จิตที่โง่ คิดว่าเมตตาคือการเอาใจ จิตที่ฉลาด คิดว่าเมตตาคือการขัดใจ

 

จิตที่โง่ คิดว่าเมตตาคือการเอาใจ
จิตที่ฉลาด คิดว่าเมตตาคือการขัดใจ
.

คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเมตตา เรามักจะตัดสินว่าคนนั้นคนนี้เมตตาหรือไม่จากพฤติกรรมภายนอกที่ตอบสนองความต้องการของใจตนเอง มิใช่โดยเนื้อแท้ของความเมตตาธรรม

จิตที่มีความโง่หรืออวิชชาบังตา จะเชื่อว่าคนที่เมตตาคือคนที่ตามใจ พูดหรือทำในสิ่งที่ใจเราอยากได้ ซึ่งอาจเรียกอย่างแทงใจว่า กำลังเอาใจอยู่ เป็นผู้ที่เมตตาหรือรักเรา นี่คือตัดสินไปตามอำนาจของตัณหาหรือความอยากของตนเอง

จิตฉลาดจะเข้าใจการมีเมตตาด้วยปัญญา ความรักความกรุณามิใช่สิ่งที่แสดงออกตรงตามทัศนคติที่เรามีหรือตรงตามความคาดหวังเสมอไป แต่โดยเนื้อแท้มีความไม่จองเวรและไม่ปรารถนาให้เราจองเวร นั่นคือความเมตตาที่แท้จริงตามหลักพุทธศาสนา

การตีความอย่างผิดๆ เกิดขึ้นจากอคติที่มี ซึ่งโน้มเอียงไปตามลักษณะทั้งสี่ ได้แก่ ความชอบ ความชัง ความหลง และความกลัว

อคติเหล่านี้คือต้นเหตุหนึ่งของความโง่เขลาของจิตใจ

หากอีกฝ่ายมีท่าที หรือคำพูดที่สอดคล้องกับความชอบหรือความหลงที่เรามี จิตก็อาจนึกคิดตีความว่า นั่นคือการมีเมตตา ดีงาม ถูกต้อง ไม่มีอีโก้ ฯ

หากอีกฝ่ายมีท่าที หรือคำพูดที่ตรงกับความชังหรือความกลัวที่เรามี จิตก็อาจนึกคิดตีความว่า นั่นคือการไม่มีเมตตา ไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง มีอีโก้ ฯ

การมีเวร คือการผูกใจไว้ด้วยความโลภ โกรธ และหลง ทำให้มีความเกลียด ความเคียดแค้น ความหวง ความกลัว ความใคร่ การอยากเอาชนะ และการบั่นทอนเบียดเบียนกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นไปตามความเคยชินของจิตใจมนุษย์กับสัตว์ทั้งหลาย

ในพระไตรปิฎกได้กล่าวว่า คนที่มีความเมตตา คือผู้ที่มีความตั้งใจอยู่เสมอว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวร *(๒) ซึ่งก็คือการขัดใจสัตว์ทั้งหลายที่ก่อเวรกันเป็นนิจ ทั้งต่อตนเองและคนอื่น

พระพุทธเจ้ายังทรงตรัสอีกว่า “ผู้ใดมีส่วนแห่งจิตประกอบด้วยเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า ย่อมไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ชนะ เวรของผู้นั้นย่อมไม่มีเพราะเหตุอะไรๆ เลยๆ” *(๓)

จิตที่ยังขาดความเมตตานั้นแหละ คือจิตที่ยังมีความโง่เขลา ที่ยังจองเวร ผูกใจเจ็บโกรธ หวังทำร้ายเบียดเบียน หวังการเอาชนะผู้อื่น และหลงใหลกับความชอบใจ จิตเช่นนี้ที่ยังไม่เข้าใจความเมตตาที่ถูกต้อง

จิตฉลาด แม้ถูกว่ากล่าว ตักเตือน ตัดสิน หรือทำโทษ ก็มิได้ตีความคนอื่นว่าไร้เมตตา แต่การได้รับโอกาสให้ขัดใจตัวเองจากความโลภ โกรธ หรือหลงต่างๆ นั่นแหละคือความเมตตาที่มีค่าแล้ว

เพราะจิตที่มีความเมตตา ย่อมไม่หาเรื่องเอาชนะ ไม่ผูกเวรแก่กันและกัน คือไม่หาเรื่องให้ตนเองเป็นทุกข์และก่อกรรมทำเข็ญใดๆ เพราะแม้แต่การคิดตีความท่าทีคนอื่นจนตนเองเป็นทุกข์ นั่นก็ขาดความเมตตาต่อตนเอง

จิตที่มีความเมตตา ย่อมแลเห็นประโยชน์จากการถูกตำหนิ ถูกตัดสิน หรือแม้แต่การถูกทำโทษ โดยไม่คิดแก้แค้น เอาคืน หรือหวังเอาชนะ นี่ย่อมทำให้เกิดปัญญา จึงได้ชื่อว่า เป็นจิตที่ฉลาด

จิตโง่ แม้แต่ตนเองก็ยังไม่เมตตา แล้วยังคาดหวังให้คนอื่นเมตตาตามความเชื่อผิดๆ ที่มี คือหวังให้พฤติกรรมของผู้อื่นเติมเต็มกิเลสในใจ นี่ยิ่งซ้ำร้าย

ความเมตตา มิใช่การตามใจ แต่เป็นการขัดใจ เพราะรู้ดีว่าการตามใจด้วยกิเลส มิใช่หนทางออกจากความทุกข์ แต่การขัดใจจากความเคยชินและความอยากทั้งปวง คือทางออกจากความทุกข์ที่แท้กว่า

ต่อตนเองก็ด้วย จิตโง่จะเมตตาตัวเองด้วยการตามใจ จนนำมาสู่ภัยในวันหน้า

จิตฉลาดแล้วเมตตาตัวเองด้วยการขัดใจ เพื่อป้องกันโทษจากกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลาย ทั้งวันนี้และวันหน้า

.

ครูโอเล่ สถาบันธรรมวรรณศิลป์
เขียนไว้ในคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 62

 

ตารางกิจกรรม