ใครไม่รู้ก็โกรธ และเกลียดชังเพราะความเห็นต่างและความขัดใจ…

 

 

1 ดีของเรา ชั่วของเขา เป็นธรรมดา

.

เหตุผลอะไรที่ทำให้เรามักเชื่อว่าสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง จะต้องดีสำหรับคนอื่น แม้ลึกๆ ก็รู้ว่ามันไม่ใช่แบบนั้นก็ตาม

.

ใช้ความรู้ตามหลักพุทธศาสนาอธิบาย เหตุผลนั้นก็เพราะเรามี อคติ สองอย่างที่เรียกว่า ฉันทาคติ คือ ความลำเอียงเพราะพึงพอใจ กับ โมหาคติ คือ ความลำเอียงเพราะหลงและความไม่รู้

.

พึงพอใจกับสิ่งใด เราก็คิดไปว่ามันจะต้องดี ดีสำหรับตนเองไม่พอ ต้องดีสำหรับคนอื่นด้วย

.

หลงกับความคิดความเชื่อใด เพราะใจยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงในกฏแห่งธรรมชาติ ย่อมด่วนตัดสินตีความว่ามันจะต้องเป็นแบบที่เราคิดสำหรับทุกคน 

.

อคติเหล่านี้เกิดจาก สาม พ. คือ เพลิดเพลิน พอใจ และพะเน้าพะนอ

.

เพลิดเพลินในการรับรู้และการเสพความคิดนั้นๆ พอใจชอบใจกับสิ่งดังกล่าว และการคลุกคลีเอาใจไปเกลือกกลั้ว หรือเรียกว่า พะเน้าพะนออยู่กับมัน จนทำให้จิตปรุงแต่งไปเอง

.

เหตุผลทางจิตวิทยา คือความต้องการเป็นคนสำคัญ และอยากให้คนอื่นสนใจตนเอง 

.

เกี่ยวข้องกันอย่างไรเพราะสิ่งที่เชื่อว่าดี จิตมักนำมาเป็นตัวแทนของตัวตนและคุณค่าของตนเอง

.

เราจึงหวังให้คนอื่นยอมรับในสิ่งที่ดีนั้นๆ มิว่าจะเป็นบุคคล สัตว์ สิ่งของ หรือนามธรรมใด เพื่อให้เรารู้สึกว่าตนเองได้รับความสำคัญไปด้วย

.

เมื่อถืออะไรเป็นตัวแทนของตนและคุณค่าของเราแล้ว เราก็ย่อมพยายามปกป้องสิ่งนั้น เสมือนปกป้องเลือดเนื้อของตน ใครดูหมิ่นเหยียดหยามหรือทำร้ายเจ้าสิ่งนั้นก็ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าคุณค่าของเราน้อยลงไปด้วย

.

ดังนั้นการทะเลาะวิวาทกันด้วยอุดมการณ์หรือความเห็นต่างอย่างไรก็มาจากความอยากมีตัวตนของทั้งสองฝ่าย มิว่าเรื่องใดๆ ที่เชื่อว่าดีก็ตาม

.

เมื่อมีคนเห็นต่าง เมื่อมีคนกล่าวโจมตี หรือไม่พอใจสิ่งที่เราเชื่อว่าดี เราจึงรู้สึกเจ็บปวดเหมือนกับตัวตนของเราได้รับบาดเจ็บ 

.

เราต้องถามตนเองว่า อะไรกันแน่ที่ทำให้เราทุกข์ใจ สิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาเชื่อ มันทำร้ายกายและใจเราจริงๆ หรือเป็นความคาดหวังและความเชื่อของเราเองที่ทำร้ายตัวเราให้เจ็บปวด

.

ในเมื่อเราก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่า เขาไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนเรา ไม่จำเป็นต้องทำหรือคิดเหมือนกันกับเรา ไม่จำเป็นต้องดีเหมือนกัน และไม่สามารถที่จะเป็นเหมือนเราได้ทุกคน เหตุใดเราจึงคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

.

สิ่งที่ทำให้เราโกรธก็คือตัวเราเองที่พยายามรักษาตัวตนไว้ สิ่งที่ผลักดันให้เขาทำ คิด หรือเป็นเช่นนั้นก็คือความอยากมีตัวตนของเขาเอง 

.

ดังนั้นความอยากมีตัวตนนั้นเองจึงเป็นศัตรูที่แท้จริงของเรา มิใช่ใครเลย

.

เมื่อเราลืมไปว่าแต่ละคนมีสิทธิที่จะชื่นชอบ ชื่นชม หรือศรัทธา ไม่เหมือนกัน เมื่อลืมไปว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกันอยู่เป็นธรรมดา จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า การเหมารวม

.

ดังเช่นคำพูดประมาณว่า ทุกๆ คนต้องคนไทยทุกคนกำลังคนทั้งเมืองรู้สึกทั้งๆ ที่เราก็รู้ดีว่าคำพูดแบบนี้เป็นการขยายความเพื่อเร้าอารมณ์ และมีสิทธิ์ไม่ใช่ความจริงสูง เพราะเราไม่ได้นำความเห็นของทุกคนมาแยกแยะจริง

.

เมื่อเกิดการเหมารวมแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คนที่ไม่ได้คิด พูด หรือกระทำแบบเดียวกันกับสิ่งที่เราเหมารวม จิตใจก็จะตีความว่าพวกเขาคือส่วนเกิน เป็นฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่พวกเดียวกัน ไม่ได้มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ไม่ใช่พวกของเรา

.

การกระทบกระทั่งทำร้ายกันเพราะความเห็นต่างก็เริ่มเกิดขึ้นจากเหตุนี้ด้วย  

.

พระพุทธเจ้าตรัสว่า * ถ้อยที่ดีของเราก็เป็นถ้อยที่เลวร้ายสำหรับคนอื่นได้

เช่น

การพูดเกี่ยวกับความศรัทธาเป็นธรรมดาที่จะไม่เข้าหูสำหรับคนไม่มีศรัทธา

การพูดเกี่ยวกับศีล วินัย และการควบคุมตนเอง ก็เป็นการพูดที่ไม่น่าพึงใจสำหรับคนที่ไม่ใส่ใจเรื่องศีล วินัย และการควบคุมตนเอง

การพูดมากๆ ยาวๆ ก็เป็นการพูดที่เลวร้ายสำหรับคนไม่รู้จักฟัง

การพูดเกี่ยวกับการให้ ก็เป็นวาจาไม่ดีสำหรับคนขี้ตระหนี่

.

แม้เป็นถ้อยคำที่ดี แต่ผู้รับฟังไม่เหมาะสมแล้ว เขาก็ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ เป็นธรรมดา

.

บทความนี้ก็อาจเป็นบทความที่ดีสำหรับบางคน เลวร้ายสำหรับใครบางคนก็ได้

.

สิ่งที่ดีสำหรับเรา อาจเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับคนอื่น เป็นธรรมดา เราไม่จำเป็นต้องเอาตัวตนของตนเองไปผูกกับสิ่งที่ไม่แน่นอนเหล่านี้เลย

.

.

2 ไม่รับรู้ก็ไม่โกรธ เพราะพอใจจึงขัดแย้ง

.

บางครั้งเราก็เลือกวิธีการตัดการรับรู้ เพื่อจะได้ไม่หงุดหงิด เครียด หรือเศร้าเสียใจ 

.

ด้วยการปิดสื่อโซเชียล ไม่คุยกับบางคน บล็อกช่องทางการติดต่อ หรือเลือกที่จะไม่สนใจบางเรื่องราว

.

นี่เป็นกลยุทธ์การหนี เป็นวิธีรับมือกับความทุกข์ตามปกติของมนุษย์

.

มันไม่ได้แก้ไขที่ปัญหา เพราะเมื่อกลับมารับรู้ใหม่ ใจก็สามารถเจ็บช้ำและเป็นทุกข์ได้

.

บางครั้งหนีไปจนสุดขอบโลก เพื่อวกวนกลับมาบรรจบที่เรื่องเดิม ลองนึกถึงการหนีเรื่องบางเรื่องในชีวิต สุดท้ายก็หนีไม่พ้น

.

แล้วจะรับรู้อย่างไรไม่ให้หัวเสียหรือเป็นทุกข์ตาม จะเผชิญหน้าอย่างไรไม่ให้กระทบกระทั่ง

.

เราต้องทำความเข้าใจว่าเพราะเหตุใดการรับรู้จึงนำไปสู่ความบาดหมางและการทะเลาะวิวาท

.

ศาสนาพุทธชวนเราพิจารณาจิตใจตนเอง เพื่อเห็นว่า **

.

เพราะอาศัยเวทนาจึงมีตัณหา

เพราะอาศัยตัณหา จึงมีการไขว่คว้า

เพราะอาศัยการไขว่คว้า จึงมีการได้มา

เพราะอาศัยการได้มา จึงมีการปลงใจรัก

เพราะมีการปลงใจรัก จึงมีความกำหนัดด้วยความพอใจ

เพราะมีความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงมีความสยบมัวเมา

เพราะมีความสยบมัวเมา ก็มีการจับอกจับใจยิ่งขึ้น

เพราะมีการจับอกจับใจ จึงมีความตระหนี่ ยึดไว้เป็นของตน

เพราะมีความตระหนี่ จึงมีการหวง

เพราะมีการหวงนี้ จึงมีการทะเลาะวิวาทกระทบกระทั่ง

.

เมื่ออาศัยเหตุปัจจัยดังนี้แล้ว การทำร้ายซึ่งกันและกัน การใช้ความรุนแรง และความบาดหมางก็เกิดขึ้น

.

มันจะไม่ปรุงแต่งเป็นทอดๆ จนนำไปสู่ความขัดแย้งและความโกรธเกลียดเลย หากเรามีสติ 

.

ถ้ามีสติตั้งแต่ต้น เมื่อรับรู้อะไรแล้วก็จะไม่ปรุงแต่งมาเป็นความพอใจหรือไม่พอใจ 

.

หากมีสติเมื่อมีเวทนาก็ไม่ปรุงแต่งเป็นความอยาก

หากมีสติตอนที่อยากก็จะไม่ไขว่คว้า ไม่ได้มา และไม่ปลงใจรัก 

ถ้าพอมีสติเมื่อกำลังไขว่คว้า ได้มา หรือปลงใจรัก จิตก็จะไม่กำหนัดด้วยความพอใจหรือหลงมัวเมา 

ถ้าพอรู้ตัวเมื่อหลงมัวเมา ความตระหนี่ ความหวง ก็จะยังไม่เกิดขึ้น 

.

เช่นนี้แล้วปัญหาที่ตามมาก็จะไม่มี

.

ดังนั้นการรับรู้โลกอย่างมีสติ จึงเป็นกุญแจสำคัญ ในการหลีกเลี่ยงจากความทุกข์และความขัดแย้งใดๆ 

.

รับรู้อย่างไรไม่ให้โกรธเกลียด ไม่ให้เศร้าหมองหรือเป็นทุกข์ใจ ก็ต้องรับรู้ด้วยความมีสติ ระลึกรู้ทันการปรุงแต่งของใจที่คิดตีความต่างๆ นานา

.

รับรู้อย่างมีสติเป็นอย่างไร คือรับรู้ความจริงไปตามความเป็นจริง โดยไม่นำความพอใจและความไม่พอใจมาเกี่ยวข้อง ไม่นำตัวฉันหรือของๆ ฉันมาข้องเกี่ยว ไม่เพ่งเล็งอยู่ในบางจุด เรียกว่ารับรู้ด้วยความเป็นกลาง

.

เราจะรับรู้อย่างเป็นกลางได้ ก็ด้วยการรู้ตัวเมื่อมีผัสสะมากระทบ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก่อนจะปรุงแต่งเป็นเวทนาและตัณหาคือความอยาก

.

ฟังดูเหมือนยาก แต่เราก็ฝึกได้

.

เริ่มจากการฝึกมอง ฟัง สัมผัส ฯ โดยวางจากการตัดสินตีความต่างๆ แล้วสังเกตดูว่าเมื่อทำเช่นนั้นเราไม่มีความอยากและความหวงใดๆ เกิดขึ้นเลย เรากำลังรับรู้อย่างเป็นกลางแล้ว

.

ความวิวาทเกิดจากความหวง ความตระหนี่ ความจับอกจับใจ และความมัวเมา ในสิ่งที่เรารัก ชอบ พอใจ และเชื่อมั่น

.

ถ้าไม่มีความหลงความพอใจเหล่านี้ ความขัดแย้งก็ไม่เกิด

.

ความหลงความพอใจก็เกิดมาจากความอยากได้ อยากเป็น ที่ผูกมัดอยู่กับตัวตนของเรานั่นเอง

.

กล่าวได้ว่า การทะเลาะวิวาทและความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจ จริงๆ ก็คือการพยายามปกป้องตัวตนของทั้งสองฝ่ายเอาไว้ การหนีไม่รับรู้อะไร จริงๆ ก็คือการพยายามปกป้องตัวตนของเราไว้เช่นกัน

.

ทั้งหมดล้วนแล้วเกิดขึ้นมาจากการรับรู้ผ่านอายตนะทั้งห้า การเลือกไม่รับรู้อะไรจึงเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาชั่วคราว

.

จะดีกว่าเมื่อเรากลับมาพิจารณาว่า เราจะรับรู้อย่างมีสติอย่างไร

ปัญหาที่เกิด เกิดจากความพอใจหรือไม่พอใจของเราเองอย่างไร

เรามีความอยากได้ อยากเป็น และความอยากอะไรในเรื่องนี้

เรามีความหลงมัวเมา หรือความยึดถืออย่างไร

.

ปัญหาที่บาดหมางใจ จึงจะคลี่คลาย เริ่มจากใจเราเอง

.

กลับมารับรู้โลกอย่างไม่ต้องตีความ คือหนทางที่มากกว่าการสู้หรือการหนีกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

.

.

3 บทเรียนจากพระพุทธเจ้า

.

อารมณ์ในจิตใจนั้นคลี่คลายได้ด้วยหลากหลายวิธีการ

.

บ้างก็ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด หากอารมณ์ลบนั้นเกิดจากการคิดแบบหนึ่งๆ บ้างก็ด้วยการเติมเต็มอารมณ์ที่ดีเข้าหักล้าง บ้างก็ด้วยการปรับวิถีของใจแก้ไขความเคยชินด้วยการขัดเกลา

.

คำสอนในพระพุทธศาสนาที่จารึกไว้ในพระไตรปิฎกนั้นกล่าวถึงการรับมือกับความโกรธหลายจุดด้วยกัน ซึ่งผู้เขียนได้นำมาบอกเล่าแล้วในคอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ผ่านมา

.

ลักษณะหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนคือการใช้น้ำเข้าดับไฟ ใช้สิ่งตรงกันข้ามเอาชนะ ไม่ให้ใช้สิ่งเดียวกันต่อสู้

.

พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ ชนะความตระหนี่ด้วยความไม่ตระหนี่ ฯ

.

เพราะยิ่งใช้ความชั่วร้ายต่อสู้กับความชั่วร้าย สิ่งที่เหลืออยู่ก็จะเป็นเพียงความชั่วร้าย

.

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการระงับความโกรธ เกลียด เคียดแค้น และไม่พอใจ แก่ภิกษุผู้ติดตามทั้งหลายจำนวนห้าข้อ ดังนี้ ***

.

.

…“ความอาฆาต พึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น” 

.

เราฝึกเจริญเมตตาได้ง่ายๆ ด้วยการบอกรัก และขอบคุณคนอื่น ด้วยคำพูดหรือการระลึกในใจ เริ่มจากคนที่ตนเองรู้สึกดีด้วย คนที่มีพระคุณกับเรา จนถึงคนที่มีความบาดหมางต่อกัน

.

ถึงแม้ว่าการบอกรักและขอบคุณคนที่ทำให้โกรธหรือทำร้ายเราอาจฝืดฝืนหรือแลดูเสแสร้ง แต่เมื่อเราทำมากพอจนใจของตนเองเปิดกว้าง การบอกรักและขอบคุณนั้นก็จะเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกันกับการให้อภัย

.

ไม่ใช่เพราะเป็นการให้คนอื่น แต่จริงๆ แล้วเป็นการให้ตนเอง เราบอกรักและขอบคุณเขา จริงๆ แล้วเป็นไปเพื่อใจของเราเอง เหมือนกันกับการให้อภัย

.

เราบอกรักและขอบคุณก็เพื่อดับไฟโกรธเกลียดชังในใจ ปลดปล่อยตัวเราเป็นอิสระจากความทุกข์และการจองเวรต่อกัน

.

เพื่อให้เรารู้สึกรักและขอบคุณตนเองที่ทำเช่นนั้นให้แก่คนอื่น เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราโกรธ เกลียด เคียดแค้น หรือชังคนอื่น ตอนนั้นการรักตนเองก็ลดน้อยถอยลงไป เพราะเพลิงอารมณ์นั้นทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจของตนเอง

.

ดังนั้นการบอกรักและขอบคุณคนอื่น โดยเฉพาะคนที่บาดหมางต่อกันก็เพื่อให้เรารักตนเองอย่างแท้จริงมากขึ้น

.

.

…”ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น

.

ความกรุณาคือความเห็นอกเห็นใจ เราพึงเข้าใจอีกฝ่ายว่าการที่เขาแสดงออกด้วยท่าทีที่ไม่ดี รบกวนเรา หรือทำร้ายกัน ย่อมมีความทุกข์อยู่เบื้องหลัง

.

เพราะเจ็บปวดจึงก้าวร้าว เพราะโศกเศร้าจึงคลุ้มคลั่ง เพราะขาดความเชื่อมั่นในตนเองจึงทำตัวเหลวใหล

.

พื้นฐานของมนุษย์แล้วมีคุณธรรมและความดีงาม หากภายในจิตใจมิได้มีความทุกข์หรือความรู้สึกขาดพร่องเป็นปมซ่อนเร้นหรือมีสิ่งยุแยงให้ขาดสติ

.

ความกรุณาเป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองคิดว่าหากตนเองเป็นเขาบ้าง ต้องเจอกับสิ่งต่างๆ เหมือนกับตัวเขา เราจะรู้สึกอย่างไร

.

เวลาที่เราเองทำตัวงี่เง่า หรือทำผิดต่อคนอื่น เราก็มีเหตุผลและความรู้สึกที่อยากให้คนอื่นเข้าใจ เขาก็เช่นเดียวกัน

.

.

…“ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น

.

อุเบกขาหรือการวางเฉย ดูเหมือนยากแต่จริงๆ แล้วทำได้ง่ายๆ ถ้าเราวางใจเป็น

.

การวางใจคือการยอมรับว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอย่างนั้นเพราะเป็นอย่างนั้น เราไม่อาจคาดหวังให้ใครเป็นไปตามใจอยากหรือมาตรฐานของตนเอง

.

นี่เป็นการน้อมความหมายของคำว่า ตถตา คือความเป็นเช่นนั้นเองมาใส่ใจ

.

สิ่งใดๆ ที่กระทบการรับรู้ซึ่งมาจากท่าทีหรือการกระทำของเขา ลองไม่ตัดสินตีความบ้าง แค่รับรู้สักแต่ว่ารับรู้ ยอมรับในสิ่งที่เกิดแม้มันจะขัดใจเราบ้างก็ตาม

.

รวมทั้งการไม่ด่วนตัดสินตีความอะไรเพียงมุมมองเดียว พึงเผื่อใจว่าอาจมีมุมอื่นๆ เกี่ยวกับตัวเขาที่เรายังมองไม่เห็นก็ได้

.

เช่นนี้แล้วเราก็มีอุเบกขาในใจของตนเองมากขึ้น แล้วความทุกข์เพราะคนอื่นก็จะลดน้อยถอยลงไปมาก

.

.

…“ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น

.

เหตุใดเราจึงไปหมกมุ่นอยู่กับเขา นี่เป็นความหมายอีกนัยของคำตรัส

.

เรื่องตนเองหรือจิตใจตนพึงใส่ใจให้ดี ไม่ส่งจิตออกนอก หรือส่งหัวใจออกไปนอกตัวเอง จนไปทุกข์ร้อนโกรธขึงเพราะเรื่องของคนอื่น

.

เรื่องของคนอื่นนั้นก็คือพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ อันเจ้าตัวเป็นผู้กระทำซึ่งจะส่งผลต่อไปต่อตัวเขาเอง เป็นกรรมของเขา เราไม่พึงใฝ่ใจจนไปแบกรับกรรมของคนอื่น

.

เมื่อเราไม่รักษาสติให้อยู่กับตนเอง จิตใจก็จะท่องเที่ยวออกไปล่วงล้ำก้าวก่ายคนอื่น ไปใส่ใจวิจารณ์คนอื่น ไปถือโทษโกรธเคืองคนอื่น นำมาเป็นอารมณ์และความฟุ้งซ่านของจิต

.

ดังนั้นการอยู่กับตนเองให้เป็น มีสติอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ส่งจิตออกนอกอย่างไร้ประโยชน์ จึงเป็นหนทางละความไม่พอใจทั้งหลายต่อคนอื่นและสิ่งนอกตัว

.

ความโกรธ เกลียด และแค้นคนอื่น เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ากายใจของเรานั้นกำลังต้องการความใส่ใจ เราอาจมีความทุกข์อยู่ภายในมากกว่าที่ใครๆ รับรู้ มีความเครียด ความไม่สบายใจ ความเหนื่อยล้า ฯ และร่างกายอาจกำลังรับเคราะห์จากอารมณ์และการใช้ชีวิตของเราอยู่ด้วย

.

เมื่อเราไม่ได้ใส่ใจร่างกายและจิตใจตนเองดีพอ ความทุกข์ต่างๆ ภายในก็จะเป็นผลทำให้เราเกิดความโกรธ ความหงุดหงิด หรืออารมณ์แปรปรวนได้ง่าย

.

เหมือนต้นไม้ที่มีรากไม่มั่นคงก็ถูกพัดล้มจากสายลม

.

การหมกมุ่นเรื่องคนอื่นเกินไป การก้าวก่ายล่วงล้ำพื้นที่ของคนอื่น การเอาใจตนเองไปผูกไว้กับพฤติกรรมของใครบางคน ทั้งหมดนี้สามารถเป็นกระจกสะท้อนว่าเราดูแลตนเองไม่เพียงพอ แต่ลงกับคนอื่น

.

เรากำลังนำความใส่ใจที่ควรให้ตนไปยกให้กับเขา และแอบหวังให้เขาหันมาใส่ใจ

.

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่รับรู้ว่ากำลังมี ความโกรธ เกลียด และความหงุดหงิดไม่พอใจ ให้รับรู้ว่ามันกำลังเป็นสัญญาณเตือนให้เรากลับมารักตนเองให้มากขึ้น ควรเห็นใจและใส่ใจตนเองมากยิ่งขึ้นกว่านี้

.

.

ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น

.

คำแนะนำข้อนี้ เป็นวิธีคิดที่สำคัญอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา สอนเราโดยอ้อมว่าเมื่อเกิดเหตุร้ายและความทุกข์ใดขึ้น ไม่ได้ให้โทษใครและไม่ได้ให้มุ่งหมายลงโทษใคร

.

แต่ให้มองว่ามันเป็นเรื่องของกรรม และการรับผลการกระทำของตนเอง คนที่เคยทำผิดอย่างไรมาก็ย่อมได้รับผลอย่างนั้นมิว่าจากตนเองหรือจากปัจจัยต่างๆ ไม่ช้าก็เร็ว

.

เราไม่จำเป็นต้องโกรธ แช่ง หรืออาฆาตมาดร้ายใคร เดี๋ยวเขาก็เป็นไปตามกรรมของเขาเอง

.

ให้วางใจไว้ในกฏแห่งกรรม แล้วเดี๋ยวใจเราก็จะมีอุเบกขา มีเมตตา และไม่ไปหมกมุ่นกับเขา 

.

มีกรรมเป็นเครื่องกำหนด ยังหมายถึง ถ้าเราเกิดในสภาพแวดล้อมเดียวกันกับเขา เจอความทุกข์เหมือนอย่างเขา มีประสบการณ์และการเรียนรู้เหมือนอย่างเขา เราก็อาจคิด พูด และกระทำเหมือนเขาอย่างที่โกรธในตอนนี้

.

คำสอนนี้ยังทำชวนให้เราคิดว่าสิ่งที่คนๆ หนึ่งเป็น มันเกิดจากปัจจัยต่างๆ มากมายที่เป็นกรรมดลบันดาลให้เป็นอย่างนั้น มิใช่ให้เราถือเขาถือตัวตนว่าชั่วร้าย

.

สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามเหตุปัจจัย พฤติกรรมของเราและเขาก็เป็นเช่นกัน

.

.

4 ให้ยอมรับและเข้าใจธรรมชาติของบุคคล

.

นอกจากคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ในพระไตรปิฎกยังมีคำสอนจากพระสารีบุตร ซึ่งเป็นดั่งศิษย์เอกของพระองค์ในด้านของปัญญา คำแนะนำในการระงับความอาฆาตจากพระสารีบุตร **** ได้แบ่งออกเป็นสี่ข้อในบทความนี้

.

ข้อแรกคือ ให้เรายอมรับและเข้าใจธรรมชาติของบุคคล

.

เพราะคนที่ดีพร้อมนั้นมีอยู่ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสมบูรณ์แบบ

.

ท่านยกตัวอย่างว่า บางบุคคลในโลกนี้ บางคนก็ประพฤติทางกายดี แต่ประพฤติทางวาจาหรือคำพูดไม่ดี

บางคนก็ประพฤติทางกายไม่ดี แต่ประพฤติทางวาจาหรือคำพูดดี

บางคนไม่ดีทั้งสองด้านเลย แต่มีใจที่สงบ และมีคุณธรรมด้านอื่นให้เลื่อมใส

บางคนก็ไม่ดีทั้งสามด้านเลย ไม่มีกาย วาจา และใจที่ดีที่น่าเลื่อมใสเลย

บางคนก็ดีพร้อมในทุกด้าน

.

แต่ไม่ว่าจะเป็นบุคคลเช่นไร เราพึงระงับความโกรธ เกลียด ชัง ในบุคคลเหล่านี้

.

เพราะโทษของความโกรธและอารมณ์ลบต่อตัวเอง มีมากมาย ไม่มีประโยชน์ที่เราจะทำร้ายตัวเองเพราะคนอื่น โกรธเกลียดเขาไป ใจเราเองที่จะตกนรก ไม่ใช่เขา

.

เหนือสิ่งอื่นใด อันดับแรก เราต้องวางใจว่า คนมีหลายแบบ และไม่ใช่ทุกคนที่จะดีพร้อมในทุกด้าน

.

ตัวเราเองที่ไปโกรธ เกลียด ชัง คนอื่นเขา เราบกพร่องในด้านใด

.

การยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบจะช่วยให้เจริญอุเบกขาและความกรุณาได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะต่อตัวเราเอง

.

ในทางจิตวิทยา ความไม่พอใจทั้งหลายต่อคนอื่น ล้วนแล้วแต่บ่งบอกว่า เรากำลังไม่พอใจตนเองด้วยเช่นกัน อาจจะเป็นสิ่งที่เราก็เป็นเหมือนกับเขาแต่ไม่รู้ตัว หรืออยากดีให้เหมือนเขาในบางด้าน

.

ความโกรธแค้นเกิดจากความขาดสติและเกิดจากความไม่รู้จักตัวเอง

.

เพราะเราไม่รู้ว่าตนเองก็บกพร่องอย่างไร มีส่วนผิดอย่างไร และเรายึดมั่นอะไรจนปรุงแต่งให้เกิดความไม่พอใจ เราจึงโกรธเขา

.

เราศึกษาธรรมชาติของคนได้ไม่ยาก เพียงแค่ศึกษาให้เข้าใจธรรมชาติของตนเอง ความไม่สมบูรณ์แบบที่เป็นธรรมดา

.

.

5 ระงับความโกรธเกรี้ยวและชิงชัง ด้วยการมองแต่สิ่งที่ดี

.

คำสอนอีกประการหนึ่งจากพระสารีบุตร คือการต้องรู้จักแยกแยะไม่เหมารวม

.

เขามีส่วนเลวบ้างก็จริง แต่ต้องมองให้เห็นส่วนที่ดีที่เขามีอยู่

.

แยกแยะกุศลกับอกุศลอย่างชัดเจน ไม่เหมารวมด้วยกัน คนดีก็มีความเลวได้ คนร้ายก็มีความงาม

.

ท่านเปรียบเปรยว่าเห็นผ้าเก่าที่ถนน เหยียบให้มั่นด้วยเท้าซ้าย เขี่ยออกดูด้วยเท้าขวา ส่วนใดเป็นสาระ ก็เลือกถือเอาส่วนนั้นแล้วหลีกไป

.

ส่วนที่ไม่มีสาระคือไม่เป็นประโยชน์ เราจะใส่ใจไปไย พิจารณาแยกแยะแล้วเลือกแต่ส่วนที่ดีมีคุณค่าดีกว่า หลีกไปคือมิเอาใจไปหมกมุ่นกับส่วนที่เหลืออีก

.

สระน้ำที่ถูกสาหร่ายและแหนคลุมไว้ บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ เขาลงสู่สระน้ำนั้น แหวกสาหร่ายและแหนด้วยมือทั้งสองแล้ว กอบน้ำขึ้นดื่มแล้วพึงไป

.

สิ่งมัวหมองไม่เป็นประโยชน์ที่เกิดจากความประพฤติทางวาจาและเปลือกอันผิวเผินทั้งหลายก็เหมือนกับสาหร่ายและแหนที่ปกคลุมน้ำสะอาดไว้ เราก็เพียงแหวกออกไปแล้วล้วงลึกสิ่งที่ดีที่ซ่อนอยู่ในตัวเขาออกมา

.

อย่าใส่ใจเปลือกของคนจนเกินไป

.

สำหรับบางคนความประพฤติทางกายก็ไม่ดี ทางวาจาก็ไม่ดี แต่พอมีใจอันสงบและคุณค่าอันน่าชื่นชมในเรื่องอื่นอยู่บ้าง ท่านเปรียบดั่งน้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโค

.

ถ้าเป็นบุคคลที่ลำบาก เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ มิอาจหาดื่มจากที่ใดได้แล้ว น้ำในรอยเท้าของวัวก็เป็นทางเลือกในตอนนั้น

.

ความดีของคนเลวที่มีความประพฤติทางกายกับวาจามัวหมอง อาจมีคุณค่ากับใครบางคนในบางช่วงเวลา อาจเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเราในบางมุม

.

แม้จะเล็กน้อยแต่ก็มีคุณค่า ท่านสอนให้เรามองในสิ่งที่ดีเล็กๆ น้อยๆ นี้ แทนที่จะจดจ้องในความไม่ดีที่เขามี เหตุนี้ก็จะช่วยให้เราระงับความอาฆาตและโกรธเกลียดอีกฝ่ายได้

.

หลายครั้งที่เราอาจเหมารวมคนอื่น เมื่อแลเห็นส่วนที่ดีแล้วเกิดความพอใจก็เหมารวมไปว่าเขาจะต้องดีเพียบพร้อม เมื่อแลเห็นส่วนแย่ในภายหลังก็รู้สึกผิดหวัง

.

เมื่อแลเห็นส่วนที่แย่ของใครก็เกิดความไม่พอใจ ตีความตัดสินไปว่าอีกฝ่ายเป็นคนไม่ดี แม้มีส่วนที่ดีปรากฏก็ไม่เชื่อถือ

.

เหตุตรงนี้เกิดจากความเชื่อในความรู้สึกแรกของตนเองมากเกินไป แรกพบรู้สึกอย่างไรก็ทำให้เชื่อเช่นนั้นต่อไป เป็นการปักใจเชื่อ

.

การที่คนเราปักใจเชื่ออะไรต่างๆ แม้เพียงมองในด้านเดียว เพราะด้วยความต้องการความมั่นคงในจิตใจ เราแสวงหาความมั่นคงให้กับชีวิตและตนเอง จึงมักพยายามหาที่ยึดเหนี่ยวในด้านต่างๆ อยู่เรื่อยๆ

.

เมื่อความเชื่อเดิมถูกหักล้างแล้วมีความเชื่อใหม่ๆ ที่น่าพอใจเกิดขึ้น จิตก็พร้อมที่จะปักใจกับความเชื่อใหม่ แม้มันจะเป็นเพียงกระจกอีกบานของความจริงก็ตาม เพราะด้วยความต้องการความมั่นคงนั่นแล

.

.

6 ระงับความโกรธเกลียดด้วยความกรุณา

.

คำสอนของพระสารีบุตรในเรื่องนี้เป็นเช่นเดียวกันกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าในข้อกล่าวก่อนหน้า ตอกย้ำว่าเราจะแก้ไขความโกรธเคืองไม่พอใจกันก็ด้วยความกรุณาต่ออีกฝ่าย

.

ท่านได้เปรียบเปรยเพื่อให้เราเห็นภาพมากขึ้น ดังนี้

.

…“เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก เดินทางไกล แม้ข้างหน้าเขาก็มีบ้านอยู่ไกล แม้ข้างหลังเขาก็มีบ้านอยู่ไกล เขาไม่พึงได้อาหารที่สบาย (ถูกโรค) เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน บุรุษบางคนผู้เดินทางไกลพึงเห็นเขา บุรุษนั้นพึงเข้าไปตั้งความการุณความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ในเขาว่า โอ คนๆ นี้พึงได้อาหารที่สบาย เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า คนๆ นี้อย่าถึงความพินาศฉิบหาย ณ ที่นี้เลย”…

.

การใช้ชีวิตก็เหมือนกับการเดินทาง เราต้องเดินทางไกลเพื่อผ่านพบและเรียนรู้หลายสิ่งมากมาย

.

บางครั้งเราก็ต้องพบเจอกับคนที่เราไม่ชอบหน้า มีความคิดต่าง หรือกระทำสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่พอใจ มาบรรจบกันบนเส้นทางของชีวิต

.

ในความเป็นจริง เมื่อเราพบเจอคนที่กำลังเดือดร้อน เกิดอุบัติเหตุ หรือป่วยเฉียบพลัน อยู่เบื้องหน้าเรา ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่มีใครอื่นนอกจากตัวเรา เราจะทำอย่างไร

.

จะนิ่งดูดายมิทำอะไรได้ลงคอหรือ เราจะปล่อยให้เขาตายหรือแย่ลงตรงหน้าเราได้หรือ

.

การพบกันกับคนที่เราไม่พอใจ พระสารีบุตรได้สอนว่าให้เราปฏิบัติเหมือนกันกับกรณีข้างต้น ให้เราเห็นใจและปรารถนาที่จะช่วยเหลือเขา แทนที่จะโกรธเกลียดต่อกัน

.

พฤติกรรมทางกาย วาจา หรือใจที่ไม่ดี ซึ่งอาจทำร้ายหรือรบกวนเรา ล้วนมีที่มา เขาอาจเป็นผู้ที่มีปัญหามาก่อน เจ็บไข้ได้ป่วยทางกายหรือทางใจอยู่ มีความทุกข์ในชีวิต หรือมีปมที่ฝังแน่นในใจของเขา

.

เขาเป็นเหมือนคนที่กำลังหลงทาง มีความทุกข์แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือตัวเองอย่างไร ไม่มีหนทางในการระบายความอัดอั้นที่มีมา

.

หากเราไม่ช่วยเหลือเขาแล้ว ใครจะช่วยเหลือเขา แม้แต่ตัวเขาเองยังมิอาจดูแลตนให้อยู่บนทางที่ควรได้เลย

.

หากเรามิอาจทำอะไรได้เลย อย่างน้อยก็ไม่ควรทำร้ายเขาด้วยความโกรธเกลียดแค้นใจเพื่อซ้ำเติมความทุกข์ที่เขามี

.

แต่ความเห็นอกเห็นใจ หรือความกรุณา มิใช่ความสงสาร

.

ความสงสารคือความถือตัวว่าเราดีกว่าเขา

.

ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจมีกิเลสมิได้ด้อยไปกว่าเขาเลย อาจมีปมหรือความทุกข์ภายในใจมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย อาจเขลาต่อความจริงและธรรมะมิได้น้อยไปกว่ากันเลย

.

ความสงสารอาจมีประโยชน์ตรงที่โน้มน้าวตนเป็นผู้ให้แก่คนอื่นได้ แต่จะเป็นการผูกตนเองไว้กับกิเลสที่ชื่อ มานะ คือความถือตน

.

เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นคุณค่าในตนเองอย่างเหมาะสม เมื่อนั้นเราจะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพราะเรารู้ว่าตนเองก็เป็นนักเดินทางที่ต้องผ่านความทุกข์มากมายทั้งที่ล่วงมาแล้วและรอเราอยู่บนเส้นทางแห่งชีวิต จนกว่าจะหลุดพ้น เราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์บนโลกใบเดียวกัน

.

เพราะการไม่เห็นคุณค่าในตนเอง เราจึงดูถูกคนอื่นหรือสงสารคนอื่น เพราะความอยากดี และอยากมีคุณค่า

.

ถ้ารู้สึกมีคุณค่าอยู่แล้วลึกๆ ในใจ เราจะไม่ดูถูกใครและไม่เปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นเลย เราจะมีแต่ความเมตตากับกรุณาที่พร้อมมอบให้แก่กันเท่านั้น

.

.

7 ดีอยู่แล้วก็พึงพอใจและน้อมรับ

.

การรู้จักชื่นชมคนอื่นเป็นคุณธรรมที่สำคัญมาก โดยเฉพาะชื่นชมคนที่เห็นต่างจากเราและคนที่ไม่พอใจกัน

.

เพราะการชื่นชมคือการเปิดใจและความอ่อนน้อม เปิดใจให้กับสิ่งดีๆ ของคนอื่น และอ่อนน้อมไม่ยึดว่าตนเองเท่านั้นที่มีดี

.

ส่วนใดที่ดีอยู่แล้ว เราก็เพียงชื่นชมไม่ใช่จะเที่ยวเทียวหาข้อเสียหรือจับผิดเขาอีก

.

พระสารีบุตร กล่าวว่า

.

…“แม้ความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น (ในตอนนั้น) แม้ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้การได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ส่วนใดของเขา พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัย ฉันนั้น พึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้”…

.

สิ่งใดในตัวเขาดีอยู่แล้ว เราพึงใส่ใจในสิ่งนั้น มากกว่าเรื่องแย่ๆ ของเขา การทำเช่นนี้จึงลดอารมณ์ร้ายและมุมมองด้านลบต่อเขาลงไปได้

.

กับคนที่ไม่ชอบใจ ปฏิกิริยาของเราเมื่อรับรู้สิ่งที่ดีของเขา อาจเป็นความไม่เชื่อมั่น ความหมั่นไส้ ความรู้สึกขำขัน ฯ ล้วนมาจากความถือดีและความอยากดีที่มีอยู่ในจิตใจ

.

ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทความ ๔ ข้อต้องรู้ ถ้าไม่อยากทำร้ายคนอื่น ตอนหนึ่งว่า

.

…“ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่สอนให้เราไม่คอยจับผิดคนอื่น ด้วยเหตุผลหนึ่งคือ  โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมโปรยโทษของคนอื่น ดุจบุคคลโปรยแกลบแต่ปกปิดโทษของตนไว้ เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยกิ่งไม้ ฉะนั้น อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเพ่งโทษผู้อื่น”… *****

.

ยิ่งจดจ้องในความเลวร้ายของคนอื่นเพียงใด ความเลวร้ายก็งอกเงยในตัวเรามากขึ้นเท่านั้น

.

เพราะการเพ่งโทษจับผิดนั้นเองยิ่งส่งเสริมความอยากและความยึดติดของจิตใจให้มีมากขึ้น จึงเรียกว่าทำให้อาสวะหรือกิเลสหมักหมมน้อยใหญ่ทั้งหลายเจริญแก่ผู้ตามเพ่งโทษคนอื่น

.

คนเรามักมองเห็นสังเกตและเฝ้าใส่ใจในจุดดำหรือจุดตำหนิบนผืนผ้าใบสีขาว มากกว่าที่จะใส่ใจในภาพสีขาวหรือส่วนที่สมบูรณ์อยู่แล้ว เพราะความคาดหวังที่มีต่อตนเองเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ

.

เราคาดหวังว่าตัวเองจะดีพอ สมบูรณ์แบบ หรือไม่ผิดพลาดล้มเหลว เราก็จะยิ่งมองเห็นความผิดพลาดและความบกพร่องต่างๆ อย่างชัดเจน เพราะจิตนั้นก็เอาแต่มองส่วนที่ยังไม่ดีพอตามความคาดหวังในตัวเราอยู่เรื่อยๆ

.

เพราะเราเองก็อยากดีสมบูรณ์แบบ เพราะเราเองก็ไม่พอใจในตนเอง เราจึงเลือกไม่ชื่นชมกับคุณค่าและความดีที่อีกฝ่ายหนึ่งมี แล้วเลือกที่จะจับผิดหรือจดจ่อกับด้านมืดของเขาแทน

.

การชื่นชมในส่วนที่ดีของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เห็นต่างกันและโกรธเกลียดกัน จึงเป็นการฝึกให้เรารู้พอใจในตนเอง และเปิดใจยอมรับความเป็นคนธรรมดาของกันและกัน

.

เพราะการจับผิด การโกรธ เกลียด และชัง ไม่ได้ทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์และรักตนเองมากขึ้นได้เลย ยิ่งทำเช่นนั้น ยิ่งมีแต่ทำให้เราก็ไม่ชอบตนเองมากขึ้นเท่านั้น

.

หากเราต้องพึงพอใจในตนเองและใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข ต้องเรียนรู้ที่จะพึงพอใจในคนอื่นและสิ่งต่างๆ รอบข้าง จากสิ่งที่พวกเขาเป็นตามความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากให้เป็นหรือมาตรฐานที่มี

.

ใจกว้างให้กับทุกคน แล้วโลกนี้จะกว้างมากพอสำหรับเรา

.

.

8 อ่านข้อคิดเกี่ยวกับความโกรธเพิ่มเติม 

.

ในบทความ๗ ข้อคิดเรื่องความโกรธ จากพระพุทธเจ้า

.

อาทิ ความโกรธมีรากเป็นพิษแต่มียอดหวาน (ข้อที่สี่ของบทความ)

ความโกรธเกิดจากการรับรู้โลกอย่างขาดสติ (ข้อที่หก)

โกรธ เพราะอยากมีค่า อยากมีตัวตน (ข้อที่เจ็ด)

.

https://www.dhammaliterary.org/๗ข้อคิดเรื่องความโกรธ/

.

หรือในบทความ๔ ข้อต้องรู้ ถ้าไม่อยากทำร้ายคนอื่น

.

อาทิ คาดหวังตัวเองอย่างไร คาดหวังคนอื่นอย่างนั้น (ข้อแรกของบทความ)

การไม่รักตัวเอง ทำให้คนอื่นรู้สึกด้อยค่า (ข้อที่สองของบทความ)

.

https://www.dhammaliterary.org/ถ้าไม่อยากทำร้ายคนอื่น/

.

.

อนุรักษ์ ครูโอเล่

คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ 56

 

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :

www.dhammaliterary.org/คอลัมน์ไกด์โลกจิต/

> > > สามารถสนับสนุนโครงการ ผ่านคอร์สของเรา

www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

*พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจกฉักกนิบาต ๗. ทุกถาสูตร [๑๕๗]

**มหานิทานสูตร (๑๕) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

***พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจกฉักกนิบาต อาฆาตวรรคที่ ๒ อาฆาตวินยสูตรที่ ๑ [๑๖๑]

****พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔

อังคุตตรนิกาย ปัญจกฉักกนิบาต ๒. อาฆาตวินยสูตรที่ ๒ [๑๖๒]

*****พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะธรรมบทอุทานอิติวุตตกะสุตตนิบาต คาถาธรรมบท มลวรรคที่ ๑๘ [๒๘]