๔ ธรรมะในการตัดสินตีความ

 

 

 

๑ การตัดสินในทางพุทธศาสนา
.
การตัดสิน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า judge คือการตีตรา ตีความ ตัดสินที่จะมีมุมมอง พิจารณา และให้คุณค่าอย่างไร
.
เราอยู่กับการตัดสินทุกๆ วัน และแทบทุกชั่วโมง บางลัทธิและบางคำสอนร่วมสมัยสอนให้เราไม่ตัดสินอะไร “Don’t Judge Everything” แม้จะมีการตัดสินอยู่เนืองๆ ในจิตใจ รวมทั้งการตัดสินว่านี่คือการตัดสินหรือไม่ตัดสิน บางลัทธิและความเชื่อของบุคคลก็สุดโต่งไปในทางตัดสินทุกสิ่งบนโลกใบนี้ที่ตัวเองได้รับรู้ “Judge Everything” ด้วยจุดยืนและความคิดที่ตนยึดถือไว้
.
พุทธศาสนาเป็นกลางระหว่างสองแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้สอนให้เราตัดสินทุกสิ่ง  มิได้บอกให้เพิกเฉยไม่ตัดสินสิ่งที่ควร แต่เน้นให้รู้จักการตัดสินที่เหมาะสมและรู้เท่าทันในการตัดสินตีความของตนเอง
.
การตัดสินนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เราจำเป็นต้องคิดและตัดสินใจว่าจะให้คุณค่ากับเรื่องต่างๆ อย่างไร จะมีท่าทีแบบไหน วันนี้จะใส่เสื้อผ้าชุดไหน อาหารที่ซื้อมารับประทานเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ชีวิตวันนี้จะมีคุณค่าได้อย่างไร คนๆ นี้เหมาะสมกับเราหรือเปล่า หรือจะรับฟังด้วยท่าทีตัดสินหรือไม่ตัดสินก็ต้องตัดสินใจ
.
การตัดสินและการตัดสินใจอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่น้อยครั้งที่เราจะย้อนกลับมาพิจารณาให้รู้เท่าทัน จึงมักเผลอตัดสินตีความไปอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาใหม่ หรือไม่ส่งเสริมกุศลให้เกิดขึ้น และการพยายามไม่ตัดสินที่มากจนเกินไปบางครั้งก็ทำให้เราไม่สามารถตัดสินในเวลาที่ควร
.
การตัดสินตีความเกิดจากการรับรู้ผ่านอายตนะหรือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ เรียกว่า ผัสสะ เกิดอารมณ์คือ เวทนา จากการรับรู้นั้น ปรุงแต่งกับความจำ ความเชื่อที่มีมา และเชื้อของกิเลสกับกุศลน้อยใหญ่ เกิดเป็นความคิดตัดสินต่างๆ จนนำไปสู่การกระทำต่อไป ทำให้กล่าวได้ว่าการตัดสินทั้งหลายล้วนแล้วแต่เริ่มต้นจากการรับรู้
.
หากการรับรู้นั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของอวิชชาคือความไม่รู้จริงในธรรม มิได้ถูกปรุงแต่งด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง การตัดสินตีความที่จะมีตามมาก็จะเป็นการตัดสินที่ชอบธรรม ชอบในที่นี้หมายถึงถูกต้อง ธรรมในที่นี้หมายถึงความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นเช่นนี้เมื่อการรับรู้โลกเป็นไปอย่างมีสติ
.
การขาดสติที่ผัสสะและเวทนาทำให้เกิดการตัดสินที่ไม่ควร ทำให้เผลอตัดสินไปตามความโลภ ความโกรธ และความหลง ที่เป็นอกุศลมูลหรือมีเชื้ออยู่ในจิตใจ ทำให้คิดตีความมากเกินไป แคบเกินไป หรือไม่ถูกจุด ก็เป็นผลทำให้เราตัดสินคนอื่นอย่างผิดๆ หรือทำให้เราไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง
.
พุทธศาสนานั้นสอนให้เรารู้จักการตัดสิน โดยเฉพาะการตัดสินว่าอะไรเป็นกุศลและอกุศล แต่การที่เราจะตัดสินได้นั้นเราต้องไม่ถูกอกุศลครอบงำการรับรู้และการคิดเสียเอง มิเช่นนั้นแล้วเราก็จะตัดสินตามอารมณ์และอคติที่มี ทำให้การคิดนั้นเป็นมโนกรรมที่เป็นอกุศล
.
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้บรรยายธรรมว่า การตัดสินว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ให้พิจารณาสองส่วนเป็นหลัก ได้แก่
.
“๑. พิจารณามูลเหตุว่า เป็นเจตนาที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือเกิดจากอกุศลมูลคือ โลภะ โทสะ โมหะ
.
“เนื่องจากพระพุทธศาสนาเชื่อว่าสิ่งที่เป็นต้นเหตุ หรือแรงผลักดันที่ทำให้มนุษย์ทำกรรมต่าง ๆ มีอยู่ ๒ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายแรกคือกุศลมูล (รากเหง้าของความดี) ฝ่ายที่สองคือ อกุศลมูล (รากเหง้าของความชั่ว) ถ้าการกระทำนั้นเป็นไปโดยแรงผลักดันฝ่ายดีหรือกุศลมูล (ได้แก่ ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง) การกระทำนั้นถือว่าเป็นการกระทำความดี แต่ถ้าเป็นไปโดยแรงผลักดันฝ่ายชั่วหรืออกุศลมูล (ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง) การกระทำนั้นถือว่าเป็นการกระทำชั่ว ผลที่ได้รับก็คือความเสียหาย ทุกข์ และโทษ
.
“๒. พิจารณาตามสภาวะ เป็นสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ ทำให้จิตสบายไร้โรค ปลอดโปร่ง ผ่องใส สมบูรณ์หรือไม่ ส่งเสริมหรือบั่นทอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ช่วยให้กุศล (สภาพที่เกื้อกูล) ทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายลดน้อยลง หรือทำให้กุศลธรรมลดน้อยลง อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญงอกงาม ตลอดจนมีผลต่อบุคลิกภาพอย่างไร” *(๑)
.
กุศลและอกุศลแยกแยะที่ประโยชน์หรือคุณค่า หากเราปล่อยให้การคิดตัดสินคนอื่นที่อาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ส่งเสริมความโลภ ความโกรธ และความหลงของจิตใจเราเอง ทำให้พฤติกรรมของเราก้าวร้าวหรือหม่นหมอง ทำให้มีความถือดีถือเก่ง หรือคิดตัดสินไปแล้วมิเกิดประโยชน์อะไรและยิ่งผิดเพี้ยนไปจากความจริง การตัดสินของเรานั้นก็เป็นอกุศล แม้จะคิดได้สอดคล้องกับความจริงบ้างก็ตาม
.
ตัดสินอย่างที่ควรจะเกิดปัญญา การตัดสินไม่อันควรจะเกิดตัณหา เพราะการคิดตีความที่ชอบธรรมต้องเริ่มมาจากการมีสติสัมปชัญญะ สติคือการรู้ตัวในปัจจุบัน ส่วนสัมปชัญญะคือจิตสำนึก ต้องมีสติสัมปชัญญะจึงมี หิริโอตัปปะ คือการรู้ผิดชอบชั่วดี รู้เคารพตนเอง แล้วจึงจะมีการสำรวมระวัง (อินทรีย์สังวร) การครองตน (ศีล) สมาธิ และปัญญา ตามลำดับ ปัญญานั้นก็คือการตีความตัดสินที่เหมาะสม
.
เมื่อไม่มีสติแล้ว การรับรู้หรือผัสสะนั้นก็ไม่นำไปสู่ปัญญา ย่อมพาไปให้ปรุงแต่งตัณหาคือความอยากต่างๆ ซึ่งมีสามแบบได้แก่ อยากได้ อยากเป็น และอยากไม่เป็น หากเราถูกครอบงำด้วยความโลภในการตัดสิน เราก็คิดในทางอยากได้ใคร่มี หรือประเมินว่ามันน้อยไป ไม่มากพอ ไม่ดีพอ
.
ถ้าถูกความโกรธชวนปรุงแต่ง เราก็จะรับรู้สถานการณ์ด้วยความไม่พอใจ ทำให้คิดตัดสินสถานการณ์ตรงหน้าเลวร้ายกว่าความเป็นจริง ก็ทำให้เกิดความอยากที่จะต่อสู้ เอาชนะ หรือทำลาย เพราะอยากไม่เป็นคนที่ถูกกลั่นแกล้ง ต่ำต้อยกว่า หรือต้องเป็นทุกข์
.
หากเป็นโมหะหรือความหลงแล้ว จิตใจก็อาจตีความไปในทางที่ดีเลิศกว่าที่เป็นจริง คิดในทางลุ่มหลง หรือเชื่อมโยงหลายๆ เรื่องจนสับสนปนเป ซึ่งก็ย่อมนำไปสู่ความอยากหรือตัณหาเช่นกัน จึงไม่เกิดปัญญา และนำมาสู่ปัญหาและความทุกข์เช่นเดียวกันกับอกุศลมูลอีกสองอย่างข้างต้น
.
สิ่งสำคัญในการตัดสินบนพื้นฐานคำสอนทางพุทธศาสนา จึงเป็นการคิดตัดสินตีความโดยไม่ส่งเสริมความโลภ ความโกรธ และความหลง ทั้งในจิตใจของตนเองและผู้อื่น และไม่เกิดจากความโลภ ความโกรธ และความหลงเพราะขาดสติในการรับรู้ จึงสามารถตัดสินตีความเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตามความจริงในธรรม ไม่นำมาสู่ความทุกข์และเป็นไปเพื่อพ้นจากความทุกข์
.
เช่นเดียวกันกับการเลือกตัดสินหรือไม่ตัดสิน การเลือกนั้นต้องไม่มาจากความโลภ ความโกรธ และความหลง หากแต่มาจากปัญญาที่พิจารณาแล้วว่าการตัดสินหรือไม่ตัดสินในกาลนั้นนำไปสู่การพ้นจากทุกข์หรือไม่พ้นจากทุกข์อย่างไร เป็นไปเพื่อดับรากเหง้าแห่งความชั่วในจิตใจตนเองและผู้อื่นหรือไม่อย่างไร
.
.
๒ คุณสมบัติผู้ควรแก่การตัดสินผู้อื่น
.
“วันหนึ่งภิกษุอาคันตุกะหลายรูปด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระศาสดาผู้ประทับนั่ง ณ ที่ประทับกลางวัน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ขณะนั้น พระลกุณฏกภัททิยเถระเดินผ่านไปในที่ไม่ไกลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า
.
“พระศาสดาทรงทราบวารจิต (คือความคิด) ของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นหรือ? ภิกษุนี้ฆ่ามารดาบิดาแล้ว เป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไปอยู่” *(๒)
.
หากเราอ่านเรื่องราวข้างต้นเพียงเท่านี้ก็อาจคิดได้ว่าพระพุทธเจ้ากำลังตำหนิพระภิกษุรูปดังกล่าว หรือตัดสินว่าภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ก่อกรรมหนักหนา แต่ยังสามารถอยู่เป็นสุขไม่รู้ทุกข์ร้อนกับสิ่งที่ทำได้ หรือรู้สึกสงสัยว่าเหตุใดพระองค์จึงทรงตรัสเช่นนี้ ก่อนที่เราจะตัดสิน ขอให้อ่านนิทานธรรมต่อจากเดิม ความว่า
.
“เมื่อภิกษุเหล่านั้นมองดูหน้ากันและกันแล้ว แล่นไปสู่ความสงสัยว่า “พระศาสดา ตรัสอะไรหนอแล?” จึงกราบทูลว่า “พระองค์ตรัสคำนั่นชื่ออะไร?” เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
.
“บุคคลฆ่ามารดาบิดา ฆ่าพระราชาผู้เป็นกษัตริย์ทั้งสอง และฆ่าแว่นแคว้นพร้อมด้วยเจ้าพนักงานเก็บส่วยแล้ว เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ ไปอยู่” *(๒)
.
เราอาจยิ่งสงสัยหรือสับสนว่าเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงตรัสเช่นนี้ นิทานธรรมนี้เป็นของจริงหรือไม่ พระศาสดาในนิทานนี้คือพระพุทธเจ้าหรือเปล่า หรืออาจเผลอคิดตีความว่าคำสอนนี้กำลังบอกว่าการฆ่าพ่อแม่และผู้ปกครองคือสิ่งที่ดี หรืออาจตีความไปไกลว่าคำสอนนี้ไม่ใช่พุทธศาสนาเพราะขัดแย้งกับศีลธรรมความดีที่ควรยึดถือ
.
แท้จริงแล้วคำตรัสของท่านเป็นปริศนาธรรม เรื่องราวดังกล่าวมีอยู่ในพระไตรปิฎก มารดา ในที่นี้ คือ ตัณหา ดังพระธรรมช่วงหนึ่งกล่าวว่า “ตัณหายังบุรุษให้เกิด” ส่วนบิดา คือ อัสมิมานะ คือการถือตัวเขาตัวเรา
.
กษัตริย์ทั้งสอง คือ สัสสตทิฏฐิ และ อุจเฉททิฏฐิ หมายถึงความเชื่อที่ถือว่ามีความเที่ยงแท้ และความเชื่อที่เห็นว่าว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย ซึ่งต่างเป็นความเห็นที่สุดโต่งไม่ถือว่าเป็นความจริงในธรรม แว่นแคว้นที่พระองค์ทรงตรัสถึงคือ อายตนะ โดยมีความกำหนัดยินดีในการรับรู้ผ่านอายตนะเป็นดั่ง ผู้เก็บส่วยของแว่นแคว้น
.
การฆ่ามารดาบิดา ฆ่าพระราชาผู้เป็นกษัตริย์ทั้งสอง และฆ่าแว่นแคว้นพร้อมด้วยเจ้าพนักงานเก็บส่วย จึงหมายถึงการละซึ่งตัณหา มิจฉาทิฏฐิ อายตนะคือการรับรู้ พร้อมด้วยความหลงเพลิดเพลิน นำไปสู่การอยู่โดยไม่เป็นทุกข์
.
มีหลายๆ เรื่องในชีวิตที่เราไม่อาจตัดสินตีความได้อย่างถูกต้องง่ายๆ อาจเพราะรับสาส์นหรือข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง แม้ได้รับมาอย่างครบถ้วนแล้วก็อาจไม่เข้าใจเพราะขาดบริบทที่เชื่อมโยง การรู้เท่าทันการตัดสินตีความของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญก่อนที่เราจะด่วนสรุปหรือมีท่าทีกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
.
หลายครั้งที่การมองแต่ภายนอกก็ไม่สามารถตัดสินความได้อย่างถูกต้อง หากปราศจากการเข้าใจว่าเจตนาของการกระทำนั้นมาจากความโลภ ความโกรธ หรือความหลงหรือไม่ หรือมีจุดมุ่งหมายที่มีประโยชน์ต่อตนและคนอื่นอย่างไร
.
พระพุทธเจ้าทรงตำหนิผู้มีความประพฤติสี่ประการ ดังต่อไปนี้ *(๓)
.
“ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวสรรเสริญคุณของผู้ไม่ควรสรรเสริญ ๑ ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑ ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว ยังความเลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑ ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว ยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑”
.
ท่านทรงตรัสว่าบุคคลข้างต้นนี้ขาดความเฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมประกอบด้วยโทษ ถูกผู้รู้ตำหนิได้ และทำให้ประสบกรรมที่มิใช่บุญกุศล โดยทรงชื่นชมผู้ที่มีคุณสมบัติสี่ประการ ได้แก่
.
“ใคร่ครวญ สืบสวนรอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ๑ ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้ว กล่าวสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑ ใคร่ครวญ สืบสวนรอบคอบแล้ว ยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑ ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้ว ยังความเลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑”
.
ท่านทรงตรัสว่าบุคคลข้างต้นนี้มีความเฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ย่อมประกอบด้วยคุณ ไม่ถูกผู้รู้ตำหนิ และทำให้ประสบกรรมที่เป็นบุญกุศล
.
คำสอนข้างต้นนี้สอนเราเรื่องการตัดสิน หากเราเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตด้วยการตัดสินอย่างไม่ถูกต้อง เราย่อมประสบปัญหา ขาดความเฉียบคมของปัญญา ถูกผู้มีปัญญาตำหนิวิจารณ์ได้ และการตัดสินที่ไม่เหมาะสมนั้นก็จะนำมาซึ่งการประกอบกรรมต่างๆ อาทิ กาย วาจา และใจอย่างที่ไม่เหมาะควรนำมาสู่อกุศลต่างๆ แก่ชีวิต
.
การตัดสินที่เหมาะสมดังคำสอนข้างต้น จะต้องประกอบด้วยการใคร่ครวญ การสืบสวน และความรอบคอบ การใคร่ครวญนั้นก็คือการคิดพิจารณาอย่างดีก่อน สืบสวนคือหาข้อมูลรับฟังมุมมองต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และความรอบคอบคือการไม่ด่วนสรุปและการเผื่อใจว่าสิ่งที่เราตัดสินไปนั้นอาจไม่ถูกต้องก็ได้
.
คุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถตัดสินตีความได้อย่างเหมาะสม ท่านทรงกล่าวว่าเป็น สัตบุรุษ ซึ่ง “สัตตะ” แปลว่าเจ็ด สัตบุรุษ จึงหมายถึงผู้มีลักษณะเจ็ดประการ หรือ สัปปุริสธรรม ๗ ดังนี้ *(๔)
.
“เป็นธัมมัญญู รู้จักธรรม (เหตุ หลักการ และความเป็นจริง) ๑ อัตถัญญู รู้จักอรรถ (ผลลัพธ์ ประโยชน์ จุดมุ่งหมาย) ๑ อัตตัญญู รู้จักตน ๑ มัตตัญญู รู้จักประมาณ ๑ กาลัญญู รู้จักกาล ๑ ปริสัญญู รู้จักบริษัท (สังคมและชุมชน) ๑  ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกคบคน ๑”
.
ด้วยการรู้ทั้งเจ็ดประการนี้ชื่อว่าเป็นผู้ควรได้รับความเคารพในทางพุทธศาสนา มีความเป็นผู้นำ และสามารถตัดสินในเรื่องต่างๆ อย่างสมควรได้
.
เนื่องด้วยเราอาจเป็นเพียงปุถุชนที่ยังรู้และไม่รู้ในเจ็ดประการข้างต้นอยู่ แต่ยังต้องดำรงกับการตัดสินและการถูกตัดสินในชีวิตประจำวันเป็นธรรมดา การจะตัดสินตีความใดๆ ในชีวิตให้ดี เราต้องหมั่นศึกษาและฝึกฝนตนเองเพื่อรู้และมีคุณสมบัติแบบสัปปุริสธรรม ๗ มากยิ่งขึ้น แม้เพิ่มพูนขึ้นมาเล็กน้อยก็ช่วยให้เราตัดสินใจต่างๆ ในชีวิตได้ดีมากขึ้นแล้ว
.
รวมทั้งต้องหมั่นเตือนตนเองอย่างมีสติว่าการตัดสินตีความใดๆ ต้องใคร่ครวญให้ดี สืบสวนก่อน และรอบคอบระมัดระวัง การตัดสินตีความของเราก็จะไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ ไม่ก่อปัญหา และไม่นำตัวเราให้ก่อกรรมอกุศลใดๆ
.
.
๓ อย่าปลงใจเชื่อโดยง่าย
.
คำสอนในพุทธศาสนาที่เตือนใจเรามิให้ด่วนสรุปจากการตีความตัดสินเรื่องใดๆ คือคำสอนใน กาลามสูตร หรือ เกสปุตตสูตร ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล ซึ่งในสมัยนั้นก็เป็นเช่นเดียวกันกับสมัยนี้ตรงที่ว่า มีหลักคำสอน ความเชื่อ และครูอาจารย์ที่ผุดเกิดขึ้นมากมายจนบางครั้งก็ทำให้ผู้คนหรือพวกเราสับสนว่าควรเชื่อคำสอนไหน ควรเชื่อครูอาจารย์ท่านใด บางครั้งคำสอนก็ขัดแย้งกัน
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า *(๕)
.
“ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย และท่านทั้งหลายเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในฐานะที่ควรแล้ว มาเถิดท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
.
“ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย”
.
ใจความสำคัญของคำสอนข้างต้นนี้มีสองส่วน ส่วนแรกคือการเตือนว่าอย่าปลงใจเชื่อง่ายๆ เพียงเพราะเหตุทั้งสิบประการ คือ
.
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ การคิดเอาเอง
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน การคาดคะเน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล เป็นตรรกะที่น่าเชื่อถือ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว มีหลักการรองรับ
อย่าปลงใจเชื่อมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ เห็นเค้ารางหรือภาพที่น่าจะเป็น
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าเป็นครูของเราหรือเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้
.
ในส่วนที่สอง ท่านทรงแนะนำว่าให้พึงรู้ด้วยตนเองว่าเนื้อหาคำสอนหรือเรื่องนั้นๆ มีประโยชน์หรือไม่ เป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร แม้เป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะดีงามหรือได้รับฟังมาหรือคิดไตร่ตรองเองแล้วว่าดี แต่ไม่เกิดประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องละวาง
.
จุดที่เราพึงสังเกตไว้อย่างหนึ่งคือท่านมิทรงให้เราเฝ้าพิจารณาว่ามันเป็นความจริงหรือไม่ แต่ให้พิจารณาถึงประโยชน์หรือความหมายของสิ่งนั้นๆ มากกว่า หลายครั้งที่เราอาจถกเถียงหรือขัดแย้งกับผู้อื่นเพราะต้องการแสดงจุดยืนว่าสิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร ต่อสู้กันด้วยเหตุผล ตรรกะ และการอนุมานคาดคะเน แต่พระพุทธเจ้าทรงเตือนว่าอย่าปลงใจเชื่อกับสิ่งที่เราคิดเองอีกด้วย อย่าปลงใจเชื่อเพราะคือว่านั่นหรือนี่น่าจะถูกต้อง แต่ให้พิจารณาด้วยตนเองว่าประโยชน์และความหมายนั้นๆ คืออะไร นำไปสู่ความสุขและการหลุดพ้นจากความทุกข์หรือไม่
.
“ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้
.
“ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา” เป็นผู้ควรแก่การเชื่อถือ เพราะผู้ที่ไม่โลภ ไม่โกรธ และไม่หลง ย่อมไม่กระทำในสิ่งที่เป็นอกุศล จึงย่อมไม่ชักชวนให้ทำสิ่งที่เป็นอกุศล จึงควรแก่การเชื่อถือ *(๕)
.
เราจะพึงเชื่อถือความคิดตนเองและความคิดของผู้ใด เราต้องพิจารณาด้วยตนเองว่าความคิดนั้นมาจากจิตใจที่มีความโลภ ความโกรธ และความหลง อันเป็นอกุศลมูล ครอบงำอยู่ในเวลานั้นหรือไม่ หรือเพียรละวางอยู่เนืองๆ หรือไม่ เพราะความคิดหรือการตีความที่มาจากจิตใจที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ และความหลง ย่อมเป็นปัญญา มิใช่ตัณหาที่นำมาสู่ปัญหา
.
การคิดตีความตัดสินนั้นต้องระวังอคติที่อาจก่อตัวขึ้นเป็นหมอกบดบังปัญญาของเรา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้อคติก่อตัวขึ้นก็คืออกุศลมูลที่กล่าวข้างต้นนั่นเอง คำสอนในกาลามสูตรทั้งสิบข้อ ก็เป็นการเตือนให้เราระวังอคติทั้งสิบแบบ เพราะสิ่งที่เราได้ฟัง ได้ถือต่อๆ กันมา มีเสียงเล่าลือ มีตำราอ้างอิง คิดเองด้วยเหตุผล คาดคะเนเอาได้ มีตรรกะน่าเชื่อ มีหลักการรองรับ เห็นภาพเค้าราง หรือมีครูอาจารย์สั่งสอน ฯ ก็มิใช่ความจริงเสมอไป
.
อคติ ยังแบ่งได้ออกเป็น ๔ แบบ * (๖) คือ
.
ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ ความเพลิดเพลิน ความพอใจ ทำให้คิดตัดสินตีความอย่างไม่เหมาะสม , โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง ความขุ่นมัว ความรำคาญ ความโกรธ ทำให้คิดตัดสินตีความอย่างไม่เหมาะสม , โมหาคติ ลำเอียงเพราะความหลง ความไม่รู้ ความสับสน ความลังเลสงสัย ทำให้คิดตัดสินตีความอย่างไม่เหมาะสม , ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว ความรู้สึกด้อยกว่า ความรู้สึกไม่ดีพอ ทำให้คิดตัดสินตีความอย่างไม่เหมาะสม
.
อคติทั้งสี่แบบนี้ก็เกิดจากความโลภ ความโกรธ และความหลงในจิตใจเรา เมื่อมีอคติทั้งสี่นี้เราก็ไม่สามารถตัดสินตีความด้วยปัญญาที่มีได้ เพราะถูกอารมณ์และการปรุงแต่งของใจชักนำไป
.
ยกตัวอย่าง เมื่อเราต้องตัดสินใจหรือคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ หรือมีความพอใจหรือสิ่งที่เห็นดีเห็นงามเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรื่องนั้นๆ ก็มีแนวโน้มว่าฉันทาคติจะชวนเราคิดในทางที่ดีเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าว หรือคนนั้นๆ มากเกินไป จนลืมข้อบกพร่องหรือผลเสีย ตรงกันข้ามกับโทสาคติที่อาจทำให้เรามองแต่แง่ร้ายจนลืมคุณค่าและความดีงามของสิ่งดังกล่าว เพียงเพราะมีความไม่ชอบหรือความโกรธเข้ามาเกี่ยวข้อง
.
การมีอคติ อาจเกิดขึ้นในระดับจิตสำนึกคือมีความรู้ตัวว่ากำลังมีความรู้สึกร่วมกับการตีความนั้นหรือรู้ตัวว่าตนเองมีอคติ และอาจเกิดขึ้นในระดับจิตใต้สำนึกคือไม่รู้ตัวว่ามีความชอบ ไม่ชอบ หลง และกลัวหรือมีอคติเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงพึงมีสติและสังเกตอารมณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตัดสินตีความเรื่องใดๆ พึงสังเกตว่าในการตัดสินตีความนั้นมีความอยากหรือไม่ มีความชอบ ความชัง ความหลง หรือความกลัวหรือไม่ หรือเราคิดแบบนี้ตีความแบบนี้เพียงเพราะเราได้ฟัง ได้ถือต่อๆ กันมา มีเสียงเล่าลือ มีตำราอ้างอิง คิดเองด้วยเหตุผล คาดคะเนเอาได้ มีตรรกะน่าเชื่อ มีหลักการรองรับ เห็นภาพเค้าราง หรือมีครูอาจารย์สอนมา แค่นั้นหรือไม่
.
พึงระวังอคติของใจที่เผลอปรุงแต่งจากการรับรู้ที่ขาดสติ ใคร่ครวญอย่างดี สืบสวนหาข้อมูล และรอบคอบระมัดระวัง การตัดสินตีความของเราก็จะไม่ย้อนศรมาก่อกรรมลบร้ายแก่กาย วาจา และใจของตนเอง
.
.
๔ ไม่ควรตัดสินด้วยทิฐิและความเป็นตัวตน
.
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ทิฐิ คือ ความลูบคลำด้วยความถือผิดซึ่งอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชราและมรณะ ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเราหรือเขา นั่นเป็นตัวตนของเราหรือเขา  ทิฐิ คือ ความลูบคลำด้วยความถือผิดอย่างนี้” *(๗)
.
เมื่อมีการยึดถือว่าสิ่งนั้นๆ ทั้งภายในและภายนอกตัวเรา เป็นของๆ เรา เป็นตัวตนเรา หรือตัวตนของเขาหรือสิ่งอื่นๆ การยึดถือในความเป็นตัวตนนั้นคือการมีทิฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงในธรรม เพราะความเป็นจริงแล้วนั้นสิ่งใดๆ มิใช่ตัวตน มิใช่ของๆ เรา หรือตัวตนของใคร ตัวตนเป็นเพียงการเกิดดับของภาวะและปัจจัยต่างๆ อันไม่เที่ยงแท้เท่านั้น มิใช่สิ่งที่จะคงมั่นเป็นตัวตนอันคงที่ได้
.
เมื่อใดมีการยึดถือเป็นตัวตน เมื่อนั้นมีอคติ เมื่อนั้นมีการตัดสินตีความที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น เหตุเป็นเพราะว่าเมื่อมีทิฐิ เราย่อมคิดว่าสิ่งนั้นๆ หรือคนนั้นๆ ย่อมเป็นตัวตนอย่างที่คิดไว้ ย่อมคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยรับรู้ ย่อมหมายมั่นว่าสิ่งที่สังเกตเห็นคือตัวตนอันแท้จริง ย่อมหมายมั่นในข้อมูลหรือเรื่องราวที่รับฟังมาเป็นตัวตนของเขาหรือสิ่งดังกล่าว ฯ เท่านี้ก็ทำให้มุมมองความเห็นคับแคบกว่าที่เป็นจริงแล้ว เพราะย่อมคิดตีความแต่เพียงมุมมองเดียวหรือเท่าที่จิตยึดมั่นว่าเป็นตัวตนของอีกฝ่าย ไม่ได้เผื่อใจสำหรับความจริงในแง่มุมอื่นๆ
.
เมื่อใดมีการยึดถือเป็นตัวตนของเราหรือของๆ เรา เมื่อนั้นมีอคติ เมื่อนั้นมีการตัดสินตีความที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อยึดถือว่าอะไรเป็นของๆ เราแล้ว ย่อมนำมาสู่การปรุงแต่งเป็นความโลภ โกรธ และหลง เพื่อตอบสนองหรือปกป้องของๆ เราหรือตัวตนของตน ทำให้ความคิดการตัดสินตีความย่อมผิดเพี้ยนไปตามกิเลสที่เกิดขึ้น มิว่าจะเป็นการคิดเกี่ยวกับตัวฉันเอง พรรคพวกของตน ทรัพย์สินและสิ่งมีค่าที่ถือว่าเป็นตัวตนของฉันหรือของๆ ฉัน ย่อมมักเผลอมีอคติมาเกี่ยวข้องได้ง่าย ย่อมคิดเป็นกลางได้ยาก
.
ความคิดตัดสินที่ขาดสติในการรับรู้ หรือเผลอไผลไปตามกิเลสน้อยใหญ่ มักมีการถือความเป็นตัวตนอยู่ในนั้น เช่นการถือว่าสิ่งที่คิดจะต้องเป็นอย่างนั้นเท่านั้น ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิด เพราะฉันเป็นฉันแบบนี้ หรือเพราะคนๆ นี้เป็นอย่างนี้จึงเป็นอย่างนี้ ฯ โดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงความเป็นเหตุปัจจัยและความไม่เที่ยงอย่างรอบคอบ ย่อมเผลอตัดสินไปตามอัตตาตน หรือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
.
การคิดโดยทั่วไปของคนเรามักมีการถือมั่นในตัวตนปะปนมาอย่างแนบเนียน นอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว การหมายมั่นว่าสิ่งที่คิดอยู่เป็นของฉัน ความคิดเป็นของฉัน สิ่งที่ฉันคิดคือตัวตน หรือสิ่งที่เขาคิดคือตัวตนของเขา เหล่านี้ก็เป็นทิฐิ เป็นการลูบคลำด้วยการถือผิดว่าสิ่งที่ปรุงแต่งเพียงชั่วครั้งชั่วคราวคือตัวตน
.
เมื่อใดมีตัวตนปะปนอยู่ในการคิด เมื่อนั้นการคิดก็ยากที่จะเป็นกลางได้ เพราะย่อมมีการพยายามปกป้องตนเองหรือความเป็นตัวตนที่ยึดถือไว้มิว่าของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทำให้มีอคติและการด่วนสรุปจากความถือมั่นนั้น หรือแม้แต่การพยายามรักษาความเชื่อไว้โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงด้านต่างๆ ก็เกิดมาจากการมีทิฐิในการตัดสินตีความ ถือมั่นเอาว่าอะไรๆ เป็นตัวตนอย่างที่ยึดถือ
.
การจะตัดสินเรื่องใดๆ ได้อย่างถ่องแท้ เราจะต้องฝึกละวางทิฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งมักชักชวนเราคิดไปเองว่าสิ่งต่างๆ ทั้งหลายนั้นเที่ยงแท้ ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นตัวตนของตน หรือมีเจ้าของครอบครองได้ ผิดไปจากไตรลักษณ์หรือหลักความจริงทั้งสาม ซึ่งทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่อาจใช้ความเป็นอัตตาตัดสินตีความอย่างถูกต้องชอบธรรม
.
การฝึกละวางทิฐิมิใช่เรื่องยาก เพียงแค่ต้องหมั่นมีสติในการรับรู้ เพราะเมื่อใดขาดสติในการรับรู้ เมื่อนั้นกิเลสต่างๆ ก็จะชวนปรุงแต่งไปในทางมีทิฐิหรือในการยึดมั่นในตัวตน หากมีสติก็จะมีปัญญาไม่หลงไปตามอคติและอารมณ์ทั้งหลาย ไม่นำความชอบ ความไม่ชอบ ความหลง หรือความกลัวเข้ามาทำให้ใจแปรปรวนจนตัดสินตีความไม่เหมาะควร
.
เมื่อใดจิตใจกำลังหลงไปกับการเฝ้าตีความต่างๆ จนนำมาสู่ความทุกข์ต่อตนเองและคนอื่น เมื่อนั้นเราพึงกำหนดรู้อยู่กับปัจจุบัน รับรู้สิ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจกำลังรับรู้อยู่จริงๆ ในตอนนั้น มิใช่คิดว่ากำลังรับรู้ ความจริงมิใช่เพียงสิ่งที่อยู่ในความคิดหรือเป็นความเชื่อความเห็น แต่ความจริงยังเป็นสิ่งที่อายตนะกำลังรับรู้ในปัจจุบันนั้น พึงพาตนกลับมากับความเป็นจริงตรงหน้านี้ ไม่หลงไปกับกระแสความนึกคิดต่างๆ จนหลงลืมความจริงที่กำลังรับรู้ด้วยอายตนะ ซึ่งเป็นความจริงที่ถ่องแท้ยิ่งกว่าสิ่งที่เชื่อหรือคิดแล่นไปในหัว
.
จากนั้นจึงให้พาจิตใจไตร่ตรองอย่างมีสมาธิตามหลักความเป็นจริงทั้งสามว่า สิ่งที่รับรู้นี้และสิ่งที่คิดไปเองทั้งหลายต่างเป็นเพียงอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา แม้แต่สิ่งที่เชื่อว่าใช่หรือไม่ใช่ก็เป็นเพียงอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ผู้รับรู้และเฝ้าดูนี้ก็เป็นเพียงอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาเท่านั้น
.
เมื่อจิตอยู่กับไตรลักษณ์ วางใจไว้ในอนัตตา ไม่หมายมั่นในความเป็นตัวตนและของๆ ตน เมื่อนั้นก็จะรับรู้โลกด้วยความสงบและสำรวม ไม่พยายามไม่ตัดสินหรือไม่พยายามตัดสินจนเกินไป ดำรงอยู่กับความเป็นจริงที่อายตนะ รับรู้การกระทบของหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจอย่างมีสติ เมื่อนั้นจึงคิดตีความตัดสินเรื่องต่างๆ ได้อย่างเป็นกลางและเป็นสุข
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๕๒

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

*๑ หนังสือ พุทธธรรม โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) หน้า ๑๗๙
*๒ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ ๒๑ เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ [๒๑๗]
*๓ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต  ขตสูตรที่ ๑ [๓]
*๔ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ธัมมัญญูสูตร  [๖๕]
*๕ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต เกสปุตตสูตร [๕๐๕]
*๖ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อคติสูตรที่ ๑ [๑๗]
*๗ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ทิฐิกถา [๓๐๓]