กิจกรรมอ่านหนังสือ ดอกไม้และความหวัง

 

“ผมแปลหนังสือ Hope for the flowers เมื่อปี 2554 จนแล้วเสร็จเป็นรูปเป็นร่างได้จัดพิมพ์ปี 2555 โดยมีอาจารย์ประชา หุตานุวัตร เป็นบรรณาธิการและผู้ประสานสิบทิศช่วยติดต่อผู้เขียน โรงพิมพ์ และผู้เชี่ยวชาญด้าน Artwork จนเล่มหนังสือออกมาสวยงามและใกล้เคียงกับต้นฉบับ ถือเป็นเวอร์ชั่นแปลไทยครั้งแรกที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจากผู้เขียน – ทริน่า พอลัส นักกิจกรรมตลอดชีวิต เช่นเดียวกันกับอาจารย์ประชา

“ผมได้แปลเล่มนี้จากความอยากรู้อยากเห็นว่าเวอร์ชั่นแอบแปลของไทยที่มีมาก่อนหน้า ซึ่งผู้เขียนเรียกว่าเวอร์ชั่นโจรสลัด มีความแตกต่างจากต้นฉบับอย่างไร จึงสั่งทางไกลมาลองอ่าน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ริเริ่มแปลใหม่เอง เพราะเมื่อได้อ่านฉบับของไทยที่แปลมาก่อนหน้าสองเวอร์ชั่นพบว่าเนื้อหาหรือบางข้อความถูกตัดทอนออกไป ด้วยการแปลแบบเน้นเนื้อความและเรียบเรียงใหม่ ซึ่งทำให้ความหมายแฝงที่สื่อถึงเรื่องทางสังคมถูกลดทอน

“อีกเสน่ห์หนึ่งของต้นฉบับในมุมมองผมคือการใช้คำที่ง่าย สั้น กระชับ แต่สวยงาม บางจุดอ่านแล้วมีความคล้องจองเหมือนอ่านบทกวีฝรั่ง นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจในการแปลเล่มนี้ให้เหมือนกับการแปลบทกวีชิ้นหนึ่ง พยายามสื่อเสน่ห์แบบเดียวกันนี้ในแบบฉบับภาษาไทยให้ได้มากที่สุด โดยมีอาจารย์ประชาช่วยตัดแต่งให้กระชับ และตรงความหมายของคำในต้นฉบับมากขึ้น

“ชื่อหนังสือเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งจุดที่ใช้เวลานานในการเลือกและคิดกันในทีมงาน ตอนแรกผมลงไว้ในฉบับร่างว่า “ความหวังแด่มวลดอกไม้” แปลตรงจากชื่อและเห็นว่ามันสะท้อนเจตนาของผู้เขียนที่ต้องการให้หนังสือเล่มนี้เป็นความหวังที่จะมี “ดอกไม้” งอกงามมากขึ้นบนโลก แต่ชื่อนี้ก็ยังไม่ลงตัว ยาวเกินไป ยังไม่สวยงาม จนสุดท้ายก็ได้ชื่อ “ดอกไม้และความหวัง” ชื่อเล็กๆ เรียบง่าย แต่มีความหมายยิ่งใหญ่ในตัวเอง

“ความดีงามของหนังสือ Hope for the flowers ที่ทำให้ยังถูกกล่าวถึงเป็นเวลามากกว่าห้าสิบปีทั่วโลก คือความเป็นสากลของเนื้อหาที่ว่าด้วยการแสวงหาความหมายของชีวิตปัจเจกชน และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่อาจเลี่ยงการเผชิญกับความจริงที่มีเหมือนๆ กัน ไม่ว่าที่ใดบนโลก หนังสือเล่มนี้ถ้อยคำไม่ได้มากมายแต่เว้นช่องว่างไว้ให้ตีความและเชื่อมโยงกับบริบทของชีวิตจริง เฉกเช่นบทกวีชั้นดีชิ้นหนึ่ง ซึ่งหากอ่านผ่านๆ ไวๆ โดยไม่ได้ขบคิด สังเกตุ หรือนำมาตกผลึกร่วมกัน อาจรู้สึกว่าไม่ได้มีเนื้อหาอะไรมาก ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่ง

“ผมรู้สึกยินดีในฐานะผู้แปลที่ได้ร่วมส่งต่อดอกไม้และความหวังนี้ให้แก่สังคมไทย โดยมีหลายกลุ่มที่ได้นำหนังสือเล่มนี้และไอเดียต่อยอดมาใช้เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมแบบต่างๆ โดยเฉพาะวงพูดคุยกันจากการอ่านหนังสือเล่มนี้

“ได้ทราบข่าวว่าจะมีกิจกรรมจากหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง เพื่อระดมทุนสำหรับการจัดค่ายให้กับสามเณร โดยสถาบันยุวโพธิชน จึงขอใช้โอกาสแชร์ข่าวของกิจกรรมนี้ เพราะเห็นว่าเราไม่เพียงจะส่งต่อดอกไม้และความหวังให้กันเท่านั้น แต่ยังช่วยกันบ่มเพาะผู้ซึ่งจะเป็นผู้ปลูกดอกไม้ให้แก่สังคมไทยในวันหน้าอีกด้วย”

ครูโอเล่
25 ก.ค. 2566
facebook.com/khainpianchiwit

 

ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรม
Online Book Club: หนังสือดอกไม้และความหวัง 🌼🦋📚

🌸 ในวันอังคารที่ 1 สิงหาคม 2566 (วันอาสาฬหบูชา)
จัดกิจกรรม 2 รอบ ผ่าน zoom application

รอบที่ 1 : 13.30-15.00 น.
รอบที่ 2 : 20.00-21.30 น.

☘️ ค่าเข้าร่วมกิจกรรม 100 บาท/ท่าน
🙏🏻 รายได้ทั้งหมดนำไปสมทบทุนค่ายสามเณรภาคฤดูฝน โดยสถาบันยุวโพธิชน
🛎 รับสมัครรอบละไม่เกิน 30 คน

สมัครได้ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2566
📌 สมัครได้ที่ https://forms.gle/mEYDEs8z8Dgk1dFH6

————————————

📚🌼🦋 “ดอกไม้และความหวัง”

เรื่องราวของหนอนแก้ว ผู้มีความสงสัยกับชีวิตที่เป็นอยู่ ผู้รู้สึกปรารถนาถึง “สิ่งที่มากกว่า” ของชีวิตและกล้าก้าวออกแสวงหา ทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรแน่ชัด
หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในยุคที่สายลมขับขานการปฏิวัติของคนหนุ่มสาวไปตามแผ่นดินต่างๆ เมื่อหลายทศวรรษมาแล้ว แต่แก่นสารของเนื้อหายังยืนยาวข้ามพ้นยุคสมัย
ผู้เขียนและผู้แปลต่างหวังการเปลี่ยนแปลง ต่างปรารถนาเห็นโลกอันงดงาม แต่การปฏิวัติที่แท้จริงต้องอาศัย “สิ่งที่มากกว่านั้น”
และดอกไม้ยังรอวันผลิแย้มงาม

🖋 ถ้อยคำและภาพ โดย ทริน่า พอลลัส
อนุรักษ์ เม่นหรุ่ม แปล
ประชา หุตานุวัตร บรรณาธิการ

————————————

🌻 โอนเงินค่าเข้าร่วม หรือ บริจาคสมทบทุนค่ายสามเณรฤดูฝน ได้ที่ธนาคาร ttb เลขที่บัญชี 286-2-13139-4
มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปเพื่อศูนย์การเรียนวงศ์สนิทวิทยา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ FB: สถาบันยุวโพธิชน https://www.facebook.com/youngawakening