ศิลปะการเขียนหนึ่งลมหายใจ บทที่ ๓

 

 

ศิลปะการเขียนหนึ่งลมหายใจ

ตอนที่ ๓ : เขียนเพื่อเป็นไม้ไม่ตัดแต่ง

 

บทความอ่านประกอบการอบรม “เขียนภาวนา”

โดยครูโอเล่ สถาบันธรรมวรรณศิลป์ www.dhammaliterary.org/เขียนภาวนา/

 

 

๓.๑ เป็นธรรมชาติ

 

นิกายชินชูในประเทศญี่ปุ่น เป็นนิกายที่ถือปฏิบัติว่า การสวดสรรเสริญพระเมตตาคุณของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอจะทำให้ถึงซึ่งความหลุดพ้นได้ แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่ง พระในนิกายนี้เกิดพากันอิจฉาริษยาท่านอาจารย์บันไกแห่งวัดริยูมอนที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย จึงได้คัดเลือกพระที่ปราดเปรื่ององค์หนึ่ง มาโต้วาทีกับท่านอาจารย์บันไก พระนิกายชินชูเดินทางไปที่วัดริยูมอน ในขณะนั้นท่านอาจารย์บันไกกำลังเทศน์สั่งสอนศิษย์อยู่ จึงได้หยุดเทศนามองดูพระอาคันตุกะด้วยอาการสงบ พระนิกายชินชูเข้าไปยืนตรงหน้าด้วยอาการท้าทายแล้วกล่าวว่า

“นี่แน่ะ อาจารย์บันไก อาจารย์ผู้ก่อตั้งนิกายของเรานั้นสามารถแสดงอภินิหารได้อย่างมหัศจรรย์ โดยตัวท่านจะยืนชูพู่กันอยู่บนฝั่งแม่น้ำด้านนี้ แล้วให้ลูกศิษย์ชูกระดาษอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ท่านสามารถเขียนพระนาม พระอมิตาภพุทธะ ให้ผ่านอากาศไปติดในกระดาษได้ ท่านล่ะ ทำอภินิหารแบบนั้นได้ไหม ? “

ท่านอาจารย์บันไกตอบอย่างสงบว่า

“ฉันคิดว่า อาจารย์ของท่านอาจจะแสดงกลอย่างนั้นได้ แต่ไม่ใช่วิธีการของเซ็น อภินิหารของฉันมีอยู่ว่า เมื่อฉันรู้สึกหิวฉันก็กิน และเมื่อฉันรู้สึกกระหายน้ำฉันก็ดื่ม”

 

คนเราโดยทั่วไปที่ใจยึดติดกับสิ่งภายนอก และหลงในความอยากความยึด ย่อมตื่นตาตื่นใจไปกับสิ่งที่ดูน่าประหลาดน่าพิศวง ปฏิบัติธรรมบ้างก็หวังเพื่อเกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หรือมนต์ที่บันดาลความอยากให้เกิดผล เหล่านั้นล้วนแต่พาให้ชีวิตติดกับดักบ่วงทุกข์ มิเกิดปัญญาเพื่อพัฒนาชีวิตอย่างแท้จริง

ธรรมะเพื่อให้ใจเป็นสุขแท้ เป็นสิ่งเรียบง่าย คือแนวทางที่พาเรากลับมาสู่ธรรมชาติดั้งเดิมของจิตและชีวิต

กล่าวถึงธรรมชาตินั้น หากพูดกันตามใจ เราจะทึกทักเอาว่า ความเป็นธรรมชาติต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ที่เราคุ้นเคย แต่ความจริงแล้วความเป็นธรรมชาติอาจไม่ตรงกับใจอยากและใจยึด แต่เป็นการทำไปตามความจริง อยู่อย่างสอดคล้องกลมกลืนไปกับสิ่งต่างๆ

คนที่คุ้นเคยกับการปล่อยจิตคิดฟุ้งซ่าน พอมานั่งสงบทำสมาธิก็อาจพลอยคิดเอาว่า นี่ไม่ใช่ธรรมชาติเลย ธรรมชาติของเขาที่เขาคิดคือการปล่อยความคิดฟุ้งกระจาย อยากคิดอะไรก็คิดไป ไม่อาจหาความสงบได้เลย แต่นั่นมิใช่ธรรมชาติตามที่เป็นจริง แต่เป็นเพียงความหลงยึดติดเท่านั้น

น้ำที่สั่นสะเทือนผิวไหวกระเพื่อมก็เหมือนใจของผู้ลุ่มหลง แต่น้ำกระเพื่อมก็มิใช่ธรรมชาติแท้จริง เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่ง น้ำอาจสะท้อนเงาของดวงจันทร์ แต่ดวงจันทร์นั้นก็ไม่ใช่ความเป็นธรรมชาติของน้ำ แต่ความเป็นน้ำที่สงบนิ่งธรรมดานั้นเองคือธรรมชาติที่เป็นจริง 

จิตเราเองก็เช่นเดียวกันกับน้ำ เราอยู่กับความวุ่นวายและการปรุงแต่งมากมาย จนเราลืมธรรมชาติดั้งเดิมของใจ

การฝึกจิตตามหลักพุทธศาสนาแล้ว คือการฝึกการกระทำของชีวิตทั้งสาม คือ กาย วาจา และใจกลับมาอยู่อย่างธรรมชาติ คืออยู่อย่างละความอยากและความยึดมั่นที่ทำให้ชีวิตวุ่นวายและเป็นทุกข์

ภาวนาเพื่อพาใจกลับมาสงบรำงับ ปราศจากกิเลสต่างๆ เพื่อให้จิตหวนคืนสู่ความสงบงันดั่งน้ำนิ่ง

สุขแท้จึงก่อเกิด ความพึงพอใจในชีวิตจึงเกิดขึ้น อย่างที่ไม่ต้องเที่ยวเทียวโอ้อวดความสามารถกับใครอื่น อย่างพระนิกายชินชูในนิทาน แต่พร้อมที่จะรับแขกของชีวิตดั่งท่านอาจารย์บันไก เผชิญกับความจริงอย่างสงบ มิต้องเสแสร้งปั้นแต่งภาพใด

เราพินิจเองย่อมทราบดีว่าชีวิตแบบใดที่พึงปรารถนา ระหว่างชีวิตที่ต้องดิ้นรนอย่างไม่รู้สิ้นสุด กับชีวิตที่อยู่อย่างธรรมชาติ

ชีวิตเช่นนั้นเราย่อมพบว่าสิ่งล้ำค่าที่สุดและมีความหมายที่สุดไม่ได้อยู่ไกลไปจากตัวเราเลย การที่เราจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติได้นั้น ต้องเรียนรู้อยู่กับปัจจุบัน การอยู่กับปัจจุบันไม่ได้หมายความว่ารู้ตัวว่ากำลังทำอะไร แต่ยังหมายถึงการอยู่อย่างมีสติ ทำอย่างมีสมาธิ และเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีและกำลังเกิดขึ้นด้วยปัญญา เราย่อมจัดการสิ่งต่างๆ ไปอย่างที่ควรเป็น ย่อมไม่มีปัญหาใดใดในความคิดหรือจิตของเรา เพราะทุกสิ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติเท่านั้น เราก็รับมือไปตามธรรมชาติเท่านั้น

สำหรับชีวิตที่มุ่งเน้นปาฏิหาริย์และสิ่งนอกตัวทั้งหลาย เวลามีอะไรเกิดขึ้นมันไม่ตรงกับความอยากและความยึด ใจมันก็ทุกข์สับสน กระทำตามใดใดก็ทำไปตามที่อยากและยึดนั้น มันก็ไม่ใช่ธรรมชาติ พยายามทำไปมันก็ยิ่งพันปัญหากันยุ่งเหยิง แทนที่จะคลี่คลายก็ยุ่งยากมากขึ้น

การอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ คือชีวิตที่พึงปรารถนาในทางพุทธศาสนา คือชีวิตที่กล่าวได้ว่า อยู่เย็นและเป็นสุข อยู่เย็นคือไม่ถูกเผาร้อนด้วยกิเลสทั้งหลาย เป็นสุขคือมีความสงบทางใจไม่นำสิ่งใดมาทำให้มัวหม่น ดังนี้จึงเป็นธรรมชาติอย่างที่เราเกิดมา มิต้องปรุงแต่งให้มีอะไรกับอะไรมากเกินเลยจนอยู่ร้อนและเป็นทุกข์

การไม่เป็นอะไรกับอะไร เป็นแง่คิดที่สำคัญสำหรับตัวเราที่มุ่งหมายอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ การไม่เป็นอะไร หมายถึงไม่ยึดมั่นในสิ่งใด กับอะไร หมายถึง ข้องเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตอย่างไม่เอาใจไปผูกมัด ไม่ใช่ด้วยความอยากในจิต แค่ทำไปตามธรรมชาติกับสิ่งต่างๆ เท่านั้น

ปัญหาเกิดขึ้น เพียงรับรู้ว่าสิ่งใดเกิดขึ้น มิปรุงแต่งไปเกินเลยมิว่าด้วยเหตุผลหรือความรู้สึก ไม่ทึกทักยึดมั่นตัวเราถูกกระทบกระทั่งอย่างใด มันก็ไม่มีทุกข์สุขอะไรให้เกิดขึ้น แค่สงบกับความท้าทายที่เข้ามา เหมือนดั่งอาจารย์บันไกผู้นั้น

 

 

๓.๒ ใจสงบ

 

ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมาขอรับคำสอน กล่าวถามแก่ท่านโพธิธรรมว่า

“ใจของผมไม่สงบ ได้โปรดช่วยทำให้ใจของผมสงบลงด้วย”

“ไหนลองเอาใจของเธอมาให้ฉันดูซิ” ท่านโพธิธรรมตอบ “แล้วฉันจะทำให้มันสงบ”

“แต่เมื่อผมหาใจของผม” ภิกษุรูปนั้นกล่าว “ผมก็หามันไม่พบ”

“นั่นไง” ท่านโพธิธรรมสวนกลับทันควัน “ฉันได้ทำให้ใจของเธอสงบแล้ว”

 

ใจที่ผูกเกี่ยวแสวงหวังสิ่งนอกตัว ย่อมยากที่จะสงบลง ใจของผู้ใดที่เที่ยวเทียววิ่งวนตามความอยากให้เป็นแบบนั้นให้เป็นแบบนี้ ย่อมยากที่จะเย็นสงบ

ยิ่งอยากก็ยิ่งยึด ยิ่งยึดก็ชีวิตยิ่งยาก จะหาความสงบใดก็ไม่เจอ

ภิกษุผู้นั้นสงสัยแก่ตนเองว่า ทำไมฝึกปฏิบัติมากเท่าใด ก็ไม่อาจทำให้จิตใจของตนนี้สงบรำงับได้เลย แต่กลับยิ่งวุ่นวายมากขึ้น

ท่านอาจารย์ผู้เมตตา จึงถามด้วยปัญญา เชื้อชวนให้นำใจออกมาดู การนำใจออกมาที่ว่านั้นไม่ใช่ตรงตามอักษรทุกประการ แต่หมายถึงมองกลับไปที่ใจอย่างตรงไปตรงมา มองจิตให้เห็นจิต มองธรรมชาติที่เป็นจริง

เพราะภิกษุผู้นั้นปฏิบัติธรรมและสับสนสงสัยเพราะจิตไม่ได้เห็นจิต เห็นแต่ความอยากที่จะสงบ แต่ไม่ทำให้สงบด้วยการวางใจแล้วเห็นจริง การทำสมาธิภาวนาหรือการเขียนภาวนา ไม่ได้พยายามบังคับให้เราอยากสงบ แต่ให้มองตัวเองจนสงบวางด้วยตนเองได้ ฝึกกับการดูลมหายใจก็ดูลมหายใจจนจิตนั้นสงบลง เป็นไปเองตามธรรมชาติ มิใช่โดยความอยากให้ยึดติด

เมื่อท่านโพธิธรรมถามเช่นนั้น พระภิกษุจึงเริ่มรู้ตัว รู้ว่ามองจิตตนเองไม่เจอ หาใจตนไม่พบ ช่องว่างระหว่างคำพูดคือความเงียบที่เขาไม่ได้เอ่ย นั่นแลคือความสงบที่เกิด สงบจากการรู้สึกตัว ท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า นั่นไง ทำให้เขาสงบลงได้แล้ว

ตราบใดที่จิตใจยังหมุนอยู่ในกงล้อแห่งความอยากกับยึด ใจย่อมไม่อาจเข้าใจ จิตย่อมไม่อาจเห็นจิตตนเอง แต่เห็นแค่เพียงความอยากและความยึดมั่น ย่อมต้องถูกปลุก ถูกสะดุ้ง ให้ตื่นขึ้นด้วยคำถามอย่างท่านโพธิธรรม ซึ่งหลายครั้งชีวิตก็เป็นผู้ปลุกเราเอง ผ่านสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เราไม่อยากเจอ เพื่อให้เรากลับมารู้ทันตนตามที่เป็นจริง คนที่ยึดว่าตนเองปฏิบัติธรรมมาแล้วปล่อยวางได้ จิตใจปล่อยวางได้ แต่เอาเข้าจริงพอเมื่อครูดุ หรือคนอื่นไม่ได้เป็นดั่งใจ ใจเขาก็ย่อมถูกปลุกอย่างสั่นสะเทือน นั่นเพราะว่าที่กล่าวกันว่าปล่อยวางแล้วๆ เป็นเพียงความอยากและความยึดมั่นเท่านั้น

ความสงบรำงับและความปล่อยวาง แท้จริงไม่มีคำพูดใดใด ไม่มีความอยากและให้ยึดอะไร เป็นแค่เพียงธรรมชาติเท่านั้น เมื่อเราฝึกภาวนา เราย่อมเกิดความสุขและความสงบปิติขึ้น เหล่านั้นเป็นรางวัลสำหรับก้าวแรกๆ ของการฝึกจิต แต่หากเราเผลอไปยึดและตีความเป็นการปล่อยวางแล้ว นั่นย่อมนำมาเป็นกิเลสบดบังใจตามจริง คือยึดในความสงบที่ติดใจ ยึดในตัวตนผู้ปฏิบัติธรรมเป็น “ตัวกูของกู” จึงไม่ได้เข้าใจธรรมตามที่เป็นจริงเลย

เมื่อเรากำลังหลงในความอยากและการยึดติดอะไรก็ตาม เมื่อนั้นเรากำลังไม่อยู่กับใจ พลัดหลงกับใจไปแล้ว หากเริ่มรู้ตัวว่ากำลังหาใจไม่เจอ เพราะมัวเมาไปกับสิ่งที่ยึดนั้น ณ ตอนนั้นจิตก็เริ่มสงบแล้ว คือสงบละจากความวุ่นวายที่ต้องไปเกี่ยวยึดหรือเที่ยวเทียวค้นหาอะไร

การยอมรับความจริงอย่างที่เป็นจริง คือข้อคิดสำคัญและเป็นผลได้ในระหว่างการภาวนาด้วย การภาวนามิใช่การปรุงแต่งความสงบ แต่เป็นการฝึกอยู่กับความจริงจนใจสงบละวางลงไปเอง โดยไม่ต้องอยากได้ อยากเป็น หรืออยากไม่เป็นอะไร มันก็ไม่มีความยึดติดให้ต้องเป็นเช่นใด

คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง ของลัทธิเต๋า กล่าวสอนไว้ว่า การอยู่ตามวิถีเต๋านั้น ต้องอยู่อย่างเป็น “ไม้ไม่ตัดแต่ง” คืออยู่อย่างธรรมชาติชนิดที่ไม่ต้องปรุงแต่งหรือเที่ยวอยากให้เป็นอย่างไร ดังคำบาลีในพุทธศาสนาที่กล่าวว่า “ตถตา” แปลว่า เช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง

 

 

๓.๓ คุณค่าแท้ที่ซ่อนเร้น

 

มีลูกศิษย์คนหนึ่งมักคอยถามพระอาจารย์ด้วยคำถามเดิมๆ ทุกวัน  ด้วยคำถามว่า

“อะไรคือคุณค่าของชีวิตที่แท้จริง”

จนวันหนึ่งพระอาจารย์นำก้อนหินก้อนหนึ่ง แล้วพูดกับศิษย์ว่า 

“เจ้าจงนำก้อนหินก้อนนี้ไปขายที่ตลาด แต่ไม่ต้องขายจริงๆ เพียงแต่ให้คนตีราคาก็พอ ตีราคาหลายๆ ร้านแล้วรีบกลับมา”

ลูกศิษย์นั้นจึงนำก้อนหินไปในท้องตลาด บางคนก็บอกว่าก้อนหินก้อนนี้ใหญ่ดี สวยดีให้ราคาสองบาท บางคนก็บอกว่าก้อนหินก้อนนี้มาทำเป็นลูกตุ้มชั่งน้ำหนักได้ ก็ตีราคาให้สิบบาท ลูกศิษย์รู้สึกดีใจ รีบกลับไปบอกอาจารย์ว่า

“ก้อนหินที่ไม่มีประโยชน์อะไรนี้ ยังขายได้ถึงสิบบาท น่าจะขายออกไปจริงๆ”

อาจารย์พูดขึ้นว่า“อย่าเพิ่งรีบขาย ลองพาไปขายในตลาดทองคำดู แต่ก็อย่าขายออกไปจริงๆ ตีราคาแล้วรีบกลับ” 

เขาจึงนำก้อนหินก้อนนั้นไปขายในตลาดทองคำ เริ่มต้นมีคนตีราคาให้หนึ่งพันบาท คนที่สองตีราคาให้หนึ่งหมื่นบาท สุดท้ายมีคนให้ครึ่งแสนบาท

ลูกศิษย์รู้สึกดีใจมาก รีบกลับไปรายงานพระอาจารย์ถึงผลที่นึกไม่ถึง พระอาจารย์กล่าวต่อไปอีกว่า “นำก้อนหินนี้ไปตีราคาที่ตลาดเพชรก่อน แต่ไม่ให้ขาย”

เมื่อนำไปที่ตลาดค้าเพชร ก้อนหินก้อนเดียวกัน พ่อค้าให้ราคาหนึ่งแสน แต่ลูกศิษย์นั้นกล่าวว่า “พระอาจารย์ไม่ให้ขาย” จึงนำก้อนหินนั้นกลับไป

พอเจอพระอาจารย์ก็พูดกับท่านว่า “ก้อนหินก้อนนี้คนให้ราคาถึงเรือนแสนแล้ว”

“ใช่แล้ว ตอนนี้อาจารย์ไม่อาจสอนเจ้าถึงเรื่องคุณค่าของชีวิตเพราะ เจ้ามองชีวิตของเจ้าเหมือนกับการตีราคาของตลาด คุณค่าของชีวิตคนเรา ควรจะอยู่ในจิตใจของตนเอง ต้องมีสายตาของนักค้าเพชรที่เก่งที่สุดเสียก่อน จึงจะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของหินก้อนนี้ คุณค่าแท้จริงของชีวิต ก็ต้องอาศัยสายตาที่เหมาะสมจึงจะแลเห็น”

 

เมื่อเราออกไปยุ่งวุ่นวายกับการนิยามคุณค่าตัวเองจากสิ่งต่างๆ ภายนอกตัว เราก็เหมือนเจ้าลูกศิษย์ผู้นี้ที่เฝ้าถามอาจารย์อยู่หลายต่อหลายครั้ง จนอาจารย์ส่งออกไปเรียนรู้

ตัวเราทุกคนนั้นมีคุณค่าแท้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เมื่อใจเราหลงในความอยากเป็น อยากได้ และอยากไม่เป็น รวมทั้งการยึดติดทั้งสี่คือการยึดในความงาม ความคิด หลักการ และตัวตน เราย่อมไม่อาจเห็นคุณค่าจริงตามที่เป็นจริง

แง่หนึ่งเราก็เหมือนเป็นก้อนหินที่อาจารย์ส่งให้ศิษย์ไปตีราคา หากอยู่ในมือของคนทั่วไปที่ไม่มีปัญญาและความสามารถเพียงพอจะเข้าใจ ก็ย่อมตีค่าราคาน้อย ผิดกับคนที่มีความรู้ความสามารถก็จะให้ราคาได้มากขึ้น จนถึงคนที่รู้จริงเท่านั้นจึงให้ราคาอย่างเหมาะสม

เราจะฝากฝังคุณค่าเราให้ตัวชี้วัดใดตัดสิน เราก็ต้องรู้แน่ว่าตัวชี้วัดหรือคนๆ นั้นเหมาะสมหรือไม่ หากใครทำกับเราอย่างไม่มีค่า นั่นก็เพราะเขาไม่มีสายตาที่คู่ควร หาใช่เพราะเราไร้ค่าไม่ บางครั้งสิ่งที่เราทุ่มเทลงแรงกายใจหวังสำเร็จ ผิดพลาดล้มเหลวไม่เป็นท่า สิ่งนั้นก็ไม่บั่นทอนเรา  หากเราไม่ยึดติดเอาเองว่าความสำเร็จนั้นเป็นคุณค่าของชีวิต

คนที่ยังมีความอยากและความยึดอยู่ ย่อมนำคุณค่าตนเองไปไว้ผิดที่ผิดทาง ไว้กับสิ่งนอกตัว กับความเก่ง ความสามารถ และสิ่งต่างๆ ที่ล้วนเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน แม้ความสามารถในตัวเราก็มีวันเสื่อมถอยได้ ยิ่งยึดติดคุณค่าเรากับสิ่งไม่อาจเที่ยงเพียงใด ย่อมนำมาสู่ความทุกข์ทั้งสิ้น

ชีวิตที่อยู่เป็นอย่างสงบสุขตามธรรม หรือเรียกว่า ธรรมชาติ ย่อมไม่เอาตัวตนไปผูกยึดกับสิ่งใดให้เป็นคุณค่า แม้แต่การยึดสวรรค์หรือบุญก็ไม่ใช่แนวทางคำสอนของพุทธศาสนา แต่ให้อยู่อย่างมีคุณค่าตามความเป็นจริง ไม่ต้องเที่ยวสะสมหรือวิ่งออกไล่ตามหาอะไร แต่เน้นการฝึกกลับมาที่ตนเอง อยู่กับตนเองอย่างเข้าใจตนเอง

เมื่อเรารู้จักคุณค่าแท้จากการอยู่กับตนได้ เข้าใจตัวเองเป็น เห็นจิตและฝึกใจจนสงบลง เราย่อมมีความสุขที่แท้กว่าความสุขจากการได้มาและได้เป็น มีคุณค่าแต่ไม่ยึดติดคุณค่า แม้ใครทำกับเราอย่างไม่ยุติธรรม ใจเราก็ไม่หวั่นไหวตาม

ชีวิตที่อยู่อย่างเป็นทุกข์ เพราะคนไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเกิดจากใจออกจากตัวไปใฝ่หาและพึ่งพิงสิ่งนอกตัว ยิ่งเรายึดมั่นถือมั่นนานาและอยู่กับความอยากมากมายในใจ เหล่านั้นล้วนทำให้เราไม่เห็นคุณค่าในตนเอง เราย่อมทำกับตัวเองและชีวิตไม่เหมาะสม จนเกิดความทุกข์ขึ้นมา

เมื่อเรารู้ตัวได้ว่า การเอาตนไปผูกคุณค่านอกตัว ไม่เคยทำให้เราสุขแท้และยั่งยืน ด้วยแม้แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่อาจคงทนคงอยู่ได้ถาวร เราย่อมไม่ลำบากพาใจออกไปให้เหนื่อยหนัก ย่อมรักษาอยู่ไว้ในบ้านภายใน คือความสงบสันติ “มิเที่ยวบินดิ้นรน หรือเฝ้ารอ” กับอะไรอีกแล้ว

ทั้งก้อนหิน อัญมณี หรือท่อนไม้ ต่างก็อยู่เย็นเป็นสุขตามธรรมชาติ คือไม่คิดจะไขว่คว้าหรือลำบากเรียกร้องคุณค่าจากใคร เราเองควรเรียนรู้จากธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัวเช่นนี้ โดยเฉพาะต้นไม้ ซึ่งอยู่นิ่งกับที่ทุกฤดูกาล แต่ยังสามารถเติบโต ต่อยอด ผลิดอกและผล เอื้อเฟื้อเกื้อกูลสรรพสัตว์น้อยใหญ่ พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงเรียนรู้จากต้นไม้ ชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุข และเป็นประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องมีกิเลสหรือการยึดมั่นถือมั่น มีอยู่จริง

นี่คือคุณค่าแท้ของชีวิตที่ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรเลย

 

 

๓.๔ ก้าวออกจากความกลัว

 

แม่ชีจิโยโน ศึกษาเซ็นจากท่านบักโก แห่งสำนักเองคากุเป็นเวลานาน แต่ไม่สามารถบรรลุผลแห่งสมาธิภาวนาเลย

ในที่สุด ณ คืนวันเพ็ญคืนหนึ่ง ขณะเธอกำลังหาบถังน้ำเก่า ซึ่งดวงจันทร์กำลังฉายภาพอยู่ในนั้น ด้วยความที่ก้นถังดามด้วยซี่ไม้ไผ่เก่าเสื่อมมากแล้ว คืนนั้นไม้ดามได้หักโผละ ทำให้ก้นถังทะลุหลุดจากตัวถัง น้ำหกลงมาหมดสิ้น

ทันใดนั้น เธอก็เป็นอิสระ ต่อมาเธอเขียนบทกวีไว้เป็นที่ระลึกชิ้นหนึ่งว่า

ฉันพยายามทุกวิถีทาง ที่จะรักษาถังน้ำเก่าๆ ใบหนึ่ง
เพราะไม้ท่อนนี้เปราะ ใกล้หักเต็มที
ในที่สุด ก้นถังก็ทะลุ
ไม่มีน้ำในถังอีกแล้ว
ไม่มีพระจันทร์ในน้ำอีกแล้ว

 

เพราะใจเรามีความยึดมั่น จึงมีความคาดหวังให้ตนเองและชีวิตต้องเป็นต่างๆ ตามที่เราอยากให้เป็น เมื่อเรามีความคาดหวังการใช้ชีวิตหรือการปฏิบัติธรรมก็แอบเป็นไปเพื่อรักษาความคาดหวังเหล่านั้น รวมทั้งการยึดมั่นในตัวตนของตนเอง

แม่ชีจิโยโน ปฏิบัติธรรมมาเป็นอย่างดีแต่ไม่อาจวางความคาดหวังที่จะบรรลุธรรมลงได้ จึงไม่เข้าใจสัจธรรมของชีวิตและตื่นรู้ด้วยใจ

ในความคาดหวังนั้นย่อมซ่อนความกลัวเอาไว้ เราจึงมักทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อปกป้องความกลัวเหล่านั้น ทั้งความกลัวจะเปลี่ยวเหงา กลัวไม่มีความสุข กลัวความไม่เข้าใจ กลัวความเป็นอยู่ไม่ดี กลัวการไม่ยอมรับ กลัวความล้มเหลว กลัวไร้ความรัก กลัวไร้ค่าไม่มีประโยชน์ และความกลัวอื่นๆ อีกมาก ทำให้เราใช้ชีวิตเหมือนการหาบหิ้วถังน้ำผุๆ ใบหนึ่ง

ถังน้ำนั้นก็คือจิตใจของเราที่เปี่ยมไปด้วยความกลัว คานไว้ด้วยไม้ที่จวนจะพังเต็มที

เมื่อเราต้องหาบถังน้ำผุๆ เช่นนี้ คืออยู่กับความคาดหวังและการรักษาตนจากความกลัว เราจะมีชีวิตก็มีชีวิตไม่เต็มที่ จะปฏิบัติธรรมก็ไม่อาจบรรลุมรรคผลได้เต็มที่ เพราะจิตคอยหวงแหนตัวตนจนทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ จะภาวนาก็ทำเพียงแค่ทำ อบรมก็เพียงแค่ให้ผ่านอบรม ไม่ได้ทุ่มเทฝึกฝนตนเองอย่างจริงจัง

ด้วยความที่มีความห่วงแหนตัวตน จะเรียนรู้เท่าใด เราก็ไม่เปลี่ยนแปลง มิใช่ไร้ความรู้หรือครูที่ดี แต่การหวงแหนตัวตนหรืออัตตาย่อมทำให้เราไม่ฝืนใจตัวเอง ทำให้เรายึดติดในอุปาทาน เหมือนแม่ชีท่านผู้นั้นซึ่งพยายามรักษาถังน้ำนั่นไว้

ภาพเงาดวงจันทร์ในน้ำเปรียบเหมือนธรรมหรือสัจธรรมซึ่งเธอมุ่งหมายปฏิบัติเพื่อบรรลุ แต่ด้วยความอยากและความยึดในจิต เธอจึงเห็นธรรมแค่เงาสะท้อนเท่านั้น พระจันทร์ในน้ำไม่ใช่พระจันทร์จริงๆ เหมือนที่ความรู้ในตำรา หลักการ ความเชื่อ ก็ไม่ใช่ความจริงอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเพียงภาพสะท้อนหรือตัวแทนเท่านั้น ไม่อาจครอบคลุมทุกแง่มุมของความจริงได้ เมื่อเรายึดมั่นเงาของดวงจันทร์หรือเงาของหลักธรรมแล้ว เราก็ไม่อาจตื่นรู้ แค่เพียงประคองอัตตาและทิฐิตนเรื่อยไป

จนกระทั่งถังน้ำของแม่ชีจิโยโนได้แตกพัง สายตาและดวงจิตพลันพบเงาจันทร์สลายไป ด้วยการสะสมภูมิธรรมที่ผ่านมา จิตเธอจึงบรรลุได้สำเร็จ กล่าวคือละวางการยึดมั่นได้สิ้น เพราะเห็นความจริงในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ผ่านถังน้ำไม้ผุพัง

เมื่อการยึดติดยังมีอยู่ พระธรรมที่เข้าใจก็อาจเพียงรับใช้อุปาทานที่เรามี เมื่อใช้ชีวิตและฝึกฝนตนเองเพื่อเพียงประคองอัตตาด้วยความกลัวในใจ เราก็หนักเหนื่อยและไม่อาจเข้าใจความจริงของชีวิต จนเมื่อใจปล่อยวางจากความกลัว กล้าที่จะยอมรับความจริงและทุ่มเทในการกระทำสิ่งต่างๆ อย่างเรียกได้ว่า “ไม่กั๊ก” จิตก็สบาย ทำอะไรก็ทำไปได้ตามธรรมชาติ ที่คนเราเหนื่อยมากมายกับการทำสิ่งต่างๆ ในชีวิต ก็เพราะอยู่อย่างเป็น “ไม้ไม่ตัดแต่ง” ไม่เป็น พยายามตบแต่งและดัดตัวเองเป็นไม้พันธ์ุงามหรือกลายเป็นสิ่งอื่นๆ เสียจนชีวิตและจิตใจยุ่งยาก

ถังไม้แห่งการยึดมั่นและความกลัวได้แตกลง จากความเข้าใจธรรมเพียงเงาในน้ำ ก็กลายเป็นเห็นตามจริง ประจักษ์ในความจริง ในเมื่อมีพระจันทร์ลอยอยู่บนฟ้าแล้ว ไยต้องมัวฉวยคว้าหรือจับจ้องที่เงาอีก กล้าที่จะสบตากับความจริง จึงเห็นธรรม

วางภาระใจที่ผุพังลงบ้าง แบกหนักมานานแล้ว เบาลงนั่นแล คือภาวะใจที่เริ่มปล่อยวาง นั่นแลคือก้าวแรกๆ ของสุขแท้ ไม่มีอะไรที่ต้องรักษา ไม่มีอะไรที่จะต้องกลัว ทุกสิ่งเป็นธรรมชาติ ดังที่คนโบราณหรือพ่อแม่เราพูดยามเกิดปัญหาหรืออุปสรรคขึ้นว่า “มันเป็นธรรมชาติ” “ถึงคราวแล้ว” “เป็นเช่นนั้นเอง”

 

 

๓.๕  ยังมีดวงจันทร์

 

อาจารย์เซนเหลียงควน หากไม่อยู่ที่วัดหงฝ่า ก็มักจะไปพำนักอย่างสมถะในกระท่อมมุงจากบริเวณเชิงเขาอันเงียบสงบ

คืนวันหนึ่ง เมื่ออาจารย์เซนกลับมาจากการแสดงธรรมเทศนา พลันพบว่ามีขโมยผู้หนึ่งกำลังค้นหาของมีค่าอยู่ภายในกระท่อมน้อยเชิงเขาซึ่งเป็นที่พำนักของตน เมื่อขโมยพบเห็นอาจารย์เซนก็ตกใจเป็นอันมาก

ฝ่ายอาจารย์เซนเหลียงควน กล่าวกับขโมยว่า “ไม่พบของมีค่าที่จะนำไปได้ใช่หรือไม่ เกรงว่าการมาของท่านครั้งนี้คงจะเสียเที่ยว  เรามีเพียงจีวรที่สวมใส่อยู่เท่านั้นที่พอมีมูลค่า ให้ท่านหยิบนำไปได้”

จากนั้นจึงปลดปลงจีวรมอบให้ขโมยไป

เมื่อขโมยรับจีวรมาแล้วก็รีบหนี ส่วนอาจารย์เซนยังคงยืนอยู่ท่ามกลางแสงจันทร์กระจ่าง มองแผ่นหลังของขโมยที่ค่อยๆ ลับจากคลองจักษุ พลางรำพึงออกมาว่า

“น่าเสียดายที่เราไม่อาจมอบแสงสว่างอันงดงามของดวงจันทร์ให้ท่านนำกลับไปได้”

 

เวลาเราถูกขโมย หรือถูกทำร้ายมิว่าด้วยกาย วาจา หรือใจ เราย่อมมีความกลัวสั่นไหวจิตใจ ย่อมกระทำการใดใดไปตามความกลัวนั้น อาจสู้กับอีกฝ่ายหรือยอมจำนน แต่หากเรามีสติและฝึกใจมาดี แม้มีภัยอยู่เบื้องหน้า แต่ก็ไม่อาจทำลายความเมตตาลงได้

อาจารย์เซนเหลียงควน นอกจากจะเมตตา เห็นแก่ความทุกข์ยากของอีกฝ่าย พร้อมเป็นผู้เสียสละและมอบของมีค่าแก่ตนให้ ฝ่ายขโมยเองที่เป็นฝ่ายหวาดกลัวและรีบหนีไป ด้วยความละอายแก่ใจและไม่อาจสบตาคุณค่าของชีวิต หากแต่ท่านยังคงนิ่งสงบและห่วงใยอีกฝ่าย ถึงขนาดว่ารู้สึกเสียดายที่ไม่อาจหยิบยื่นสิ่งมีค่ากว่านั้นได้

วัตถุสิ่งของภายนอกที่คนเราอุตส่าห์ขวนขวายให้ได้มา และพยายามรักษาหวงแหนไว้ เป็นแค่สิ่งภายนอกที่ไม่ใช่คุณค่าแท้อะไรแก่ชีวิต หากแต่แสงจันทร์หรือพระธรรมการตื่นรู้ เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่า แต่ท่านอาจารย์ก็ไม่อาจมอบให้แก่ขโมยผู้นั้นได้ หากเขาไม่แหงนหน้ามองเอง

นี่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ฝึกปฏิบัติ เพื่อการละวางและไม่กลัว เพราะในเมื่อไม่มีอะไรต้องยึดติด ไม่มีอะไรต้องแสวงหาและรักษาหวงแหนไว้ ความกลัวก็ไม่เกิดขึ้นในจิต จะรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เป็นเพียงตามธรรมชาติ

การเมตตาแม้แต่คนที่หวังทำร้ายเรา ทำให้ใจเราร่มเย็นและเป็นสุข อีกทั้งอาจช่วยชีวิตอีกฝ่ายให้สำนึกในความดีและคุณค่าที่เขามี หลายครั้งไม่ใช่น้อยที่เราได้ยินว่าการให้โอกาสคนกลับตัวกลับใจ ช่วยคืนคนดีสู่สังคมได้มากเพียงใด แต่การลงโทษและประณาม กลับยิ่งเพิ่มผู้ร้ายในสังคมมากขึ้น

รวมทั้งเพิ่มตัวร้าย คือ กิเลส ในตัวเราอีกด้วย ทั้งกลัว หลง และโลภ เราเองมีอยู่กันไม่น้อยไปกว่าโจรผู้ร้ายเลย

มองให้เห็นความทุกข์ของอีกฝ่าย แล้วใจเราจะเปี่ยมด้วยความรักเสมอ

 

นิทานเรื่องนี้ยังมีอีกเรื่องราวหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน หากแต่เป็นพระอาจารย์เรียวกัน ซึ่งพำนักอยู่บนกระท่อม อยู่อย่างยากจนและสมถะเช่นกัน ท่านมีสิ่งของเพียงไม่กี่ชิ้น คือจานชามทั้งหลาย

คืนหนึ่งท่านพบว่า ขโมยได้นำจานชามเหล่านี้ไปสิ้น แต่เมื่อท่านเหลียวมองที่หน้าต่างกลับพบว่ายังมีดวงจันทร์ จึงแต่งบทกวีไว้ว่า

“ดวงจันทร์ภายนอกหน้าต่าง
มิได้ถูกขโมยไป
โดยน้ำมือโจร”

 

แม้เราถูกพรากจากสิ่งที่รักที่หวงแหนไป คุณค่าแท้ยังคงมีอยู่ในตัวเราและชีวิตเสมอ สิ่งของภายนอก รวมทั้งเปลือกทั้งหลายในชีวิตก็ด้วย มิใช่คุณค่าแท้ที่เราควรใส่ใจ

ขโมยหยิบของไปจนหมดสิ้น หน้าต่างยังมีดวงจันทร์ปรากฏ งดงามจับใจ ด้วยหัวใจที่ไม่ยึดติด

สิ่งต่างๆ ในชีวิตต่างเวียนว่ายไปตามหลักความจริงทั้งสามประการ คือ ไตรลักษณ์ นั่นคือ ไม่แน่นอน มีความเสื่อม และ ไม่ใช่ตัวตน ประหนึ่งจานชามทั้งหลายในกระท่อมของท่านเรียวกัน แต่พระธรรมคุณค่าแท้จริง จะยังคงอยู่ตรงนั้น นอกหน้าต่างหรือเรียกว่านอกการยึดติดของจิตใจ หากเราเอาแต่จม มัวครุ่นคิดรำพันถึงสิ่งที่หาความแน่นอนไม่ได้เลย เราย่อมเป็นทุกข์โทมนัส และหลงลืมแสงจันทร์ที่ยังอาบไล้กายใจเราอยู่

มัวแต่หมกมุ่นมองแต่ตนเอง เราก็จะเห็นเพียงอัตตาตัวตนที่ยึดมั่น มองแต่สิ่งที่กลัวก็จะเห็นแต่ความกลัวนั้น จนเราพาใจละสายตาออกมา ทางแก้ทุกข์นั้นก็อยู่ใกล้แค่นี้

พาจิตและสายตาแหงนหน้าขึ้นมา แล้วเราจะเห็น