ร่มเย็น เป็นสุข รับปีใหม่(ไทย)

 

“ร่มเย็น เป็นสุข รับปีใหม่(ไทย)
ด้วยน้ำใจ-น้ำจิต คิดเกื้อหนุน
ด้วยน้ำพัก-น้ำแรง ที่สมดุล
ด้วยน้ำคำ เป็นคุณ ให้แก่กัน

สรงน้ำพระ ส่งใจ กลับในตัว
ให้เย็นทั่ว กายใจ ไม่หุนหัน
อาบน้ำใคร อาบใจ ในปัจจุบัน
ย้อนมองขัน(ธ์) ดูใจ อยู่ง่ายงาม ฯ”

 

บอกเล่าจากผู้เขียน :

ผู้ใดมีน้ำใจและน้ำจิต คิดเกื้อหนุน แบ่งปัน ทำทาน หวังส่งเสริมผู้อื่น ฯ ผู้นั้นย่อมมีใจที่สงบเย็น เพราะจิตที่คิดให้เป็นจิตที่สบายกว่าจิตที่คิดจะรับ จิตที่หวังได้มาได้มีย่อมรุ่มร้อนกระวนกระวาย จิตที่หวังให้จะผ่อนคลายและสบายใจ ยกเว้นเสียว่าจะคิดให้เพื่อหวังการตอบแทน เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นความเย็นเร้นความร้อน แอบกระวนกระวายไม่เป็นสุข มิว่าผลตอบแทนที่หวังนั้น จะได้รับหรือจะมิได้รับในท้ายที่สุดก็ตาม

น้ำพัก และ น้ำแรง ต้องสมดุล จึงจะเป็น “สัมมาวายามะ” แปลว่ามีความเพียรที่ถูกต้อง หากพักผ่อนและทำใจผ่อนคลายเกินไปจนหย่อนยาน การงานต่างๆ ย่อมไม่เกิดผล เช่นนั้นแล้วก็จะนำมาสู่ความทุกข์ร้อนใจไม่เป็นสุขในภายหน้า แต่หากน้ำแรงมีมากเกินไปมิรู้จักหยุดพักผ่อน เช่นนั้นแล้วจิตใจก็จะเต็มไปด้วยความรุ่มร้อนเพราะความเครียด น้ำพักและน้ำแรง จึงเป็นความสมดุลของชีวิตที่ต้องดูแลให้เกื้อหนุนกัน ชีวิตจึงจะร่มเย็นเป็นสุข

น้ำคำ ที่เป็นคุณให้แก่กัน เรียกว่า “สัมมาวาจา” คือการสื่อสารที่ถูกต้องเหมาะสม คำพูดที่มิควรพูด เมื่อเอ่ยแล้วใจเราเองก็จะรุ่มร้อนด้วยความทุกข์ สิ่งที่ควรพูดเมื่อพูดแล้วใจเราก็จะอยู่ในความเย็นสบาย การสื่อสารเป็นการสะกดจิตย้อนกลับมาที่ใจของตนเอง หากนำน้ำเดือดหวังจะสาดใส่คนอื่น ไอร้อนนั้นก็แผดเผาทั้งมือและตัวเราตั้งแต่หยิบฉวยภาชนะขึ้นมาแล้ว แต่การนิ่งเฉยไม่สื่อสารในสิ่งที่ควรเปิดใจพูด สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นก้อนถ่านที่ค่อยๆ ลุกโชนเปลวไฟเผาไหม้อยู่ในใจตนเอง น้ำคำที่ทำให้ชีวิตเราร่มเย็น จึงเป็นการสื่อสารที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

“กรรม” หรือการกระทำทั้งหลาย เป็นการโปรแกรมกายใจตัวเราเองด้วยกันทั้งสิ้น กล่าวคือ ทำสิ่งใดแล้วสิ่งนั้นก็จะให้ผลกับกายใจของตนเอง การสรงน้ำพระ นอกจากเป็นการเตือนให้เราทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ก็ยังเป็นการโน้มน้าวใจให้กลับมาหาความร่มเย็นเป็นสุขด้วยพระธรรมคำสอน และกลับมารดน้ำหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธภาวะที่มีอยู่ในตัวเราด้วยการทำจิตภาวนา ด้วยการฝึกสมาธิให้จิตใจสงบ เป็นต้น

ขณะเราตักน้ำด้วยขันเงินขันทองแล้วรดรินน้ำลงองค์พระ หากไม่ส่งจิตคิดถึงเรื่องต่างๆ แล้วน้อมนำใจอยู่กับตนเอง การสรงน้ำพระก็จะโปรแกรมจิตให้เรามีกายใจผ่อนคลายและสงบเย็นในตอนนั้น เป็นการภาวนาย่อมๆ ไปพร้อมกับพิธีกรรมตามวัฒนธรรมไทย น้ำที่ชำระฝุ่นต่างๆ บนผิวพระพุทธรูปให้หลุดลงและดูเย็นตาเย็นใจขึ้นฉันใด จิตที่ภาวนาชำระความนึกคิดของตนเองย่อมใสสะอาดและปราศจากฝุ่นชื่อ “นิวรณ์” ฉันนั้น การสรงน้ำพระก็เป็นการฝึกปล่อยวางในแง่มุมนี้

การอาบน้ำหรือล้างเท้าให้ผู้ใหญ่ ก็เป็นการทำชีวิตของเราให้ร่มเย็นเป็นสุขขึ้นได้ หากในการรดน้ำดำหัวท่านนั้น เราได้กำหนดจิตมีสติอยู่กับตัวและมีสมาธิด้วย “สัมมาสังกัปปะ” เป็นความดำริว่า เรารดน้ำดำหัวและล้างเท้าผู้ใหญ่นี้ เพื่อลดละจากอัตตา คือการถือตนเป็นใหญ่ เพื่อลดละจากความถือดี แข่งดี และความผูกใจพยาบาทกับความบกพร่องไม่สมบูรณ์แบบของท่าน ในฐานะที่ท่านก็เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งที่อาจทำได้ทั้งสิ่งที่เราชอบ ไม่ชอบ เป็นประโยชน์ เป็นโทษ แก่ตัวเราและคนอื่น เราฝึกชำระล้างจิตใจจากการยึดมั่นถือมั่น ต่อความคาดหวังในความสมบูรณ์แบบของคนอื่นลง แม้ล้างได้เพียงเสี้ยวส่วนเดียว ชีวิตก็ร่มเย็นเป็นสุขในหัวใจมากขึ้นแล้ว

เราโปรแกรมจิตตนเองและภาวนาได้ด้วยหลายหนทาง หากมีแนวทางที่ถูกต้องและแก่นที่มั่นคงบนหลัก “อริยมรรค” ถือขันที่น้ำปริ่มล้นก่อนจะรดหรือสาดใส่ใคร มองขันน้ำนั้นให้เหมือน “ขันธ์” ที่ก่อรวมเป็นกายจิต เพ่งพินิจต่อเงาที่สะท้อนจากพื้นผิวของน้ำภายใน ให้เห็นเงาแห่งตัวตนที่ถือมั่นว่าเป็น ฉัน

พลันเมื่อสาดน้ำหรือรดรินออกไปแล้ว นำกลับมาย้อนดูใหม่ให้แลเห็นว่า ยังมี “ฉัน” อยู่ใน ขัน(ธ์) นี้หรือไม่ …ห้วงเวลาสั้นๆ ที่ได้พาใจกลับมาพินิจธรรมเมื่อถือขัน(ธ์) เมล็ดพันธุ์แห่งการปล่อยวางก็ได้รับการรดน้ำให้เติบโตขึ้นอีกนิดหนึ่งแล้ว

 

ครูโอเล่, 13/4/67

สถาบันธรรมวรรณศิลป์

ในคอลัมน์ ไกด์โลกจิต

(www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/)

 

*หากท่านใดสนใจฝึกสมาธิภาวนา เพื่อมุ่งเน้นการปล่อยวาง การละวางกิเลส ความยึดมั่น และตัวตน โดยใช้เครื่องมือการเขียนบันทึกในรูปแบบการเขียนภาวนา ซึ่งเป็นการกำหนดจิตให้เป็นสมาธิด้วยการเขียนควบคู่กับการกำหนดลมหายใจ สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.dhammaliterary.org/meditation-writing/

โดยมีการเปิดอบรมสำหรับบุคคลทั่วไปในรอบออนไลน์ และเปิดอบรมสำหรับองค์กรหรือกลุ่มบุคคลแบบออนไซต์ตามการรับเชิญ โดยมีค่าลงทะเบียนตามกำลังทรัพย์ของผู้เข้าร่วม

 

*สำหรับท่านใดที่สนใจความเชื่อมโยงระหว่างการฝึกจิตแบบตะวันตก ด้วยวิธีการสะกดจิตบำบัด จิตวิทยาควอนตัม และจิตวิทยากระบวนการ กับการฝึกจิตแบบพุทธศาสนาด้วยการภาวนา โดยใช้เครื่องการจินตภาพและการโปรแกรมจิตด้วยเทคนิคต่างๆ ที่มุ่งเน้นการบำบัดเยียวยา การรู้จักตนเอง การค้นหาเป้าหมายกับแนวทางของชีวิต และการฝึกกำลังของจิตใจ สามารถเรียนรู้ได้ในหลักสูตร “ห้องเรียน พลังแห่งจิต” และ “การโปรแกรมจิตตัวเอง” ซึ่งสอนการสะกดจิตบำบัดอย่างตื่นรู้ และสอนการเป็นนายเหนือกายและใจตน

มีค่าใช้จ่ายทั้งแบบมีอัตราค่าลงทะเบียนและตามกำลังทรัพย์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการกุศลของ สถาบันธรรมวรรณศิลป์ สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.dhammaliterary.org/mindpower/ และ www.dhammaliterary.org/self-hypnosis/