๕ บทเรียนและธรรมะบนเส้นทางการเป็นครู
.
เนื่องในวาระสิบสองปีของสถาบันธรรมวรรณศิลป์ และคำชักชวนจากอาจารย์ที่เคารพ ผู้เขียนจึงได้เรียบเรียงบทเรียนจากประสบการณ์ในการทำหน้าที่เป็นครูสอนธรรมะ การเยียวยา และการรู้จักตนเองในนามของ “ครูโอเล่” ผ่านหลักสูตรอบรมกับวาระต่างๆ เป็นห้าข้อคิด ในคอลัมน์ “ไกด์โลกจิต” ตอนที่ห้าสิบสาม ซึ่งเป็นบทความตอนที่ยาวที่สุดของคอลัมน์ เพื่อเป็นการบูชาแก่ครูอาจารย์ และเป็นข้อคิดแก่ครูเล็กครูใหญ่ มิว่าเรียกตนเป็นครูหรือไม่ ตลอดจนผู้ศึกษาใฝ่ธรรมะและการเรียนรู้ มา ณ ที่นี้
.
.
๑ ครูคือหน้าที่และสิ่งที่โลกมอบให้ มิใช่อัตตาของเรา
.
ผู้เขียนได้ชื่อว่า ครูโอเล่ จากการเรียกของผู้เรียนที่มาศึกษาผ่านการอบรมชุด เขียนเปลี่ยนชีวิต ผ่านการเยียวยาและการรู้จักตนเอง จากเดิมที่เรียกตนด้วยชื่อจริงหรือด้วยคำว่า อาจารย์ เมื่อถูกเรียกซ้ำว่า ครูโอเล่ จนเรียกตามกัน จึงตั้งจิตขอนำความเป็นครูสมาทานเป็นหนทางที่เลือกเดินและเป็นหน้าที่ของชีวิต แล้วด้วยที่มานี้ จึงระลึกอยู่เสมอว่าการเป็นครูคือสิ่งที่ผู้อื่นมอบให้ ไม่ใช่ของตน มิใช่เป็นตัวตนของตน เป็นหน้าที่ที่ได้รับเกียรติจากผู้เรียน และพร้อมที่จะถูกเรียกคืนได้ทุกเมื่อ
.
ความเป็นครู มิใช่ตัวเราหรือของๆ เรามาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เมื่อยามเกิดมา จะเป็นครูในอนาคตหรือไม่ก็ตาม เราก็ตัวเล็กนิดเดียวไม่ต่างกัน ไม่มีใครให้ความเคารพนบน้อมเรามาตั้งแต่ต้น เป็นแค่เด็กน้อยคนหนึ่งที่ร้องโยเยและยังมืดบอดต่อความเป็นจริง จนกว่าจะมีคนมาชี้ทาง
.
ต่อให้แม้เราไม่เรียกตนเองเป็นครู แต่เรียกเป็นอาจารย์ วิทยากร โค้ช นักให้คำปรึกษา หรือกระบวนกร (วิทยากรกระบวนการ) สิ่งที่เราทำหน้าที่อาจดูมีความสำคัญอย่างยิ่ง มีเกียรติภูมิและความน่าเคารพ มีคนคล้อยตามใฝ่หาและนบน้อมมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้ก็มิใช่ของๆ เรามาตั้งแต่ต้น และมิอาจคงอยู่ได้ตลอดไปเราได้รับมาจากผู้อื่นหรืออย่างน้อยก็ได้รับมาจากธรรมชาติ เมื่อยามความตายมาเยือน แม้ความเป็นครูหรือความเป็นผู้มีหน้าที่อันทรงเกียรติก็มิอาจเอาไปด้วยได้
.
ที่มาของการเป็นครูหรือวิทยากรมิใช่เพราะผู้เขียนต้องการเป็น เมื่อครั้งอดีตก็ไม่เคยคิดว่าคนขี้อายและพูดไม่ชัดคนนี้จะเป็นครูในวันหน้าได้ จนแล้วจนเล่า โชคชะตาหรือปัจจัยต่างๆ ที่เกิดแก่ชีวิต รวมทั้งความดิ้นรนที่จะต้องพาครอบครัวและตนเองอยู่รอด มีรายได้ มีงานทำ โชคดีได้โอกาสดูแลโครงการที่ได้รับสืบทอดมาจากครูอาจารย์ ต้องต่อยอดจากโครงการประกวดงานเขียนเยาวชน ให้ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นโครงการที่ใหญ่กว่า มีกิจกรรมการอบรมที่นำการเขียนและการพัฒนาจิตใจมาเชื่อมโยงกัน จึงต้องออกมาทำหน้าที่ผู้นำและวิทยากรแม้ตนเองในตอนแรกจะยังไม่ได้แตกฉานรู้ลึกซึ้งก็ตาม จนหน้าที่ของการเป็นผู้สอนคนอื่นค่อยๆ ขัดเกลาตนเอง จากที่สนใจเรื่องจิตใจในแง่มุมของจิตวิทยาและธรรมะอย่างผิวเผิน จนฝึกฝนตนเองอย่างเข้มงวดและศึกษาธรรมะอย่างละเอียด เมื่อนั้นผู้อื่นจึงเริ่มเรียกตนเป็นครู มิใช่เพราะความอยากเป็นหรือเพราะเป็นตัวตนของตนเองมาแต่ต้น
.
ความเป็นครูคือหน้าที่ เมื่อใดใครเรียกเราว่าเป็นครู (หรือวิทยากร โค้ช ฯ) เขาไม่ได้เรียกตัวตนซึ่งเป็นเนื้อหนังมังสาของเรา แต่เรียกด้วยบทบาทที่เราได้กระทำซึ่งเกิดกุศลประโยชน์ต่อพวกเขาและสังคม เรียกด้วยศรัทธาที่ต้องการมอบโอกาสให้คนๆ นี้ได้ทำสิ่งที่ดีเช่นเดิมต่อไป
.
เมื่อใดก็ตามที่เรานำบทบาทการเป็นครูมาเป็นตัวตนของตนเอง เมื่อนั้นปัญหาและความทุกข์จะตามมาอีกหลายประการ ทั้งการเป็นครูในเวลาและสถานการณ์ที่ไม่ควรจะเป็น เราอาจต้องสูญเสียความสัมพันธ์และบรรยากาศของความอบอุ่นใจ เพราะติดบทบาทครูมาสอนคนในบ้านตนเองจนพวกเขารู้สึกอึดอัด
.
ผู้เขียนเองก็เห็นปัญหาที่เกิดจากตนเองหลายครั้งที่ติดในความเป็นครูมาใช้ในเวลาไม่อันควร หรือแม้แต่ติดภาพการเป็นครูแบบหนึ่ง (ดุ ชัดเจน ตรงไปตรงมา) จนไม่ยอมยืดหยุ่นที่จะใช้ความเป็นครูอีกแบบ (นิ่มนวล อ่อนโยน ประนีประนอม) ที่เหมาะสมกว่าในตอนนั้น
.
บางครั้งผู้เขียนก็ติดภาพลักษณ์เอาออกมาจากห้องเรียน วางมาดนิ่งดังอยู่บนหิ้งตลอดเวลา เมื่อเจอท่าทีของคนอื่นที่ทำกับตน “ดั่งเป็นคนธรรมดา” หรือน้องผู้อายุน้อยคนหนึ่ง ความหงุดหงิดรำคาญใจก็จะเกิดขึ้นในจิต ความคิดเฝ้าวิจารณ์ข้อบกพร่องต่างๆ ของคนอื่นในหัว เป็นเช่นนี้อยู่ยาวนานและยังคงเพียรฝึกเพื่อลดให้น้อยลงเรื่อยๆ
.
ภาระหน้าที่มิว่าเรื่องใดๆ ก็มิอาจนำมาเป็นตัวตนของเราได้ทั้งสิ้น เราเพียงแต่หยิบยืมคำนามมาใช้ระบุหน้าที่ของตนบนโลก เพียงแค่ได้รับโอกาสมาจากผู้คนกับสังคม โลกเพียงหยิบยื่นให้ยืมใช้เท่านั้น ถึงเวลาเราก็ต้องคืนบทบาทหน้าที่เหล่านี้ไป มิอาจกอดรัดไว้ได้ตลอดไป
.
สิ่งที่เราเชื่อว่าตนเองเป็นต่างก็เพียงเป็นขันธ์ห้า คือองค์ประกอบทั้งหลายแห่งกายจิตที่มาอยู่รวมกัน อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเท่านั้น ซึ่งก็เพียงก่อขึ้นจากการรับรู้ที่ยังมีอวิชชาคือความไม่รู้อย่างขลาดเขลา ทำให้เราพลอยหลงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่มีลักษณะหรือความเป็นผู้ที่น่าชื่นชมนี้ เป็นตัวตนของเราและของๆ เรา
.
การเป็นครูที่มีความหมายมั่นว่านี่เป็นตัวตนของตนเช่นนี้ ถึงอย่างไรก็มีทุกข์ และไม่อาจสอนใครให้ไปสู่ทางแห่งการพ้นทุกข์อย่างแท้จริงได้ จนกว่าจะน้อมนำคำสอนที่สำคัญในพุทธศาสนา คือ อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน จึงจะเป็นครูหรือทำหน้าที่ใดเพื่อคนอื่นได้อย่างมีความสุขอย่างแท้จริง ดังคำตรัสของพระองค์ที่ทรงกล่าวว่า
.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมไม่เห็นรูป…เวทนา…สัญญา… สังขาร…วิญญาณ ว่าเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีรูปฯ ย่อมไม่เห็นรูปฯ ในตน ย่อมไม่เห็นตนในรูปฯ รูปฯ ของอริยสาวกนั้นย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไปเพราะรูปฯ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณ ของเขาจึงไม่ผันแปรไปตามความผันแปรแห่งรูปฯ ความสะดุ้ง และความทุกข์อันเกิดแต่ความหมุนเวียนแปรปรวนแห่งรูปฯ ย่อมไม่เข้าครอบงำจิตของอริยสาวกนั้น เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความหวาดเสียว ไม่มีความลำบากใจ ไม่มีความห่วงใย และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น… ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไม่สะดุ้งเพราะความไม่ถือมั่นย่อมมีอย่างนี้แล *(๑)
.
การถือตนเป็นครู เป็นนักบำบัด เป็นวิทยากร ฯ ก็เพียงการถือเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นตน มีตัวตนของตัวเองอยู่ข้างใน หรือมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตน ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสภาวะธรรมชาติอันไม่เที่ยงแท้ ไม่มีตรงไหนเลยที่เป็นตัวเราหรือของๆ เราได้ แค่จิตสมมติขึ้นมายึดมั่นเท่านั้น แล้วจิตก็แปรปรวนไปกับความไม่แน่นอนของสิ่งเหล่านี้ จึงขาดความมั่นคงภายใน เมื่อไม่มั่นคงแล้วก็มีความหวั่นไหวเป็นทุกข์
.
ตรงไหนที่บ่งบอกว่าเราเป็นครู ลองใช้นิ้วชี้ไปหรือกำหนดสติรับรู้ ถ้าเป็นเนื้อหนังมังสาที่ห่อหุ้มกระดูกนี้ก็เพียงธาตุธรรมชาติ ถ้าเป็นรูป ข้อความ และวิดีโอในสื่อสังคมออนไลน์ก็เพียงชุดข้อมูลของระบบคอมพิวเตอร์ หากเป็นในจิตใจแล้วก็เพียงภาวะที่ปรุงแต่งจากการรับรู้ เกิดขึ้นแล้วดับไปเท่านั้น ในหน้าที่หรือการกระทำที่ผ่านมาในความทรงจำก็เป็นเพียงอดีตไปแล้ว หากเป็นความคิด อุดมการณ์ หรือจิตวิญญาณ สิ่งเหล่านี้ก็มิใช่ตัวตน
.
ปัจจุบันนี้ในตอนนี้ วินาทีนี้ ขณะจิตนี้ เรากำลังเป็นครูอยู่หรือไม่ กายจิตกำลังทำหน้าที่อะไร การยึดถือว่าเป็นหรือไม่เป็นอยู่ตรงไหน เรากำลังเป็นใครจริงๆ กันแน่ในตอนนี้ ปัจจุบันนี้
.
ความยินดีในการรับรู้จากสิ่งที่ทำและเป็น เพียงการถือเอาความอยากเป็น ความอยากทำ สมมติบัญญัติ และความปักใจเชื่อจากการรับรู้ทั้งหลาย หรือเรียกว่า ความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทาน และอนุสัย มาเป็นตัวเราและของๆ เราเท่านั้น ถึงเวลาตายลงก็ต้องคืนกลับไป สลัดออกไปแม้ไม่เต็มใจ แต่ก็ต้องผ่านความทุกข์นานาจากการพยายามกอดรัดสิ่งที่ถือว่าตนเองเป็นตลอดมาจนถึงยามตายนั้น
.
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นดังครูผู้ยิ่งใหญ่ ได้ทรงสอนพวกเราว่าการเป็นครูที่ดีเช่นพระองค์มิจำเป็นต้องรอถึงคราวตายจึงสลัดคืนสิ่งที่ถือมา แต่ทรงตรัสว่า
.
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับสิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ จึงนับว่ามีธรรมอันสมควร จะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้วเพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัย…” *(๒)
.
ด้วยการทำหน้าที่หรือกิจที่ควรนั้นเอง เพื่อปลงภาระหรือการหมายมั่นที่มีมา เพื่อประโยชน์ตนหรือการหลุดพ้นจากเหตุแห่งทุกข์แห่งตนโดยสิ้นแล้วแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลายทั้งปวง จึงนำมาสู่การคืนภาระหน้าที่ทั้งความเป็นครูและสิ่งทั้งหลายคืนกลับไปสู่โลก
.
ครู อาจมีที่มาจากคำว่า ครุ ที่แปลว่า หนัก แต่ภารกิจของผู้เป็นครูนั้นหาใช่การแบกทนกับความหนักไม่ แต่เป็นการฝึกฝนผ่านการสอนผู้อื่นให้ความหนักทั้งหลายได้เบาลงไป ทั้งตนเองและผู้อื่น คือการละวางตัวตนอันเป็นต้นเหตุแห่งความหนักอึ้งทั้งหลาย ด้วยการขัดเกลาอันหนักหนาผ่านภาระและการฝึกฝนตนเองจึงเป็นครูที่สมบูรณ์
.
ครู ยังมาจากคำว่า คุรุ ที่เกิดจากสองคำคือ “แสงสว่าง” (คุ) กับคำว่า “ความมืดมน” (รุ) ในภาษาสันสกฤต หมายถึงผู้ที่ขจัดความมืดมนด้วยแสงสว่างหรือเป็นดังแสงสว่างให้แก่ผู้คนที่มืดมน ดังที่เรารู้ดีว่า แสงสว่างนั้นไม่ใช่ตัวตนให้เราคว้าได้ แต่สาดส่องไปทั่วๆ อย่างไร้เงื่อนไข เช่นเดียวกันกับความเป็นครูที่แท้จริง ซึ่งมิใช่ตัวตน แต่เป็นดั่งแสงสว่างนั้นเอง
.
.
๒ พร้อมที่จะโดนเกลียด จึงกล้าสอนสิ่งที่ยากสอน
.
เมื่อตอนที่ผู้เขียนยังรักตัวเองน้อย ตอนที่ได้ออกมาจัดค่ายหรือเป็นวิทยากรสอนคนอื่น ก็จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้น หัวใจเบิกบาน ได้เห็นตนเองเป็นที่รักและเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คน พอค่ายและการอบรมจบลง ความเปลี่ยวเหงาก็เริ่มเด่นชัดหัวใจแห้งเฉา รู้สึกว่าโหยหาที่จะจัดค่ายหรือทำกิจกรรมอะไรสักอย่างเพื่อลบล้างความเหงานี้และทำให้รู้สึกเต็มเปี่ยมในหัวใจอีกครั้ง
.
การรักตัวเองแบบมีเงื่อนไขของมนุษย์มักจะทำให้เราผูกมัดคุณค่าในตนเองกับบางสิ่งบางอย่างที่เราทำ เช่น งาน หน้าที่ หรือสิ่งที่เราชอบทำ เช่นเดียวกันกับการทำอาชีพครูหรือหน้าที่สอนคนอื่น เราอาจเผลอนำการรักตัวเองมาสร้างเงื่อนไขกับหน้าที่เหล่านี้ เมื่อสอนคนอื่นแล้วเขาตอบรับดี ชอบวิธีการสอนหรือการดูแลของเรา หรือเมื่อสิ่งที่แนะนำไปทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เราก็รู้สึกดีมีคุณค่า เช่นกันกับอาชีพหรือบทบาทอื่นๆ เมื่อสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเลิศขึ้นมาก็อาจผูกคุณค่าในตนเองไว้กับผลงานนั้นๆ
.
ข้างต้นนี้ความจริงก็มิใช่สิ่งที่ผิด แต่ก็มีอีกด้านของเหรียญที่เราต้องเฝ้าระวัง หากนำการรักตัวเองมาผูกกับสิ่งที่ทำมากเกินไป ความทุกข์เพราะความผิดหวังและความไม่ได้ดังใจก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งบ่อยครั้งก็ทำให้โฟกัสไปที่คุณค่าของสิ่งที่ทำผิดไปจากที่ควร
.
ตอนที่ผู้เขียนเริ่มทำค่ายและกิจกรรมอบรมด้วยตนเองเป็นครั้งแรกๆ ผู้เขียนก็รู้สึกผิดหวังแทบทุกครั้งที่กิจกรรมจบลง ถึงแม้คนอื่นจะชื่นชม แต่ใจตนก็ตอกย้ำกับความผิดพลาดในเรื่องต่างๆ ที่คิดว่าควรทำได้ดีมากกว่านี้ เพราะคาดหวังว่าความดีเลิศสมบูรณ์แบบของกิจกรรมจะช่วยถมทับความรู้สึกไม่พอใจตนเองได้ เวลาคิดกิจกรรมหรือตัดสินใจสิ่งที่ควรทำ ก็จะมีภาพความหวังให้คนเข้าร่วมชื่นชมปรากฎนึกขึ้นมาใจ จนทำให้บางครั้งคำนึงถึงความเหมาะสมจริงๆ น้อยเกินไป เพราะมัวแต่เลือกเฟ้นสิ่งที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมตื่นเต้นและทึ่ง
.
แม้รักตัวเองมากขึ้นแล้ว บางจังหวะที่ให้คำแนะนำติชมกับผู้เรียนไปแต่อีกฝ่ายตอบโต้ด้วยความขุ่นเคืองหรือความไม่เชื่อฟัง จิตในช่วงเวลานั้นเกิดความหม่นหมองและบ้างก็ขุ่นข้องอยากตอบโต้ เพราะตนก็ยังมีความยึดติดที่อยากให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าในสิ่งที่เป็นและสิ่งที่ทำให้ เมื่อไม่ได้ดังใจหวังก็เป็นทุกข์ และทำให้กระบวนการสอนติดขัด จึงต้องคอยเตือนตนชะลอการตอบโต้ให้ช้าลง ใช้เมตตาและความเห็นใจให้มากขึ้น
.
การหวังว่าผู้เรียนจะรักหรือชอบเรา มันทำให้เราคาดหวังในท่าทีของพวกเขา ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่จำเป็นต้องรักเราเพื่อเป็นนักเรียนที่ดีเลย ความอยากเป็นคนที่ได้รับการเห็นคุณค่า ทำให้เราสร้างเงื่อนไขมาผูกมัดลูกศิษย์ไว้ เมื่อพวกเขาเป็นตัวของตัวเองและมีความคิดเห็นเป็นของตนซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเรา ใจก็เป็นทุกข์
.
ในทางกลับกัน เมื่อหวังว่าอีกฝ่ายจะพึงพอใจในตัวเรา ทำให้อาจไม่กล้าสะท้อนหรือสอนอย่างตรงไปตรงมาในสิ่งที่ควร เพราะกลัวว่าเขาจะเกลียด เกรงใจอีกฝ่าย หรือกังวลว่าพวกเขาจะมองเราเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การทำหน้าที่บกพร่อง เพราะตามใจผู้เรียนเกินไป ขาดความชัดเจนเด็ดขาด หรือไม่อาจตัดสินถูกผิดให้ชัดเจนแก่ผู้เรียนได้ การทำหน้าที่เป็นครูเช่นนี้ คือการทำงานเพื่อแลกกับความรักเป็นค่าจ้าง เราจะมิอาจสอนตนและใครๆ ให้รักตนเองเป็นอย่างแท้จริงได้เลย
.
การเป็นครูแก่คนอื่น ต้องพร้อมที่จะถูกเกลียด จึงทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เช่นเดียวกันกับคุณครูผู้เคยสอนเรา รวมถึงคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองของเราด้วย บ่อยครั้งที่ท่านต้องตัดสินใจอบรมสั่งสอนหรือดูแลในแบบที่เราไม่ต้องการ ในแบบที่ทำให้เด็กน้อยคนนี้โกรธขุ่นเคืองท่าน หรือเศร้าหมองน้อยใจ แต่ท่านก็จำเป็นต้องทำเช่นนั้นเพื่อประโยชน์แก่ตัวเด็กน้อยคนนี้เอง มิใช่เพื่อให้รักท่านมากขึ้น โดยอาจมิได้บอกกล่าวถึงเหตุผลใดใด
.
การเป็นครู รวมทั้งการเป็นพ่อแม่ของลูก สอนเราถึงการเป็นผู้ให้ที่เสียสละและคำนึงถึงการเติบโตของอีกฝ่ายเป็นสำคัญ โดยทั่วไปแล้วมนุษย์จะถูกผลักดันด้วยความต้องการการมีคุณค่า การถูกเห็นหรือการยอมรับ และการมีตัวตน เป็นความต้องการให้ดิ้นรนทะยานอยากเพื่ออยู่รอดทางใจ รองมาจากความต้องการอยู่รอดทางกาย แต่การเป็นครูและพ่อแม่ทำให้เราต้องก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือคนอื่นซึ่งบางครั้งต้องยอมเสียสละแม้แต่คุณค่าในตนเอง ให้เขาโกรธด่าเราเพื่อพูดความจริงในสิ่งที่อีกฝ่ายอาจไม่อยากได้ยิน หรือเพื่อสอนในวิถีทางที่เขาเกลียดที่สุดแต่ได้ประโยชน์แก่เขามากที่สุด
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบในเรื่องการเลือกสื่อสารหรือเลือกสิ่งที่จะสอนไว้ว่า *(๓)
.
คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ไม่กล่าว , คำพูดที่จริง ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ไม่กล่าว , คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์เลือกกาลกล่าว , คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ไม่กล่าว , คำพูดที่จริง ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ไม่กล่าว , คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์เลือกกาลกล่าว
.
แม้ไม่เป็นที่รักที่พอใจแก่ผู้ฟัง แต่หากเป็นประโยชน์ เป็นความจริง และถูกต้องแล้ว พระองค์ก็ทรงเลือกตรัสในเวลาอันเหมาะสม มิได้ทรงสอนในสิ่งถูกใจแก่ผู้ฟังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังได้ตรัสแก่พระอานนท์ถึงธรรมห้าอย่างในการแสดงธรรมแก่คนอื่นพึงคำนึงไว้ *(๔) ได้แก่ กล่าวชี้แจงไปตามลำดับ , ยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ , แสดงด้วยความเมตตา , ไม่แสดงด้วยเห็นแก่อามิส และแสดงไปโดยไม่ให้กระทบตนและคนอื่น
.
การแสดงธรรมโดยไม่เห็นแก่อามิสนั้น มิใช่เพียงสินจ้างที่เป็นเงินหรือของตอบแทนทางวัตถุอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการหวังผลตอบแทนที่เป็นนามธรรมต่างๆ ด้วย เช่น การยอมรับ ความรัก การเชิดชู ฯ การหวังในอามิสเหล่านี้ ทำให้การสอนนั้นอาจถูกผลักดันด้วยความโลภ โกรธ และหลง ซึ่งจะทำให้การสอนนั้นมีความผิดเพี้ยนไปครรลองที่ควรเป็น ครูที่ดีในธรรมจึงไม่พึงทำหน้าที่เพื่อหวังแก่อามิสทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อให้การทำหน้าที่เป็นไปโดยประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคมอย่างแท้จริง
.
“ถ้าว่าภิกษุไม่อาศัยเสียงสรรเสริญแล้วไซร้ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุ (ผู้นั้น) ผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตนมิใช่ผู้เลี้ยงคนอื่น ผู้คงที่ ฯ” *(๕) กล่าวคือ ภิกษุผู้ไม่ใฝ่ในเสียงสรรเสริญ ย่อมเป็นที่เคารพแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้มักน้อยสันโดษและมีความประพฤติที่ขัดเกลาตน มีความมั่นคงภายใน ย่อมเป็นที่เชิดชูและศรัทธา
.
นอกจากนี้แล้ว ผู้เขียนยังพบว่า ธรรมะที่ช่วยประคับประคองให้การทำหน้าที่ในความเป็นครูไม่เป็นไปเพื่อส่งเสริมอหังการและมมังการ คือการถือตนและอวดดี คือการตระหนักว่าความรู้ ความเก่ง และความสามารถในการเป็นครูทั้งหลาย ทั้งที่ผู้อื่นเคยชื่นชมหรือไม่ได้ชื่นชม ต่างก็มิใช่ของๆ ตน เพราะสิ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นสิ่งที่ได้รับมาจากครูอาจารย์ มีปรับปรุงและต่อยอด ก็ด้วยการประยุกต์ผสมจากความรู้อื่นๆ ทั้งหลายที่ก็มีที่มาจากผู้อื่นด้วย มีคิดได้ด้วยตนเองและจากประสบการณ์สั่งสมบ้าง ก็ล้วนแล้วเกิดจากการรับรู้ทางกายและจิต ปรุงแต่งขึ้นด้วยสติปัญญาและด้วยสังขารที่มีตัณหาคือความอยากบ้าง สิ่งที่เป็นปัจจัยเหล่านี้ก็มิใช่ของๆ ตนเพียงหนึ่งเดียว แต่ก็มาจากการรับรู้ผ่านสื่อและมีผู้คนกับสิ่งต่างๆ นอกตัวมาเกี่ยวข้องอย่างมิอาจแยกขาดได้
.
กว่าจะระลึกได้เช่นนี้เองผู้เขียนก็เคยผ่านช่วงเวลาที่มีความโกรธขึง อิจฉา และน้อยเนื้อต่ำใจ เมื่อเห็นลูกศิษย์หรือผู้ที่เคยมาเรียนด้วย นำวิชาความรู้ไปเผยแพร่ต่อโดยมิได้บอกกล่าว มิได้ให้ชื่ออ้างอิง หรือนำไปเขียนหนังสือจำหน่าย ซึ่งเมื่อเกิดอารมณ์เหล่านี้แล้วก็มิได้ทำให้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้นเลย และยิ่งทำให้เห็นว่าตนยังขาดการรักและเคารพตนเองอยู่มากเพียงใด จนนำสิ่งที่มิใช่เราและของๆ เรามาแต่ต้นมาเดือดร้อนแก่ใจเช่นนี้
.
ความรู้ ความสามารถ และความเก่งกาจอย่างใดจึงเป็นของเราอย่างแท้จริง อย่างใดจึงอยู่กับเราตลอดไป เมื่อร่างกายเสื่อมลงและปัจจัยบางอย่างเปลี่ยน ความรู้ ความสามารถ และความเก่งกาจเหล่านี้ก็มีเสื่อมถอยไป วันนี้สอนเก่ง จัดกระบวนการเรียนรู้ได้ยอดเยี่ยมเพียงใด วันหน้าก็มีวันเสื่อมถอยลง
.
ยิ่งหมายมั่นเอาความรู้ความสามารถว่าเป็นของเราหรือตัวตนเรา ก็ยิ่งหวังได้รับคุณค่าและความน่าพอใจจากสิ่งเหล่านี้ ในฐานะที่เป็นครูหรือผู้ช่วยเหลือคนอื่นก็จะมิอาจใช้คุณสมบัติเหล่านี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะความลำเอียงทางอารมณ์ ถูกความอยากและกิเลสน้อยใหญ่บดบังรบกวน เลือกสอนหรือให้เพียงบางส่วน ฯ เหล่านี้ก็จะเป็นปัจจัยทำให้การทำหน้าที่ที่มีเสื่อมถอยลงไป รวมทั้งความรักและการเคารพตนเองก็จะเสื่อมถอยลงไปด้วยเช่นกัน
.
เรามีคุณค่า จึงทำสิ่งที่มีคุณค่า โดยไม่หวังว่าจะได้รับคุณค่าตอบแทนหรือไม่ อย่างนี้จึงจะเป็นทุกข์น้อยกว่า เราอยากมีคุณค่าจึงทำสิ่งที่มีคุณค่า เพื่อหวังว่าเราจะมีคุณค่ามากขึ้น อย่างนี้จะเป็นทุกข์มากกว่า การทำหน้าที่เป็นครูและผู้ช่วยเหลือคนอื่น มิใช่อาชีพเพื่อแลกความรัก แต่เพราะเรารักตนเองมากพอและรักในเพื่อนร่วมทุกข์บนโลกใบนี้ เราจึงทำสิ่งที่ดีเพื่อผู้อื่น อย่างนี้จึงจะเป็นสุขในการทำหน้าที่และมอบความสุขแก่ผู้อื่นได้อย่างเต็มใจ
.
.
๓ ต่างเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน แต่พึงระวังให้ดี
.
ในการสอนหรือการบำบัดเยียวยา มีโอกาสที่ผู้ทำหน้าที่จะพบกับการทรานเฟอร์เรนท์ (Transference) คือการถ่ายโอนความรู้สึกหรือการมีปฏิสัมพันธ์ทางความรู้สึกระหว่างครูกับนักเรียน หรือ ระหว่างหมอกับคนไข้ โดยมีความแปรผันอันเนื่องมาจากปมในจิตใจ ทำให้ความรู้สึกที่ปฏิสัมพันธ์นั้นเกินความเหมาะสมและหน้าที่ เช่นเดียวกันกับในชีวิตประจำวันก็มีการทรานเฟอร์เรนท์เกิดขึ้นได้ เมื่อเราอยู่กับคนตรงหน้าหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนตรงหน้า แต่เราไม่ได้อยู่กับเขาอย่างที่เป็นจริง เพราะมีอคติ กิเลส ความรู้สึกส่วนตัว ความรู้สึกจากความสัมพันธ์ในอดีต และภาพลักษณ์ของบุคคลอื่น โดยเฉพาะผู้ใหญ่หรือคนใกล้ชิดในวัยเด็ก มาสวมทับอีกฝ่ายไว้ในจิตใต้สำนึก และมีผลมายังความรู้สึกนึกคิดของจิตสำนึกด้วย
.
ตามหลักจิตวิทยา ผลของการทรานเฟอร์เรนท์มีสองแบบ ได้แก่ ดีขึ้น (Transference Improvement) และ เลวลง (Transference Aggravation) หมายถึงการที่ความรู้สึกระหว่างกันมีผลต่อการเรียนการสอน การบำบัดเยียวยา หรือการเข้าหากัน ดีเลิศมากกว่าที่ควร หรือเลวร้ายมากกว่าที่ควร เกินเหตุและผลที่สมควรเป็น ในฐานะครูกับนักเรียนแล้ว ความลำเอียงทางอารมณ์ทำให้เกิดการปรุงแต่งผลลัพธ์ให้รู้สึกว่าการเรียนการสอนช่างดีเลิศ หรือช่างเลวร้าย เกินกว่าเหตุผล และนำมาสู่ความสัมพันธ์ที่เกินเลยได้ง่าย
.
ผู้เขียนเชื่อว่าการเป็นครูที่ดี มิใช่ผู้ที่รู้วางอำนาจกับนักเรียนเท่านั้น แต่ต้องยังเป็นผู้ที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลต่อผู้เรียนได้ เพื่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยและอบอุ่น สามารถสร้างบรรยากาศที่โอบเอื้อความคิด ความรู้สึก และสิ่งที่ผู้เรียนเป็นให้กล้าแสดงออกเพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ร่วมกัน อันเปรียบเสมือนดินที่พร้อมจะโอบอุ้มเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตต่อไป มีความใกล้ชิดพอสมควรที่ผู้เรียนจะสามารถวางใจแล้วเรียนรู้ในสิ่งที่ท้าทายโดยไม่ต้องหวาดกลัว ผู้เป็นครูอาจารย์มิควรห่างเหินจากนักเรียนมากจนเกินไป เสมือนว่าฝ่ายหนึ่งอยู่บนหอคอยอันสูงส่ง ส่วนผู้เรียนอยู่บนพื้นราบอันต่ำเตี้ย แต่ผลเสียก็จะเกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายใกล้ชิดเกินไปหรือมีการทรานเฟอร์เรนท์ที่ไม่รู้ตัว เมื่อนั้นจากดินอันโอบอุ้มก็จะกลายเป็นโคลน
.
ตามหลักจิตวิททยา ลักษณะการทรานเฟอร์เรนท์แบ่งออกเป็น ๔ แบบ ได้แก่
.
Powerful Authority คือความรู้สึกต่อฝ่ายๆ หนึ่งว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจ หรือเป็นเสมือนบิดามารดา เป็นผลทำให้ฝ่ายหนึ่งไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทำให้พยายามเอาอกเอาใจ เกรงใจ หรือเข้าหาเพื่อหวังได้รับการปกป้อง หรือในทางกลับกัน คือพยายามต่อต้าน เพราะกลัวอำนาจหรือมีปมฝังใจมาจากผู้ใหญ่ในวัยเด็ก ทำให้มีความคิดหวาดระแวงต่อกันและกัน
.
Ideal Model คือความรู้สึกต่อฝ่ายๆ หนึ่งที่รู้สึกเหมือนกับเป็นบุคคลต้นแบบที่ต้องเอาเยี่ยงอย่าง เป็นบุคคลที่น่าชื่นชมดังไอดอลหรือพี่ที่รักใคร่ ทำให้พฤติกรรมมีการลอกเลียนตามอย่าง ชื่นชมและศรัทธาอีกฝ่ายมากเป็นพิเศษ เห็นแต่แง่ดีของอีกฝ่ายเกินจริงหรือมองเพียงด้านเดียว และพยายามเลียนแบบหรือทำสิ่งที่สอดคล้องตามกันจนเสียความเป็นตัวของตัวเอง
.
Rival คือความรู้สึกต่อฝ่ายๆ หนึ่งเป็นเสมือนคู่แข่งหรือฝ่ายตรงข้าม มีท่าทีแข่งขันอยู่ในที พยายามเอาชนะในทางใดทางหนึ่ง พยายามทำให้ตนเองดีกว่าอีกฝ่าย มีคุณค่ามากกว่าอีกฝ่าย หรือไม่ถูกมองว่าด้อยกว่า อาจมีผลทำให้เห็นแง่ลบของอีกฝ่ายจนอาจละเลยด้านที่ดี โฟกัสไปที่ผลลัพธ์โดยไม่ใส่ใจวิธีการหรือกระบวนการ
.
Favorite Child คือความรู้สึกว่าตนเองนั้นเป็นเสมือนพ่อแม่หรือผู้ปกครอง และอีกฝ่ายเป็นเหมือนลูกหรือเด็กน้อยที่น่ารักน่าถนอม มีความพยายามเอาอกเอาใจหรือการดูแลอย่างเป็นพิเศษแบบผู้ใหญ่ดูแลเด็กน้อย อาจรู้สึกว่ามีพันธะจะต้องดูแลและรับผิดชอบต่อกันเกินกว่าหน้าที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การถือเป็นเจ้าของ การมองอีกฝ่ายไร้เดียงสา หรือมีความผูกพันที่เกินเหตุผล
.
ลักษณะการทรานเฟอร์เรนท์แบบอื่นๆ ในฐานะที่เราเป็นหมอหรือครูผู้สอน อาทิเช่น ท่าทีและความรู้สึกต่ออีกฝ่ายหนึ่งเป็นประหนึ่งคนรัก มีความคล้ายแบบแรกและแบบที่สี่ ทำให้มีท่าทีประคบประหงม รักและห่วงใยจนเกินพอดี อาจรู้สึกว่าอีกฝ่ายเปราะบางและอ่อนแอต้องดูแลรักษา หรือรู้สึกว่ามีความสำคัญต่อตนเองมากจนต้องทุ่มเทกว่าคนอื่น และมีความรู้สึกผูกพันลึกซึ้งจนไม่สามารถกำกับพฤติกรรมให้เหมาะสมได้จนนำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ทางเพศ
.
อีกรูปแบบหนึ่งคือการรู้สึกเหมือนกับว่าอีกฝ่ายคือตัวเอง รู้สึกถึงความสอดคล้องต้องกัน จนอาจทำให้เผลอคิดว่าเรารู้สึกอย่างไร อีกฝ่ายรู้สึกอย่างนั้น เราเคยเจออะไร อีกฝ่ายก็เคยเจออย่างนั้น หรืออีกฝ่ายเคยเจออะไร ก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกับที่เราเคยเจอ ดูแลฝ่ายหนึ่งเหมือนได้ดูแลตนเอง การที่อีกฝ่ายเติบโตเหมือนตัวเราเองได้เติบโต การที่ตัวเราเองเติบโตอีกฝ่ายก็น่าจะเติบโตด้วย สำหรับการเป็นผู้เยียวยาหรือครู เราอาจใช้ประสบการณ์ส่วนตัวตีความประสบการณ์อีกฝ่ายมากเกินไปได้ และอาจเอาความรู้สึกส่วนตัวและตัวตนของตัวเองเป็นที่ตั้งในการดูแลโดยคิดว่าเป็นของอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออาจ “อิน” มีความรู้สึกร่วมไปกับสิ่งที่ผู้เรียนหรือคนไข้พบจนประหนึ่งว่าตนเองคือคนๆ นั้น
.
เมื่อผู้เขียนจัดกิจกรรมการอบรมต่างๆ ช่วงแรกๆ นั้น ความรู้สึกที่มักเกิดขึ้นมีในใจแทบทุกครั้งคือการหลงชอบพอใจในผู้เรียนบางคน ทำให้เสียสมาธิหรือเผลอจดจ่อใส่ใจที่ผู้เรียนคนดังกล่าวมากจนเกินไป ทั้งในแง่เสมือนเป็นเด็กน้อยของตนเอง และในแง่ประหนึ่งเป็นคนรัก ทำให้การรับฟังเรื่องราวในบางครั้งมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจมากจนไม่ได้สังเกตหลายๆ ด้านของสิ่งที่อีกฝ่ายเป็นอย่างรอบคอบ มุมมองในตอนนั้นก็จะรู้สึกว่าอีกฝ่ายช่างเปราะบางหรือเป็นเหยื่ออันบริสุทธิ์ที่ต้องปกป้องทุกวิถีทาง หรือปรารถนาให้มาเป็นคนรักและดูแลผู้เขียนดั่งคนสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงออกว่าอีกฝ่ายนั้นมีคุณค่า
.
เหตุผลที่มีการทรานเฟอร์เรนท์เกิดขึ้น มีหลายสาเหตุ เหตุหนึ่งเป็นเพราะจิตใต้สำนึกพยายามชดเชยความรู้สึกและความต้องการที่ขาดแแคลนไป โดยเฉพาะเมื่อตอนวัยเด็ก บ้างก็ต้องการการมีคุณค่าหรือได้รับการยอมรับจากการทำหน้าที่ บ้างก็ต้องการความรักจึงมีท่าทีกับอีกฝ่ายแบบนั้น บ้างก็เป็นความพยายามชดเชยความสัมพันธ์ต่อผู้ใหญ่ในวัยเด็ก มีผลทำให้การรับรู้ของจิตผิดเพี้ยนไปและถูกเสริมเติมแต่งขึ้นมา
.
สำหรับผู้เขียนแล้วการตกหลุมรักผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปมในวัยเด็กที่ไม่ได้รับการดูแล เป็นเสมือนเด็กน้อยที่เปราะบางที่รอคอยใครสักคนเข้ามาเคียงข้างและให้ความรัก เมื่อแลเห็นผู้เรียนที่มีลักษณะเปราะบางทางอารมณ์ มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับตนเองหรือแม่ หรือมีปมปัญหาที่คล้ายคลึงกันก็จะทำให้รู้สึกเชื่อมโยงดั่งว่าอีกฝ่ายหนึ่งคือเด็กน้อยภายในจิตใจตนเอง อยากเข้าหาเพื่อเคียงข้างดูแล แต่ด้วยที่ยังขาดสติ มีแรงผลักดันทางเพศ และความคาดหวังให้เด็กน้อยในใจตนเองก็ได้รับการดูแลตอบสนองเช่นกัน จึงทำให้การเข้าหานั้นมีทั้งความหวังจะครอบครองและให้ความใส่ใจจนล้ำเส้น
.
จนเมื่อได้กลับมาดูแลเด็กน้อยภายในด้วยตนเอง ให้ความรักกับตนเองมากขึ้นแล้ว นำสิ่งที่สอนคนอื่นเรื่องการบำบัดเยียวยาทั้งหลายนำมาทำให้ตนเองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อาการเหล่านี้จึงได้ลดหาย เพราะการได้เติมเต็มหัวใจตนเองอย่างเต็มที่แล้ว ความโหยหาก็ย่อมลดลง ไม่พยายามไขว่คว้าหาความรักจากคนที่มาเรียนและบำบัดกับตนแล้ว
.
นอกจากหลักจิตวิทยาข้างต้น ผู้เขียนแลเห็นว่ามีหลักธรรมอีกอย่างน้อย ๒ เรื่อง คือ มานะ ๓ และ อคติ ๔ หากเราได้รับอิทธิพลของกิเลสเจ็ดอย่างนี้ก็เท่ากับว่ามีการทรานเฟอร์เรนท์เกิดขึ้นในการสอนหรือการช่วยเหลือคนอื่นเช่นกัน
.
มานะ ๓ ได้แก่ ถือว่าด้อยกว่าแย่กว่า , ถือว่าเด่นกว่าดีกว่า และ ถือว่าเท่าเทียมกัน ลักษณะการทรานเฟอร์เรนท์ด้วยมานะ เช่น มีการเปรียบเทียบกัน มีการพยายามแข่งกัน ข่มกัน อิจฉา น้อยใจ หรือการพยายามตีตัวเสมอกัน เป็นต้น
.
บางครั้งครูก็จะเจอผู้เรียนที่พยายามยกตนแข่งกัน ระหว่างผู้เรียนกันเอง และต่อครูผู้สอน มีทั้งรูปแบบการไม่ยอมให้ความร่วมมือ ไม่ทำกิจกรรมตามขั้นตอนที่มี พยายามแสดงภูมิความรู้ที่มีด้วยการโต้เถียงหรือไม่ตอบคำถามตรงๆ หรือวิพากษวิจารณ์ครู ในทางกลับกันก็อาจอ่อนน้อมถ่อมตนจนเกินไปจนไม่กล้าแสดงความสามารถที่มีหรือคล้อยตามไปทุกเรื่องอย่างขาดปัญญา การรับมือกับมานะของผู้เรียนหรือผู้ที่เข้ามาให้เยียวยา เราเองก็จักต้องไม่ถือตนเองว่าเราดีกว่าหรือด้อยกว่า ถือว่าเท่ากันก็ยังพอใช้ได้ แต่ไม่ถือด้วยการเปรียบเทียบเลยจะดีกว่า เพื่อไม่ให้เราเปรียบเทียบคุณค่าของตนเองกับอีกฝ่าย และไม่หวั่นไหวไปหรือถือสากับท่าทีต่างๆ ของพวกเขาจนเกินไปเมื่อมีมานะเกิดขึ้น
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนในเรื่องนี้ว่า “การถือตัว ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ การถือตัวว่า เราประเสริฐกว่าเขา ๑ เราเสมอเขา ๑ เราเลวกว่าเขา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถือตัว ๓ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละการถือตัว ๓ อย่างนี้แล อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละการถือตัว ๓ อย่างนี้แล” *(๖)
.
การอยากยึดว่า ตนสูงส่งกว่าเขา นำมาสู่ความทุกข์ การอยากยึดว่า ตนต่ำต้อยกว่าเขา นำมาสู่ความทุกข์ การอยากยึดว่า ตนเท่ากันกับเขา ก็นำมาสู่ความทุกข์ เมื่อน้อมใจพิจารณาความจริง ด้วยความสงบวิเวก ปราศจากความหลง น้อมไปเพื่อการละวาง ย่อมทำให้พ้นจากการเปรียบเทียบเหล่านี้ แล้วเคารพคุณค่าในกันและกันได้อย่างแท้จริง
.
สำหรับครูผู้รู้เท่าทันตนเอง การที่ลูกศิษย์มีมานะก็เป็นโอกาสที่ดีให้วิเคราะห์ได้ว่าปมที่มีในจิตใจของพวกเขาเกิดจากอะไร บางคนพยายามยกตนให้สูงกว่าคนอื่นเพื่อปกป้องความไม่มั่นคงทางจิตใจ บ้างก็กลัวความโดดเดี่ยวจึงพยายามเป็นมิตรที่เท่าเทียมกับครู บ้างก็มีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจและขาดความมั่นใจในตนเอง จึงมีท่าทีอ่อนน้อมและคล้อยตามเสมอๆ จนขาดความคิดเห็นของตนเอง การสังเกตมานะเพื่อวิเคราะห์ปมจิตใจเบื้องหลังนอกจากช่วยให้เห็นแนวทางในการดูแลและอบรมต่อไป ยังช่วยเตือนให้เรามีความเห็นอกเห็นใจและมีเมตตาต่ออีกฝ่ายมากขึ้น มิใช่เพื่อให้เราอยู่เหนือกว่าแต่อย่างใด
.
นอกจากมานะแล้ว ก็ยังมีธรรมะเรื่อง อคติ ๔ ซึ่งผู้เป็นครูหรืออาชีพที่ใกล้เคียงพึงพิจารณาไว้ ได้แก่
.
ลำเอียงด้วยความรัก พอใจ ชื่นชม หวงแหน (ฉันทาคติ) อาจหลงชื่นชมผู้เรียนหรือคนไข้บางคนจนเกินไป อาจลำเอียงเพราะมีท่าทีและความคิดเห็นที่สอดคล้องกับสิ่งที่เราหวังได้รับ จนเห็นดีเห็นงามตามไปหมด ชื่นชมจนขาดการตำหนิตักเตือนเรื่องที่ควร หรือเลือกใส่ใจเป็นพิเศษ
.
ลำเอียงด้วยความชัง ความไม่พอใจ ขัดเคือง รำคาญ (โทสาคติ) มีความรังเกียจต่อผู้เรียนบางแบบ ขัดใจกับสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งเป็น อาจเพราะท่าทีและความคิดเห็นไม่สอดคล้องกับความพอใจของเรา ทำให้รู้สึกไม่อยากสอนไม่อยากดูแล ตักเตือนมากเกินควรหรือมองแต่แง่ลบของเขา หรือขาดเมตตาต่อกัน
.
ลำเอียงด้วยความหลง ง่วง มึนเมา สับสน ไม่รู้จริง (โมหาคติ) เพราะขาดข้อมูลที่ถูกต้อง มีจิตใจที่สับสน ลังเล หรือขาดสติสัปชัญญะอย่างเต็มที่ หรือมีภาพในใจเกี่ยวกับเขาอย่างสับสนปนเปกับคนอื่นๆ ที่เคยรู้จัก หรือเพราะตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ก็ทำให้สอนหรือดูแลไม่ตรงตามจุดที่ควร
.
ลำเอียงด้วยและความกลัว ยำเกรง เกรงใจ ขยาด (ภยาคติ) เพราะอีกฝ่ายมีฐานะที่ดีกว่า มีคุณสมบัติที่เราเคารพหรือน่าเกรงขาม ก็ทำให้ความเกรงกลัวของจิตใจมีผลต่อความคิดอ่านในการสอนหรือเยียวยาอีกฝ่ายนั้น หรือเพราะตนเองมีความกลัวภายในอยู่แล้ว เช่น กลัวไม่ได้รับการยอมรับ กลัวความล้มเหลว ฯ จึงทำให้เกิดความลำเอียงขึ้น
.
ทั้งหมดนี้ก็เกิดจากการรับรู้ผู้เรียนหรือคนไข้อย่างขาดสติ ปรุงแต่งด้วยอารมณ์ส่วนตัวกับอนุสัยหรือสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกที่เป็นปมของเราเอง จึงทำให้เกิดการปรุงแต่งเป็นความอยากต่างๆ เช่น อยากดี อยากเป็นที่รัก อยากเก่ง ฯ นำมาสู่ มานะ อคติ หรือกิเลสอื่นๆ ปะปนท่ามกลางในการสอนหรือการดูแลอีกฝ่าย ทำให้เรามีท่าทีที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นกลาง ลำเอียงไป ทำให้ขาดอุเบกขา แล้วอาจพลอยทำให้ขาดเมตตากรุณาด้วย
.
การทรานเฟอร์เรนท์ในแง่ของหลักธรรม คือการที่เราไม่สามารถอยู่กับอีกฝ่ายในปัจจุบันขณะได้ มีการยึดถือตัวตนของอีกฝ่ายจากการปรุงแต่งไปเองจากอนุสัย (สิ่งตกค้างและความปักใจ) ในจิตใต้สำนึก ทำให้เรามองอีกฝ่ายด้วยความลำเอียง มองไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือมองในทางที่จะตอบสนองความอยากและอารมณ์ส่วนตัว ตราบใดที่จิตใจยังมีกิเลสอยู่ เมื่อนั้นก็ยากที่จะช่วยเหลือหรือทำหน้าที่ครูได้อย่างบริสุทธิ์ใจแท้จริง เพราะความโลภ โกรธ และหลงนั้นทำให้เกิดความอยากและการติดในภาพที่มองเห็นผู้เรียนอย่างผิดเพี้ยนไป ทำให้การช่วยเหลือนั้นมีความคาดหวังที่อยากเติมเต็มความต้องการของตนเองอย่างไม่รู้ตัว
.
การมองโลกและผู้อื่นอย่างผิดเพี้ยนไป เกิดจากสิ่งที่เราเป็นนั่นเอง คืออคติ ความโลภ โกรธ หลง และปมในจิตใจที่มีอยู่ ดังคำกล่าวว่า “เรามองโลกจากสิ่งที่เราเป็น” นอกเหนือจากการทรานเฟอร์เรนท์ที่กล่าวถึง ยังมีอีกแง่มุมหนึ่ง สิ่งที่เราเห็นอย่างหลงใหลหรือเกลียดชังในตัวผู้อื่นต่างก็เป็นกระจกที่สะท้อนสิ่งที่เราเป็นอยู่นั่นเอง แต่ยังไม่รู้เท่าทัน อธิบายตามหลักจิตวิทยาแล้วสิ่งที่เราไม่ยอมรับและไม่ชอบในตัวเอง เรามักจะเห็นข้อเสียเหล่านั้นอย่างชัดเจนในตัวของผู้อื่น โดยเฉพาะคนใกล้ชิดหรือคนที่มีอคติกับความไม่ชอบเป็นทุนเดิม การรับรู้สิ่งที่เขาเป็นมาจากจิตใต้สำนึกที่เอาภาพของตนเองฉายทับซ้อนกับเขา หรือในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่าจิตใต้สำนึกเองก็ต้องการการยอมรับด้านมืดที่เรามีอยู่นั้นจึงฉายภาพออกมาให้รับรู้ โดยมีคนอื่นเป็นดั่งจอภาพโปรเจกเตอร์
.
ในทางกลับกัน สิ่งดีๆ ที่เราหลงใหล ชื่นชมอย่างยกยอ หรือคลั่งไคล้อย่างขาดสติในตัวบุคคลอื่น ต่างก็เป็นภาพสะท้อนของคุณสมบัติที่ตนเองมีอยู่แล้วแต่ไม่ค่อยเชื่อมั่น หรืออาจเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ซ่อนอยู่รอการบ่มเพาะให้งอกงาม
.
ผู้เขียนก็เคยหงุดหงิดหัวเสียกับการทำผิดกติกาหรือการขาดความรอบคอบของผู้เรียนครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหัวแข็ง การยึดติดในความคิดของตนเอง และการไม่เคารพกติกา แต่บางครั้งเมื่อตำหนิติเตือนออกไปแล้วก็มักพบว่าตนเองขาดความรอบคอบเสียเอง ไม่เรื่องเดียวกันก็ในเรื่องอื่น แล้วเมื่อย้อนกลับมามองตนเองนั้นก็พบว่า ผู้เขียนก็หัวแข็งไม่แพ้ใครเลย เชื่อในความคิดเห็นที่มองว่าถูกต้องแล้ว และนอกกรอบในหลายๆ คราว แค่ไม่ยอมรับว่าตนเองก็ถือดีถือเก่งอยู่มาก และใช้คำเรียกที่ดูดีกว่าเท่านั้นเอง เช่นมิได้ “นอกคอก” แค่ “นอกกรอบ” เท่านั้น
.
การสอนและดูแลตนเอง มิให้น้อยหรือด้อยกว่าที่ทำให้คนอื่น จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เมื่อเดินบนเส้นทางความเป็นครูหรือผู้เยียวยา เพราะถ้าเราไม่ดูแลตนเองอย่างเพียงพอ เราก็จะแอบหวังให้คนอื่นดูแลเราในทางอ้อมแบบต่างๆ หรือไม่รู้เท่าทันในด้านมืดที่ซุกซ่อนอยู่ซึ่งเราเอาแต่ตำหนิคนอื่น เมื่อนั้นก็ไม่สามารถทำประโยชน์ให้เกิดแก่ฝ่ายใดได้อย่างเต็มที่ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก คือบุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนด้วย เพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วย ๑ ….บรรดาบุคคล ๔ จะพวกนี้ บุคคลผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เป็นผู้เลิศ เป็นผู้วิเศษ เป็นประธาน อุดม และเป็นผู้ประเสริฐ” *(๗)
.
ครู วิทยากร หรือนักบำบัดเยียวยาที่ประเสริฐจึงต้องรู้ดูแลกิเลส เช่น อคติ กับ มานะ ในจิตใจตนเอง พร้อมทั้งรู้ให้เวลาพัฒนากับดูแลตนอย่างพอดี จึงสามารถทำประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคมอย่างเต็มที่ มิได้ปล่อยให้อารมณ์หรือกิเลสตนเองฉุดลากพาตนไปเป็นปัญหาแก่ผู้อื่นหรือสังคม
.
อาจารย์ของผู้เขียนได้สอนไว้ว่า ครูต้องเป็นสัตบุรุษ หมายถึงคนดีที่ประเสริฐตามหลักพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎกนั้นได้อธิบายถึงลักษณะของสัตบุรุษไว้ว่าเป็น *(๘) “ผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ ภักดีต่อสัตบุรุษ มีความคิดอย่างสัตบุรุษ มีความรู้อย่างสัตบุรุษ มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ มีการงานอย่างสัตบุรุษ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ”
.
ธรรมของสัตบุรุษก็ได้แก่เป็น “ผู้มีศรัทธา มีหิริ (ความละอายต่อบาป) มีโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) มีสุตะ (การฟังและการเรียบเรียง) มาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา” เป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษคือ รู้เข้าหาบุคคลที่มีลักษณะอยู่ในธรรมของสัตบุรุษ ดังกล่าว
.
ส่วนมีความคิดอย่างสัตบุรุษนั้น คือ “ไม่คิดเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย” มีความรู้อย่างสัตบุรุษ คือ “ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย”
.
“สัตบุรุษเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากคำพูดส่อเสียด งดเว้นจากคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ” และมีการงานอย่างสัตบุรุษ คือผู้งดเว้นจากการผิดศีลทั้งหลาย จึงชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ
.
ความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือการมีสัมมาทิฐิ เชื่อในผลของกรรมทั้งหลาย มองโลกเห็นไปตามความจริงในธรรม ส่วนข้อสุดท้าย “สัตบุรุษย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือสัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ทำความอ่อนน้อมให้ทาน ให้ทานอย่างบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็นว่ามีผล จึงให้ทาน”
.
คุณสมบัติทั้งแปดข้อนี้ คือธรรมะของการเป็นคนดี คือผู้ที่เหมาะสมแก่การเป็นครูและผู้นำแก่คนอื่น ข้อสุดท้ายคือการให้ทาน ครูที่ดีต้องรู้จักให้อย่างสัตบุรุษนี้ คือให้โดยความเคารพทั้งตนและผู้รับ ให้อย่างอ่อนน้อม ให้เพราะเห็นประโยชน์ และให้อย่างบริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ความรู้ก็มิต้องศึกษาให้มากมายแต่เพียงรู้เพื่อมิบั่นทอนตนเองและผู้อื่นก็เพียงพอแล้ว การจะเป็นได้ดังแปดข้อนี้ มิอาจเลี่ยงการดูแลการใช้ชีวิตของตนให้อยู่บนความพอดี และความสำรวมระวัง
.
.
๔ ครูคือผู้ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ
.
ผู้เขียนเคยเชื่อว่าครูที่ประเสริฐ คือผู้ที่สามารถสอนทุกคนและช่วยเหลือลูกศิษย์ทุกผู้ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างสมบูรณ์แบบ มีนักเรียนสามคน สามสิบคน สามร้อยคน หรือมากกว่าก็สามารถส่องทางดังแสงสว่างที่ไม่มีประมาณ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นเสมือนไอดอลหนึ่งของการเป็นครูที่ประเสริฐนี้ และเพียรพยายามให้ตนเองเป็นครูที่สมบูรณ์แบบได้เช่นนั้น พร้อมกับคาดหวังว่าครูกับวิทยากรทุกคนที่พบเจอว่าควรจะสามารถช่วยเหลือและโอบอุ้มนักเรียนทุกคนทุกลักษณะนิสัยได้ มิใช่แค่บางคนที่ได้ประโยชน์จากการเข้าเรียน
.
บุคคลที่ทำให้ความคิดนี้ของผู้เขียนเปลี่ยนไปคือ ท่านพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งได้เทศนาบรรยายเรื่อง พระพุทธเจ้าตรัสกับคนบ้า เทปเสียงที่เดินทางผ่านกาลเวลานี้ทำให้มุมมองต่อความเป็นครูที่สมบูรณ์นั้นแปรเปลี่ยนไปตลอดกาล และทำให้เห็นว่าดวงตาตนที่มองไปยังความเป็นครูช่างมืดบอดด้วยความติดดีเหลือเกิน
.
ครั้นพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ท่านทรงตัดสินใจที่จะชี้แนะธรรมที่ได้ทรงประจักษ์แจ้งแก่ผู้ซึ่งเคยอุปัฏฐากปรนนิบัติพระองค์มา คือเหล่าปัญจวัคคีย์ แต่เมื่อทรงเดินทางเข้ามาพบแล้ว ต่างพากันแสดงกิริยาไม่ต้อนรับและตีเสมอตัว ไม่กระทำการอภิวาท เพียงแต่ปูอาสนะไว้เท่านั้น
.
ท่านพุทธทาสจึงกล่าวว่า วันอาสาฬหะ แง่หนึ่งก็คือวันที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับคนบ้า เพราะเหล่าปัญจวัคคีย์เดิมก็ “บ้า” การเคร่งครัดและการทรมานตน เมื่อพระองค์ทรงทดลองฝึกตามอย่างแล้วไม่เห็นผลจึงต้องการเปลี่ยนทิศวิถีในการฝึกใหม่ จึงพากันตำหนิพระองค์ในตอนนั้นว่าเป็นผู้เหลวไหล
.
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าพระองค์ได้บรรลุแล้ว เหล่าปัญจวัคคีย์ก็มิได้เชื่อถือในตอนแรก จึงเมื่อสนทนาแก่กันแล้ว ทรงแสดงปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ให้ทั้งห้าคนได้สดับ ก็ปรากฎว่ามีเพียงบุคคลเดียวเท่านั้นที่เข้าใจอย่างหมดสิ้น คือโกณฑัญญะ ส่วนที่เหลือนั้นท่านต้องทรงชี้แนะเพิ่มเติมจึงจะบรรลุธรรมตามลำดับ ด้วยการยึดถือในทิฐิมานะและกรอบอันเคร่งครัดนั้นทำให้ไม่เข้าถึงธรรม
.
ระหว่างการเดินทางเพื่อไปพบเหล่าปัญจวัคคีย์ พระองค์ก็ได้ทรงพบกับอุปกาชีวก ซึ่งสังเกตว่าผิวพรรณพระองค์มีความผุดผ่องจึงนึกสงสัยแล้วไถ่ถามพระองค์ว่า “ท่านบวชอุทิศใคร? ใครเป็นศาสดาของท่าน? หรือท่านชอบธรรมของใคร?” พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสตอบ แต่อุปกาชีวกก็มิได้เชื่อถือ กล่าวต่อท่านว่า “ท่านปฏิญาณโดยประการใด ท่านควรเป็นผู้ชนะหาที่สุดมิได้ โดยประการนั้น” เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงตรัสต่อ ก็ทูลว่า “เป็นให้พอเถิด พ่อ” แล้วสั่นศีรษะ เดินหลีกไป * (๙)
.
ท่านพุทธทาสกล่าวว่า อุปกาชีวก ถือเป็นคนบ้าคนหนึ่ง เพราะได้พบกับพระพุทธเจ้าเป็นผู้แรกๆ แต่กลับไม่ได้รับประโยชน์ใดใดในการสนทนา ด้วยการถือในทิฐิมานะมาก
.
การได้พิจารณาถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาลดังข้างต้นนี้ ทำให้ผู้เขียนทั้งประหลาดใจและตระหนักรู้ เพราะเดิมทีนั้นมีภาพในใจว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้น ท่านจึงต้องสามารถสอนทุกคนได้ และทุกๆ คนจะต้องยอมรับท่าน แต่ก็ยังมีคนบ้าและคนโง่เขลาอีกมากที่มิได้แลเห็นว่าธรรมะที่ท่านทรงตรัสรู้แล้วนำมาเทศนานั้นมีความสำคัญมากเพียงใด เพราะด้วยความหลงผิดและการถือตนนั้นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้มืดบอด ผู้เขียนนั้นก็ได้เห็นว่าตนก็มืดบอดเช่นกันที่คิดไปเองว่าเมื่อเป็นคนที่ดีที่สุดแล้วคนอื่นจะต้องยอมรับและสามารถช่วยเหลือทุกคนได้ แต่แม้พระพุทธเจ้ายังมิทรงสามารถทำได้เลย
.
พระสุภัททะ เป็นภิกษุที่บวชเมื่อมีอายุแล้ว เดิมเป็นช่างตัดผมในเมืองอาตุมา มีบุตรชาย ๒ คน เมื่อบวชแล้วคราวหนึ่งได้ข่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่จะเสด็จมายังเมืองอาตุมา จึงให้บุตรทั้ง ๒ เอาเครื่องมือตัดผมออกไปเที่ยวขอตัดผมตามบ้านเรือนทุกแห่งแลกเอาเครื่องปรุงยาคู ได้มาแล้วบัญชาการให้ผู้คนจัดเตรียมข้าวยาคูไว้มากมาย เพื่อนำเอาข้าวยาคูนั้นเข้าไปถวายพระพุทธเจ้า
.
เมื่อพระองค์ทรงตรัสถาม ก็ไม่ทรงรับและติเตียน เพราะเป็นการกระทำที่มิใช่กิจของสงฆ์ จากการที่ได้ถูกติเตียนและเสียของเสียหน้าเสียใจ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน พระสุภัททะได้ทราบข่าวพุทธปรินิพพานและเห็นว่าภิกษุทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นราคะพากันร้องไห้คร่ำครวญเป็นอันมาก ก็ร้องห้ามขึ้นว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไห้ไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว พระมหาสมณะนั้นคอยเบียดเบียนพวกเราว่า สิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ บัดนี้พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น” *(๑๐)
.
แม้ท่านทรงเป็นครูผู้ให้ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ยิ่งกว่ามิมีใครเหมือน ก็ยังทรงถูกเข้าใจผิดและคิดในทางลบร้าย แม้ในจิตของภิกษุที่บวชในยุคสมัยท่าน เหตุไฉนเราผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ จักมิถูกเข้าใจและตัดสินใจทางลบร้ายได้บ้าง พระสุภัททะก็เป็นเหมือนลูกศิษย์ของท่านที่เข้าเรียนเมื่ออายุมากแล้ว เป็นไม้แก่ที่ดัดได้ยาก เปี่ยมด้วยทิฐิมานะและความผูกแค้น จึงมิได้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าเท่าที่ควรก็เสมือนเป็นลูกศิษย์ที่ล้มเหลวผู้หนึ่ง และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่พระมหากัสสปเถระทรงยกมาเพื่อสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่หนึ่งร่วมกับพระเถระทั้งหลาย เพื่อป้องกันมิให้มีผู้ใดบั่นทอนพุทธศาสนาด้วยการกล่าวอ้างเช่นนี้อีก
.
ครูที่ดีที่สุด คือครูที่ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่าธรรมะที่พระองค์ทรงนำมาสอนนั้นมีมากมายหลายข้อนัก แต่ก็มีธรรมะที่เป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่การพ้นทุกข์จริงๆ ไม่กี่ข้อ ซึ่งน้อยคนในโลกนี้ที่นับถือศาสนาพุทธ ถือว่าตนเองเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ที่สามารถดำเนินตามอริยมรรคและบรรลุในธรรมที่สำคัญได้อย่างถ่องแท้ เสมือนกับการเรียนและสอบแล้วก็ผ่านข้อสอบกันน้อยคน แม้ภิกษุที่ได้เฝ้าพระองค์ยามทรงปรินิพพานก็มีหลายรูปที่ยังมิอาจละราคะได้พากันโศกเศร้าเสียใจกลิ้งเกลือกไปกับพื้นดังที่พระไตรปิฎกได้บรรยายไว้ แม้พระองค์ได้ทรงตรัสสอนให้ปล่อยวางความเป็นอนิจจังทั้งหลายก่อนทรงปรินิพพานก็ตาม
.
แม้แต่ดวงตะวันที่แผ่แสงสว่างออกไปอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ก็มิอาจส่องแสงสว่างลงไปให้ถึงดอกบัวที่จมในโคลนตมเบื้องใต้สระน้ำได้ ถึงอย่างสลัวรางกับดอกบัวที่ชูยอดอยู่ใต้น้ำ และพอประมาณกับดอกบัวที่ปริ่มผิว มิใช่เพราะดวงตะวันมิดีพอ แต่เพราะเหตุปัจจัยที่แสงจะไปถึงได้มีจำกัด เช่นเดียวกันกับการให้ธรรมะและความรู้ทั้งหลาย
.
ผู้เขียนเองก็เคยเป็นคนบ้า บ้าติดความดีและอยากดีให้ยิ่งใหญ่สมบูรณ์แบบ อยากจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ดีเลิศ อยากเป็นครูที่ดีงาม และเฝ้าจับผิดการสอนต่างๆ ที่ไม่สมบูรณ์แบบ ขณะที่พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นครูที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง มิได้ทรงพยายามเป็นครูที่ดีสมบูรณ์แบบเลย แต่ท่านทรงแผ่แสงสว่างแห่งปัญญาออกไปตามโอกาส ความเหมาะสม และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง มิได้ทรงอยากสอนดีหรือเป็นครูที่ดีให้ใครยกย่อง
.
ไม่ใช่ทุกคนที่เรียนรู้จากพระองค์ได้อย่างเต็มที่ แต่ก็มิได้หมายความว่าท่านมิใช่ครูที่ดี แม้ทรงถูกปฏิบัติด้วยกิริยาที่ยกตนเทียบและไม่ยอมรับ ก็มิได้ลดทอนให้คุณค่าของท่านน้อยลงเลย การติดดีและความอยากดีทำให้เรายึดติดไปว่าคนดีจะต้องเป็นอย่างไรและได้รับการปฏิบัติอย่างไร จึงสมคุณค่าของความดีที่หมายมั่น แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย แม้ความดีก็เป็นเพียงอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาเท่านั้น
.
เมื่อย้อนมองกลับไปแม้ในตอนนี้ ผู้เขียนก็ยังคงเห็นว่าตนเองล้มเหลวมากกว่าสำเร็จในฐานะครูและผู้เยียวยา ไม่เคยมีครั้งไหนที่เห็นว่าผู้เรียนทุกคนในรุ่นเดียวกันที่มาเรียนด้วยกันเข้าใจในแก่นสารเนื้อหาอย่างเต็มที่ ได้กันไปมากบ้างน้อยบ้าง สำเร็จวิชาครบถ้วนบ้างเป็นส่วนน้อย เรียนไม่จบผ่านการอบรมก็มากมี สะสมรวมกันแล้วก็คงไม่ต่ำกว่าหลักร้อย แม้สัดส่วนผู้เรียนที่ไม่ผ่าน ไม่จบ หรือไม่ขวนขวาย อาจเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าก็ตาม แต่ในสายตาของครูแล้ว แม้คนเดียวที่ไม่จบหรือไม่อาจช่วยเหลือได้ก็มากเกินไป
.
มีหลายกรณีที่ผู้เขียนเห็นว่าตนเองควรสอนได้ดีกว่านั้น ควรให้ความใส่ใจ มอบคำแนะนำ หรือปรับปรุงการสื่อสารของตนเองให้ดีกว่าที่กระทำไป บางเรื่องติดค้างอยู่ในใจยาวนาน มีความเสียดายอาลัยในโอกาสที่ควรช่วยบางผู้คนมากกว่านี้ แต่ปล่อยให้อารมณ์และความเกียจคร้านทำลายโอกาสนั้นไป ได้แต่เพียงให้ความล้มเหลวเหล่านี้ค่อยๆ ขัดเกลาความเป็นครูและความบ้าในจิตใจของผู้เขียนให้เบาลงจากการหมายมั่นทั้งหลาย
.
เส้นทางของการเป็นครูนั้นต้องพบเจอกับความล้มเหลวมากมาย เราจะได้เรียนรู้ถึงความไม่ดีพอและไม่อาจทำได้ดีพอ เพราะลูกศิษย์ทั้งหลายมิอาจเป็นไปตามใจเราได้เสมอไป มิอาจทำได้ดีอย่างที่คาดหวังตลอดกาล มิอาจสอนทุกสิ่งให้ได้เมื่อไม่ถึงวาระและปัจจัยที่เหมาะสม อาจสอนเรื่องหนึ่งไปแล้วแต่กลับคืนครูอาจารย์มาหมดสิ้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ อาจทำความดีมาตลอดอายุงานแต่กลับพังทลายเสียสิ้นเพียงความผิดพลาดแค่ครั้งเดียว หรืออาจต้องพบเจอกับปัญหาในการสอนแบบเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
.
ความล้มเหลวอันล้มลุกคลุกคลานเหล่านี้คือเส้นทางที่หนักหนาในการเป็นครู คือความหมายของคุรุที่แปลว่าหนัก แต่มันก็มีคุณค่ายิ่งนักในทุกก้าวที่เราเดินทางไปพร้อมกับบาดแผลที่พร้อยลายอยู่ตรงนั้นทีตรงนี้ทีที่ตัวเรา ครูกับไม้เรียวเป็นของที่คู่กันเสมอ แต่ผู้ที่โดนตีบ่อยๆ มิใ่ช่นักเรียนเลย แต่เป็นครูนั่นเอง ทั้งตีตัวเองและภาระกับเรื่องต่างๆ หวดไม้ใส่เรา เพื่อให้เราลดละอัตตาตน จนไม่มีที่ให้ถูกหวดไม้อีกต่อไป
.
บางคนอาจถือหรือใช้มุมคิดว่า ความผิดพลาดเหล่านี้มิใช่ความล้มเหลวแต่เป็นความสำเร็จ ด้วยเหตุผลต่างๆ ด้วยการมองโลกแง่บวก แต่สำหรับผู้เขียนแล้วขอถือให้ความล้มเหลวเป็นความล้มเหลว เพื่อให้เส้นทางของการเป็นครู คือเส้นทางของการทำให้ตนเล็กลง ยิ่งยอมรับความผิดพลาดล้มเหลว เรายิ่งได้ลดละทิฐิมานะให้น้อยลง
.
ครูแท้ก็แพ้ได้ มิใช่ผู้ชนะตลอดกาล ยิ่งครูแพ้เป็นเท่าไหร่ เราจึงทำให้ผู้เรียนชนะได้มากเท่านั้น เพราะครูที่พยายามชนะและไม่รู้จักความล้มเหลว ยิ่งเอาตัวเองเป็นที่ตั้งในการสอน เมื่อนั้นการเรียนรู้ก็มิได้มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเท่าที่ควร จะสอนให้เกิดการมีส่วนร่วมได้ ครูต้องฝึกลดอัตตาลดการเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ผู้เรียนจึงเป็นที่ตั้งได้อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งการยอมรับความผิดพลาดล้มเหลวนั้นคือหนทางที่ช่วยส่งเสริมอย่างยิ่งในการลดละอัตตาตนเอง
.
การเป็นครูและผู้นำที่ดี ต้องมีธรรมะอย่างสัตบุรุษ นอกจากลักษณะทั้งแปดข้อดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว พระองค์ยังได้ทรงตรัสไว้ว่า
.
“บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่าเป็นสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวความเสียหายของผู้อื่นโดยย่อไม่เต็มที่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ
.
“อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลก แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความดีของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว กล่าวความดีของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่าท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ
.
“อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความเสียหายของตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ
.
“อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของตน จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนโดยย่อ ไม่เต็มที่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นสัตบุรุษ” *(๑๑)
.
กล่าวคือ ผู้ที่ยอมรับความไม่ดีและความผิดพลาดของตนเอง โดยไม่ต้องรอผู้อื่นมาสอบสวน คือคนดีที่ประเสริฐ ผู้ที่กล่าวถึงความดีของตนแต่น้อย เปิดเผยความดีของผู้อื่นแต่มาก แสดงความไม่ดีของผู้อื่นแต่เพียงบางส่วน ไม่เปิดเผยความผิดพลาดล้มเหลวของเขาโดยไม่จำเป็น คือคนที่ดีที่ประเสริฐตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งคนที่ดีเช่นนี้คือผู้ที่เหมาะแก่การเป็นครู
.
ครูจึงมิใช่ผู้ที่อวดแสดงความดีงามของตนเอง แต่เป็นผู้ที่ช่วยเปิดเผยความดีงามในตัวลูกศิษย์ทั้งหลายให้สำแดงออกมา มิใช่ผู้ที่คอยบ่นตอกย้ำแต่สิ่งลบร้ายและความไม่พอต่างๆ นานาของนักเรียนหรือผู้อื่น แต่เป็นคนที่นำความล้มเหลวของตนเองมาเป็นบทเรียนให้ศึกษา
.
ครูจึงเป็นผู้ที่ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ เพราะคือผู้กล้าหาญที่เรียนรู้จากความล้มเหลวของตนเอง และพร้อมที่จะแสดงด้านมืด กิเลส ความผิดพลาดต่างๆ ของชีวิตที่ผ่านมา เปิดเผยอย่างเต็มใจยิ่งกว่าความสำเร็จที่ได้กระทำ เพื่อนำมาเป็นข้อคิดแก่คนอื่น ขัดเกลาตนเอง เป็นครูแก่ตนและคนอื่นไปพร้อมกัน ด้วยการเป็นแบบอย่างของความอ่อนน้อมถ่อมตนและการฝึกฝนตนเองตลอดชีวิต
.
คำว่า ครู ซึ่งมีที่มาหนึ่งจากคำว่า คุรุ เกิดจากสองคำคือ “แสงสว่าง” (คุ) กับคำว่า “ความมืดมน” (รุ) นัยยะหนึ่งที่น่าสนใจในที่นี้คือ การเป็นครูมีทั้งแสงสว่างและความมืดมน คือสามารถยอมรับตนเองทั้งสองด้าน มิได้ติดในความดีที่ตนมีเท่านั้น เป็นผู้ที่สามารถพาลูกศิษย์ไปสู่ทางสว่างก็ได้ หรือทางแห่งความมืดมนก็ได้ อยู่ที่ตนนั้นได้ขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นดังความมืดมนแห่งใจมากน้อยเพียงใด ครูที่แท้กล้าหาญที่จะเปิดเผยและยอมรับทั้งสองด้านของตนเอง อีกทั้งมีเมตตามากพอที่จะโอบอุ้มทั้งสองด้านนั้นในลูกศิษย์ตนด้วยเช่นกัน
.
.
๕ ทำหน้าที่เพื่อกลับสู่ความไม่ใช่ครู
.
ผู้เขียนมีช่วงเวลาที่รู้สึกอยากเลิกการทำหน้าที่เป็นครูแก่คนอื่นหลายครั้ง ช่วงหนึ่งเริ่มรำพึงกับตนเองถึงความเหนื่อยล้าต่างๆ และคิดในใจว่าจะเปลี่ยนอาชีพดีหรือไม่ ช่วงเวลานั้นเองหลังจากที่คิดไม่กี่วันโดยมิได้แพร่พรายความคิดออกไปนอกใจตนก็มีลูกศิษย์ที่มิได้พบกันนานโทรศัพท์มาหา บอกเล่าชีวิตของตนเองและการเปลี่ยนแปลงพร้อมทั้งกล่าวขอบคุณ จำได้ว่าขณะนั้นอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งย่านประตูน้ำ วางสายเสร็จก็ทอดตามองพระพุทธรูปกับรูปเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ที่แห่งนั้น รู้สึกมีกำลังใจในการทำหน้าที่ต่อ และรู้สึกว่าธรรมชาติต้องการสื่อสารผ่านข้อความจากผู้เรียน
.
เป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ถ้าไม่ใช่โทรศัพท์มาหาก็อาจจะเป็นข้อความในทางอื่น เนื่องด้วยผู้เขียนก็ยังเป็นครูธรรมดาคนหนึ่งซึ่งยังมีกิเลสอยู่มาก หวั่นไหวง่ายกับความสมหวังและผิดหวังในการเรียนการสอน กำลังใจจึงมีขึ้นมีลง แต่ที่รุนแรงมากที่สุดจนมีผลต่อศรัทธาในการทำงานเพื่อผู้อื่น เป็นช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ เริ่มตั้งแต่การทุ่มเทช่วยเหลือคนๆ หนึ่งด้วยความศรัทธาในความดีงามที่เขามี แม้จะต้องเสียเงิน เวลา พลังงาน และแม้แต่ความสัมพันธ์ที่ตนเองมี ก็ยินยอมที่จะช่วยเหลือโดยไม่มีเงื่อนไข จนกระทั่งผู้เขียนพบว่าตนเองถูกหลอก โกหก และสิ่งที่ทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือก็เหมือนว่าจะสูญเปล่า เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เอื้อนเอ่ยคำว่า หมดศรัทธา ออกมา
.
ความมีใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นถือว่าดิ่งลบลงไปมากแล้วในตอนนั้น ก่อนจะถูกซ้ำอีกรอบด้วยสถานการณ์ในสังคมซึ่งมีประเด็นสนับสนุนการประหารเกิดขึ้น มีองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมและมีบุคคลที่มีความตั้งใจปลุกมโนสำนึก ถูกประณามหยามเหยียดและสาปแช่งเพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับการประหาร ขณะที่บางบุคคลก็หวาดเกรงเกินกว่าที่จะแสดงจุดยืนหรือกล่าวออกมาอย่างชัดเจนว่าพระพุทธเจ้ามิได้ส่งเสริมการประหาร ทรงตรัสว่าแม้ประหารหมู่โจรมากเพียงใดก็ไม่ทำให้หมดสิ้นไป หากมิได้แก้ไขต้นเหตุของความทุกข์ของปวงชน เช่น ความอดอยาก ความเหลื่อมล้ำ และการไม่เห็นคุณค่าของหน้าที่ตนเอง เป็นต้น *(๑๒) อีกทั้งพระองค์ยังกล่าวอย่างชัดเจนว่า ผู้ที่สนับสนุนยุยงให้ทำร้ายคนอื่นหรือฆ่าสัตว์นั้น ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอนของพระองค์ เช่น “แม้ว่าพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลาย ด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในพวกโจรแม้นั้น ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่าทำตามคำสอนของเรา” * (๑๓) ผู้เขียนเองก็ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ก็ต้อง “บล็อก” ปิดกั้นการแสดงความเห็นและการเข้าถึงสื่อโครงการของบางผู้คนออกไปเพราะได้แสดงความเห็นขัดแย้งในบทความ
.
สถานการณ์ข้างต้นทำให้จิตใจของผู้เขียนหม่นหมองลง ตั้งคำถามกับตนเองว่าเรายังควรช่วยเหลือสังคมนี้อยู่หรือไม่ ศรัทธาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นก็ลดน้อยลงไปอีก ผู้เขียนยังคงทำหน้าที่และอาชีพเดิม แต่ความเต็มใจและการอุทิศตนก็ได้แปรเปลี่ยน การสอนกลายเป็นเรื่องของงานมากขึ้น ทำเพื่อให้มีรายได้ สอนหรืออบรมรุ่นๆ หนึ่งให้จบลงเพื่อรับค่าจ้าง รู้สึกเบื่อหน่ายและหมดไฟแต่ยังอดทนทำหน้าที่ต่อเพื่อหล่อเลี้ยงครอบครัวและโครงการที่ได้ดำเนินมาแล้ว
.
ดวงจันทร์ที่ผ่านพ้นม่านเมฆ ดวงแล้วดวงเล่า ค่อยๆ ทำให้จิตใจของครูที่อ่อนล้าและหม่นหมองนี้สว่างไสวมากขึ้น การคลี่คลายจากความทุกข์กับสิ่งที่บั่นทอนจิตใจของพวกเขา ทั้งศิษย์เก่าและใหม่ที่แวะเวียนเข้ามาเรียนรู้จากกันในช่วงต่อมา ทำให้กลับมาแลเห็นว่าคนที่ยังควรช่วยเหลือและตนเองก็ช่วยเหลือได้นั้นยังมีอยู่
.
ค่อยๆ ตระหนักมากขึ้นถึงการทำงานที่มากเกินไปของตนเอง จึงลดการทำงานลง แบ่งเวลาอย่างยืดหยุ่นมากขึ้น การที่ได้พักจากการทำหน้าที่ครู กลับมาอยู่กับตนเอง ให้เวลาทำสิ่งที่เพลิดเพลินใจเพื่อผ่อนคลาย นั่งสมาธิ และเขียนบันทึกทบทวนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศรัทธาได้กลับคืนมาใหม่ ทำให้ย้อนมองจนแลเห็นว่า การให้ที่ผ่านมานั้นก็ยังมีเงื่อนไขอยู่มาก จิตใจตนนั้นก็มีความโลภ โกรธ และหลงไม่แพ้ใคร ความเกลียดที่อยากทำให้คนหรือสัตว์ตัวหนึ่งตายเพื่อชดใช้ก็มีอยู่ภายใน ความหลอกลวงกับการโกหกเพราะไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริงก็เช่นกัน
.
การพักจากการเป็นครูของผู้เขียน ยังหมายถึงการรู้เท่าทันการใช้ตัวตนครูนอกเวลางานมากขึ้นแล้ววางลง รวมทั้งผ่อนปรนความเป็นครูในเวลางาน อลุ่มอล่วยและสั่งสอนวิจารณ์ต่างๆ น้อยลงกับผู้ร่วมงาน การพักจากการเป็นครูนี้เองทำให้มองเห็นว่าเราไม่สามารถแบกโลกทั้งใบหรือสังคมทั้งเมืองเอาไว้ได้ เป็นแค่เพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เป็นคนที่มีคุณค่าก็จริงแต่ก็มิได้เป็นคนสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตคนอื่นและของโลกใบนี้ จิตใจที่อยากเป็นคนสำคัญทำให้หมายมั่นไว้มากเกินไปจนศรัทธาพังทลายไปเอง มิใช่ความผิดคนอื่นเลย
.
การเป็นครูเป็นหน้าที่อันสำคัญ แต่ก็มิใช่ผู้ที่สำคัญที่สุดของโลกใบนี้หรือของชีวิตคนอื่น เราเป็นเพียงคนของจักรวาล แค่ปัจจัยๆ หนึ่งเท่านั้น ในอิทัปปัจยตา คือความเป็นเหตุของการเกิดดับทั้งหลายในชีวิตของพวกเขาและสังคมเท่านั้น
.
การเปรียบเปรยครูเหมือนเรือจ้าง จริงๆ ก็มีความหมายที่ลึกซึ้ง เราเป็นเพียงผู้ไปส่งเขาเท่านั้น มิใช่เจ้าของ มิใช่ผู้ที่เขาควรจะต้องแบกไปด้วย ทำหน้าที่เพียงเพื่อจะปล่อยวาง และท้ายที่สุดก็เพื่อจะก้าวออกจากเรือเช่นกัน
.
การได้ตระหนักเช่นนี้ก็ทำให้ผู้เขียนกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างมีกำลังใจและใจเย็นลงมากยิ่งขึ้น ที่เคยยึดกรอบต่างๆ ไว้มากก็ทุเลาลงมา เคร่งครัดเคร่งเครียดน้อยลง ใช้ความเมตตามากขึ้น สังเกตเห็นตนเองเลือกวางตัวตนความเป็นครูลงในหลายๆ ช่วงเวลา แม้แต่ในระหว่างการสอนเองก็ตาม ใบหน้าก็จริงจังน้อยลงแม้จะครึ้มด้วยหนวดเคราเช่นเดิม
.
คืนหนึ่งในการอบรมแบบค้างแรม ตอนนั้นจะต้องทำกิจวัตรประจำวันและเตรียมตัวก่อนสอนภาคค่ำ กำลังเดินอยู่ก็แลเห็นผู้เรียนคนหนึ่งออกมานั่งข้างนอกลำพัง จึงเลือกหยุดลงค่อยๆ นั่งรับฟัง เป็นดั่งพี่ชายคนหนึ่ง รู้สึกกับตนเองในเวลานั้นว่าตนไม่ได้ทำหน้าที่ผู้เยียวยาแบบนี้มานานนับแรมปี ตั้งแต่ศรัทธาได้หมดลงแล้วเพิ่งฟื้นคืน ที่ผ่านมานั้นก็เพียงทำหน้าที่ควบคุมกติกาและช่วยเหลือผู้เรียนด้วยเหตุผล แทบไม่ได้เอาใจเข้าหาหรือให้เวลารับฟังเลย ผู้เขียนก็ได้สารภาพเช่นนี้ให้เขาด้วยในคืนนั้น ต่างก็เยียวยาซึ่งกันและกันในที
.
การกลับมาทำงานด้วยศรัทธาก็มาพร้อมๆ กับยอมรับขีดจำกัดซึ่งมีมากขึ้นตามสภาพร่างกาย สังเกตเห็นตนเองว่าไม่อาจตอบการบ้านผู้เรียนทางอีเมลได้บ่อยหนเท่าเมื่อก่อนแล้ว ศักยภาพในการเรียบเรียงคำออกมาเวลาพูดเขียนก็ลดน้อยลง เช่นเดียวกับการสอนบางรูปแบบก็ทำได้น้อยลง เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยในความไม่จีรัง
.
เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ก่อนจะต้องสลัดคืนแม้แต่หน้าที่ออกไป ความสามารถใดใดที่มีในการทำหน้าที่ก็เพียงการหยิบยืมธรรมชาติมาใช้ก่อนจะคืนกลับไปเสียสิ้น เช่นเดียวกันกับร่างกายนี้
.
แท้จริงแล้ว เรามิได้เป็นครูสอนใครเลย เพราะผู้ที่ทำหน้าที่แท้จริงแล้ว คือ ร่างกาย กับ จิต ซึ่งเป็นของธรรมชาติ เป็นธาตุที่ถูกปรุงแต่งจากการกระทบ และปัจจัยที่สัมพันธ์กันทั้งหลาย แต่เราหลงไปเองว่าครูคือตัวเรา ร่างกายกับจิตใจคือตัวเรา เรายึดเอาการเป็นครูและหน้าที่ต่างๆ ของชีวิตเป็นตัวตนของตน ทำแล้วก็ไม่ยอมวาง ทุกสิ่งที่ถือขึ้น มีจุดหมายเพียงหนึ่งเดียวคือการวางลง ระหว่างนั้นเราอาจได้ใช้ประโยชน์ แต่สุดท้ายก็เพื่อจะวางลง ความเป็นครูก็เช่นเดียวกัน
.
การหลงไปว่านั่นเป็นตัวเราหรือของๆ เรา ก็เกิดจากมานะ คือการถือตน มานะเกิดจากการหลงไปกับลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข โดยปราศจากปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงแท้ อีกทั้งยังเกิดจากการรับรู้ผ่านอายตนะอย่างลุ่มหลง เช่น ได้ยินคนอื่นชมเรา ได้เห็นผลงานที่สวยงาม ได้ความพองฟูของใจ ฯ ก็นำมาเป็นถือคุณค่าความเป็นตัวตน
.
บุคคลในโลกนี้ผู้มีมานะ ย่อมไม่มีการฝึกตนเอง บุคคลผู้มีจิตไม่มั่นคงย่อมไม่มีความรู้ในธรรม แม้ไม่ประมาทอยู่ในป่าคนเดียว ก็ไม่ถึงจุดจบแห่งความตายคือนิพพาน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคลละมานะได้แล้ว มีใจมั่นคงดี มีใจดี หลุดพ้นในธรรมทั้งปวง อันได้แก่ ขันธ์ และ อายตนะ เป็นต้น เขาไม่ประมาท อยู่ในป่าคนเดียวก็ถึงจุดจบแห่งความตาย คือไปถึงนิพพานได้ *(๑๔)
.
เมื่อมีการถือตน ก็ย่อมขาดฉันทะคือความพอใจในการขัดเกลาฝึกตนเอง เมื่อไม่พัฒนาตนเองให้มีจิตใจที่มั่นคงจึงนำไปสู่ความไม่รู้ในธรรมและความเป็นจริงทั้งหลาย เช่นนี้แล้วก็ยากที่จะสอนผู้อื่นหรือดูแลใครๆ ได้ การละมานะจึงเป็นภารกิจที่มิอาจเลี่ยงได้บนเส้นทางของการเป็นครู
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “พึงกำหนดรู้มานะด้วยปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา ญาตปริญญาเป็นไฉน? นรชนย่อมรู้จักมานะ คือ ย่อมรู้ ย่อมเห็นว่านี้เป็นมานะอย่างหนึ่ง ได้แก่ความฟูขึ้นแห่งจิตเป็นมานะ ๒ อย่าง ได้แก่มานะในการยกตน มานะในการข่มผู้อื่น ฯลฯ นี้เป็นมานะ ๑๐ อย่าง ได้แก่บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมานะให้เกิดเพราะชาติบ้าง เพราะโคตรบ้าง ฯลฯ เพราะวัตถุอื่นๆ บ้าง นี้ชื่อว่า ญาตปริญญา. ตีรณปริญญาเป็นไฉน? นรชนรู้อย่างนี้แล้วย่อมพิจารณามานะโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ ฯลฯ โดยอุบายเป็นเครื่องสลัดทุกข์ นี้ชื่อว่า ตีรณปริญญา. ปหานปริญญาเป็นไฉน? นรชนพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งมานะ” *(๑๕)
.
นรชน หมายถึง ปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปที่ยังมีกิเลสอยู่ ผู้เป็นครูหรืออาชีพที่คล้ายคลึงพึงสังวรณ์ระวังว่าเราก็เป็นคนธรรมดาผู้หนึ่งซึ่งยังมีมานะอยู่ ยังก่อทุกข์ให้แก่ตนกับผู้อื่นด้วยมานะได้ทุกเมื่อ แทนที่จะแสวงหาคอร์สการอบรม ใบประกาศต่างๆ หรือปริญญาโทเอกเพื่อส่งเสริมอาชีพและวุฒิความรู้ให้ก้าวหน้า พึงใส่ใจแสวงหาในปริญญาทั้งสามที่พระองค์ทรงกล่าวด้วย เพื่อความเป็นครูที่แท้จริง หรือความเป็นคนธรรมดาที่สามารถอยู่อย่างสงบเย็น เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น
.
พระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน ตรัสรู้ก็กลางดิน ทรงสอนสาวกภิกษุทั้งหลายก็กลางดิน ดับขันธ์ปรินิพพานก็กลางดิน เราที่มิอาจเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ได้เทียบเท่าท่านก็พึงเรียนรู้จากสิ่งนี้
.
เมื่อเยาว์วัย ผู้เขียนได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับครูอาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นผู้มีความรู้ทางด้านสังคมและธรรมะ เพื่อทำงานของโครงการกับดูแลบุตรของท่าน ในตอนนั้นมุ่งหวังมากว่าจะได้เรียนวิชาเรื่องสังคมต่างๆ จากท่าน แต่ปรากฎว่าตลอดสองสามปีที่ได้อยู่อาศัยกับท่าน ท่านไม่ได้สอนอะไรแก่ผู้เขียนดังที่ต้องการเลย แต่สอนความเป็นครูที่อยู่อย่างมนุษย์คนหนึ่ง ท่านทำอาหารให้ทานหรือซื้อหามาให้เกือบทุกมื้อ ดูแลที่อยู่อาศัย บางครั้งก็ให้คำแนะนำต่างๆ เป็นทั้งเจ้านายและพ่อในคราวเดียวกัน บางช่วงผู้เขียนก็นึกผิดหวัง คิดว่าจะได้อะไรจากท่านมากกว่านี้ ผิดหวังทั้งตนเองที่มิได้ใฝ่ศึกษาจากท่านมากพอ และผิดหวังที่ท่านมิได้หอบหิ้วไปงานต่างๆ อย่างที่แอบหวังไว้
.
เวลาผ่านมาเมื่อตนได้เป็นครูแก่คนอื่น จึงเข้าใจว่าสิ่งที่ท่านทำให้นั้นคือบทเรียนที่ยิ่งใหญ่แล้ว การที่ทำอาหารให้ ดูแลความเป็นอยู่ต่างๆ คือการสอนอย่างไม่สอนจากท่าน ผู้เขียนจำได้ว่าครั้งหนึ่งอาจารย์เคยบอกตนว่า ครูต้องรู้จักสันโดษ ซึ่งท่านก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ คือการอยู่อย่างพอดี เรียบง่าย เป็นธรรมชาติ และลดละตัวตนความเป็นครูลงมาทำอาหารให้ทานและดูแลผู้เขียนต่างๆ นานา ทั้งที่ท่านก็ล่วงวัยพอสมควรแล้ว
.
สันโดษ คือ ความพอใจในความพอเพียง แบ่งออกเป็น ๓ ประการคือ พอใจตามที่ได้มา (ยถาลาภสันโดษ) พอใจอย่างที่เป็นและสามารถ (ยถาพลสันโดษ) และพอใจในความสมควรต่างๆ (ยถาสารุปปสันโดษ) ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนความเป็นผู้มักน้อย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้มักน้อย ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่” และทรงตรัสว่า “เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนความเป็นผู้สันโดษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้สันโดษ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่” *(๑๖)
.
ดังนั้นแล้ว หากเราปรารถนาทำตนให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่ การเป็นผู้มักน้อยและรู้สันโดษคือสิ่งที่พึงกระทำ ความเป็นผู้มักน้อยนี้เองก็จะนำไปสู่การลดมานะของตนเองด้วย เพราะความอยากได้ อยากเป็น ย่อมนำไปสู่ความหยิ่งผยองและยึดถือในตัวตน
.
ท่านอาจารย์ผู้นั้นสอนความเป็นครูแก่ผู้เขียนได้ซึมซับเป็นแบบอย่าง ลดละวางตัวตนแล้วดูแลเด็กหนุ่มผู้โอหังคนนี้ มิได้วางตนไว้บนหิ้งให้ดูแลและเคารพเลย แต่เป็นฝ่ายดูแลเสียมากในระหว่างที่อยู่กับท่านนั้น
.
การดูแลคนๆ หนึ่งอย่างเต็มที่ด้วยแรงกายและแรงใจอย่างต่อเนื่องนี้เองที่อาจเป็นการสอนที่ล้ำค่ายิ่งกว่าการให้ความรู้หรือจัดกิจกรรมการอบรมให้ กว่าผู้เขียนจะต้องเข้าใจ วันเวลาก็ได้ผ่านเลยมาแล้ว และได้ตระหนักอีกครั้งในช่วงโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ นี้เอง เมื่อได้พบเจอกับคนที่ผู้เขียนต้องการช่วยเหลืออีกครั้ง คนเดียวกันที่เคยทำให้ผิดหวังจนทำให้หมดศรัทธา ร่างกายเขาป่วยหนักมากขึ้น จิตใจก็มีบาดแผลใหม่ แต่ก็ขัดเกลาตนเองมากขึ้นเช่นกัน เส้นทางของทั้งสองฝ่ายมาบรรจบกันอีกครั้งตามปัจจัย สำหรับผู้เขียนแล้วนี่คือแบบทดสอบหนึ่งที่สำคัญบนเส้นทางของการเป็นครูและเป้าหมายทางจิตวิญญาณของตนเอง ทั้งเรื่องการให้อภัย การเสียสละ ความรัก ความเมตตา และการวางจากความเป็นครู แม้ไม่มีเหตุการณ์นี้ ไม่ช้าก็เร็ว ผู้เขียนก็จะต้องพบกับแบบทดสอบนี้มิวันใดก็วันหนึ่ง
.
หลังจากพิจารณาดีแล้วจึงตัดสินใจช่วยเหลือดูแลและให้ความรักแก่เขา แม้รู้ว่าจะต้องสูญเสียหลายๆ สิ่งไปก็ตาม ตั้งแต่ศรัทธาในบางผู้คนที่เคยเคารพกัน จนถึงทรัพย์สินที่เคยมีมา เลิกกับภรรยาที่แต่งงาน และความสะดวกสบายต่างๆ
.
ชีวิตที่เคยยึดถือไว้เป็นความเคยชินและพื้นที่ปลอดภัย ไม่อาจอยู่กับเราได้ตลอดไป เมื่อผู้เขียนตัดสินใจแล้วที่จะดูแลเขาคนนี้ หลายอย่างที่เคยมีคนทำให้ก็ต้องเป็นผู้ทำให้แก่เขาและตนเอง ตื่นเช้ามากขึ้นเพื่อดูแลภาระต่างๆ ที่มี งดกิจกรรมที่เคยทำบ่อยๆ เพื่อจรรโลงใจ มีเวลาให้แก่ตนเองน้อยลง ดูแลในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อคนๆ เดียว ตั้งแต่อาหารการกินจนถึงยาและเครื่องใช้ส่วนตัว เป็นหน้าที่หลักในแต่ละวัน เป็นสิ่งแรกในยามตื่นนอนและเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนหลับใหล
.
ทำงานสอนน้อยลง แต่ก็เหนื่อยมากขึ้น ขณะนั้นเองก็ได้คิดกับตนว่า สอนคนอื่นมาก็มาก ช่วยเหลือคนก็ไม่น้อย ดูแลครอบครัวก็เคยทำ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่รู้สึกจริงๆ ว่า ได้ดูแลคนๆ หนึ่งอย่างเต็มที่ด้วยความอุทิศตัวอย่างแท้จริง ตลอดชีวิตของความเป็นครู สิ่งที่สอนไปอาจเป็นปัจจัยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่นี่เป็นครั้งเดียวที่ได้ช่วยชีวิต โดยที่มิใช่ด้วยหน้าที่ครูและมิได้ใช้ความเป็นครูนำหน้า
.
การช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดนี่เองที่ทำให้เข้าใจเรื่องราวและความรู้สึกเบื้องหลังเหตุการณ์ในอดีตของอีกฝ่ายมากขึ้น ที่เคยคิดว่าเป็นการโกหกและหลอกลวง ก็เป็นเพียงการตีความจากมุมมองเพียงด้านเดียว มีบางช่วงเวลาของการดูแลที่มีจุดเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ขณะนั้นก็ได้เข้าใจว่าเหตุใดตนเองจึงต้องอยู่ตรงนั้นกับเขา
.
ที่ผ่านมา สิ่งที่ผลักดันผู้เขียนมาตลอดคือการช่วยเหลือคนให้ได้มากไว้ สะสมจำนวนรุ่นการอบรมให้มากยิ่งขึ้นไป แต่ตอนนี้ได้ตระหนักว่าตนเองได้ดูแลและช่วยเหลือคนหนึ่งจริงๆ ก็มากเพียงพอแล้ว ตามสุภาษิตชาวฮิบรู ช่วยคนๆ เดียวก็เท่ากับได้ช่วยโลกทั้งใบ ชีวิตของผู้เขียนรู้สึกเพียงพอแล้วเพียงการได้ช่วยเหลือคนผู้หนึ่งอย่างแท้จริง
.
เราไม่จำเป็นต้องใช้ความเป็นครู วิทยากร กระบวนกร นักให้คำปรึกษา หรือโค้ชเพื่อเปิดทางและดวงตาผู้อื่นสู่แสงสว่างเสมอไป การดูแลกันและช่วยเหลือคนอื่นอย่างเรียบง่ายในสถานการณ์ที่จำเป็นก็อาจเป็นสิ่งที่มากเพียงพอแล้ว เพียงการหยิบยื่นน้ำใจ การแสดงออกความรัก หรือการให้เวลาอย่างเต็มที่เพื่อคนหนึ่งคนที่มีความทุกข์ ตรงนั้นแสงสว่างก็ได้เกิดขึ้นแล้ว มิจำเป็นต้องใช้มานะและฐานะเลย
.
มิว่าจะสะสมศรัทธาและสรรเสริญเพียงใด ท้ายที่สุด ธรรมชาติก็จะขอคืนสิ่งเหล่านี้กลับไป ไม่อาจใช้ศรัทธา สรรเสริญ หรือฐานะของการเป็นครูเป็นที่พึ่งพิงอันแท้จริงได้ ถึงวันหนึ่งเราอาจจำเป็นต้องยอมที่จะสละเสียเอง เพื่อทำสิ่งที่เห็นว่าควรจะต้องทำ แม้มันอาจจะขัดแย้งกับความชอบพอใจที่คนอื่นมีต่อเราก็ตาม ยอมเสียความศรัทธาบ้างให้พวกเขาสนใจที่จะศรัทธาตนเองให้มากขึ้น มิใช่เพียงแต่จะเคารพเราเท่านั้น เราเองในฐานะครูก็จะได้ไม่ต้องหวังพึ่งศรัทธาของผู้อื่นเป็นที่เกาะด้วย แต่กลับมาพึ่งตนเองอย่างที่ควรเป็น ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้า ดังว่า “พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด” *(๑๗)
.
การดำรงอยู่โดยมีมานะอันอาศัยความหลงในการรับรู้ก็ดี อาศัยการมีลาภ ยศ และสรรเสริญก็ดี เหล่านี้มิใช่การพึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง การเป็นครูที่ดำรงอยู่กับมานะนั้น ยังมิใช่ครูที่สามารถพึ่งพาตนเอง แต่ยังต้องพึ่งพาศรัทธาของผู้อื่นและสิ่งนอกตัวต่างๆ เรื่อยไป ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น
.
“พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความปรินิพพานแห่งตถาคต จักมีในไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน
.
“พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า คนเหล่าใด ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลทั้งบัณฑิต ทั้งมั่งมี ทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินที่นายช่างหม้อกระทำแล้ว ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ทุกชนิด มีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น
.
“พระศาสดาได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราเป็นของน้อย เราจักละพวกเธอไป เรากระทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล อันดีเถิด จงเป็นผู้มีความดำริตั้งมั่นดีแล้ว ตามรักษาจิตของตนเถิด ผู้ใด จักเป็นผู้ไม่ประมาท อยู่ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักละชาติสงสารแล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังนี้” *(๑๗)
.
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นดั่งครูผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนี้ สอนแก่ภิกษุและเราทั้งหลายจากข้อความข้างต้นหลายประการ ทั้งการเตือนใจถึงความไม่ประมาท การมีความตายรออยู่เบื้องหน้าคนทุกคน จงตามดูจิตด้วยความเพียรอย่าได้นิ่งนอนใจ และยังสอนแก่เราในฐานะครูว่า เมื่อถึงวันหนึ่งเราก็จักต้องละวางจากลูกศิษย์ไป ปล่อยวางจาการสอนและการเป็นครู เพื่อ “กระทำที่พึ่งแก่ตน” เพราะด้วย “ชีวิตเป็นของน้อย” หน้าที่ย่อมมีวันสิ้นสุดลง
.
ปลายทางของความเป็นครู มิอาจหลีกหนีความไม่แน่นอน ความเสื่อมลง แล้วจำต้องปลดทิ้งจากตัวตนทั้งหลาย เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เราอาจเรียนรู้วิชามากมายบนโลกใบนี้และสอนผู้อื่นมามากมาย ท้ายที่สุดเราก็ต้องสอนสิ่งนี้ให้แก่ตนเองเป็นวิชาสุดท้าย
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๕๓
> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/
* (๑) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ๗. อุปาทานปริตัสสนาสูตรที่ ๑ ว่าด้วยความสะดุ้งและไม่สะดุ้ง [๓๑]
* (๒) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ๒. ฉวิโสธนสูตร [๑๖๖]
* (๓) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อภัยราชกุมารสูตร
* (๔) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต อุทายิสูตร [๑๕๙]
* (๕) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต ๘. ปิณฑปาตสูตร [๘๒]
* (๖) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค วิธาสูตร การถือตัว ๓ [๓๑๓]
* (๗) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ฉลาวาตสูตร [๙๕]
* (๘) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑๔๓]
* (๙) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ เรื่องอุปกาชีวก [๑๑]
* (๑๐) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) [ สุภัททะ วุฒบรรพชิต ]
* (๑๑) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สัปปุริสสูตร [๗๓]
* (๑๒) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ กูฏทันตสูตร [๒๐๖]
* (๑๓) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มหาหัตถิปโทปมสูตร [๓๔๒]
* (๑๔) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มานกามสูตรที่ ๙ [๑๙]
* (๑๕) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส ว่าด้วยมานะลักษณะต่างๆ [๘๒๙]
* (๑๖) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต [๘๘] [๙๐]
* (๑๗) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค ๓. มหาปรินิพพานสูตร (๑๖) [๙๓] [๑๐๗]