ที่มาและปรัชญาการดำเนินงาน

10653525_10206301014227944_9045987415163183777_n

 

สถาบันธรรมวรรณศิลป์ เดิมชื่อว่า โครงการประกวดงานเขียนสร้างสรรค์เยาวชน ภายใต้โครงการยุวโพธิชน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น โครงการธรรมวรรณศิลป์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานขององค์กรหลักเป็นสถาบันยุวโพธิชน โดยอาจารย์ประชา หุตานุวัตร เป็นผู้ก่อตั้ง เพื่อสืบสานปณิทานของท่านพุทธทาสเกี่ยวกับส่งเสริมให้ธรรมะเข้าถึงจิตใจเยาวชนในอีกทางหนึ่ง

โครงการประกวดงานเขียน หรือโครงการธรรมวรรณศิลป์ มีความมุ่งหมายเพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนน้อมนำธรรมะกลับมาใคร่ครวญชีวิต โดยไม่ถือรางวัลเป็นปัจจัยสำคัญ แล้วมีการพัฒนากระบวนการการประกวดงานเขียนให้ตอบรับเป้าหมายที่แท้จริงนี้มากขึ้นจนกระทั่งปัจจุบัน อีกทั้งการประกวดยังเป็นการเฟ้นหาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีฉันทะที่จะฝึกฝนตนเอง และมีวิจารณญาณอันจะนำมาสู่การสร้างความเข้าใจคุณค่าแท้แก่ผู้คนในสังคม

โครงการฯ ได้ศึกษาอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับการนำกระบวนการเขียนมาใช้เพื่อพัฒนาชีวิตนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นมา โดยผู้อำนวยการสถาบันหรือผู้จัดการโครงการฯ ในขณะนั้น ผ่านการจับประเด็นหนังสือ การสัมภาษณ์ผู้รู้ การจัดเสวนา การศึกษาด้วยการฝึกฝนตน และการเก็บข้อมูลจากการจัดกระบวนการอบรม ด้วยวิสัยทัศน์ว่า การเขียนนั้นมีคุณค่าวิเศษที่นอกเหนือจากการถ่ายทอดหรือสร้างผลงานแล้วยังสามารถเป็นเครื่องมือเพื่อขัดเกลาและบ่มเพาะความตระหนักรู้แก่ผู้เขียนนั้นเอง โดยต้องอาศับกระบวนการเป็นเครื่องมือและธรรมะเป็นหลักพื้นฐาน

การดำเนินของโครงการในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก การประกวดงานเขียนสร้างสรรค์เยาวชน เป็นโครงการธรรมวรรณศิลป์ จึงเกิดกิจกรรมที่หลากหลายและเป็นตัวของตัวเอง นอกเหนือจากการประกวดงานเขียนแล้วยังมีการจัดเสวนากวีและนักเขียน งานอ่านบทกวีของชมรมนักศึกษา และค่ายธรรมวรรณศิลป์
การเติบโตของโครงการฯ มีพื้นฐานจากการศึกษาส่วนตัวของผู้ดำเนินงาน และการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมที่เติบโตในด้านทัศนคติ ความรู้สึก และการใช้ชีวิต เกิดเป็นแรงศรัทธาหนุนนำทิศทางการดำเนินงานสู่กิจกรรมต่างๆ ในปัจจุบันทั้งในด้านการสนับสนุนทุนปัจจัย การร่วมแรงช่วยสอน การกระจายข้อมูลข่าวสารของโครงการฯ และการร่วมเป็นกรรมการสถาบัน

สถาบันธรรมวรรณศิลป์จึงก่อเกิดขึ้นด้วยแรงศรัทธาดังกล่าว และความมุ่มมั่นที่จะขยายขอบข่ายงานและพื้นที่ให้น้อมนำคุณค่าแห่ง “ธรรม วรรณศิลป์” สู่สังคมให้ยั่งยืนและยาวนานในลำดับต่อไปทั้งในแง่จิตวิทยา ธรรมะ และการศึกษา
 

 

ปรัชญาการดำเนินงาน

 

“จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ”  จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้

 

เนื่องด้วย ๓ คุณค่าหลักของสถาบัน ได้แก่

– เชิงจิตวิทยา: เป็นเรื่องของ จิต เพื่อพัฒนาจิตเป็นที่ตั้ง

– เชิงศาสนธรรม: เป็นไปเพื่อความสุขแท้

– เชิงการศึกษา: เป็นเรื่องของการฝึกฝนตนเอง

 

คนที่ฝึกจิตดีแล้ว ทำแต่สิ่งดีมีประโยชน์ ย่อมได้รับผลของการทำดีนั้น คือ ไม่ต้องเดือดร้อน มีคนรักใคร่นับถือ ไม่มีศัตรู มีเกียรติ มีอาชีพและฐานะที่มั่นคง และจิตที่ฝึกดีแล้วนั้นจะสงบระงับ ได้รับความสุขลึกซึ้งอีกด้วย

 

“ทานญฺจ ยุทฺธญฺจ สมานมาหุ.” ทานและการรบ เสมอกัน

 

ท่านพุทธทาสภิกขุได้แสดงธรรมเรื่องทานไว้ว่า

“การให้ทานกับการรบพุ่งสงครามเสมอกันอย่างไร?   การให้ทานคือการรบกันกับกิเลส   รบกันกับความยึดมั่นถือมั่น   การให้ทานที่แท้จริงนั้นไม่ใช่แลกเอาสวรรค์   ไม่ใช่แลกเอาความสวยความรวย  การให้ทานที่แท้จริงนั้นเป็นการรบพุ่งกับกิเลส  รบกับความเห็นแก่ตัว   รบกับความยึดมั่นว่าตัวกู –ของกู  รบให้กิเลสเหล่านั้นพ่ายไป  นั่นแหละเรียกว่าการให้ทาน

ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า  การให้ทานกับการรบนี้เสมอกัน  หรือเป็นสิ่งเดียวกันอย่างนี้ก็ได้  หรือถ้าจะพูดให้ยืดเยื้อออกไป  ก็จะพูดได้เหมือนกันว่า การให้ทานนั้นก็มีข้าศึก  ต้องมีการตระเตรียม ต้องมีการฝึกฝน  ต้องมีการสะสมอาวุธ  สะสมเครื่องปัจจัยในการรบพุ่งแล้วจึงจะไปรบกัน
การให้ทานนี้ก็เหมือนกันต้องมีการตระเตรียมที่ถูกต้องจึงจะเป็นการให้ทานที่ดี   เมื่อให้ไปได้เท่าไหร่มันก็ชนะเท่านั้น    เหมือนการรบที่ชนะเท่าไหร่มันก็ชนะเท่านั้น   ถ้าให้ไม่ดีคือรบไม่ดี มันก็พ่ายแพ้   คือถอยหลังไปเห็นแก่ตัว  เป็นการลงทุนชนิดหนึ่งไปคือทำบุญหวังผลนั่นเอง
จงระวังให้ดี  จงทำบุญให้ได้รับประโยชน์  ให้เป็นประโยชน์  คือให้เป็นประโยชน์อันแท้จริง   เป็นบุญที่แท้จริง  ( ตัดความตระหนี่ , ความโลภลงได้และไม่หวังผลทางโลกียะ)  อย่าได้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเลย”
ดังนั้นเราจึงต้องฝึกจิตเพื่อสามารถให้ได้อย่างสมบูรณ์  ภารกิจของคนทำงานเพื่อสังคมมิใช่มุ่งพัฒนาภายนอกเท่านั้น ยังต้องขัดเกลาและบ่มเพาะตนเองอยู่เสมอ