“แข็งขัน” คอลัมน์ ความหลังครั้งยุวชนสยาม #๗

ความหลังครั้งยุวชนสยาม

คอลัมน์ ความหลังครั้งยุวชนสยาม #๗

ตอน “แข็งขัน”

เขียนโดย ประชา หุตานุวัตร

เขียนเสร็จเมื่อปลายเหมันต์ ปี ๒๕๔๘ แก้เกลาใหม่ ตุลาคม ๒๕๕๘

กระท่อมน้อยในทุ่งฝัน ชุมชนฟินด์ฮอน สก๊อตแลนด์

 

ไม่ว่าจะทะเลาะกันอย่างไรก็ตาม พอออกจากค่ายแล้ว  ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็มีสูงมาก แม้คนที่เป็นกำลังหลักหลายคนจะสอบติดมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด แต่ที่เหลืออยู่ในกรุงก็มากพอที่จะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้ ชีรฯไปติดที่เชียงใหม่ ปกรณ์ ติดมอ.สงขลาฯ ป้อม ติดพยาบาลสงขลา  พวกเพื่อนห้องผมและจากเตรียมอุดมฯส่วนใหญ่ติดที่มหิดล รวมทั้งใหญ่ สันติสุข ศุภมิตร และวิญญู กลุ่มใหญ่ที่สุดจากค่ายติดครุศาสตร์จุฬาฯ จำได้ว่า๘ คนด้วยกัน ผู้ชายนั้นนอกจากผมและมนัสแล้ว ก็มีสมพร เพื่อนสนิทที่เรียนด้วยกันมาจากวัดบางปะกอกอีกคน  แต่เขาไปเรียนมัธยมที่วัดมกุฎฯ นอกนั้นก็มีศิริวรรณ จินดาพร อุษณีษ์ และ บุญดี  วรุธติดเกษตร แล้วก็ห่างออกไปเรื่อยๆ ผลการสอบของผมเอง แม้จะบอกว่าไม่ติดยึด แต่ก็ยังผิดหวังอยู่นิดหน่อยที่ไม่ได้ติด ๕๐ คนแรกของประเทศไทย แต่ยังอยู่ในประเภท เกินร้อยละ ๘๐ เข้าใจว่ามีชื่อประกาศลงหนังสือพิมพ์ด้วย อัตตามาถูกชดเชยได้ก็ตรงที่มาสอบเข้าครุศาสตร์ได้เป็นอันดับแรก แต่ก็หลอกตัวเองไม่ได้มาก เพราะตัวเองก็รู้ว่านี่มันไม่มีความหมายอะไรในเชิงเปรียบเทียบ

จำได้ว่าวันแรกที่เข้ามหาวิทยาลัย ต้องมาลงทะเบียน และคณะไม่ได้มีระเบียบที่ดี ต้องแย่งกันลง ใครมาช้าก็อาจจะไม่ได้ลงวิชาที่ตนอยากเรียน เพราะคนลงเต็มก่อน ผมอึดอัดมากกับสภาพแย่งกันเช้าวันนั้นหน้าห้องลงทะเบียน ความอึดอัดนั้นก็ระบายลงในบทความบทแรกที่ผมเขียนลง “ยุวทัศน์” งานชิ้นแรกที่กลุ่มยุวชนตัดสินใจ ทำร่วมกันหลังออกจากค่าย

เราประชุมกันหลายคน หลายครั้งหลังค่ายเรื่องแผนงานของกลุ่ม บางครั้งเวลาประชุม ผมจะรำคาญตัวเองเมื่อประชุมเสร็จ เพราะในที่ประชุมผมจะเถียงกับมนัสมาก คนอื่นไม่ค่อยได้พูดเท่าไร  พอประชุมเสร็จก็รู้สึกแย่กับตัวเองทุกที แต่ดูเหมือนก็แก้ไขไม่ค่อยได้ เพื่อนๆคนอื่นคงจะรำคาญน่าดู

นอกจากเรื่องค่ายแล้ว อีกงานที่พยามยามทำกันก็คือกิจกรรมอาสาสมัครระหว่างโรงเรียนมัธยม ประชุมกันหลายครั้ง รวมทั้งที่โรงเรียนเตรียมฯด้วย เคยวางแผนว่าจะลอกสระที่โรงเรียนเตรียมฯ แต่อาจารย์ใหญ่สมัยนั้นไม่เห็นด้วย คือคุณหญิงบุญเลื่อน เครือตาชู  เท่าที่จำได้ผมเข้าใจว่ามนัสเป็นหลัก ให้เราได้กลับไปที่โรงเรียนสุวรรณารามที่เขาเคยเรียนมัธยมต้น

พร้อมๆกันนี้ผม จำได้ว่าเราพยายามจัดกลุ่มเสวนาฯแบบชมรมปริทัศน์ โดยเชิญรุ่นพี่ที่เรารู้จักจากมหาวิทยาลัยมาคุยด้วย แต่ไม่ได้มีที่ประจำ ที่จำได้คลับคล้ายคลับคลาก็เชิญที่ทวีศักดิ์ หาราชัยจากสภากาแฟเกษตรฯมาคุยกันที่โรงเรียนเตรียมฯ

มาถึงตอนนี้ผมจำได้ว่าตัวเองไม่ค่อยได้กลับบ้านเท่าไร นอนบ้านเพื่อนคนนั้นที่คนนี้ที บ้านสมพรทีวัดบางปะกอกก็ไปนอนบ่อย จนสนิทกับทุกคนที่บ้าน รับผมเหมือนเป็นลูก อีกที่ก็บ้านบรรจงแถวบุคโล แต่จงไม่ได้ร่วมงานกิจกรรมด้วยกัน แต่เราก็สนิทกันมาก

ผลพวงอีกอย่างจากการเข้าร่วมปริทัศน์เสวนาก็คือได้รู้จักกับพระมหาเสถียรพงษ์ วรรณปก(ตอนนั้นยังเป็นพระ) เริ่มจากการอ่านหนังสือของท่านก่อน “ฤาสมัยนี้โลกมันเอียง” แล้วเราก็ตามไปหาท่านตามที่อยู่ จนถึงวัด ปรากฏว่าคุยกันถูกคอ ท่านอารมณ์ขันแบบเยาะชีวิตบางอย่างที่ทำให้น่าคุยด้วย แต่ก็เห็นได้ชัดว่าท่านอัตตาตัวตนใหญ่โตพอสมควร อย่างเช่นผมเห็นหนังสือของเบอทรัล รัสเซลวางไว้บทชั้นหลายเล่ม ผมถามว่าหลวงพี่อ่านหมดหรือครับ

“เปล่าหรอก ตั้งไว้ขู่คน”

หรือตอนที่ผมพูดถึงท่านอาจารย์ พุทธทาส หลวงพี่ก็ว่า “ท่านพุทธทาส สอนเรื่องลดตัวกู-ของกู แต่ตัวตนของท่านก็ใหญ่ไม่ใช่เล่น” เห็นได้ชัดจากท่าทีว่าท่านไม่ลงให้อาจารย์สุลักษณ์ด้วย ผมนับถือท่านอาจารย์พุทธทาสมาก แต่ก็ไม่เสียหายที่จะคบกับคนที่ไม่นับถือท่านเท่าไร สำหรับอาจารย์สุลักษณ์ในช่วงนั้นผมยังไม่รู้จักเท่าไร และคนที่ผมเข้าไปคบหาในกลุ่มปริทัศน์เสวนา ก็มีสองประเภท แต่ทั้งสองประเภททำให้ผมไม่อยากเข้าใกล้แกเกินไป นี่จะได้เล่าต่างหากออกไป สำหรับเรื่องท่านเสถียรพงษ์ในตอนนี้ก็คือในที่สุดท่านตกลงให้ผมเป็นเด็กวัดและให้ใช้คณะสองของท่านเป็นสำนักงาน “ยุวทัศน์”

เล่มแรกที่ออก เรื่องเนื้อหานั้น ช่วยกันเขียน ใหญ่เขียนกวี ดีๆเก็บไว้แล้วหลายบท เราก็เอามาลง ผมเขียนเรื่องการศึกษา จำได้ว่าใช้บทความของ อาจารย์ไพทูรย์ ศิลารัตน์มาก เพราะอ่านแล้วถูกใจ ถูกใจตั้งแต่อ่านจากหนังสือโกมลแล้ว ตอนหลังมาอ่านเพิ่มในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นครั้งแรกที่ผมเขียนความเรียงอย่างจริงจัง และเพิ่มรู้ว่ามันยากกว่าที่คิดไว้มาก อ่านโน่นอ่านนี่ดีๆ แต่ตอนจะเอามาเรียงกันเป็นความนั้นไม่ใช่ง่าย ดัดจริตทำเชิงอรรถเหมือนที่เห็นในสังคมศาสตร์ปริทัศนด้วย  นั่งๆเดินๆอยู่ในห้องสมุดของหลวงพี่นานกว่าจะได้เรื่องได้ราว

มนตรี จึงศิริอาลักษณ์เป็นกำลังในการเอาเข้าโรงพิมพ์ เล่มแรกพิมพ์ที่กราฟิคอาร์ตตรองมุมถนนนเรศนั่นเอง แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอยู่ใกล้บ้าน ส.ศิวรักษ์ ผมได้เรียนกับมนตรีเรื่องการตรวจปรู๊ฟ เรื่องการจัดหน้า และอื่นๆ พอหนังสือออก เราก็แยกกันออกไปขายตามโรงเรียนต่างๆ ที่เราเคยเรียนมา บางครั้งก็ไปยืนขายหน้าโรงเรียน ครั้งแรกที่ผมไปยืนขายคนเดียวก็มีความอายและประหม่าพอสมควร จำได้ว่าถูกพรรคพวกเกนให้ไปยืนขายหน้าโรงเรียนสตรีมหาฤฒาราม

แต่ตอนหลังก็เกือบจะเป็นงานสนุกและงานอาชีพไป เพราะเป็นการหารายได้เข้ากลุ่มในตอนหลังก็ใช้วิธีเดินขายหนังสืออยู่มาก ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดก็ขายเล่มละบาท เป็นหนังสือขนาด ๔ หน้ายก นี่ก็เป็นจารีตของนักกิจกรรมรุ่นพี่ในยุคนั้นที่เราเลียนแบบมาใช้อย่างได้ผล