แบบฝึกหัด เขียนภาวนา สัปดาห์ 2

 

หัวข้อเลือกปฏิบัติ “เขียนภาวนา”

อ่านจากรูปภาพและข้อความด้านล่าง :

เวลาขั้นต่ำในการปฏิบัติแต่ละหัวข้อคือ 15 นาที

 


 

โจทย์เผื่อเลือก 1  อ่อนน้อม

 

ก่อนเขียน : ก้มหน้าลงต่ำเล็กน้อย หลับตาลง น้อมพาใจระลึกนึกถึง ความอ่อนน้อม ถ่อมตนเปรียบเหมือนกับอะไร นึกเห็นเป็นภาพและความเข้าใจอย่างใส่ใจ จากนั้นแล้วระลึกถึงช่วงเวลาต่างๆ ที่เราทำผิดพลาด สิ่งเหล่านั้นเราทำอะไร/รู้สึกอย่างไร แล้วจึงชวนใจทบททวนว่า มีช่วงเวลาใด ที่เราพบเจอสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง หรือตระหนักถึงบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตน ทั้งด้านรูปธรรมและคุณลักษณะ สัมผัสความรู้สึกในช่วงเวลานั้นด้วยใจ เป็นภาพและความรู้สึก

เมื่อระลึกเสร็จแล้ว ให้นั่งตามปกติและลืมตา

เขียนเฉพาะเมื่อหายใจออกเท่านั้น ขึ้นต้นด้วยวลีที่กำหนดให้ดังนี้  “ฉันตัวเล็กฉันสำรวม… ”

(ไม่จำเป็นต้องเขียนจากขั้นตอนแรก , ต้องใช้วลีที่กำหนดซ้ำหลายครั้ง)

 

 

โจทย์เผื่อเลือก 2  ภาระความรู้

 

ก่อนเขียน : หลับตาลง น้อมพาใจระลึกนึกถึง ช่วงเวลาที่เรา… รู้สึกว่าฉันรู้ หรือเชื่อว่าฉันรู้… มิว่าเรื่องใดก็ตาม

ทบทวนประสบการณ์เหล่านั้น ความรู้สึกว่า ฉันรู้ หรือเชื่อว่าฉันรู้… มันทำให้เรา รู้สึกอย่างไร เป็นอย่างไร

 

เมื่อระลึกเสร็จแล้ว ให้นั่งตามปกติและลืมตา

เขียนเฉพาะเมื่อหายใจออกเท่านั้น ขึ้นต้นด้วยวลีที่กำหนดให้ดังนี้  “ฉันรู้ฉันติดกับ… ”

(ไม่จำเป็นต้องเขียนจากขั้นตอนแรก , ต้องใช้วลีที่กำหนดซ้ำหลายครั้ง)

 

 

 

โจทย์เผื่อเลือก 3 มีพอและไม่จำเป็น

 

ก่อนเขียน :  นั่งอย่างผ่อนคลายและมั่นคง หลับตาลง น้อมพาใจระลึกนึกถึง ความอยากได้ อยากมี และอยากเป็นที่ผ่านมา แล้วมันทำให้เรามีความสุขและเป็นทุกข์อย่างไร

 

เมื่อระลึกเสร็จแล้ว ให้นั่งตามปกติและลืมตา

เขียนเฉพาะเมื่อหายใจออกเท่านั้น ขึ้นต้นด้วยวลีที่กำหนดให้ดังนี้

ฉันมี (หรือ สามารถ)…พอ ฉันไม่จำเป็น… ”

(ไม่จำเป็นต้องเขียนจากขั้นตอนแรก , ต้องใช้วลีที่กำหนดซ้ำหลายครั้ง)

 

 


 

โจทย์เพิ่มเติม

สำหรับเผื่อเลือกเป็นการบ้านระหว่างสัปดาห์

สามารถเลือกหัวข้อก่อนหน้าที่ยังไม่ได้ทำ หรือเลือกจากหัวข้อใหม่ด้านล่าง

เวลาขั้นต่ำในการปฏิบัติแต่ละหัวข้อคือ 15 นาที ปฏิบัติแล้วกรอกแบบฟอร์มเดิม

 

 

โจทย์เผื่อเลือก 4  ทำอย่างไม่ทำ

 

“ทำอย่างไม่ทำ”
ส่วนหนึ่งจากบทกวีของ เล่าจื้อ


ทำอย่างไม่ทำ
พยายามอย่างไม่พยายาม
ลิ้มรสอย่างไร้รส
ทำเล็กให้ใหญ่
ทำน้อยให้มาก
รับเจตนาร้ายด้วยคลองธรรม
แก้เรื่องยากขณะที่ยังง่าย
ทำงานใหญ่ขณะที่ยังเล็ก
ปัญหายากของโลก
ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ยังง่ายอยู่
กิจใหญ่ของโลกต้องเริ่มต้นตั้งแต่ยังเล็กอยู่
ดังนั้น ผู้รู้แจ้ง
ไม่พยายามทำการใหญ่
แต่งานใหญ่ต่างสำเร็จลงได้
คนรับปากง่าย
เชื่อใจยาก
ถ้าคิดว่าทุกเรื่องง่าย
ย่อมพบว่าทุกเรื่องยาก
ผู้รู้แจ้งจึงถือว่าทุกอย่างเป็นเรื่องยาก
เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเรื่องที่ยากเกินไป

ก่อนเขียน :

อ่านบทกวีข้างต้นอย่างมีสติ ซึมซับความหมายด้วยหัวใจและการใคร่ครวญอย่างมีสมาธิ แล้วเลือกส่วนใดส่วนหนึ่งของบทกวีนี้ เป็นวรรควลีหรือคำขึ้นต้นบันทึก

เช่น “แก้เรื่องยากขณะที่ยังเล็ก…”

 

เขียนเฉพาะเมื่อหายใจออกเท่านั้น ขึ้นต้นด้วยวลีที่ตนเองเลือก ใคร่ครวญบทเรียนจากบทกวีหรือสิ่งที่ฉุกนึกขึ้น เชื่อมโยงกับชีวิตตนเอง

(ใช้วลีที่กำหนดซ้ำหรือไม่ก็ได้)

 

 

โจทย์เผื่อเลือก 5  ฝนอิฐเป็นกระจกเงา

 

“ฝนอิฐเป็นกระจกเงา”
ส่วนหนึ่งจากบทกวีของ พุทธทาส


ศิษย์วอนถามอาจารย์ฐานร้อนใจ
“ทำอย่างไรไปนิพพานอาจารย์ขา ?”
“อ๋อ มันง่าย นี่กระไรบอกให้นา
คือคำว่า ฝนอิฐเป็นกระจกเงา”
“อาจารย์ครับเขาคงว่าเราบ้าใหญ่
แม้ฝนไป ฝนไป ก็ตายเปล่า”
“นั่นแหละเน้อมันสอนให้แล้วไม่เบา
ว่าให้เราหยุดหาหยุดบ้าไป
ไม่มีใครฝนอิฐเป็นกระจก
ไม่ต้องยกมากล่าวเข้าใจไหม
นิพพานนั้นถึงได้เพราะไม่ไป
หมดตนไซร้ว่างเห็นเป็นนิพพาน
ถ้าฝนอิฐก็ฝนให้ไม่มีเหลือ
ไม่มีเชื้อเวียนไปในสงสาร
ฝนความวุ่นเป็นความว่างอย่างเปรียบปราน
ฝนอิฐด้านให้เป็นเงาเราบ้าเอง”

ก่อนเขียน :

อ่านบทกวีข้างต้นอย่างมีสติ ซึมซับความหมายด้วยหัวใจและการใคร่ครวญอย่างมีสมาธิ แล้วเลือกส่วนใดส่วนหนึ่งของบทกวีนี้ เป็นวรรควลีหรือคำขึ้นต้นบันทึก

เช่น “นิพพานนั้นถึงได้เพราะไม่ไป…”

 

เขียนเฉพาะเมื่อหายใจออกเท่านั้น ขึ้นต้นด้วยวลีที่ตนเองเลือก ใคร่ครวญบทเรียนจากบทกวีหรือสิ่งที่ฉุกนึกขึ้น เชื่อมโยงกับชีวิตตนเอง

(ใช้วลีที่กำหนดซ้ำหรือไม่ก็ได้)