สรุปบทเรียน การอบรม “เด็กน้อยภายใน” 2560 (1)

 

สรุป เด็กน้อยภายใน๑

 

 

” เหมือนกับเราได้กลับไปคุยกับเพื่อนเก่าที่อยู่กับเรามาเนิ่นนาน จนเราเกือบจะหลงลืมไป ได้มีโอกาสกลับพูดคุยทำความเข้าใจกัน ทำให้ชัดเจนขึ้น ตกลงกัน และสัญญากันในบางประเด็น ทำให้เราอยากทำงานด้านในกับเด็กน้อยภายในของเราต่อไปและลึกซึ้งมากขึ้น ทำให้เราได้กลับไปคุย ไปค้น ไปใส่ใจกับชีวิตที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจที่มาที่ไปของชีวิตปัจจุบัน รู้จุดดี จุดด้อยของตัวเอง เริ่มเห็นเส้นทางชีวิตชัดขึ้น
.
” เมื่อเราเห็นและเข้าใจตนเองมากขึ้น ก็ทำให้สามารถเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น กำกับอยากแก้ไขคนอื่นน้อยลง กลับหันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้น”
.
คุณอุไรศรี (หมู) อาชีพ รับจ้าง
.
.
” รู้สึกประหลาดใจในกระบวนการ เช่น เขียนสลับมือคุยกัน เหมือนมี 2 คน คือผู้มีปัญหาและผู้แก้ปัญหาอยู่ในคนๆเดียว และที่บันทึกหัวข้อต่างๆสามารถดึงอารมณ์ที่ฝังลึกออกมา เหมือนขุดมาชันสูตรกันอีกสักครั้ง รู้สึกสาหัส และไม่อยากทำต่อก็มี แต่เมื่อบอกตัวเองว่าให้ตั้งใจเรียน ตั้งใจรู้แล้วก็ต้องไม่ละหน้าที่ ที่สุดก็ผ่อนและผ่านไปด้วยดี
.
” บางหัวข้อเปลี่ยนเป็นอารมณ์ฉับพลันได้ กับ หัวข้อ เพิ่มสีสัน รู้สึกขอบพระคุณ ในความเมตตา ของครู ผู้ออกแบบการสอน และ สะท้อน ชี้ทาง ให้เราเข้าไปค้นหาความรู้สึก และความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง ตลอดทั้งการเรียนการสอน รู้สึก “มีหนทาง” มีที่พึ่งภายใน (แม้อาจยังไม่เคลียร์มใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ในบางเรื่องบางมุม ทียังไปไม่ถึง เพราะ เด็กน้อยภายใน ในฐานะผู้คุ้มครอง ก็สร้างกลไกการปกป้องตนเองไว้ไม่น้อย ต้องใช้เวลา ในการค่อยๆเห็น ทำความเข้าใจ และคลี่คลาย ไปทีละประเด็น )
.
” หลังบันทึก รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองมากขึ้น รู้สึกถึงเพื่อนแท้มีอยู่ในตน เด็กน้อยไม่ได้ไปไหน ยังคงอยู่ เกิดเป็นกำลังใจ มีความหวัง ตัวเองก็สามารถเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ ยามไม่มีใครจริงๆ ก็ไม่เป็นไร , รู้สึกถึงการละเลยเด็กน้อยภายในตนไปมาก โดยเอาใจไปใส่ไว้ที่ผู้อื่น ต้องหมั่นตระหนักรู้เท่าทันความคิดให้มากขึ้น , เห็นความกลัว ที่ไม่อยากเผชิญ ไม่อยากเจ็บปวดซ้ำอีก แต่ที่สุด เมื่อได้ผ่อนพัก แล้วลองมองย้อนกลับไปใหม่ ด้วยใจที่เป็นกลางๆ ก็สามารถเกิดความเข้าใจที่มากขึ้น เจ็บปวดน้อยลง , แก้ปม คลี่คลายความรู้สึกติดค้าง เห็นสาเหตุที่มีเราเป็นผู้มีส่วนอยู่ด้วย เข้าใจต่อบุคคล และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากขึ้น , เห็นว่า บางประเด็นเกิดจากความต้องการแท้จริงของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน ไม่ใช่เรื่องใครผิด ใครถูก ใครมีค่า ใครไม่มีค่า ”
.
คุณจินต์ณัชชา (เหล่ง) อาชีพ พนักงานบริษัทเอกชน
.
.
” รู้สึกเบาเหมือนยกภูเขาออกจากอก ความคับข้องใจและความโหยหาความรักในวัยเด็ก ได้รับการเยียวยาและดูแล ความรู้สึกด้านลบในวัยเด็กนั้นลดหายไป
.
” กิจกรรมที่ชอบมากคือการเข้าไปดูแลเด็กน้อยในตัวเราด้วยตัวเราเอง จินตนาการว่าเด็กน้อยอยู่ตรงหน้าเราแล้วเราก็โอบกอด ปลอบโยน ดูแล ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเด็กน้อยคนนั้นได้ถูกรัก ดูแล ปลอบโยนขึ้นมาจริง และทุกๆๆ ครั้งที่อ่อนแอเราจะจินตนาการแบบนี้เสมอ นึกถึงว่าเราได้รับการโอบกอดดูแล มันทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมากจริงๆ ”
.
คุณชิสา (ตาล) อาชีพ แม่บ้าน
.
.
บทเรียนและความรู้สึกจากการอบรม #เด็กน้อยภายใน หลักสูตร “#เขียนเปลี่ยนชีวิต” โดย ครูโอเล่ สถาบันธรรมวรรณศิลป์
www.dhammaliterary.org