“จุดเริ่มต้น” คอลัมน์ ความหลังครั้งยุวชนสยาม #๑

ความหลังครั้งยุวชนสยาม

 

คอลัมน์ ความหลังครั้งยุวชนสยาม #๑

ตอน “จุดเริ่มต้น”

เขียนโดย ประชา หุตานุวัตร

เขียนเสร็จเมื่อปลายเหมันต์ ปี ๒๕๔๘ แก้เกลาใหม่ ตุลาคม ๒๕๕๘

กระท่อมน้อยในทุ่งฝัน ชุมชนฟินด์ฮอน สก๊อตแลนด์

 

 

เย็นวันนั้นของเดือนสิ่งหาคม ๒๕๑๔ เป็นเย็นวันสุดท้ายของงานสังคมนิทัศน์ ชีรชัย มฤคพิทักษ์เดินมาหาผมที่ห้องนิทัศน์การเกี่ยวกับสวนโมกข์  มนัส จินตณดิลกกุล เพื่อนๆจากศึกษานารีที่เคยจัดงานของชมรมภาษาอังกฤษ และผมเป็นคนช่วยกันจัดห้องนี้ ชีรชัย ชวนให้มนัสกับผมไปช่วยพูดหาเสียงที่โรงอาหารใกล้ศาลาพระเสร็จในโครงการ “เลือกตั้งจำลอง” ที่เขาและเพื่อนอีกหลายโรงเรียนเป็นคนจัด  เป็นการพูดเกือบจะปิดท้าย จำได้ว่าประเด็นเก๋ของการหาเสียงของคณะนี้ก็คือ ดอกไม้ประจำชาติไทยคือดอกเบี้ย เพราะรัฐกู้เงินต่างประเทศมามาก และงบประมาณจำนวนมากถูกใช้ไปเพื่อชำระดอกเบี้ย คนที่พูดเรื่องได้เด็ดคือพเยาว์ ยรรยงยุทธ์ นักเรียนจากโรงเรียนเอกชนฝั่งธนฯผมจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว

เมื่อชีรชัยมาชวนให้ผมไปพูดนั้น

“เฮ้ย กูพูดไม่เป็นนะเรื่องอื่น พูดได้เรื่องเดียวเรื่องการศึกษา” ผมออกตัวเพราะกำลังตื่นเต้นกับแนวคิดวิพากษ์การศึกษาของท่านอาจารย์พุทธทาส

“เออ นั่นแหละ เอาเลย” ชีฯให้กำลังใจ ที่ผมมั่นใจว่าพูดเรื่องนี้ได้ เพราะตอนนั้นผมกำลังอ่านงานท่านอาจารย์พุทธทาสมาก ท่านก็โจมตีระบบการศึกษามาก เรื่องนี้คงขึ้นสมอง ประเด็นที่พูดก็ไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่า ระบบการศึกษาปัจจุบันทำให้คนเห็นแก่ตัว และทำลายความเป็นมนุษย์อะไรทำนองนั้น ผมคงพูดได้มันพอสมควรเพราะกำลังเบื่อหน่ายกับการแข็งขันในห้องเรียนอย่างยิ่ง อาการเบื่อนี้เป็นมาปีกว่า เริ่มแต่กลางปีก่อน ตอนผมอยู่ม.ศ.๔คือม.๕ในปัจจุบัน

ตอนเดินกลับมาส่งผมที่ห้องนิทัศน์การเพื่อช่วยเพื่อนๆและน้องๆเก็บของต่อ ชีฯปรารภว่า เสียดายที่กลุ่มเลือกตั้งจำลองที่มาจากหลายๆโรงเรียนจะสลายไป อยากตั้งกลุ่มขึ้นเป็นเพื่อเกาะกลุ่มกันไว้ จะได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยกัน

ชีฯกับผมเห็นตรงกันว่าการที่นักเรียนยกพวกตีกันระหว่างโรงเรียนเป็นเรื่องไร้สาระเต็มที ถ้าเรารวมตัวกันข้ามโรงเรียนได้ เพื่อทำอะไรที่มันดีๆได้มันน่าจะเข้าท่า อะไรดีๆที่ว่านี้คืออะไร ก็เป็นเรื่องที่เราเถียงกันในเวลาต่อมาอีกยาวนานทีเดียว ผมเข้าใจว่ามนัสอยู่ด้วยตอนที่ชีฯชวน

ผมไม่แน่ใจว่าทำไม ชีฯจึงมาชวนผมกับมนัส อาจจะเป็นเพราะได้ข่าวว่าล่ำลือกันว่าเราสองคนพูดเป็นน้ำไหลไฟดับเรื่องความคิดท่านอาจารย์พุทธทาส ก็ได้ จำได้ว่านิทัศน์การนั้นคนแน่นทุกวันตลอดงานสองสามวันนั้น และเราสองคนพูดและเถียงกับคนที่มาชมงานเกือบตลอดเวลา

จำได้ว่ามีรุ่นพี่ที่อยู่มหาวิทยาลัยแล้วมาดูงานด้วย เห็นเราเขียนและพูดว่ามหาวิทยาลัยเป็นที่เพาะคนเห็นแก่ตัว ก็เข้ามาท้าทายว่า

“ พูดงี้แล้ว น้องจะเข้ามหาวิทยาลัยหรือเปล่าล่ะ”

“เข้าสิครับ เราจะเข้าไปทำให้มหาวิทยาลัยดีขึ้นไง” อะไรทำนองนี้ มาย้อนนึกถึงอหังการ์ของนักเรียนมัธยมคนนั้นแล้วก็ขำ

อันที่จริงตอนนั้นผมก็เอาขี้ปากท่านอาจารย์พุทธทาสมาพูดเท่านั้นแหละ ไม่ได้เข้าใจอะไรลึกซึ้งนักหรอก อาจารย์ที่สอนวิชาศีลธรรมที่เอ็นดูเรายังล้อเราว่า  “นี่เธอสองคนจะบรรลุธรรมกันเลยหรือเนี่ย”

ผมอาจจะได้อ่านหนังสือแจกในงานศพโกมล คีมทองแล้วก็ได้หนังสือเล่มนั้นมีเรื่อง วิจารณ์การศึกษาอยู่มาก  ผมได้หนังสือ “โกมล คีมทอง” ประมาณกลางปีโดยบังเอิญ

หลังงานชมรมภาษาอังกฤษที่จัดกับชมรมภาษาอังกฤษของโรงเรียนศึกษานารีดังกล่าวมาแล้ว งานชมรมภาษาอังกฤษนั้นทางฝั่งสวนกุหลาบมีมนัสกับผมเป็นโต้โผ ทางศึกษานารี มีศิริวรรณ จินตนา และอุษนีย์ เป็นกำลัง ต่อมาทุกคนที่เอ่ยชื่อมาและเพื่อนๆอีกหลายคนก็มาเป็นตัวตั้งตัวตีในกลุ่มยุวชนสยามร่วมกัน

เมื่องานสังคมนิทัศน์ผ่านไปแล้ว ไม่นาน ชีฯมนัส และผมนัดคุยกันอีกหลายครั้ง และเริ่มชวนเพื่อนๆเข้ามาร่วมด้วย เราก็นัดประชุมระหว่างโรงเรียนกันครั้งแรก ที่บ้านพเยาว์ ยรรยงยุทธ์ (โต) แถวลาดหญ้า (ตอนนี้โตเปลี่ยนชื่อเป็นปัณฑิตา และบวชแล้ว)  บ้านโตมีบริเวณสนามหญ้าหน้าบ้าน

ผมจำไม่ได้ว่าประเด็นที่คุยมีอะไรกันบ้าง แต่มีการเล่นลมเพลมพัดที่ตอนนั้นผมรู้สึกว่าไร้สาระ “ผมตั้งใจจะมาคุยเป็นเรื่องเป็นราวนะ นี่มาเล่นอะไรกันเนี่ย” แต่ตอนนี้เวลาผมจัดกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ผมเองเป็นคนใช้กิจกรรมพวกนี้มากเพื่อให้คนรู้สึกเป็นกันเองและสนิทสนมกันง่าย จำไม่ได้ว่าใครเป็นคนนำ แต่เข้าใจว่าความคิดเรื่องการใช้กระบวนการกลุ่มคงเริ่มเข้ามาในแวดวงการศึกษาบ้างแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องเดียวของการเป็น “คนดี” แบบผมในสมัยนั้น

ในงานนั้นมีตอนหนึ่งพรรคพวกที่มาเปิดเพลงฝรั่งและเต้น “ยึกยือ” กันด้วย คงเป็นการเต้นรำตามสมัยนิยมอย่างหนึ่ง ผมเข้าใจว่าดิสโก้ยังไม่เข้ามา ผมกับชีฯไม่กล้ามอง เราต่างเอกเขนกก้มหน้าลงดินเพราะรู้สึกอุจาดในตา เห็นพ้องกันว่าเป็นการเต้นที่น่าเกลียดมาก

มองกลับไปแล้วก็ขำ เพราะตอนหลังสักสิบปีมานี้ ผมเองชักชอบการร้องรำ เรียกว่ามาเป็นวัยรุ่นเมื่อแก่ ถูกจูงมือขึ้นไปเต้นแทงโก้ครั้งแรกเมื่อไปประชุมที่เยอรมัน เพื่อนจากอเมริกาใต้เห็นเรานั่งมองคนอื่นเต้น กำลังติชมอยู่ในใจว่าคนนั้นเต้นแล้วแลดี อีกคนเต้นไม่ค่อยเข้าท่า เธอก็เข้ามาดึงผมขึ้นไปเต้น ปฏิเสธอย่างไรก็ไม่ยอม บอกให้เต้นตามเธอก็แล้วกัน พอเพลงจบ เธอก็บอกว่า

“เธอเข้ารีต(แบ๊บไต้ต์)แล้วนะ” 

แต่ที่เข้ารีตจริงๆนั้นเป็นปีสองปีต่อมาที่สหรัฐฯ นั่นไปเข้าเรียนโรงเรียนฤดูร้อนใกล้เมืองซานฟรานซิสโก เพื่อนลูกครึ่งแขกอเมริกัน บอกว่าให้หลับตา แล้วปล่อยตัวโยกสบายๆไปตามจังหวะเพลง อันนี้ทำให้ต่อมาชอบรำวง รำเซิ้งแบบชาวบ้านเราด้วย

ผมจำได้ว่าเราประชุมกันแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการอีกหลายครั้ง บางครั้งก็ที่โรงเรียน บางครั้งก็ไปบ้านชีรชัยที่งิ้วราย พวกเราจะนั่งรถไฟจากสถานีธนบุรี  ชีฯสอนให้โกงค่ารถไฟด้วย ซื้อตั๋วถูกๆแต่นั่งไปตลอดทาง เราคงเริ่มคุยกันแล้วว่าทำอย่างนี้ถูกหรือไม่ถูก

ตอนนั้นคนกรุงเทพฯยังไม่ชอบเดินข้ามทางม้าลาย พวกเราหลายคนก็เห็นว่าเราต้องเปลี่ยนนิสัยมักง่ายแบบนี้ ประเด็นเล็กๆเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาความเป็นตัวตนของคนรุ่นใหม่ของพวกเรา  เรื่องข้าทางม้าลายนี้ผมยึดเป็นเรื่องตายตัวมาจนอยู่ปีหนึ่งในมหาวิทยาลัย จนโดนรุ่นน้องที่ไม่ได้อยู่ในขบวนเดียวกันด่าว่าบ้า จึงเบาๆลง