หากยึด ‘สุข’ ก็ไม่พ้น ‘ทุกข์’ (ตอน 2)

 

หากยึด ‘สุข’ ก็ไม่พ้น ‘ทุกข์’ (ตอน 2)

หนึ่งในเนื้อหาช่วงท้ายของกิจกรรม “เขียน ปล่อย วาง” ครั้งที่ 5

.

ความสุข และ คุณค่าของชีวิต มีมากมายหลายรูปแบบ เปรียบดังคำตอบของชีวิตที่เปิดกว้าง ไม่ได้มีใครจำกัดว่าจะต้องใช้คำตอบใดเป็นเพียงคำตอบเดียวของชีวิต ยกเว้นจิตที่มีความยึดมั่นเท่านั้นเอง

การยึดมั่นในคำตอบใดคำตอบหนึ่งโดยไม่ได้พิจารณาให้ดี อาจทำให้เราพลาดโอกาสเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตนั้นกว้างใหญ่กว่าความคิดของตนมากเพียงใด

‘การปล่อยวาง’ แง่หนึ่งคือการลอง ‘เปิดกว้าง’ กับตนเอง ฉันไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้แบบเดียวก็ได้ … ฉันลองทำแบบที่ไม่เคยชินบ้างก็ได้ … ฉันไม่จำเป็นต้องคิดแบบนี้ก็ได้ … ฉันไม่จำเป็นต้องขังความคิดด้วยการย้ำคิดแบบเดิมๆ … ฉันไม่จำเป็นต้องสุขด้วยวิธีนี้ก็ได้ … มีความสุขอีกหลายแบบรอให้ฉันค้นหา

การที่เราเคยชินที่จะยึดติดกับความสุขจากบางสิ่งบางอย่าง ก็คือการยึด ‘สุข’ ในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้สุดท้ายเราก็จะเป็นทุกข์เพราะความสุขแบบเดิมๆ ที่เรายึดติดนั้นเอง เช่นความสุขจากการกิน การดื่ม การท่องเที่ยว การจับจ่ายซื้อของ การได้รับความรักจากคนอื่น การได้ทำงานสำเร็จ ฯลฯ

ความสุขเหล่านี้ในตัวมันเองอาจไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่เมื่อยึดถือเป็นคำตอบเดียวหรือคำตอบสำคัญของชีวิตแล้ว ผลเสียจากการกระทำหรือใส่ใจในสิ่งนั้นมากเกินไปก็จะเกิดขึ้น เช่น กินดื่มเกินไปสุขภาพก็ถูกบั่นทอน เที่ยวเกินไปก็อาจไม่ได้ให้เวลาพัฒนาตนเอง การจับจ่ายซื้อของอย่างขาดสติ ก็ทำให้สะสมข้าวของอย่างไร้ประโยชน์เป็นภาระแก่ชีวิต ผลเสียเหล่านี้ก่อทุกข์ให้กับตนไม่ช้าก็เร็ว

การคาดหวังผลลัพธ์จากความสุขในเรื่องนั้นเป็นคำตอบสำคัญของชีวิต สุดท้ายเมื่อไม่ได้มา หรือได้มาแต่มิใช่ในแบบที่ต้องการ จิตใจก็รู้สึกมัวหมอง อย่างเช่นการยึดในความรักจากคนอื่น แล้วเขาไม่สามารถให้ในแบบที่หวังได้ หรือการยึดความสำเร็จของงาน แต่งานไม่ได้เกิดผลอย่างที่ต้องการ

ความสุขเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็คือความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งเรียกว่า ‘กามคุณ’ เราเพียงได้เห็นภาพที่ชอบ ได้ยินเสียงที่ชอบ ได้ชิม ได้จับ และได้รู้สึกอย่างที่ปรารถนา แล้วนำมาตีความไปเองว่า ฉันได้รับความรัก หรือ ฉันสำเร็จแล้ว เท่านั้น

การยึดในความสุขรูปแบบนี้ก็จะทำให้จิตค่อยๆ เป็นทาสของการรับรู้ พร้อมที่จะหวั่นไหว เอนเอียง และแปรปรวนไปตามสิ่งที่เข้ามาทางระบบประสาท

เราจึงจะสุขบ้าง ทุกข์บ้าง และมีแนวโน้มที่จะทุกข์มากกว่า หากเป็นทาสของการรับรู้ เพราะสิ่งทั้งหลายในโลกก็ล้วนเป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา มันไม่มีสิ่งใดที่จะดีได้ตามใจอยากชั่วนิรันดร์ มีแต่จะต้องเสื่อมลงไป และมิอาจคว้ามาเป็นตัวตนหรือของๆ ตนอย่างแท้จริงได้เลยสักอย่างเดียว แม้แต่สิ่งที่เชื่อว่าเป็นตัวฉันมาตั้งแต่ต้นก็ตาม

กล่าวว่า สิ่งภายนอกทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นทุกข์ – บกพร่อง ไม่คงทน ล้วนแต่จะเสื่อมถอย เป็นของหนัก … เมื่อยึดมั่นในสิ่งภายนอกตัว จึงไม่แปลกที่จิตใจจะรู้สึกเป็นทุกข์ มากกว่าเป็นสุข

ความสุขจากสิ่งนอกตัวที่เข้ามาทางประสาทสัมผัสต่างๆ มักเป็นความทุกข์ที่ฉาบทาด้วยความพึงพอใจชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อรสชาตินั้นได้เลือนไป ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความหนัก ภาระ และการรับผลกระทบที่ไม่ทันเห็นในตอนแรก

การยึดในความสุขเช่นนั้น จะทำให้เรา โลภ โกรธ และหลง มากขึ้น แล้วเจ้าสามตัวนี้ก็จะบ่อเกิดปัญหาต่างๆ อีกมากในชีวิต

การเติมความสุขให้หัวใจ ด้วยสิ่งเร้าทางอายตนะ  ด้วยความเพลิดเพลินและประมาท เปรียบเหมือนการตักตวงขนมหวานใส่ภาชนะจนล้นปรี่ เราลองคิดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากนั้น

โลภ ก็เหมือนการเติมจนล้นแล้ว ต้องไปหาที่เก็บเพิ่ม แล้วมันก็ทำให้รู้สึกว่ายังมีที่ว่างในภาชนะให้เติมเข้าไปได้อีก ชิมแล้วติดใจ ก็ยิ่งทำให้เราต้องไปตักตวงมาเพิ่มไม่จบสิ้น…

โกรธ ก็เหมือนกับการระแวงว่ามดแมลงจะมาตอมไหม ครั้งอีกฝ่ายยกพวกมาแล้วเราก็จะพยายามเข่นฆ่ากัน เพื่อแย่งชิงสิ่งที่ไม่ได้เป็นคุณค่าสำคัญของชีวิตเลย…

หลง ก็เหมือนความมัวเมาในรสชาติและความอิ่มของขนมที่ตักตวงมาแล้ว เมื่อติดใจแล้วมันก็จะพาให้ลืมสติปัญญาและสิ่งสำคัญที่มีความสำคัญจริงๆ และยึดมั่นไปว่าความสุขจากการกินนี้เป็นของฉัน เป็นของเที่ยงแท้ และเป็นสุข…

เมื่อจิตใจขาดสติ เราก็ไม่ได้โลภ โกรธ และ หลง ในความสุขเสียทีเดียวแล้ว แต่จิตใจนั้นกำลังโลภ โกรธ และ หลง ต่อภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความรู้สึกต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่อาจยึดถือได้เลย

เราอาจต้องถามตัวเองว่า ชีวิตเรามีคุณค่าเพียงเท่านั้นหรือ ? ฉันมีคุณค่าเพียงแค่เกิดมาสนองต่อตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เท่านั้นเองหรือ … หรือบางคนอาจต้องถามว่า ฉันเกิดมาเพียงแค่สนองตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของคนอื่นเท่านั้นหรือไม่ …

การที่เราเริ่มตั้งคำถามต่อการยึดมั่น คือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราปล่อยวางและเป็นอิสระ เฉกเช่นที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงดำริถามตัวท่านเอง ก่อนเริ่มออกเดินทางแสวงหาการตื่นรู้

ขณะนั้นท่านทรงดำริว่า

“เรามีความเกิดเป็นธรรมดา  ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่อีก
เรามีความแก่เป็นธรรมดา  ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่อีก
เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่อีก
เรามีความตายเป็นธรรมดา ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความความตายเป็นธรรมดาอยู่อีก
เรามีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่อีก…” *

การตั้งคำถามกับตนเอง โดยเฉพาะการตั้งคำถามอย่างถูกต้องนั้น จะเป็นจุดเปลี่ยนของวิธีคิดและวิถีชีวิตของเรา เหมือนพลิกฝ่ามือ

เราอาจถามตนเองว่า ในเมื่อความสุขที่ยึดไว้ ล้วนแล้วแต่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ไฉนเราจึงยังยึดมั่นไว้ … แล้วยังมีความสุขในรูปแบบใด ที่ไปพ้นจากความสุขในแบบนี้อีกบ้าง

ความสุขที่อยู่เหนือความสุขและความทุกข์ เป็นเช่นไร ? วิธีใดที่จะช่วยให้เราได้สัมผัสถึงความสุขเช่นนั้น ?

ปล่อยวางจากคำตอบที่เคยมี และกล้าถามคำถามกับตนเอง แม้เราจะไม่รู้ชัดในคำตอบ ณ ตอนนี้ก็ตาม การปล่อยวางเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในหลายรูปแบบ เมื่อเราตั้งคำถามต่อการยึดมั่น นั่นแลที่การปล่อยวางอีกจุดหนึ่งก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

.

ครูโอเล่

สถาบันธรรมวรรณศิลป์

 

คอลัมน์ ไกด์โลกจิต

https://www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/

 

ติดตามกิจกรรมอบรม