอาอัตตาไปแบกรับคำพูด แต่ใช้อัตตากลบเกลื่อนการแนะนำและท้วงติงให้เสมือนว่าไม่มีอยู่
.
จิตที่ฉลาด จะไม่กระทำในสองทางเช่นนั้น แต่จะเฝ้าดูคำวิจารณ์ คือรับฟังด้วยใจเป็นกลาง มิเอาอัตตาไปชั่งน้ำหนักถ้อยคำ ทว่าใช้ปัญญาตัดสินพิจารณาจากประโยชน์
.
เราทุกข์กับคำพูดของคนอื่น เพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของวาจา ทึกทักเอาเป็นเรื่องของฉัน เป็นตัวตนของฉัน เป็นการทำร้ายฉัน ฯ เมื่อใดก็ตามที่เข้าใจความเป็นจริง จึงเพียงรับรู้สักแต่ว่าเป็นลมปาก สักเป็นอักษรจารึก แล้วรับเอาแต่ประโยชน์ที่พึงได้จากข้อความเหล่านั้น
.
เราจะไม่สั่นไหวหากจิตใจมิได้มีกิเลสให้วาจาเหล่านั้นสั่นสะเทือน หากปราศจากข้อควรตำหนิแล้วอย่างหมดสิ้นก็จะไม่ต้องสู้หรือหนีกับคำพูดของใคร
.
ที่ยังสู้หรือหนีกับคำพูดคนอื่นอยู่ เพราะจิตก็ยังมีความฉลาดที่พอรู้อยู่บ้างว่าตัวเองมีข้อควรตำหนิที่แอบซ่อน เป็นด้านมืดหรือข้อเสียก็ดี ที่ข้อความเหล่านั้นมาสั่นสะเทือน แต่เป็นไปด้วยจิตใต้สำนึก คือไม่รู้ตัว จึงยังนับว่าเป็นจิตที่โง่
.
พึงฝึกจิตด้วยปัญญาและอุเบกขา เฝ้าดูข้อความจากผู้อื่นไม่เอาตนไปรับให้เกิดอารมณ์หรือการปรุงแต่งต่างๆ แล้วก็ไม่หนีหรือกลบเกลื่อน ทำความเข้าใจให้ได้ว่าในข้อความเหล่านี้มีประโยชน์อย่างไร กฏแห่งกรรมหรือธรรมะจัดสรรมาเพื่ออะไร
.
.
2 จิตที่โง่ อ้างเจตนาดี
จิตที่ฉลาด น้อมรับความผิดพลาด
.
กรรมไม่ได้สื่อถึงเจตนาเสมอไปตามหลักธรรม บางครั้งมโนกรรมก็ซับซ้อนเกินกว่าเราจะรู้ตัว เจตนาดีก็มีกิเลสผสม เจตนาร้ายก็อาจมีความกลัวและอารมณ์ที่แอบซ่อน
.
จิตคิดดี ใช่ว่าการกระทำจะดีตาม หากมีความไร้สติ ความประมาท ความพลั้งเผลอ เจตนาดีก็ให้ผลร้ายได้ไม่ยาก
.
เคยเห็นการกล่าวอ้างว่าเจตนาดีแต่เปล่าประโยชน์หรือไม่ และเคยเห็นการกระทำดีโดยไม่อ้างเจตนาดีหรือเปล่า อย่างใดจึงน่าชื่นชม
.
จิตที่ทำดี ไม่หวังให้ดีแก่ตัว ไม่จำเป็นต้องอ้างเจตนาดี แม้ถูกนินทาว่าร้ายหรือไม่ได้รับการตอบแทนที่ควรค่า ก็ยังยืนยันในสิ่งที่กระทำไปแล้วนั้น หรือยอมรับความผิดพลาด
.
เพราะหวังดีเพียงใด เราก็พลาดได้ไม่ต่างกัน ความหวังดีไม่ใช่ข้ออ้างของการทำร้ายผู้อื่น ไม่ใช่ข้ออ้างของการก่อความเสียหาย ไม่ใช่ข้ออ้างของการขาดสติ
.
การทำดี หรือ เจตนาดี เป็นสิ่งที่จิตคิดตีความตัดสิน หากไม่เป็นไปอย่างเข้าใจธรรมชาติแล้วก็จะยึดมั่นเอาว่า ความดีเป็นตัวตน เจตนาดีเป็นตัวตน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว จิตนั้นเองก็จะเป็นทุกข์เพราะต้องคอยปกป้องความดีหรือเจตนาดี ที่คิดเขลาเอาเองว่ามันเป็นของฉัน
.
จิตที่ฉลาด ล่วงรู้ว่าทั้งความดีและเจตนาดีเป็นเพียงสิ่งสมมติขึ้นมา มีปัจจัยหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน มิจำเป็นที่มันจะมีแต่ปัจจัยที่ดีบริสุทธิ์ มันอาจมีปัจจัยร้ายหรือกิเลสปะปนได้เสมอ
.
เมื่อคิดว่าทำดี เมื่อคิดว่าเจตนาดี แต่เมื่อผลไม่เป็นเช่นตั้งใจ เพราะความไม่รู้และความผิดพลาดต่างๆ ที่ผสมอยู่ในการกระทำหรือเจตนานั้นๆ ก็ยอมรับและพร้อมปรับปรุง
.
มีแต่จิตที่โง่และหวังดีแก่ตัวจึงต้องอ้างเจตนาดี โดยไม่ยอมรับความผิดพลาด เพราะลึกๆ แล้วก็ยังไม่เคารพตัวเอง หรือยังรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ยังหวังให้ตัวเองดีขึ้นด้วยมุมมองความรู้สึกจากผู้อื่น หรือด้วยความเข้าใจจากอีกฝ่าย
.
ทำดีมีสองแบบ ทำดีเพื่อความดี กับทำดีเพื่อหวังให้ตัวเองดี จิตที่ฉลาดแล้วจะกระทำอย่างแรก เพราะรู้ว่าการทำดีแบบที่สองนั้น ให้ผลดีไม่เต็มที่และทำไปเพื่อพอกพูนความทุกข์ให้มากขึ้นภายหลัง
.
อย่างที่สองนี้ที่เรียกว่า หวังดีแก่ตัว ไม่ใช่เจตนาดีอย่างแท้จริง จิตที่ฉลาดแล้วไม่กระทำอย่างนั้น ไม่จำเป็นต้องอ้างเจตนาดี แค่มีสติก็พอ
.
.
3 จิตที่โง่ ไม่รู้ว่าไม่รู้
จิตที่ฉลาด รู้ว่าไม่รู้
.
ตามที่กล่าวในบทความคอลัมน์ “บทภาวนา อนัตตา” ตอนที่ 39 ไว้ดังนี้
.
“ความเข้าใจไม่เคยคงที่
เพราะใจเอยมิอาจคงทน
รู้ว่าไม่รู้ก็ยังดี
ไม่รู้ว่าไม่รู้จึงมืดมน
.
“เธอยังต้องเรียนรู้
ความคิดมิอาจเป็นใหญ่กว่าความจริง
สิ่งที่เห็นแค่ส่วนเสี้ยวที่มองดู
คำตอบ…ไม่ใช่จุดจบ”
.
วันหนึ่งเราเข้าใจเรื่องนี้ในแบบนี้ แต่วันหน้าอาจไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อการเรียนรู้ได้ก้าวเดิน เมื่อประสบการณ์ได้สั่งสม วันวัยเจริญเติบโต ความคิดความอ่านมีการเปลี่ยนแปลง มุมมองแปรผันไปตามปัจจัย
.
ยึดเอาความเข้าใจในวันนี้เป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด เป็นความประมาท เพราะจิตที่คิดว่ารู้อะไรต่างๆ นานา ตัวมันเองยังไม่คงทนแน่นอนเลย นับประสาอะไรกับความรู้ความเข้าใจต่างๆ ที่ทึกทักเอาไว้เป็นของฉัน
.
จิตที่โง่ อวดฉลาด ยึดเอาความเก่งและปัญญาเป็นตัวตนของตน ปฏิเสธความโง่เขลาที่ตนมี เพื่อรักษาภาพ รักษาหน้า รักษาความภาคภูมิใจ รักษาอัตตาตัวตนเอาไว้ นี่ยังไม่เข้าใจความเป็นจริง
.
เมื่อใดคนอื่นไม่เชื่อถือ ไม่รับฟัง ถกเถียงหักล้างความคิดเห็นที่แสดง หรือจี้จุดที่ความไม่รู้ของตน จิตนั้นก็รู้สึกด้อยค่าเศร้าหมอง หรือไม่ก็โกรธ พยายามฟาดฟันอีกฝ่ายกลับคืน ปกป้องความคิดที่เป็นสิ่งปรุงแต่งขึ้นมา
.
เราปรุงแต่งความรู้ ความคิด และความเข้าใจต่างๆ มาจากไหน ก็มาจากการรับรู้ผ่านผัสสะทั้งหลาย อาทิ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รับรู้มาจากที่ใด ก็มาจากสื่อทั้งหลายและประสบการณ์ที่พบเจอ มีอะไรบ้างในสิ่งเหล่านี้ที่เป็นตัวฉันของฉัน
.
เพราะความโง่เขลาของจิตที่ไม่รู้เท่าทันการไปเอาสิ่งที่ไม่ใช่ของตนมาเป็นของๆ ตน ไปเอาความปรุงแต่งมาเป็นเครื่องกำหนดคุณค่าชีวิต จึงทุกข์เพราะความรู้ความเข้าใจอันมืดมนต่อความเป็นจริง
.
จิตที่ฉลาด รู้ตัวว่ามีโง่ สำรวมความฉลาดที่มี แล้วเปิดรับที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ทุกสถานการณ์ ไม่มัวเอาความเก่ง ปัญญา หรือความรู้ใดๆ มาเป็นโล่กำบังอัตตา ไม่เอามายกหูชูหางส่งเสริมคุณค่าของตัวเอง
.
ถ้าจิตฉลาดพอที่จะรู้ว่าตัวเองมีคุณค่าอยู่แล้ว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งนอกตัวหรือสิ่งที่ไม่แน่นอนทั้งปวง อย่างเช่นความรู้ความเข้าใจอันปรุงแต่งขึ้นตามปัจจัยมิได้เที่ยงแท้แน่นอน
.
ความคิดเป็นเพียงแค่มุมมองที่เราเฝ้าดูโลก มันเป็นแค่ส่วนเสี้ยวของความเป็นจริงเท่านั้น แต่ความเขลานั้นเองที่ทำให้เราให้ค่าแก่ความคิดเสียใหญ่โต ราวกับว่าเป็นความจริงทั้งหมด
.
เมื่อยังมีความฉลาดอยู่ในจิต จิตนั้นก็จะเป็นนักเรียนรู้ได้อยู่บ้าง ยังสามารถที่จะเปิดรับปัญญามาแก้เกลาความโง่ที่ตนมี
.
พึงรู้ว่าจิตมีความโง่อยู่ เพราะยังโง่อยู่นั้นเองทุกข์จึงได้มี สุขจึงได้หวังครอบครอง เพราะยังโง่อยู่นั้นเองจึงยังได้เวียนวนในวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอย่างทุกวันนี้
.
.
4 จิตที่โง่ หลงใหลในความสุข
จิตที่ฉลาด ระวังความสุข
.
ความสุขกับความน่าพอใจ มันเหมือนกลิ่นหอมและรสหวานของดอกไม้ที่ยั่วยวน หลอกล่อ เหล่าแมลงหมู่ภมร ให้ช่วยผสมเกสรให้ต้นไม้ได้แพร่พันธ์ุตัวเองต่อไป
.
เหล่าแมลงที่ว่านั้นก็คือจิตที่โง่หลงใหล ดอกไม้นั้นคือสิ่งเร้าและผัสสะ มีกลิ่นหอมและรสหวานเป็นการต้องกระทบ ทำให้จิตเกิดอารมณ์คล้อยตามเป็นเวทนาอันพึงใจ อยากเข้าหา อยากลูบคลำ อยากยึดครอง แล้วหาใหม่ เหมือนพฤติกรรมของแมลง
.
ต้นไม้ที่หวังแพร่พันธุ์นั้นเองก็คือกิเลสที่หลอกล่อวานใช้จิตโง่ ให้ช่วยผสมเกสรอันประกอบด้วยโลภ โกรธ และหลง จนเผ่าพันธ์ุของกิเลสเติบใหญ่ หยั่งรากลึกลงในจิตใจ และขยายพันธุ์ไปสู่ผู้คนรอบข้าง
.
ความสุขและความน่าพอใจจึงมีตัวตนแท้จริงเป็นเพียงการหลอกใช้ของกิเลสที่เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ แลกด้วยความสมปรารถนาชั่วครั้งชั่วคราว
.
จิตที่ยังโง่ ย่อมไม่รู้คุณค่าแท้จริงของชีวิต เมื่อได้ลิ้มลองรสอร่อยของความสุขก็ยึดถือไปว่านั่นเป็นคุณค่าที่ควรใฝ่หาและรักษา จึงต้อยตามหาดอกไม้เช่นหมู่ภมรแมลงทั้งหลาย อย่างร้ายก็เหมือนแมงเม่าบินเข้าหาแสงไฟ
.
ศัตรูของแมลงก็เปรียบเหมือนพญามัจจุราชคือความตาย คิดว่าพวกมันจะดักรอเหยื่อ ณ ที่แห่งใด ก็ย่อมต้องเป็นที่ๆ แมลงถูกหลอกล่อเข้าไปหากันมากมาย นั่นก็คือที่ดอกไม้และแสงไฟนั่นเอง
.
การบินตามหาความสุข จึงเท่ากับบินไปหาปากพญามัจจุราช จิตที่ฉลาดแล้วจะระวังอย่างยิ่ง
.
ตามที่เปรียบเปรยไว้ข้างต้นว่า ดอกไม้ก็คือสิ่งเร้าและผัสสะ แสงไฟจึงเป็นเช่นเดียวกัน ด้วยว่าเหล่าศัตรูของแมลงคือความตายไปรออยู่ตรงนั้น จึงมีความหมายว่า จิตโง่ก็จะตายกันที่ความประมาทในสิ่งเร้าและผัสสะนั่นเอง
.
จิตที่ฉลาดจึงสำรวมระวังในการรับรู้ มิปล่อยให้เคลิ้มหลงกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และใจ เพราะเมื่อใดที่ประมาท เมื่อนั้นพญามัจจุราชก็จะเล่นงาน คือความเสื่อม ความป่วยไข้ และความตายจะเกิดขึ้นแก่ตน
.
จิตที่ฉลาดแล้วจะเข้าใจธรรมชาติแห่งความสุขอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง มิใช่ถูกภาพลวงของอารมณ์และกิเลสชักนำให้เชื่อว่า มันสวยงาม
.
ความทุกข์ ที่หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงและขจัด กลับเป็นสิ่งที่ตรงไปตรงมามากกวาความสุขที่ใฝ่หากันเสียอีก เจ็บก็คือเจ็บ เศร้าก็คือเศร้า โกรธคือโกรธ ผิดหวังก็คือผิดหวัง
.
และสอนเราให้เข้าใจความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา เปรียบเหมือนคนที่มาเตือนเราแบบ “โต้งๆ” ตรงประเด็นไม่อ้อมค้อม น้อยคนนักจะพอใจที่มีคนมาเตือนตนเองแบบนั้น แต่จะหลงใหลพอใจไปกับคนที่ปากหวานพูดดีมากกว่า เช่นเดียวกันกับความสุข ซึ่งเหมือนคนที่มีเล่นลิ้นพูดปากหวานเอาใจแต่แฝงไว้ด้วยเจตนาเอาเปรียบ
.
ความสุขนั้นซ่อนเล่ห์เหลี่ยมไว้มากเกินกว่าจะบรรยายได้ครบในข้อเดียวของบทความ
.
จิตที่ยังโง่เขลาจะไม่รู้ว่าชีวิตยังมีคุณค่าที่แท้จริงกว่าการบินเข้าหาดอกไม้หรือแสงไฟ จิตที่ฉลาดแล้วจะเข้าใจและไม่หลงไปความจอมปลอมเหล่านี้ เพราะมีคุณค่าอันน่าพึงใจมากยิ่งกว่าอารมณ์อันชั่วครู่ชั่วคราว
.
ไม่มีแมลงตนใดที่เอาดอกไม้หรือแสงไฟไปได้ ยามตายลงในปากพญามัจจุราช
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 60

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :

www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/