“ก้าวข้ามพื้นที่ปลอดภัย แต่ไม่ไกลเกินไปจากตัวเอง”
อุปสรรคแรกๆ ของผู้เรียนที่เพิ่งเริ่มต้นเรียน เขียนเปลี่ยนชีวิต มักจะรู้สึกเขียนไม่ออกหรือไม่รู้จะเขียนอะไรในช่วงแรกๆ ที่จับปากกาทำแบบฝึกหัดเขียนบันทึก แต่เรามีกติกาใจแนะนำไว้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ว่า “ให้การเขียนนำหน้า ปากกานำทาง หัวใจตามมา ความคิดจะเกิดขึ้นเอง” เป็นคาถาสำหรับการเริ่มต้น
.
คำแนะนำนี้จะสวนทางแก่การเขียนเพื่อสร้างชิ้นงานโดยทั่วไปอยู่บ้าง เพราะการเขียนเพื่อสร้างผลงานนั้นเราต้องคิดให้ดีก่อนเขียน วางโครงร่าง ออกแบบเนื้อหา และเขียนอย่างใส่ใจผู้อื่นว่าเขาจะอ่านรู้เรื่องหรือไม่ ชอบไหม เข้าใจหรือเปล่า แต่การเขียนเพื่อเยียวยาหรือเพื่อเข้าใจตัวเองเป็นการขุดค้นลงไปในจิตใจและความเป็นตัวตน ผ่านการเขียนเป็นเครื่องมือ เพื่อออกนอกกรอบและเปลือกที่ห่อหุ้มตัวเอง และสื่อสารกับหัวใจตนมิใช่คนอื่น
.
เทคนิคพื้นฐานที่ใช้ในทุกการเขียนเปลี่ยนชีวิต หรือการเขียนบำบัด คือเทคนิคที่ผมเรียกว่า การเขียนไม่หยุดปากกา ซึ่งครูอาจารย์ท่านอื่นอาจจะเรียกด้วยชื่อต่างกันออกไป การเขียนลักษณะนี้ไม่ให้ใช้ความคิดก่อนล่วงหน้า แต่ให้ทำตามขั้นตอนแล้วลงมือเขียนเลย เขียนไปเรื่อยๆ กึ่งอัตโนมัติ อนุญาตให้ใจด้นสด ค่อยๆ ลงลึกในจิต ปอกลอกเปลือกตัวตนอันผิวเผิน แล้วเปิดพื้นที่ให้สมองเกิดการแตกกอต่อยอดทางความคิดใหม่ๆ
.
การเริ่มต้นเขียนเปลี่ยนชีวิตแล้วเขียนไม่ออกในช่วงแรกๆ เพราะใจเรากำลังเผชิญกับขอบของความคิดและความเคยชิน ซึ่งหากเราเปรียบเทียบพื้นที่ปลอดภัยเหมือนไข่แดงตรงกลางแผนภาพไข่ดาว ขอบของความคิดที่ว่านั้นก็คือเส้นขอบกึ่งกลางระหว่างไข่แดงกับไข่ขาว คือขอบที่ขวางกั้นระหว่างพื้นที่ปลอดภัยและความเคยชินกับพื้นที่ชีวิตใหม่ๆ ที่เราไม่รู้จัก
.
เหมือนช่วงเวลาที่เราต้องทำในสิ่งที่กลัวหรือไม่เคยชิน เราอาจเกิดความรู้สึกลังเล สั่นไหว มีอาการทางกายและทางใจเกิดขึ้น หรือตอนที่เราต้องการนึกถึงบางเหตุการณ์ในอดีตที่ลืมเลือนไปนานแล้ว นึกไม่ค่อยออก แต่พอผ่อนคลายหรือใช้เวลานึกสักครู่หนึ่งก็ระลึกได้ สิ่งเหล่านี้คือภาวะเมื่อขณะใจก้าวออกมาจากพื้นที่ไข่แดงมาหยุดอยู่ตรงกลางว่าจะก้าวข้ามไปยังไข่ขาวได้ไหม
.
ผู้เรียนบางคนเมื่อเห็นหัวข้อแบบฝึกหัดให้เขียนเก็บรวบรวมคำชื่นชมจากคนอื่นๆ ที่มีต่อตัวเอง แรกเห็นก็นึกว่าง่าย แต่พอเริ่มเขียนแล้วเจออาการเขียนไม่ค่อยออกในตอนต้นๆ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยใส่ใจการชื่นชมตัวเองเลย พอมีคนชมใจก็นึกเถียงว่ามันไม่ได้ดีอะไรมากมาย การเขียนหัวข้อดังกล่าวจึงกระทบขอบของหัวใจเขา ในสิ่งที่หลงลืมไป
.
จากที่ผมสอนมามากกว่าสามสิบรุ่นในตอนที่เขียนบทความนี้ ผู้เรียนเกือบทุกคนจะพบภาวะดังกล่าวไม่หัวข้อใดก็หัวข้อหนึ่ง แต่ทุกหัวข้อที่เจออาการกระทบขอบของหัวใจ ล้วนแต่มีประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนขาดการดูแลใส่ใจหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเขาอยู่ทั้งสิ้น
.
ที่น่าสนใจคือ ทุกๆ คนที่เมื่อเจออาการคิดไม่ออกเขียนไม่ออกในตอนแรก แต่ทำตามกติกาที่แนะนำไว้ คือลงมือทำต่อ เขียนต่อไปเรื่อยๆ สักพักก็จะนึกขึ้นมาได้เอง เจอความรู้สึกต่างๆ มากมาย และขุดค้นลงลึกในประเด็นหรือเรื่องราวที่ละเลยไป นี่คือการลงมือทำนำหน้า
.
การทำสิ่งที่ไม่เคยชินย่อมเจออุปสรรคทางใจในตอนแรกๆ แต่หากเราไม่ยอมแพ้ ไม่จมอยู่กับการย้ำคิด แต่มุ่งมั่นทำต่อ ให้กายและใจพาเราก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย เราย่อมเห็นตัวเองอีกด้านหนึ่ง ด้านที่อาจไม่เคยเชื่อว่าทำได้
.
พื้นที่ปลอดภัยเกิดขึ้นเพราะกลไกของจิตต้องการปกป้องตัวเราเองและสร้างความรู้สึกมั่นคง ให้ผ่านพ้นความทุกข์และความกลัวในแบบที่มักเคยเกิดขึ้นมาก่อน ตอนเป็นเด็กเราอาจถูกครูตีหรือวิจารณ์เพราะลายมือไม่สวย เขียนไม่ถูกต้อง เขียนสู้เพื่อนที่ได้รางวัลไม่ได้ พอเรากลับมาจับปากกา ใจก็นำความรู้สึกเก่าๆ พ่วงมา พร้อมกับความคิดที่ปิดกั้นตัวเองซึ่งจิตสร้างขึ้นเป็นเงื่อนไข เพื่อปกป้องตัวเองจากความทุกข์แบบที่เราตอนเด็กเคยเผชิญนั้น
.
ด้วยข้อจำกัดของร่างกายตอนผมเป็นเด็ก จึงไม่สามารถพูดแบบคนปกติได้ จิตใจข้างในนี้เลือกสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นนิสัยนิ่งเงียบ รักสงบ และพูดน้อย แต่ก็ทำให้เกิดตัวตนที่ขัดแย้งระหว่างความต้องการแสดงเสียงของตัวเองและการปรับตัวกับผู้อื่น
.
เมื่อต้องทำงานกลุ่มก็มักถูกเสนอให้เป็นหัวหน้าหรือคนรายงานหน้าชั้น แม้ลิ้นจะมีปัญหาบกพร่องก็ต้องทำ ผมล้มเหลวในการพยายามจะพูดหน้าชั้นให้ดีหลายครั้งหลายหน เคยถูกตำหนิว่าเป็นผู้นำที่ไม่ได้เรื่อง และบางครั้งก็พูดไม่ออกเลย ราวถ้อยคำและน้ำเสียงเหือดแห้งในฉับพลัน
.
ความล้มเหลวที่จะออกเสียงสื่อสารให้คนอื่นรับฟังเราและเข้าใจเราได้อย่างง่ายๆ และถูกต้อง เกิดขึ้นซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า พูดทีหนึ่งก็ต้องพูดซ้ำจนกว่าคนอื่นจะฟังเข้าใจ ทั้งหมดยิ่งย้ำให้ใจผมยึดโยงความสงบเงียบเป็นพื้นที่ปลอดภัย แม้ในยามตนเองถูกเอาเปรียบหรือเข้าใจผิดอยู่ก็ตาม เมื่อเรายึดอยู่กับความล้มเหลวนั้นมากเข้า กว่าจะเอ่ยปากออกเสียงแต่ละครั้ง ยิ่งต้องใช้กำลังกายและกำลังใจมากกว่าคนอื่น เพื่อขยับลิ้นที่กว่าจะได้ฝึกเหมือนคนทั่วไปก็อายุสิบขวบแล้ว เพื่อฝืนความเคยชินของกายใจที่สั่งสมมา
.
จิตแพทย์ เอ็ม. สก็อต เปค กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของการรักตัวเองของเราก็คือ การตระหนักว่าในตัวเรายังมีสิ่งที่เราต้องปรับปรุงแก้ไขพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
และ ความมุ่งมั่นที่จะเจริญงอกงามของคนไข้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะตัดสินว่าการทำจิตบำบัดจะสำเร็จหรือล้มเหลว
.
ความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองคือแรงขับสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวพ้นจากพื้นที่ปลอดภัยและขอบอันจำกัดตัวเราได้ คนที่พอใจในตนเองอย่างล้นเหลือแล้วจะมีแรงผลักดันอันน้อยนิด แตกต่างกับคนที่ยังทุกข์ใจและเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้มากกว่า
.
การพอใจในตนเองอย่างล้นเหลือไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่บ่งบอกว่ามีความรักต่อตัวเองอย่างพอสมควรแล้ว แต่ยังต้องมีความสามารถในการตรวจสอบตนด้วยความเป็นกลาง และการยอมรับข้อบกพร่องของตนเองอีกด้วย หากมิเช่นนั้นแล้วความพอใจในตนเองอย่างล้นเหลือก็จะเป็นแรงขับดันมาจากความพยายามหนีจากตัวเองหรือสิ่งที่ไม่ชอบในตัวเอง ไม่ได้เกิดจากความกรุณาต่อตนเองโดยแท้
.
ความรู้สึกว่าตนเองต้องดีขึ้นกว่านี้ก็ทำให้ผมพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง แม้ในชีวิตประจำวันจะเลือกอยู่นิ่งเงียบมากกว่า แต่ในเวลาเรียน และเวลานำเสนอผลงานผมก็อาสาที่จะก้าวออกไปข้างหน้าบ่อยครั้ง ด้วยส่วนหนึ่งเพราะเวลาพูดในโอกาสแบบนั้นมักรู้สึกว่าได้รับการรับฟังและความเคารพมากกว่าในการพูดปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งตนเองมักต้องเป็นฝ่ายรับฟังเสียมากกว่าจะพูดทันคนอื่น
.
สิ่งดังกล่าวดูเหมือนพัฒนาให้ผมก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย และช่วยพัฒนาทักษะที่ต้องใช้ในฐานะวิทยากรมาจนถึงวันนี้ แต่จริงๆ แล้วก็เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยใหม่และความเคยชินว่า ผมจะพูดเยอะต่อเมื่อมีรูปแบบที่เป็นทางการ ซึ่งส่งผลให้มีกำแพงต่อการเข้าหาผู้อื่น ซึ่งไม่ได้มีรูปแบบที่เป็นทางการตลอดเวลา แม้หัวใจอยากเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนรอบข้าง แต่ผมก็ได้สร้างช่องว่างนั้นขึ้นมาและเอาแต่โทษว่าเป็นเพราะความแตกต่างที่ทำให้รู้สึกแปลกแยก จุดนี้เป็นสิ่งที่ค่อยๆ พัฒนาจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าในเวลาต่อมา
.
พื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่สิ่งคงที่และเที่ยงแท้ แต่มีการเปลี่ยนแปลงได้หากเราให้พื้นที่ตัวเองลงมือทำ ก้าวออกจากความกลัวและความเคยตัวที่ปิดกั้นเราไว้ เพราะเส้นที่แบ่งระหว่างพื้นที่ไข่แดง คือความคุ้นเคยและพื้นที่ปลอดภัย กับไข่ขาว คือสิ่งที่นอกเหนือจากนั้น เส้นที่แบ่งสองด้านนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสิ่งภายนอกบังคับ แต่เกิดจากการเลือกซ้ำๆ ของตัวเราเอง เลือกคิด เลือกทำ และเลือกที่จะรู้สึก ซ้ำๆ จนเป็นร่องความคุ้นเคย
.
ทั้งนี้ ความอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป ดังที่ผมบอกเล่ามาแล้วสองตอนว่า ผมต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองมาก ซึ่งเริ่มมาจากปมด้อยเรื่องการพูดเป็นจุดเริ่มต้น มันส่งผลดี แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลเสียอย่างมากด้วย บ่อยครั้งที่หัวคิดมักวกเวียนกับการครุ่นคำนึงสิ่งที่ทำไปแล้วว่า น่าจะทำได้ดีกว่านี้ ผมมักคิดทั้งสงสัย ทั้งตอกย้ำ วนเวียน หากตัวเองไม่ทำอย่างนั้น หากทำอย่างนี้ จะดีกว่าอย่างไร ความปรารถนาที่จะดีขึ้นกว่านี้ พัฒนาตัวเองกว่านี้ อาจทำให้ผมเรียนรู้และเติบโตเร็ว แต่มันก็ทำให้ผมทุกข์กับความรู้สึกไม่พอใจในตนเองเสียที และเฝ้าคิดว่าหากเป็นอย่างนั้นแล้วมันจะเป็นอย่างไร หรือเมื่อข้อผิดพลาดเกิดขึ้นมา จิตก็มีแนวโน้มที่จะคิดต่อว่า แล้วคนผิดคือใคร
.
ความอยากเปลี่ยนแปลงตนเองที่มากเกินไป เป็นผลมาจากจิตใจที่พยายามหนีจากสิ่งที่ตนเองเป็นตามที่เป็นจริง ไม่อยากยอมรับในความเป็นตัวเรา ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวก็อาจผลักดันให้เราทำสิ่งต่างๆ มากมายเพื่อลืมความรู้สึกลบ กลบด้วยมุมมองเชิงบวก หรือเที่ยวเทียวพึ่งพาสิ่งต่างๆ บางคนก็เข้าอบรมหลายเรื่องมากมาย โดยไม่นำมาลงลึกและฝึกปรือในเรื่องใดอย่างลึกซึ้ง และไม่สามารถรู้สึกพอใจในตนเองอย่างแท้จริงได้เลย เมื่อออกมาจากคอร์สแล้ว
.
การรักตัวเองอย่างเหมาะสม หรือรักตัวเองเป็น ต้องมีความพอดีระหว่างการยอมรับข้อจำกัดของตัวเองคือพื้นที่ไข่แดง กับการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พัฒนาต่อไปในพื้นที่ไข่ขาว แต่หากสุดโต่งในด้านใดด้านหนึ่ง การรักตัวเองจะน้อยเกินไปหรือมากเกินไปจนเป็นทุกข์ได้ และผลักดันตัวเราให้เสพติดหรือตกร่องความเคยชินบางอย่าง เพื่อเป็นที่หลบตัวเองแก่จิตใจ สิ่งนั้นอาจเป็นเกม โทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งเข้าคอร์สอบรม
.
ผมเองก็เคยหนีและอยากเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยรูปแบบต่างๆ มากมาย มิว่าจะเป็นเครื่องดื่มมึนเมา การทดลองเล่นกีฬาต่างๆ อย่างหักโหมเป็นครั้งคราว ตระเวนเข้าคอร์สอบรม ทำกิจกรรมเสี่ยงตาย จนไปถึงการกินยาจิตเวช เพียงเพื่อจะกลับมาหาสิ่งที่พยายามหนีมาตลอด คือตัวเองที่ไม่สมบูรณ์แบบ
.
อาการซึมเศร้าและความทุกข์ซ้ำๆ ในเรื่องเดิม ต่างก็เป็นข้อความจากชีวิตที่ต้องการบอกเราว่า วิธีคิดและท่าทีของตัวเราในเรื่องนั้นๆ มีข้อผิดพลาดที่ต้องเปลี่ยนแปลง เราสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่แคบเกินไปขังตัวเองไว้และไม่ยืดหยุ่นพอ จนความเคยชินเหล่านั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราต้องทุกข์ซ้ำๆ
.
ผมเคยเอาแต่โทษว่าเป็นเพราะคนอื่นไม่เข้าใจ ไม่รับฟัง ไม่อดทนพอที่จะสื่อสารกับตน สนใจผมเฉพาะตอนมีความทุกข์ เพราะเราแตกต่างกันมากเกินไป หรือบ้างก็โทษว่าตัวเองไม่ดีพอ แต่ไม่ได้ตระหนักเลยว่าเพราะผมก็เอาแต่อยู่ในโลกส่วนตัวและไม่กล้าก้าวที่จะสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น เอาแต่รอให้เกิดขึ้นจากใครสักคนหนึ่ง
.
การเรียนรู้และการเยียวยาเกิดขึ้นเมื่อเรายอมรับในข้อจำกัด แต่ก็ให้พื้นที่ตัวเองได้ลองก้าวออกมาชิมลางอีกด้านหนึ่งของตัวตนหรือความเชื่อ ไม่มีสิ่งใดปิดกั้นสิ่งดีๆ ในตัวเราได้มากเท่ากับความเคยชิน ความป่วยไข้ทางจิตใจส่วนหนึ่งยังเกิดขึ้นเพราะการขังตัวเองไว้ในพื้นที่ไข่แดงมากเกินไป จนเราย้ำคิดย้ำทำอยู่แต่กับความเชื่อและมุมมองเดิมๆ ต่อตัวเองและคนอื่น หรือในทางกลับกันก็เกิดจากการพยายามหนีสิ่งที่เราเป็นมากเกินไปจนปฏิเสธความจริง ทั้งไข่แดงและไข่ขาวต่างเป็นส่วนผสมสำคัญต่อการมีสุขภาพใจที่ดี
.
การก้าวข้ามพื้นที่ปลอดภัย ทำให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง แต่ต้องไม่ก้าวไกลเกินไปจนทอดทิ้งหัวใจตนและตัวเราที่เป็นจริง ประกอบด้วยการฝึกปรือทำซ้ำในเรื่องเดิมซ้ำๆ มิเช่นนั้นแล้วก็จะเป็นการกระโดดไปกระโดดมาจากเรื่องหนึ่งสู่เรื่องหนึ่ง การที่จิตเราไม่อดทนพอที่จะก้าวข้ามอุปสรรคของการฝึกตนเองได้ เป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกว่าเรายังไม่รักตัวเองพอ แต่ใช้การตอบสนองความอยากกระโดดจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง จิตก็ยิ่งไกลไปจากการรักตัวเองมากเท่านั้น การพัฒนาต้องอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับในด้านต่างๆ อย่างไม่หลบเลี่ยง
.
หากเราเชื่อว่าเราเขียนไม่เก่งหรือไม่ชอบการเขียน เราก็คือคนที่เหมาะสมแล้วที่จะลองเขียนเพื่อดูแลหัวใจ เพราะการเขียนจะเป็นพื้นที่ไข่ขาวให้เราได้มองเห็นตัวเราในมุมมองใหม่ ได้ดูแลตัวเองในอีกมิติที่ไม่คุ้นเคย ปล่อยให้คนเขียนเก่งได้สร้างผลงานที่ดีแก่โลก แต่เราจะเขียนเพื่อมอบของขวัญให้กับโลกข้างในตัวเรานี้
.
เราต้องมีแรงปรารถนามากพอที่จะก้าวข้ามขอบในช่วงแรกๆ ของการเขียนบันทึกเพื่อรักตัวเอง แต่เราก็ต้องรู้จักพอใจในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเขียนและหลังจากเสร็จแล้วอีกด้วย เพื่อทบทวนหัวใจและบทเรียนอันมีคุณค่าซึ่งสามารถเกิดขึ้นจากทุกบันทึกที่เขียน แม้แต่บันทึกที่เขียนย้ำในเรื่องลบของตนเองก็ตาม
.
ในการเยียวยาด้วยการเขียน เราต้องฝึกฝืนตนเองเขียนทั้งข้อความที่อยากเขียนและข้อความที่ไม่อยากเขียน เทคนิคการเขียนไม่หยุดปากกามีไว้เพื่อให้ตัวเราไม่เซ็นเซอร์ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ยอมรับและให้พื้นที่สิ่งต่างๆ ในหัวใจ แม้แต่สิ่งที่เราไม่อยากเปิดเผยออกมา ไม่อยากยอมรับว่ามีความรู้สึกเหล่านี้ หรือแม้แต่ไม่เชื่อว่าถ้อยคำจะสามารถทดแทนได้
.
การเขียนทุกสิ่งแม้สิ่งที่ไม่อยากเขียน รวมทั้งหัวข้อที่ไม่ชอบหรือรู้สึกนึกไม่ออก เป็นการฝึกให้เรายอมรับตัวเองในมิติต่างๆ อย่างไม่ปิดกั้น และเปิดโอกาสให้ก้าวข้ามพื้นที่ปลอดภัยของหัวใจ เรียนรู้และฝึกคิดในเรื่องหรือทิศทางที่แตกต่างไปจากเดิม การเขียนหัวข้อที่ไม่อยากเขียนหรือรู้สึกยากก็มักทำให้เราได้ทบทวนเรื่องราวชีวิตตนเองอีกมิติหนึ่ง เพราะเราจะเขียนง่ายในเรื่องที่คิดซ้ำๆ หรือข้องเกี่ยวบ่อย
.
สิ่งที่เราเขียนออกมานั้นอาจเป็นลายมือที่แย่ เรื่องราวที่วกวน อารมณ์ลบมากมี หรืออาจต้องทำซ้ำเพื่อใคร่ครวญใหม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีความคุณค่าควรแก่การรับฟัง การเขียนคือการรับฟังตัวเราเองอย่างไม่ปิดกั้น เราไม่จำเป็นโหยหาใครสักคนหนึ่งที่จะเข้าใจเราหมดทุกอย่าง เป็นที่รับฟังได้ตลอดเวลา และเป็นคนที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป ในเมื่อเรามีตัวเราเองและสมุดบันทึกแล้ว สิ่งที่ตามหาจริงๆ แล้วมักอยู่ใกล้กว่าที่คิดเสมอ
.
ระหว่างการเขียนบันทึกนั้นเราจะยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต และความนึกคิดรู้สึกในปัจจุบันขณะเขียน แต่ในการยอมรับนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้นเมื่อเราเขียนอย่างต่อเนื่องไป ทั้งความคิดที่ทอดโยงใยในสมองเพิ่มเติม ทั้งความกระจ่างชัดเจนต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในจิตใจ และมุมมองที่ค่อยๆ เพิ่มขยายมากขึ้นต่อตัวเราเอง ในการยอมรับนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งไม่ใช่การพยายามอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
.
.
สรุปข้อคิดและหลักการ การเขียนบำบัด จากบทนี้
.
1 เขียนโดยไม่มุ่งเน้นสร้างผลงาน แต่เน้นกระบวนการระหว่างการลงมือเขียนบันทึก
2 ใช้เทคนิคการเขียนไม่หยุดปากกา เขียนไปเรื่อยๆ จากกระแสสำนึกและสิ่งที่ผุดปรากฏ ณ ขณะที่เขียน โดยไม่พยายามคิดก่อนล่วงหน้า และไม่อ่านย้อนหลังในขณะขั้นตอนการเขียน
3 เมื่อเจอภาวะอาการกระทบขอบของจิตใจ อาทิเช่น ความอึดอัด การคิดไม่ออก ความรู้สึกสะเทือนใจ อย่าเพิ่งหยุดเขียนให้ลงมือทำต่อจนกระทั่งอาการทุเลาลง ให้โอกาสตัวเองได้ก้าวข้ามพื้นที่ปลอดภัยของจิตใจผ่านการเขียน
4 พอใจที่จะเผชิญกับความยากลำบากขณะการเขียนและการเรียนรู้ และพอใจที่จะยอมรับในผลที่เกิดขึ้น และทบทวนอย่างเห็นคุณค่า
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
บทความนี้จะรวบรวมร่วมกับสื่อวิดีโอและแบบฝึกหัด เพื่อเผยแพร่เป็นคอร์สออนไลน์ฟรี “เขียนบันทึกเพื่อรักตัวเอง” ผ่านโครงการ ปัญญ์ สเปซ ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒
เรียนรู้เพิ่มเติมที่คอร์ส “เขียนเปลี่ยนชีวิต Workshop ขั้นต้น”
(Transformative Writing Workshop For Beginner)