สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากปฏิทิน

 

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นครูแก่หัวใจที่พร้อมจะเรียนรู้ ปฏิทินที่อยู่กับมนุษย์มาปีแล้วปีเล่าก็เช่นกัน ลองมองเขาอย่างพินิจใส่ใจ นอกจากวันเดือนปี วาระสำคัญ หรือนัดหมายที่เขาบอกกับเราแล้ว สิ่งใดที่เราอาจเรียนรู้ได้จากปฏิทิน

 

1 ความสัมพันธ์ที่ดีไม่จำเป็นต้องมีตลอดไป

ทุกอย่างมีวาระของตนเอง สิ่งดีๆ ล้ำค่า ใครบางคน หรือบางสิ่งที่ดีต่อใจ แค่มาอยู่กับเราเพียงชั่วคราว
คนที่ช่วยเหลือเรา รักกัน ส่งเสริมเกื้อกูลดูแล แต่งงาน หรือเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิต พวกเขามีวาระของตนเองดั่งเช่นปฏิทิน อาจสั้นกว่าหนึ่งปี อาจยาวกว่าหนึ่งปี แต่เมื่อถึงเวลาแล้วก็หมดหน้าที่ของเขา
เราอาจมิได้อาลัยอาวรณ์เมื่อต้องทิ้งปฏิทินปีเก่าไป เพราะเห็นว่าเป็นเพียงวัตถุสิ่งของ หาใหม่ได้ไม่ยาก เก็บไว้ก็ใช้งานมิได้แล้ว
แต่เขาก็เป็นตัวแทนของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตที่เข้ามาหาเรา อยู่กับเรา ช่วยเหลือดูแล เคียงข้างกัน หรือทำหน้าที่ของตนเองที่มีต่อเรา ในวาระหนึ่งเท่านั้น
เมื่อหมดวาระและหน้าที่ของกันแล้ว ความสัมพันธ์นั้นก็จะจบลงหรือจากกัน
ทุกคนและทุกสิ่ง ต่างโคจรมาหาเราด้วยแรงดึงดูดของหน้าที่บางอย่าง ปฏิทินเองก็มาอยู่ด้วยกันกับเราเพราะหน้าที่ นอกจากบอกวันเดือนปีแล้ว อาจทำหน้าที่แทนสะพานหัวใจ แทนความห่วงใยจากใครบางคนที่มอบให้แก่เรา หรืออาจทำหน้าที่ส่งต่อข้อคิดกับภาพเตือนใจ ผ่านเนื้อหาที่สอดแทรกบนปฏิทินด้วยก็ได้
แม้แต่คนที่ไม่ชอบใจ สิ่งที่เลวร้าย ต่างก็โคจรมาหากายใจนี้เพื่อทำหน้าที่บางอย่างที่มีแก่กัน
เพียงชั่วคราวเท่านั้น ก่อนจากลา
เราไม่ได้ชี้วัดว่าปฏิทินที่มีค่าจะต้องอยู่กับเราตลอดไป ไม่ได้บอกว่าปฏิทินนี้แย่หรือไม่เพียงเพราะว่าอยู่ด้วยกันแค่หนึ่งปี
ความสัมพันธ์ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน เรามิอาจตัดสินว่าความสัมพันธ์นั้นแย่เพียงเพราะว่าอยู่ด้วยกันแค่ปีเดียวหรือแค่ชั่วคราว
เพราะทุกสิ่งต่างมาทำหน้าที่ที่สำคัญบางอย่างกับชีวิตเราเพียงชั่วคราวทั้งสิ้น
คนที่เคยพูดคุยกัน ดูแล ทำร้าย เกลียดชัง หรือรักก็ตาม อาจถือได้ว่าพวกเขารับภารกิจบางอย่างจากจักรวาล เป็นตัวแทนของธรรมชาติมาสอนเรา หรือทำภารกิจบางอย่างด้วยกัน
เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็ย่อมถูกเรียกตัวกลับไป ทำหน้าที่อื่นของเขาต่อ
ช่วงเวลาที่ล้ำค่าไม่จำเป็นต้องเนิ่นนาน การดำรงอยู่ระหว่างกันไม่ได้ชี้วัดที่ระยะทางเสมอไป
ปฏิทินที่อยู่กับเราเพียงแค่หนึ่งปี หรือบางทีก็น้อยกว่านั้น ช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันก็มีคุณค่ามากแล้ว
กล่าวในทางพุทธศาสนา การมาเจอกันและทำหน้าที่ต่อกันก็เรียกว่า มีกรรมต่อกัน มาเจอกันก็ด้วยกรรม จากกันก็ด้วยกรรม
“กรรม” ก็คือเหตุและปัจจัยทั้งหลาย รวมทั้งการกระทำของตนเองด้วย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เชื่อมร้อยพวกเราไว้ดั่งสายใย ทำให้เจอสิ่งที่ต้องเจอ กระทำสิ่งที่ต้องกระทำ
จึงเรียกว่าเจอกันก็มี “เหตุผล” จากกันก็มี เหตุผล หรือจะเรียกว่า หน้าที่ ก็ได้
ครั้นพระพุทธเจ้าใกล้จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระอานนท์ผู้เป็นศิษย์เอกที่ติดตามรับใช้ท่านมานานก็รู้สึกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก แอบไปร้องไห้คร่ำครวญแต่เพียงลำพัง ท่านรู้สึกว่าตนเองยังต้องปฏิบัติอีกมากเพื่อหลุดพ้น แต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงคอยชี้แนะมาโดยตลอดต้องจากไปแล้ว
เหมือนการสูญเสียที่พึ่งพิงที่สำคัญยิ่งของชีวิต
เมื่อพระองค์ทรงทราบก็ตรัสเรียกพระอานนท์เข้าพบ แล้วทรงกล่าวว่า
…อย่าได้เศร้าเสียใจ ร่ำไรไปเลย ที่ผ่านมาพระอานนท์ได้อนุเคราะห์ดูแลท่านอย่างดีแล้ว ด้วยกาย วาจา และใจอันเปี่ยมด้วยเมตตา…
…ความเป็นไปต่างๆ ความพลัดพราก และความเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ชอบและพอใจ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้…
…ในอดีตก็มีพระพุทธเจ้า และมีผู้ปฏิบัติรับใช้ท่านเหมือนพระอานนท์ทำ ในอนาคตข้างหน้าก็มีพระพุทธเจ้า และมีผู้ปฏิบัติรับใช้เช่นนี้ พระอานนท์ผู้มีปัญญาพึงรู้ว่า มันเป็นเพียงกาลเวลาเท่านั้น เป็นเพียงวาระโอกาสเท่านั้น… *(1)
แม้พระพุทธเจ้าจะทรงคอยชี้แนะพระอานนท์เพียงชั่วคราว แต่ช่วงเวลานั้นก็มีคุณค่ามากมหาศาล มิเพียงกับพระอานนท์เท่านั้น แต่ยังมีคุณค่ากับมนุษย์คนอื่นๆ ในเวลาต่อมาอีกด้วย
ปฏิทินผู้มาเพียงหนึ่งปีหรือน้อยกว่าก็อาจทำให้เรารู้คุณค่าของวันเวลาที่มี มิว่าเวลานั้นจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม
ความสัมพันธ์ที่ดี การมาอยู่ของสิ่งล้ำค่า มิจำเป็นต้องชั่วนิรันดร์

 

2 อยู่กับ กรอบ หรืออยู่ใน กรอบ

ปฏิทินเป็นสิ่งที่สอนเราอย่างดีว่า ชีวิตจำเป็นต้องมีกรอบบ้าง แล้วเราก็สามารถอยู่กับการมีกรอบได้ โดยไม่รู้สึกอึดอัดใจ
หลายๆ คนไม่ชอบการถูกบังคับกะเกณฑ์หรือการถูกตีเส้นล้อมตนเองไว้ แต่กลับสามารถใช้ปฏิทินซึ่งมีกรอบมากมายโดยไม่ทุกข์ร้อนอะไร
กรอบในที่นี้นอกจากช่องตารางที่จัดวางวันเดือนปี ยังหมายถึงรูปแบบหรือระบบระเบียบที่ตายตัว ซึ่งทุกปฏิทินจะมีอยู่ แม้ว่าจะมีเส้นหรือไม่มีเส้นให้เห็นก็ตาม
หากชีวิตไม่มีกรอบหรือระเบียบเลย เราก็ย่อมไม่มีปฏิทินให้ใช้ รวมทั้งสิ่งของอื่นๆ ที่เราใช้จนเคยชินในชีวิตอีกด้วย เช่น คอมพิวเตอร์ นาฬิกา เกมกระดาน จนถึงอาคารบ้านเรือน
ในขณะเดียวกันการมีปฏิทินเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าจริงๆ แล้วเราอยู่ร่วมกับการมีกรอบได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์
ลองสังเกตดูว่า ในช่องต่างๆ นั้นเอง มีความว่าง ตัวหนังสือ และตัวเลข แต่ไม่ได้มีหัวใจของเราอยู่ในนั้น ไม่ได้มีตัวตนของเราอยู่ในนั้น
เราอยู่ร่วมกับกรอบและกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราเปลี่ยนแบบแผนที่ปฏิทินตรงหน้ามีอยู่ไม่ได้
แต่เราอยู่ใกล้ๆ กับเขาได้ และไม่เป็นอะไรเลย
ปฏิทินไม่เคยทำให้เราเป็นทุกข์ เพราะเรารู้ดีว่า แผ่นกระดาษตรงหน้าเพียงทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์ มิได้ทำตามใจเราหรือไม่ทำตามใจใคร เราไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น และไม่ได้ใช้ความคาดหวังของตนต่อปฏิทินอีกด้วย
กฏเกณฑ์ต่างๆ บนโลกใบนี้ บางอย่างก็เปลี่ยนแปลงได้ เช่น กติกาที่เป็นข้อตกลงร่วม หรือการวางแผนของเราเอง สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้
กฏเกณฑ์บางอย่างก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง เช่น รูปแบบชีวิตที่มีการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ความไม่แน่นอนของทุกสิ่งทุกอย่าง กฏแห่งธรรมชาติที่มีการได้มาก็ต้องมีการเสียไป เป็นต้น
มนุษย์เป็นทุกข์และอึดอัดใจเพราะสาเหตุหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการพยายามเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง และการเอาใจตนหรือเอาตัวตนของตนเองไปขังไว้อยู่ในกรอบ
ทั้งๆ ที่เรา เพียงแค่อยู่ร่วมกับสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง แค่อยู่ข้างๆ กรอบนั้นก็ได้ ไม่ต้องเอาใจหรือตัวตนใส่ไว้ข้างใน
เหมือนกับที่เราอยู่ร่วมกับปฏิทินปีแล้วปีเล่า เราเปลี่ยนให้มีวันเพิ่มหรือลดตามใจชอบไม่ได้ ย้ายวันจันทร์มาอยู่หลังวันอังคารไม่ได้ ลบวันใดวันหนึ่งออกไม่ก็มิได้
จะมีความสุขหรือมีความทุกข์ก็อยู่ที่ตัวเราเองมิใช่ปฏิทินหรือความจริงที่เป็นอยู่
ปฏิทินเองไม่เคยเป็นทุกข์เพราะมีกรอบและระบบระเบียบต่างๆ ที่ผูดมัดตัวเขาไว้ มิอาจเปลี่ยนแปลง หากพิจารณาให้ดี เราก็สามารถทำได้เช่นกัน
พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้เกี่ยวกับ…
…การติดใจและการหลงใหลเพลิดเพลินในการรับรู้ทั้งหลาย เป็นสาเหตุของความทุกข์ และเป็นตัวบังคับกะเกณฑ์เรา ทำให้เกิดความหวงแหน ความผิดหวัง การทะเลาะวิวาท สงคราม การทำร้ายซึ่งกันและกัน การขโมยแย่งชิง และการทำผิดทางกาย วาจา และใจทั้งปวง
…มีเหตุเริ่มจาก “กาม” คือความเพลิดเพลินหลงใหลไปกับการรับรู้ต่างๆ เป็นตัวบังคับเราให้เป็นทุกข์ บังคับให้ต้องเสาะแสวงและคาดหวัง *(2)
มิใช่กรอบจากภายนอกที่บังคับเรา แต่เป็นกรอบภายในที่เราสร้างขึ้นเองด้วยใจผูกมัด
เมื่อมีความอยากและความคาดหวังเราก็ติดอยู่ในกรอบแล้ว มิใช่การถูกบังคับจากคนอื่นเลย
บางเรื่องเราไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย หรือไม่เป็นคนเลือก เราก็อย่าไปติดใจกับกรอบเหล่านั้น จนล้อมหัวใจของตัวเองไว้
แค่อยู่ร่วมกับกรอบที่มีในโลก จึงมีความสุข และไม่เบียดเบียนผู้อื่น หากปรารถนาการนอกกรอบ ก็ไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปติดในกรอบใดตั้งแต่ต้น

 

3 คุณค่าของทุกอย่างไม่ได้มีแค่อย่างเดียว :

ปฏิทินที่หมดปีแล้ว มักกลายเป็นของสิ่งหนึ่งที่ถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ เพราะแทบใช้ทำอะไรไม่ได้แล้ว ถ้ามิได้นำมาประดิษฐ์หรือตัดแต่ง แต่อย่างไรก็ตาม มีคนที่ต้องการสิ่งที่เราไม่ต้องการอยู่เสมอ
มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นหนึ่งในองค์กรที่รับบริจาคปฏิทินตั้งโต๊ะ เพื่อนำมาเป็นสื่ออักษรเบรลล์แก่ผู้พิการทางสายตา เปลี่ยนสิ่งของที่ไม่จำเป็นกับคนทั่วไป ให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและส่งเสริมการเรียนรู้แก่บุคคลที่ขาดโอกาส
นอกจากสามารถทำเป็นหนังสือสื่อการเรียนรู้แก่คนตาบอดแล้ว เท่าที่ผู้เขียนสืบค้น พบว่ามีการนำปฏิทินเหลือใช้ไปทำประโยชน์ต่างๆ อีกมาก มิว่าจะเป็นการทำเป็นที่คั่นหนังสือ ซองจดหมาย โมบายห้อยแขวนตบแต่งบ้าน สมุดภาพสำหรับเด็ก โปสการ์ด เป็นต้น
สิ่งที่หมดประโยชน์แล้ว ไม่ได้หมดประโยชน์เสมอไป แม้คุณค่าหลักของปฏิทินตั้งโต๊ะคือการเตือนวันเดือนปีและนัดหมายต่างๆ แต่มิได้แปลว่าเมื่อเขาไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้แล้ว จะไม่มีประโยชน์ใดอยู่เลย
เขายังมีความแข็งแกร่งของเนื้อกระดาษ การตั้งไว้อย่างมั่นคงและเปิดพับอย่างสะดวก ผู้ที่มองเห็นจุดเด่นที่มี ย่อมนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ในเรื่องอื่นๆ อย่างการทำเป็นหนังสืออักษรเบรลล์
ปฏิทินแบบอื่นที่ไม่ใช่ตั้งโต๊ะ เช่นแบบแขวน แม้กระดาษจะไม่ได้แข็งแรงเท่า แต่เมื่อฉีกแล้วก็อาจนำไปรีไซเคิลหรือทำประโยชน์อื่นได้ ภาพประกอบที่สวยงามก็อาจเป็นกระดาษห่อของ หรือไว้ประดับบ้าน
คนเราก็เหมือนกัน แม้ไม่สามารถทำหน้าที่หรือใช้ศักยภาพบางเรื่องได้เหมือนแต่ก่อน แม้ไม่อาจทำสิ่งที่ฝันหรือตั้งใจได้ดังเก่า มิได้แปลว่าคนๆ นั้นหมดค่าแล้ว คุณสมบัติที่ดีบางอย่างที่มีอยู่ยังสามารถต่อยอดหรือพลิกแพลงเส้นทางชีวิตไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ได้
คนที่ไม่เห็นคุณค่าเราในวันนี้ อาจเห็นในวันหน้า ยังมีคนอื่นที่เข้าใจอยู่เสมอ ไปอยู่ให้ถูกที่และถูกคน คุณค่าที่มีก็จะถูกขับเน้นขึ้นมาให้เปล่งประกาย
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า…
…คนมีหลายแบบ สนใจความสุขและคุณค่าที่แตกต่างกัน ย่อมคบคนกลุ่มเดียวกัน สนใจเรื่องเดียวกัน เลือกฟังเลือกใส่ใจในระดับเดียวกัน ย่อมไม่เลือกฟัง หรือไม่สนใจใยดีคนกลุ่มอื่น ซึ่งสนใจความสุขและคุณค่าที่ต่ำต้อยกว่า หรือสูงส่งกว่า
…เหมือนก้อนหินที่แตกแล้วขาดออกจากกันไม่ต่อใหม่ เหมือนใบไม้ที่ปลิวขั้วแล้วไม่อาจคงสีให้เขียวสดเช่นเดิม เหมือนคนที่ทานข้าวอิ่มแล้วก็เลิกทาน *(3)
ไม่จำเป็นที่ทุกคนบนโลกต้องเห็นคุณค่าในตัวเรา ถ้าเขาไม่ใช่คนที่พร้อมหรือสนใจเหมือนกันกับเรา
ไม่จำเป็นที่คนอื่นเมื่อเห็นคุณค่าของเราแล้ว จะต้องเห็นคุณค่าของเราตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง
ปฏิทินยังไม่เคยเรียกร้องหรือคาดหวังเรามิให้ทอดทิ้งเขาไปในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อถึงเวลาที่ต้องจากกันเหมือนก้อนหินที่แตกออก เหมือนใบไม้ที่หลุดจากขั้ว และเหมือนคนกินข้าวที่อิ่มแล้ว
ย่อมต้องเปลี่ยนแปลง ต้องพลัดพรากไปตามหน้าที่ และกรรมกำหนด
ไม่เว้นแม้แต่ข้อดี จุดเด่น หรือความสามารถที่เรามีในวันนี้ ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงในวันหน้า เช่นเดียวกันกับหน้าที่บอกวันเดือนและเตือนใจของปฏิทิน มิอาจหนีพ้นกฏไตรลักษณ์ : อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
การรักษาสิ่งดีๆ ที่ยังมีอยู่ในตัวเรา หรือค้นหาสิ่งที่รอการค้นพบอยู่ ย่อมช่วยให้เราก้าวต่อไปได้ และเห็นคุณค่าในตัวเอง แม้ไม่ได้เป็น ไม่ได้มี หรือไม่อาจทำได้ เช่นในอดีตอีกแล้ว
อย่ามัวแต่รอคอยสิ่งนอกตัวหรือใครบางคนให้เห็นคุณค่าในตัวเรา จนทำตัวเป็นปฏิทินที่หมดอายุไปตามเวลาแล้วลงไปในถังขยะ
ดำรงอยู่ด้วยความเชื่อมั่นในคุณค่าแท้ที่มีภายใน พร้อมต้อนรับการเปลี่ยนแปลง ด้วยความเข้าใจและการปรับตัว เข้าใจความหมายที่ตนเองมี ซึ่งไม่ผูกติดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น

 

4 จงซื่อสัตย์กับวันเวลา :

หนึ่งสิ่งที่ปฏิทินทำหน้าที่เป็นแบบอย่างให้แก่เราอย่างดีมาก คือการซื่อตรงต่อวันเดือนปี
นาฬิกายังมีเร็วไป มีช้าไป มีหยุดเดิน แต่ปฏิทินมิเคยเป็นเช่นนั้น ตลอดวาระที่เขายังทำหน้าที่ของตนเอง
ความซื่อสัตย์ของเขานั้นยังทำให้เราผู้ใช้ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ไม่ผิดนัด ไม่คลาดวัน ไม่หลงเดือน
กล่าวได้ว่าความซื่อสัตย์ของคนๆ หนึ่ง ทำให้คนอื่นๆ ซื่อตรงและทำหน้าที่ของตนเองไม่ผิดเพี้ยน
การซื่อสัตย์ต่อวันเวลาของปฏิทิน ทำให้เรามีโอกาสใช้วันเวลาที่มีได้อย่างมีค่าและเหมาะสมต่อสถานการณ์
การซื่อสัตย์ต่อวันเวลาของตัวเราเอง ย่อมทำให้เราและคนอื่นๆ ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าที่สุดในวันเวลาที่มี
คนบางคนไม่รู้กาละเทศะ ไม่รู้การทำสิ่งที่เหมาะสมแก่ช่วงเวลา รีบทำในสิ่งที่ควรรีบ ผัดผ่อนสิ่งที่ควรเร่งด่วน ไม่รู้ว่าควรทำอะไรตอนไหน จัดลำดับชีวิตยากลำบาก ฯ เป็นเพราะเขายังไม่ซื่อสัตย์วันเวลา คืออยู่กับปัจจุบันไม่เป็น และขาดความระมัดระวังในกาล
มีพุทธสุภาษิตในพระไตรปิฎก ดังนี้…
…ผู้ใดรีบด่วนในเวลาที่ควรช้า และช้าในเวลาที่ควรรีบด่วน ผู้นั้นเป็นคนพาล ย่อมประสบทุกข์ เพราะไม่จัดแจงโดยอุบายอันชอบ ประโยชน์ของผู้นั้นย่อมเสื่อมไป เหมือนพระจันทร์ข้างแรม เขาย่อมถึงความเสื่อมยศ และแตกจากมิตรทั้งหลาย
…ผู้ใดช้าในเวลาที่ควรช้า รีบด่วนในเวลาที่ควรรีบด่วน ผู้นั้นเป็นบัณฑิตถึงความสุข เพราะได้จัดแจงโดยอุบายอันชอบ ประโยชน์ของผู้นั้นย่อมบริบูรณ์ เหมือนพระจันทร์ข้างขึ้น เขาย่อมได้ยศได้เกียรติคุณ และไม่แตกจากมิตรทั้งหลาย *(4)
บางครั้งเราก็อาจพลั้งเผลอ รีบด่วนในสิ่งที่ควรช้า หรือช้าในสิ่งที่ควรเร่งด่วน เพราะในขณะนั้น เราไม่ได้ทำใจให้ตรง มีความอยาก มีอารมณ์ หรือความคาดหวัง บิดใจเรามิให้ซื่อต่อปัจจุบัน
กล่าวโดยง่ายว่า เพราะมิได้มีสติอยู่กับปัจจุบัน จิตใจจึงคดงอและผิดเพี้ยนต่อวันเวลาไป
จริงๆ แล้วเราก็เรียนรู้จากปฏิทินได้เช่นกันว่าเหตุใดเขาจึงไม่ผิดเพี้ยนเลย จึงซื่อสัตย์ต่อวันเวลาตราบอายุการใช้งานได้ตลอด
เหตุหนึ่งก็เพราะว่าคนที่ทำปฏิทินหรืออุปกรณ์ที่ทำนั้น มีความไม่ประมาท มีความซื่อตรง มีระบบระเบียบในการทำปฏิทินขึ้นมา และมีความสม่ำเสมอ
การดำรงอยู่ของปฏิทินก็มิได้ดำรงอยู่เพราะความอยากหรือความคาดหวัง มีความเป็นกลางและสงบจากความรุ่มร้อนทั้งหลาย เขาจึงไม่แปรผันไปจากหน้าที่ที่เขามี
หากเรามีสิ่งเหล่านี้ในการทำกิจต่างๆ ในชีวิต กิจเหล่านั้นก็ย่อมซื่อสัตย์ต่อวันเวลาเฉกเช่นปฏิทินด้วยเช่นกัน

อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 58

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/

> > > สามารถสนับสนุนโครงการ ผ่านคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

——>
สำหรับผู้สนใจบริจาคปฏิทินตั้งโต๊ะ หรือสิ่งของอื่นๆ เพื่อให้มูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ ติดต่อโดยตรงที่ 420 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ : 0-2354-8365-68, 0-2354-8370-71 https://www.facebook.com/blindth/
<——

อ้างอิง
* (1) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค ๓. มหาปรินิพพานสูตร (๑๖) [๑๓๕]
* (2) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๓. มหาทุกขักขันธสูตร ว่าด้วยกองทุกข์ใหญ่ เรื่องอัญญเดียรถีย์ [๑๙๘]
* (3) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ๕. สุนักขัตตสูตร (๑๐๕) [๗๑]
* (4) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา ๗. สัมภูตเถรคาถา สุภาษิตชี้ลักษณะคนพาลและบัณฑิต [๓๒๙]