๔ ธรรมะรับมือสรรพโรค

 

 

๑ มองโลกให้ถูกต้อง ไม่กลัวโรคภัย :
.
ความกลัวที่ขาดสติเป็นโรคที่น่ากลัวกว่าโรคภัยไข้เจ็บตามธรรมชาติ ความกลัวเกิดจากอวิชชาแปลว่าความโง่หรือความไม่รู้จริงในกฎแห่งธรรมชาติ ความไม่รู้นี้ทำให้การรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์ทั้งหลายเป็นไปอย่างมืดบอดเหมือนหลับตาเดิน จะรับมือกับโรคภัยในโลกก็ต้องเข้าใจความเป็นจริงของโลก
.
การมองโลกอย่างถูกต้องจึงเป็นข้อแรก ในการรับมือกับสรรพโรคด้วยหลักคิดของธรรมะในพุทธศาสนา หากมองโลกไม่ถูกต้องแล้วความกลัวก็ย่อมครอบงำ ทำให้เรารับมือต่อสถานการณ์ที่มีทุกข์ภัยด้วยความโลภ โกรธ และหลง ส่งผลเป็นความทุกข์ต่อตนเองและคนอื่นเรื่อยไปไม่สิ้นสุด รับมือกับสถานการณ์ด้วยความโกรธก็กล่าวโทษไปทั่ว โลภก็ไขว่คว้าตักตวงฉวยโอกาส หลงก็ละเมอไปกับข้อมูลข่าวสารมากมาย แม้เชื้อโรคอยู่ไกลจากตัว แต่สุขภาพที่ดีก็เริ่มกลายเป็นบ้าเป็นโรคทางจิตตามหลักพุทธศาสนา เพราะการมองโลกไม่ถูกต้องเป็นจุดเริ่มต้น
.
ความจริงของโลกข้อแรกคือทุกสิ่งหนุนเนื่องไปตามแรงแห่งกรรม ความมีโรคและไม่มีโรค มีกรรมเป็นเครื่องกำหนด กรรมนี้มีความหมายถึงการกระทำและผลของการกระทำ ร้อยเป็นเส้นสายใยที่ต่อเนื่องด้วยเหตุและผล ทั้งในอดีต ปัจจุบัน แล้วนำไปสู่อนาคต สายใยนี้เชื่อมโยงตัวเรา คนอื่นๆ และสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติเข้าด้วยกัน ไม่มีใครก่อกรรมใดหรือรับผลกรรมใดเพียงลำพัง
.
ในแง่หนึ่งการอุบัติขึ้นของเชื้อโรคและภัยธรรมชาติที่หนักหนามากขึ้นก็เป็นผลพวงของกรรมร่วมกันของเราในเผ่าพันธุ์มนุษย์ ซึ่งเบียดเบียนบั่นทอนธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยการล้างผลาญ ตัดรอน และทำให้ทรุดโทรมลง จนโลกทั้งใบไม่อาจเพียงพอสำหรับเผ่าพันธุ์เดียว การประสบพบกับเหตุการณ์ร้ายและโรคระบาดร่วมกันจึงเป็นกรรมร่วมในสังคม
.
นี่คือความจริงข้อสำคัญมากที่คนร่วมสมัยเริ่มหลงลืมกันไปแล้วคือ กฎแห่งกรรม อันกล่าวว่า สัตว์โลกล้วนเป็นไปตามกรรม สิ่งใดจะเกิดหรือไม่เกิดกับเราก็ล้วนเป็นไปตามกรรมที่กระทำมาในอดีตและวันนี้ การจะเจอหรือไม่เจอกับทุกข์ภัยก็ล้วนเป็นไปตามการกระทำที่เคยกระทำไว้ในอดีตและยาวนานกว่านั้น เราเคยเบียดเบียนบั่นทอนสิ่งใดมาก่อนวันหนึ่งเราก็ย่อมพบเจอเชื้อโรคหรือผู้คนที่มาเบียดเบียนบั่นทอนกายใจ เราเจอกับสิ่งที่ต้องเจอ เป็นในสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็ด้วยเพราะเหตุแห่งกรรมกำหนด ดังคำตรัสข้อหนึ่งของพระพุทธเจ้า ความว่า
.
“สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ ฯ ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาสตรา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น… ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคมาก ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมากนี้ คือ เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาสตรา ฯ
.
“ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาสตรา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น… ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไป เพื่อมีโรคน้อยนี้ คือ เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาสตรา ฯ” *[๑]
.
แม้ระมัดระวังดีมากแล้วแต่ยังเกิดข้อผิดพลาดได้นั่นก็เป็นเพราะมีกรรมเป็นเครื่องกำหนดให้เรียนรู้ แม้รักษาตัวป้องกันมากแล้วแต่ยังติดเชื้อโรคได้นั่นก็เพราะมีกรรมให้เราได้เผชิญ การตื่นกลัวและตึงเครียดไปมิช่วยอะไร การหันหน้ามายอมรับและเรียนรู้อย่างมีสติเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์มากกว่า
.
เมื่อไม่เข้าใจในกฎแห่งกรรมหรือเรียกว่ากฎแห่งธรรมชาติ ทุกข์ภัยและสรรพโรคเกิดขึ้นก็ตื่นตระหนกตกใจ ตึงเครียด และถูกครอบงำด้วยความความโลภ โกรธ และหลง ทำให้รับมือกับสถานการณ์อย่างมืดบอดเพราะไม่เข้าใจในความเป็นจริงว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดหรือต้องเกิดกับตน เป็นไปตามกรรมที่เคยก่อและกรรมอีกมากมายที่ล่วงมา
.
ข้อความท้ายสุดที่ยกมาจากพระไตรปิฎกข้างต้น ท่านทรงตรัสว่า “ปฏิปทาเป็นไป เพื่อมีโรคน้อย” หมายถึงการปฏิบัติและหนทางเพื่อให้เป็นคนไม่มีโรคมารุมเร้า คือการ “เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์” นั่นก็คือต้องพัฒนาขัดเกลาตนเองให้ลดละเว้นจากการเบียดเบียนชีวิตใดๆ การฝึกตนไม่เป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ มิใช่แค่เพียงละเว้นจากการฆ่าสัตว์เท่านั้น เพราะเรายังอาจเบียดเบียนคนอื่นและสรรพชีวิตทั้งหลายในทางอ้อมอีกหลายหนทางที่ไม่รู้ตัว จึงต้องฝึกตนให้ลดละจากตัณหา คือ ความอยาก และละจากกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายที่จะทำให้เราก่อกรรมเบียดเบียนในทางอ้อมได้
.
ความจริงของโลกที่เราต้องมองให้ถูกต้องอีกข้อหนึ่งคือ เราไม่ใช่เจ้าของชีวิตและไม่ใช่ว่าไม่เป็นเจ้าของชีวิต “เราไม่ใช่เจ้าของชีวิต” เพราะว่าชีวิตดำเนินไปตามกรรมและปัจจัยทั้งหลาย มิใช่เราจะลิขิตหรือเอาตนเป็นศูนย์กลางได้ ชีวิตมีกรรมเป็นเจ้าของ มิใช่อัตตาหรือตัวตนเราอยากเป็นเจ้าของก็จะเป็นได้ แต่ข้อความที่ว่า “ไม่ใช่ว่าไม่เป็นเจ้าของชีวิต” หมายถึงการตัดสินใจและการลงมือทำด้วยกรรมทั้งสามแบบ อันได้แก่ ความคิด คำพูด และการลงมือทำจากตัวเราเองในปัจจุบัน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อกรรมนำชีวิตไปสู่จุดใด
.
ด้วยความไม่เข้าใจในกฎแห่งกรรมและการที่ชีวิตมีกรรมเป็นเจ้าของ ย่อมทำให้รักตัวกลัวตาย เพราะถือว่าชีวิตนี้คือของๆ ฉัน มีฉันเป็นศูนย์กลาง ถือว่าร่างกายนี้เป็นของๆ ฉัน เป็นต้น ทุกขโรคและภัยใดมาเยี่ยมเยือนชีวิต ก็ทำให้ตื่นตระหนกด้วยความกลัว เพราะไม่รู้และยอมรับในความจริง
.
ตามเรื่องราวในพระไตรปิฎก เมื่อพระอธิมุตตเถระ ถูกโจรจับตัวไปได้กล่าวว่า
.
“ดูกรนายโจร ทุกข์ทางใจย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ห่วงใยในชีวิต ความกลัวทั้งปวงอันเราผู้สิ้นสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดใจ) ล่วงพ้นได้แล้ว เมื่อตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพสิ้นไปแล้ว ความกลัวตายในปัจจุบันมิได้มีด้วยประการใดประการหนึ่งเลย ดุจบุรุษไม่กลัวความหนัก เพราะวางภาระแล้วฉะนั้น พรหมจรรย์ (การครองชีวิตปราศจากเมถุน) เราประพฤติดีแล้ว แม้มรรคเราก็อบรมดีแล้ว เราไม่มีความกลัวตายเหมือนบุคคลไม่กลัวโรคเพราะโรคสิ้นไปแล้วฉะนั้น…
.
“ภพทั้งหลายอันไม่น่ายินดีเราได้เห็นแล้วเหมือนบุคคลดื่มยาพิษแล้วคายทิ้งฉะนั้น บุคคลผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ไม่มีความถือมั่น เสร็จกิจแล้ว หมดอาสวะ (กิเลสอันหมักหมม) ย่อมยินดีต่อความสิ้นอายุเหมือนบุคคลพ้นแล้วจากการถูกประหารฉะนั้น บุคคลผู้บรรลุธรรมอันสูงสุดแล้ว ไม่มีความต้องการอะไรในโลกทั้งหมด ย่อมไม่เศร้าโศกในเวลาตาย ดุจบุคคลออกจากเรือนที่ถูกไฟไหม้ฉะนั้น
.
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ก็ดี ภพที่สัตว์ย่อมได้ในโลกนี้ก็ดี พระพุทธเจ้าแสวงหาคุณอันใหญ่ยิ่งได้ตรัสไว้ว่า สิ่งทั้งหมดนี้ไม่เป็นอิสระ ผู้ใดรู้แจ้งธรรมข้อนั้นเหมือนดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อมไม่ยึดถือภพอะไร ดังบุคคลผู้ไม่จับก้อนเหล็กแดงอันร้อนโชน ฉะนั้น ฯ *[๒]
.
คนทั่วไปมักรักตัวกลัวตายเพราะความหมายมั่นต่างๆ ในชีวิตที่ผูกมัดตนเองไว้ในโลกบนความโง่เขลา เพราะไม่รู้จริงว่าสิ่งที่เราพยายามยึดมั่นถือมั่นไว้ มิว่าร่างกาย อารมณ์ ของรักของหวง ฯ ต่างผูกรัดไว้กับตน สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นอิสระ เป็นของทุกข์ร้อนดั่งเผาไฟมา การดูแลกายใจด้วยความโลภ โกรธ และหลง ไม่เรียกว่ารักตัวเองจริง เพราะไปยึดถือในสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ไม่สิ้นสุด
.
คนที่เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ปล่อยวางจากความอยากและการยึดมั่น แลเห็นว่าแม้แต่ร่างกาย อารมณ์ ของรักของหวง ฯ ก็มิใช่สิ่งที่น่าพึงใจหมายมั่นไว้ให้เป็นทุกข์ ย่อมไม่กลัวตาย ย่อมไม่ตื่นตระหนกเมื่อจะต้องตาย เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือแม้แต่โรคระบาดก็ไม่ประสาทเสีย
.
การหมั่นระลึกถึงความเป็นจริงในธรรมทั้งหลายก็จะช่วยให้เราคลายจากความวิตกต่างๆ ซึ่งนำมาสู่ความตึงเครียดและโรคทางจิตทั้งหลาย เพราะช่วยให้ใจเรานั้นไม่ตกอยู่ในร่องของความคิดที่ปรุงแต่งจากความไม่รู้หรืออวิชชา
.
ยังมีความจริงอีกหลายข้อที่เราสามารถน้อมระลึกเป็น “อนุสติ” เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมิให้ความกลัวและกิเลสใดๆ ทำให้เราเป็นทุกข์เสียจนป่วยใจ หรือไม่สามารถรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บอันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตได้อย่างถูกต้อง ความจริงที่พึงระลึกไว้มีหลักสามประการ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง , ทุกขัง เป็นทุกข์และเสื่อมลง และ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน รวมเรียกว่า “ไตรลักษณ์” ผู้ไม่รู้ในประโยชน์ของการมองความจริงให้ถูกต้องก่อน ย่อมถูกความเชื่อ อารมณ์ และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ชักนำลากพาไป
.
เมื่อใดกำลังตื่นตระหนก พึงกลับมารับรู้ความเป็นจริงของชีวิตอย่างมีสติ สัตว์โลกล้วนเป็นไปตามกรรม มิได้เป็นไปตามความอยากใคร่ได้มี ชีวิตมิใช่ของๆ เรา มีกรรมเป็นเจ้าของครอบครองมิได้ แต่เราสามารถก่อกรรมเพื่อให้พ้นไปจากสิ่งที่ไม่เป็นอิสระและทุกข์ร้อนเหล่านี้ได้ในตอนนี้ ในปัจจุบันนี้เท่านั้น
.
.
๒ ความไม่มีโรค คือการพ้นจากอำนาจของกาย :
.
มิใช่ไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือภัยจากธรรมชาติ ที่พึงเห็นว่าเป็นโรค แต่ร่างกายนี้เองที่พึงเห็นเป็นโรค เราไม่ค่อยกล่าวกันว่าไวรัสเป็นโรค เชื้อรา แบคทีเรีย ฯ เป็นโรค ในการพูดสื่อสารทั่วไป แต่เรามักจะพูดกันว่า ฉันเป็นโรค… ร่างกายเป็นโรค… นั่นก็เป็นปริศนาธรรมให้ทายกันในชีวิตประจำวันแล้ว เพราะไวรัสไม่ใช่โรคในทางธรรมะ แต่ร่างกายเรานี้เองที่เป็นโรค และการยึดมั่นในตัวตนฉันนี่เองที่เป็นโรค
.
ไวรัสนั้นมิใช่ศัตรูของเราเลย เชื้อทั้งหลายที่มีชีวิตและคล้ายมีชีวิตก็เพียงเพื่อนร่วมทุกข์บนโลกใบนี้ ต่างต้องการความอยู่รอด ต่างถูกชักนำไปตามกรรมและปัจจัย เช่นเดียวกันกับเรา
.
ในแง่หนึ่งพวกเราเองก็เป็นดั่งไวรัสหรือเชื้อโรคสำหรับโลกนี้ เพราะเราเข้ามาอาศัยร่วม แพร่ขยาย และบั่นทอนให้โลกทรุดโทรมลงทีละน้อยในอัตราเร่ง จนสิ่งทั้งหลายที่เคยพอดี พอเพียง และพอใช้ได้เสียสมดุลไป ทรัพยากรเริ่มขาดแคลน สภาพอากาศแปรปรวน กล่าวได้ว่ากรรมที่พวกเราสร้างขึ้นร่วมกันทำให้โลกป่วยไข้ เราเองจึงเป็นไวรัสหรือเชื้อโรคเช่นกัน
.
ความไม่มีโรค สำหรับคนทั่วไป คือการมีร่างกายที่แข็งแรงและไม่เจ็บป่วย แต่ในทางธรรมะหรือความเป็นจริงแล้ว ความไม่มีโรค คือการพ้นจากอำนาจของร่างกาย ซึ่งเป็นโรคอย่างแท้จริง เหตุใดพุทธศาสนาจึงกล่าวว่า ร่างกายคือโรค ลองพิจารณาจากคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า
.
“กายนี้มีรูป (เป็นวัตถุ) เป็นที่ประชุมมหาภูต (ธาตุ) ทั้งสี่ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมสด ต้องอบและขัดสีกันเป็นนิจ มีความแตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา ท่านควรพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตน
.
“เมื่อท่านพิจารณาเห็นกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตนอยู่ ท่านย่อมละความพอใจในกาย ความเยื่อใยในกาย ความอยู่ในอำนาจของกายในกายได้” *[๓]
.
ร่างกายเป็นโรค ไม่ใช่เพราะมีไวรัสหรือเชื้อใดใดมาราวี แต่ร่างกายเป็นโรคอยู่แล้วตามหลักธรรม เพราะร่างกายนั้นมิใช่ตัวตน ไม่เที่ยงแท้ มีแต่จะเสื่อมลงไป มีแต่ความเป็นทุกข์ และไม่อาจถือมั่นไว้ได้ ตามหลักไตรลักษณ์
.
ความอยู่ในอำนาจของกายในกายคือการหลงยึดหรือพอใจในร่างกาย ทำให้เราหวงแหน กังวลกับรูปร่าง ทำให้กลัวตาย ทำให้คิดว่าเนื้อหนังมังสาอันห่อหุ้มเลือดหนองและกระดูกนี้เป็นตัวตนของฉัน เป็นต้น ทั้งที่ร่างกายเป็นโรค คือมีแต่ความเสื่อมไปมิอาจมีตัวตนเที่ยงแท้ให้พอใจได้เลย
.
การพ้นไปจากร่างกายมิใช่การทำลายร่างกาย ด้วยคำว่ากายหรือร่างกายในทางธรรมมักหมายถึง ร่างกายที่ถูกถือความเป็นตัวฉันและของๆ ฉัน เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ดังคำกล่าวของพระอานนท์ต่อภิกษุณีในกาลหนึ่งว่า “กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหาร… เกิดขึ้นด้วยตัณหา(ความอยาก) อาศัยตัณหา… เกิดขึ้นด้วยมานะ(ความถือตน) อาศัยมานะ” *[๔]
.
การพ้นไปจากร่างกายหมายถึงการไม่ตกอยู่ในอำนาจของความยึดติดและหลงใหล เห็นเป็นเพียงธรรมชาติอย่างถูกต้องตามความจริง เมื่อไม่เห็นเป็นไปตามความจริงอย่างถูกต้องแล้ว เราก็ย่อมเกิดโรคทางจิตใจขึ้น โรคในโลกนี้มีอยู่สองแบบคือ โรคทางกาย (กายิกโรค) และ โรคทางจิตใจ (เจตสิกโรค) ท่านพุทธทาสทรงแบ่งเพิ่มอีกว่านอกจากโรคทางจิตใจแล้ว ก็ยังมีอาการป่วยทางสติปัญญา เรียกว่า โรคทางวิญญาณ ซึ่งโรคทั้งสองอย่างหลังนี้ต่างก็เกิดจากอวิชชาคือการไม่เข้าใจความจริงอย่างที่เป็น
.
โรคทางจิตใจและวิญญาณร้ายกว่าโรคทางร่างกายนัก เพราะโรคทางจิตนี้ทำให้เกิดโรคทางกายอีกที โรคทางกายมิได้เกิดจากเหตุปัจจัยภายนอกอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากอาการป่วยข้างในใจอีกด้วย ซึ่งได้แก่อาการที่เกิดจากโลภ โกรธ และหลงนั่นเอง รวมถึงความเครียด ความกลัว ความหึงหวง ความลังเลสับสน การติดดี การแข่งดี และอกุศลทั้งหลายซึ่งก็ล้วนก่อตัวมาจากกิเลสสามอย่างนั้น เรียกว่า อกุศลมูล
.
โรคร้ายทางจิตทำให้ก่อกรรมย้อนกลับมาเป็นผลร้ายต่อเราในวันหน้า เช่น การใช้ชีวิตที่ไม่พอดี ขาดการดูแลสุขภาพ การคิดวิตกจนเครียด การทำร้ายตนเอง เป็นต้น ด้วยพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจซึ่งนำมาสู่ความเสื่อมโทรมทางร่างกายและสังคมมากขึ้น อาการป่วยทางร่างกายอาจพอรักษาได้ แต่อาการป่วยทางจิตใจรักษายากกว่า แม้รักษากายได้แต่ใจยังป่วยอยู่วันหน้าก็จะป่วยซ้ำเติมมากกว่าเดิม
.
มีชาดกหนึ่งในพระไตรปิฎกกล่าวความว่า “จริงอยู่ คนถูกงูเห่ากัด หมอบางคนก็รักษาหาย คนถูกผีสิง หมอผีที่เก่งบางคนก็ขับออกได้ แต่คนถูกความอยากทำลาย ใครๆ ก็เยียวยาไม่ได้ เพราะว่า คนที่ล่วงเลยกุศลธรรมแล้วจะเยียวยาได้อย่างไร” *[๕]
.
ความป่วยทางจิตใจที่เราทุกคนก็มีเชื้ออยู่ในตัว ทำให้เราวุ่นวายกับการพยายามเป็นผู้ไม่มีโรคอย่างผิดๆ เพราะความกลัวและความระแวงในสิ่งรอบตัว มิว่าจะเป็นเชื้อไวรัสแบคทีเรียทั้งหลาย เหตุการณ์ไม่พึงใจ ธรรมชาติ หรือแม้แต่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยคิดว่านั่นคือโรค นั่นคือปัญหา ทั้งที่โรคและปัญหาที่แท้จริงคือร่างกายที่เราลุ่มหลง อาการป่วยทางจิตและวิญญาณที่เรียกว่า กิเลส และการรับรู้โลกที่ขาดสติไม่ถูกต้องตามความจริง นี่คือโรคที่เราต้องดูแลรักษาและระแวดระวังยิ่งกว่าไวรัสตัวใด
.
การที่จะรักษาโรคใดๆ ได้ เราต้องรู้ว่าความป่วยนั้นอยู่ที่ใด เชื้อโรคที่ว่าอยู่ตรงไหนเพื่อจักรักษาอย่างถูกต้อง โรคทางจิตก็เช่นเดียวกัน เราจะเยียวยาตนเองจากความป่วยภายในที่ชื่อว่ากิเลสนี้ พึงทราบว่าโรคนี้เกิดขึ้นที่ใด จะว่าอยู่ที่ใจก็ไม่เชิง จะว่าอยู่ข้างในก็ไม่ใช่เพราะข้างในก็เป็นเพียงเลือดเนื้อหนอง คำตอบที่ถูกต้องคือเกิดขึ้นบนการรับรู้ และการปรุงแต่ง รวมเรียกว่า ขันธ์ห้า ดังคำตรัสด้านล่างนี้
.
“ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งรูป (ภาพ รส กลิ่น เสียง สัมผัส และสิ่งที่เรารับรู้ด้วยอวิชชา) นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชราและมรณะ. ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งเวทนา (อารมณ์) ฯลฯ แห่งสัญญา (ความจำได้และเคยชิน) ฯลฯ แห่งสังขาร (การคิดปรุงแต่ง) ฯลฯ แห่งวิญญาณ (การรู้) นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชราและมรณะ
.
“ความดับโดยไม่เหลือ ความสงบระงับความดับสูญแห่งรูป นี้เป็นความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นความสงบระงับแห่งโรค เป็นความดับสูญแห่งชราและมรณะ. ความดับโดยไม่เหลือ ความสงบระงับ ความดับสูญแห่งเวทนา ฯลฯ แห่งสัญญาแห่งสังขาร ฯลฯ แห่งวิญญาณ นี้เป็นความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นความสงบระงับแห่งโรค เป็นความดับสูญแห่งชราและมรณะ” *[๖]
.
ร่ายกายจิตใจที่คิดว่าเป็นตัวตนของเรา ล้วนประกอบด้วยขันธ์หรือองค์ประกอบทั้งห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ขันธ์ที่ถูกยึดถือไว้ในความมีตัวตนและเป็นของตนเรียกว่า “อุปาทานขันธ์” ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรคทางจิตและวิญญาณ
.
เราจะไปพ้นจากโรคอย่างแท้จริง เราต้องสงบและระงับการรับรู้ที่ขาดสติและการยึดถือร่างกายว่าเป็นของฉัน เป็นตัวตนฉัน เพราะการรับรู้อย่างลุ่มหลงและมืดบอดเป็นปัจจัยทำให้มีอารมณ์ การคิด และการปรุงแต่งไปในทางที่ก่อทุกข์ นำไปสู่ความเสื่อมโทรมและความตาย นี่คือความป่วยเพราะโรคทางจิตและวิญญาณ มิใช่เพราะไวรัสหรือเชื้อใดใดเลย การปรุงแต่งและยึดมั่นนั่นเองคือเชื้อโรคที่แท้จริง
.
นอกจากพึงเห็นกายเป็นดังโรคแล้ว อารมณ์กับความน่าพอใจก็เป็นโรคอย่างหนึ่ง เป็นความป่วยที่คนเราเฝ้าถวิลหาและไขว่คว้าอย่างไม่รู้ว่ามันนำมาสู่ความทุกข์มากเพียงใด ก็ด้วยเพราะขาดการมองเห็นอารมณ์ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงเช่นเดียวกันกับร่างกาย
.
หากว่า “เห็นอารมณ์เป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค… ย่อมทำตัณหาให้เจริญขึ้น… ย่อมทำอุปธิ (สภาวะกลั้วกิเลส) ให้เจริญขึ้น… ย่อมทำทุกข์ให้เจริญ … ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ (โศกเศร้า) ปริเทวะ (อาลัยคร่ำครวญ) ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส (แค้นเคือง) เรากล่าวว่า เขาย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ
.
หากว่า “เห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของไม่
เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค
โดยความเป็นภัย… ย่อมละตัณหาได้… ย่อมละอุปธิได้… ย่อมละทุกข์ได้… ย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นจากทุกข์ได้” *[๗]
.
หากเราไม่ต้องการป่วยเป็นโรคทางจิตและวิญญาณ พึงมองร่างกายและอารมณ์อันน่าใคร่น่าพอใจทั้งหลาย ให้เห็นความจริงดังข้อคิดเหล่านี้ พึงระลึกและเฝ้าสังเกตให้เห็นว่าร่างกายและอารมณ์หรือความน่าพอใจทั้งหลาย เป็นโรค เป็นภัย ไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนอันยึดครองได้อย่างไร เราจะมีสุขภาวะทางจิตและวิญญาณดี เป็นอิสระจากการยึดถือให้เป็นทุกข์ ร่างกายก็จะไม่ถูกโรคทางจิตทำให้ทรุดโทรม แม้ป่วยหรือเผชิญกับโรคทางกายก็จะไม่หวั่นไหวเศร้าโศก
.
กล่าวได้ว่าทุกคนแสวงหาสุขภาวะทางกายใจที่แข็งแรงและหนทางไปพ้นจากความทุกข์ความป่วยไ้ข้ทั้งหลาย เรียกว่า ความไม่มีโรคและนิพพาน หากเราปรารถนามีสุขภาวะอนามัยที่แข็งแรงอย่างยั่งยืนแท้จริง ต้องไปพ้นจากการเชื่อแบบคนทั่วไปว่า สุขภาพดีคือการมีร่างกายที่แข็งแรง ความไม่มีโรคคือการไม่มีเชื้อโรคหรือความเจ็บป่วย ความสุขสบายใจคือความพ้นจากทุกข์ ซึ่งยังเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถ่องแท้
.
“กายนี้แลเป็นดังโรคเป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ ท่านนั้น (นักบวชชื่อ มาคัณฑิยะ) กล่าวว่า… ท่านพระโคดม ความไม่มีโรคนั้นคืออันนี้ (ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง) นิพพานนั้นคืออันนี้ (จิตใจที่สุขสบาย) ก็ท่าน (มาคัณฑิยะ) ไม่มีจักษุของพระอริยะ อันเป็นเครื่องรู้ความไม่มีโรค อันเป็นเครื่องเห็นนิพพาน (จึงหลงผิดไปยึดถือในร่างกายและความสุขใจ)” *[๘]
.
.
๓ สุขอนามัยวิถีพุทธ บนหลักแปดประการ :
.
“ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง บรรดาทางทั้งหลายอันให้ถึงอมตธรรม ทางมีองค์แปดเป็นทางเกษม” *[๘]
.
ใจความสำคัญของพุทธสุภาษิตดังกล่าว ไม่ใช่เพียงความไม่มีโรคและนิพพานเป็นสิ่งที่ประเสริฐเท่านั้น แต่ท่านทรงสอนว่า ทางแปดประการเป็นทางที่ดีที่สุดในการเข้าถึงความไม่มีโรคและนิพพาน ทางแปดประการที่ว่าก็คืออริยมรรค หรือมรรค ๘ นั่นเอง
.
มุมมองที่ถูกต้องและเหมาะสม (สัมมาทิฏฐิ) คือข้อแรกในมรรค ๘ ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญมากที่สุด มุมมองที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับสุขอนามัยวิถีพุทธ คือการตระหนักถึงกฎแห่งกรรม สัตว์โลกล้วนเป็นไปตามกรรม ทำสิ่งใดได้รับผลเช่นนั้น การทำกรรมเบียดเบียนย่อมพาความเบียดเบียนมาถึงตัว การจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในเรื่องต่างๆ ของชีวิต รวมทั้งความเข้าใจอย่างถูกต้องในไวรัส สถานการณ์ หรือทุกข์ภัยต่างๆ ที่เกิดอย่างถูกต้องรอบด้านมิหลงไปกับกระแสข่าวสารหรือความเชื่อหนึ่งใด
.
ดังที่กล่าวไว้ในข้อแรกและข้อที่สองของบทความว่า การมีมุมมองที่ถูกต้อง ยังคือการเห็นไตรลักษณ์ของร่างกาย อารมณ์ สิ่งที่รับรู้และสิ่งที่น่าพึงพอใจ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน การมองโลกอย่างถูกต้องก็ช่วยให้ไม่เกิดโรคทางจิตและวิญญาณที่พาร่างกายป่วยไปกับการกระทำที่ไม่เหมาะสมทั้งหลายด้วยการคิด การพูด และการกระทำ จิตก็จะหน่ายไม่มัวไปทุกข์และป่วยไข้กับสิ่งที่ไม่ยั่งยืนทั้งหลายบนโลกใบนี้ โรคภัยหรือความตายมาใกล้ก็ไม่หวั่นไหวขลาดกลัวเพราะรู้แก่ใจว่าความจริงเป็นอย่างไร
.
ประการที่สองของมรรคนี้คือ การคิดหรือความคิดที่ถูกต้องเหมาะสม (สัมมาสังกัปปะ) เมื่อรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ โรคระบาด หรือปัญหาใด พึงใช้โยนิโสมนสิการ คิดไตร่ตรองอย่างมีสติและรอบคอบ ไม่พึงใช้อารมณ์โดยเฉพาะความโลภ โกรธ และหลงชักนำความคิด เพราะจะทำให้เรารับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยใจที่ป่วยไข้และการคิดที่สุดโต่ง
.
การคิดที่ถูกต้องและเหมาะสมยังหมายถึงการคิดอย่างพอดี ไม่คิดมากเกินไปจนวิตก และไม่คิดน้อยเกินไปจนประมาท แล้วไม่ควรคิดเพียงแค่มุมมองเดียวควรเผื่อใจว่าสิ่งที่คิดอาจไม่ถูกต้องก็ได้ การคิดในวิถีพุทธไม่ใช่การคิดแง่บวกอย่างเดียว และไม่ใช่การคิดแง่ลบอย่างเดียว แต่เป็นการคิดที่สอดคล้อง รอบคอบ และเป็นกลาง การคิดที่สุดโต่งย่อมนำความทุกข์และความป่วยมาสู่กายใจตนเอง คิดแต่แง่ลบก็ย่อมหม่นหมองไปด้วยความโกรธและความหลง คิดแต่แง่บวกแล้วใช่จะมีความสุขหรือสุขภาพที่ดีเสมอไป อาจดีในตอนนี้แล้วย่ำแย่ในภายหน้าก็ได้ หรือโดนอำนาจของความโลภและความหลงครอบงำ
.
ลำดับต่อมาคือ การสื่อสารที่เหมาะสมและพอดี (สัมมาวาจา) หากคุยกันไม่พอก็ย่อมเกิดปัญหาในความสัมพันธ์และในการทำงาน นำมาสู่ความเจ็บไข้ได้ป่วยทางจิตใจตามมา สื่อสารกับแพทย์ไม่ถูกต้องก็นำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาที่ไม่เหมาะสม การสื่อสารน้อยเกินไปย่อมทำให้เก็บความรู้สึกต่างๆ ไว้ภายในจิตใจ ย่อมนำมาสู่ความอัดอั้นและความหม่นหมองตามมา หรือทำให้เราแบกรับเรื่องราวต่างๆ ไว้ลำพัง ความเครียดก็ย่อมรบกวน สุขภาพก็แปรปรวน
.
การสื่อสารนอกจากการพูดคุยแล้ว การรับข้อมูลข่าวสาร การส่งต่อข้อมูลข่าวสาร และแม้แต่การโพสต์ต่างๆ ก็เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง มากเกินไปหรือเป็นไปอย่างขาดสติก็ย่อมเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มิว่าด้วยการพูดหรือการพิมพ์ข้อความก็ตาม หรือมัวหมกมุ่นในโลกของการสื่อสารก็ไม่มีเวลาได้ดูแลตนเองอย่างแท้จริง ย่อมเสื่อมเสียในสุขภาพกายจิตลงทีละน้อย
.
ข้อที่สี่คือ การปฏิบัติและการใช้ชีวิตที่เหมาะสม (สัมมากัมมันตะ) หากปรารถนาห่างไกลโรค พึงทำตามหลักสุขอนามัยพื้นฐาน ใส่ใจความสะอาด สำรวมระวังในการไม่เป็นผู้เผยแพร่เชื้อโรค หลีกเลี่ยงพื้นที่ การกระทำ และวัตถุที่เสี่ยงต่อการนำเชื้อโรค ความเจ็บป่วย หรือการบั่นทอนสุขภาพ ทั้งอาหารการกิน การเดินทางท่องเที่ยว การดื่มเสพ และการมั่วสุมทั้งหลายที่อาจเรียกว่าเป็นที่อโคจร คือ ไม่ควรไป ไปแล้วไม่ส่งเสริมจิตใจ ไปแล้วทำร้ายร่างกาย เป็นต้น
.
การใช้ชีวิตที่เหมาะสมให้ตามหลักสุขอนามัยวิถีพุทธ พึงใส่ใจตนเองในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสมในชีวิตประจำวัน ทั้งการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย การทานอาหาร ดูแลสุขภาพจิตใจ การฝึกฝนทำสมาธิ การมีงานอดิเรกที่ช่วยอุ้มชูใจ ฯ ไม่ใช้ชีวิตอย่างสุดโต่งไปในเรื่องใดมากเกินไป แบ่งเวลาในการทำกิจต่างๆ ให้สมดุล
.
ข้อที่ห้าคือ การทำงานอย่างพอดีและเหมาะสม (สัมมาอาชีวะ) บ้างานมากเกินไปก็ป่วยง่าย ไม่ใส่ใจงานก็นำมาสู่สุขภาพจิตที่แย่ลงในภายหลังจากความผิดพลาดและการไม่เห็นคุณค่าในตนเอง การทำงานดีแต่แบ่งเวลาไม่เป็นก็อาจทำให้ขาดการพักผ่อนหรือละเลยด้านสำคัญอื่นๆ ของชีวิต ทำงานอย่างเดียวไม่ออกกำลังกายไม่ฝึกฝนดูแลจิตใจก็ป่วยได้ ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ชวนหม่นหมองก็ไม่ส่งเสริมสุขภาวะทั้งกายใจ
.
ทำงานให้ส่งเสริมสุขอนามัย ไม่ต้องคำนึงถึงรายได้และกำไรเป็นหลัก นอกจากใส่ใจความสะอาด ความเรียบร้อย และความรอบคอบ ต้องทำงานให้ได้ดูแลจิตใจไปด้วย คือทำอย่างเรียนรู้ ทำอย่างผ่อนคลาย ทำอย่างเห็นคุณค่าและมีความสุข ทำในหน้าที่ต่างๆ อย่างพอดีและเกิดประโยชน์ ส่วนใดไม่เกิดประโยชน์ไม่พึงใส่ใจก็ไม่ควรใส่ใจให้ป่วยไข้ หากงานที่ทำมิได้ส่งเสริมการเติบโตใดๆ ของจิตใจเรา หรือไม่เกิดคุณค่าใดๆ ต่อตนเองและสังคม การพิจารณาเปลี่ยนงานใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่ควรพิจารณา ควรเลือกทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพกายใจของตนเองและคนรอบข้างให้งอกงามขึ้น มิใช่เพื่อเป้าหมายใดเพียงอย่างเดียว
.
อีกประการที่สำคัญคือ ความเพียรที่พอดี (สัมมาวายามะ) ความเพียรหมายรวมถึงความขยันขันแข็ง ความมีวินัย และความมุ่งมั่นตั้งใจ ร่างกายที่ป่วยง่ายส่วนหนึ่งก็มาจากการขาดความกระฉับกระเฉงเพราะไม่ขยันขยับเขยื้อน แต่ขยันมากเกินควร ขยับมากเกินไปก็บีบคั้นตนเอง มุ่งหมายไขว่คว้าสิ่งใดในชีวิตมากก็นำมาสู่ความเครียดและโรคต่างๆ มากมาย แต่ถ้าขาดความเพียร ไม่มีวินัยแล้ว ก็นำมาสู่การเจ็บไข้ได้ป่วยได้เช่นกัน มิว่าเกิดจากการไม่เห็นคุณค่าในตนเองหรือเกิดจากการขาดความรอบคอบ เป็นต้น
.
เราพึงตรวจสอบว่าความเพียรที่มีในชีวิตช่วงนี้เป็นไปอย่างส่งเสริมสุขภาพกายจิตมากเพียงใด เราขยันเกินไปกับเรื่องไม่ควรขยันหรือไม่ ขี้เกียจกับสิ่งที่พึงใส่ใจและมีข้ออ้างต่างๆ มากหรือเปล่า เราได้ใช้ความเพียรในการดูแลความแข็งแรงทางร่างกายและจิตใจมากเท่ากับเรื่องอื่นๆ หรือไม่ ควรมีความเพียร วินัย และความขยันในเรื่องใดมากขึ้น
.
การมีสติที่ถูกต้อง (สัมมาสติ) คือข้อที่สำคัญอีกข้อหนึ่งในหลักแปดประการ การมีสติเพื่อมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง คือความไม่ประมาท คือการรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร รู้สึกอย่างไร มากหรือน้อยไปในการกระทำนั้นๆ กินมากเกินไปหรือกินน้อยเกินไปอย่างไรก็รู้ด้วยสติ สติเป็นตัวกลางที่สำคัญช่วยกำกับดูแลมิให้ใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ อย่างหย่อนยานหรือตึงเครียดมากเกินไป การมีสติเพื่อป้องกันตัวจากโรค คือการอยู่กับปัจจุบันให้เป็น ไม่ปล่อยใจไปหมกมุ่นหรืออาลัยกับอดีตที่ล่วงไปแล้ว อนาคตที่ยังมาไม่ถึง หรือในสื่อข้อมูลข่าวสารต่างๆ การอยู่กับความเป็นจริงตรงหน้า ทำให้เราดูแลร่างกาย จิตใจ ผู้คนรอบข้าง และสิ่งที่มีอย่างเห็นคุณค่าและเหมาะสม
.
การมีสมาธิอย่างพอดีและการฝึกสมาธิในชีวิตประจำวัน (สัมมาสมาธิ) คือข้อสุดท้ายในมรรค ๘ ประการ สมาธิคือการใส่ใจ การจดจ่อ การมีจิตที่รวมศูนย์ไม่กวัดแกว่งเสส่าย การมีสมาธิที่ไม่ถูกต้องและไม่พอดีคือการจดจ่ออย่างหมกมุ่น หรือจดจ่อกับสิ่งที่ไม่ควรจดจ่อ และการไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน สมาธิเป็นเหมือนเกราะที่คอยปกป้องเราจากกิเลสและอารมณ์ทั้งหลาย หากสมาธิน้อยจิตใจก็ถูกรบกวนง่าย ทำให้การใช้ชีวิต ความคิด วาจา และการกระทำเป็นไปอย่างไม่ส่งเสริมสุขภาวะ เพราะความโลภ โกรธ และหลงชักนำ หากเรามัววิตกกับข้อมูลข่าวสารมากมายเกี่ยวกับสถานการณ์ร้ายหรือโรคระบาดที่เกิด นั่นก็เป็นเพราะว่าจิตขาดสมาธิ ไม่ตั้งมั่นไม่แข็งแรง หรือเอาสมาธิไปจดจ่อกับความกังวล ความกลัว และความหวาดระแวง จนไม่สามารถรับมือกับความเป็นไปธรรมดาของโลกด้วยปัญญาหรือความเข้าใจได้
.
การฝึกสมาธิภาวนาในชีวิตประจำวันคือหนทางเดียวในการมีสัมมาสมาธิในชีวิตประจำวันได้ ในหลักสุขอนามันวิถีพุทธนี้ การมีสมดุลระหว่างงานกับชีวิต หรือเรียกว่า Work-Life Balance ไม่เพียงพอ ต้องเป็น Work-Life-Medtation Balance จะเพียงพอมากกว่า ต้องมีการฝึกสมาธิและเจริญสติในชีวิตประจำวันจึงจะเรียกว่าเป็นชีวิตที่สมดุล ส่วนวิธีการฝึกสติและสมาธิในชีวิตประจำวันนั้นสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความตอนก่อนๆ ของคอลัมน์ ไกด์โลกจิต และสื่อออนไลน์ของโครงการ ปัญญ์ สเปซ
.
หนทางทั้งแปดประการนี้คือหนทางของสุขอนามัยวิถีพุทธที่ผู้ปรารถนามีสุขภาพกายจิตที่แข็งแรงพึงปฏิบัติตาม พึงใส่ใจดูแลให้มีและพอดี เพื่อความเป็นผู้ไม่มีโรคทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อเป็นอิสระจากความทุกข์จากความป่วยไข้ทางจิตและวิญญาณ เพราะเป็นทางของชีวิตที่สมดุลและเป็นกลาง ซึ่งมิได้เป็นทางสายเดียวแต่เป็นถนนที่มีแปดเลน หรือแปดเรื่องที่ต้องดูแลควบคู่ไปด้วยกัน เพราะสุขภาพคือความสมดุล เมื่อหนึ่งในแปดอย่างนี้ขาดพร่องไป ชีวิตย่อมเสียสมดุล สุขภาพย่อมแย่ลง
.
.
๔ ยาระงับสรรพโรค เจ็ดเครื่องยาหนึ่งคาถา :
.
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ให้คาถาเป็นสูตรปรุงยาระงับโรคทั้งหลาย เป็นคำกลอนไว้ *[๙] ดังนี้
.
“ต้น “ไม่รู้-ไม่ชี้” นี่เอาเปลือก
ต้น “ช่างหัวมัน” นั้นเลือก เอาแก่นแข็ง
“อย่างนั้นเอง” เอาแต่ราก ฤทธิ์มันแรง
ต้น “ไม่มีกู-ของกู” นี้แสวง เอาแต่ใบ
ต้น “ไม่น่าเอา-ไม่น่าเป็น” เฟ้นเอาดอก
“ตายก่อนตาย” เลือกออก ลูกใหญ่ ๆ
หกอย่างนี้ อย่างละชั่ง ตั้งเกณฑ์ไว้
“ดับไม่เหลือ” สิ่งสุดท้าย ใช้เมล็ดมัน
หนักหกชั่ง เท่ากับ ยาทั้งหลาย
เคล้ากันไป เสกคาถา ที่อาถรรพณ์
“สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” อัน
เป็นธรรมชั้น หฤทัย ในพุทธนาม
จัดลงหม้อ ใส่น้ำ พอท่วมยา
เคี่ยวไฟกล้า เหลือได้ หนึ่งในสาม
หนึ่งช้อนชา สามเวลา พยายาม
กินเพื่อความ หมดสรรพโรค เป็นโลกอุดร”
.
ความ “ไม่รู้ ไม่ชี้” ที่ท่านกล่าว ไม่ใช่การไม่สนใจอะไรเลย มีโรคระบาดหรือทุกข์ก็ไม่สนใจไยดี นี่ไม่ใช่ แต่หมายถึงการไม่คอยจ้ำจี้ หมกมุ่น วิตกไม่เข้าเรื่อง เหมือนคอยชี้อย่างนั้นชี้อย่างนี้ และการทำตนเหมือนรู้ไปหมดหรือต้องรู้ไปหมด ซึ่งก็เป็นเหตุของความป่วยไข้ทางใจ และไม่ช่วยให้เรารับมือกับโรคภัยใดได้ดี
.
เนื่องจากยังไม่ใช่ตัวยาที่สำคัญที่สุดจึงแค่เลือกเอาเปลือกก็พอ เช่นเดียวกันกับตัวยาต่อมาคือ “ช่างหัวมัน” หมายถึงการปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติ นั่นคือกฎแห่งกรรม หรือเรียกว่าตามหลัก “อิทัปปัจจยตา” คือเป็นไปตามเหตุของปัจจัย ท่านเปรียบเหมือนการเอามันมาวางไว้บนเครื่องชั่ง คือไม่ต้องแบกไว้หรือเอาไว้บนหัวตนเอง
.
“อย่างนั้นเอง” หรือบาลีว่า ตถตา หมายถึง มันก็เป็นเช่นนั้นเอง เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าฉันอยากให้เป็นอย่างไร ท่านกล่าวในคำกลอนว่า ฤทธิ์ยาตัวนี้มันแรง คือเป็นธรรมหรือความจริงที่สุดแล้ว ถ้าเข้าใจก็วางจากทุกข์ได้เลย
.
“ไม่มีตัวกู-ของกู” คือการไม่ถือว่าร่างกาย สิ่งเหล่านั้น หรือสิ่งที่หวงแหนวิตกไป เป็นตัวตนของฉัน เป็นของๆ ฉัน ซึ่งตามความจริงก็มิเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว แต่เราไปถือเอาเองด้วยกิเลส สักยะทิฐิ คือการถือเอาว่ามันมีตัวฉัน มันเป็นของฉัน เมื่อถือมั่นไว้ด้วยการเห็นผิดมันไปมันก็เป็นทุกข์ วางลงได้มันก็ไม่มีทุกข์ให้เกิดขึ้น
.
“ไม่น่าเอา-ไม่น่าเป็น” ก็เช่นเดียวกัน คือการเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น แม้แต่ร่างกายนี้ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นโรคอย่างที่กล่าวไว้ ไม่มีอะไรที่น่าหมายมั่นและอยากได้เอาไว้เลย และตัวยานี้ก็ยังหมายถึงว่า ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจของ ตัณหาอุปาทาน ตัณหาคือความอยาก หรือในกลอนคือคำว่า น่าเอา ส่วนอุปาทานก็ความยึดติดว่าเป็น ถ้าละจากตัณหาและอุปาทานได้ ใจก็สงบไม่กลัวเกรงต่อทุกข์และโรคภัยใด
.
“ตายก่อนตาย” คือการฝึกระงับดับในอารมณ์ การปรุงแต่ง และการเข้าถึงความว่างจากการถือมั่น ในชีวิตประจำวัน เปรียบเหมือนดับหรือตายจากกิเลส ก่อนที่ความตายจะมาถึง ข้อนี้ฟังเหมือนอยากแต่ที่จริงแล้วเรามีภาวะตายก่อนตายได้ทุกวันและแทบทุกชั่วโมง เมื่อใดก็ตามที่จิตมิได้ปรุงแต่งไปตามอำนาจของความอยากและการยึดติด เมื่อนั้นจิตก็เข้าถึงความว่างในชั่วขณะหนึ่งแล้ว
.
“ดับไม่เหลือ” คือการฝึกฝนเพื่อความดับจากอวิชชาและการถือมั่นในตัวตน อันเป็นเหตุแห่งกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลาย เมื่อสิ่งเหล่านี้ดับไป กิเลส การเกิดทุกข์ และความเศร้าหมองทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น เท่ากับดับไปไม่เหลือ
.
บาลีท่อนหนึ่งที่ท่านยกขึ้นมาในคาถาคำกลอน คือพุทธสุภาษิตว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” หมายถึง ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่นไว้ ธรรมในที่นี้หมายถึง สภาวะที่เกิดขึ้น ความเป็นธรรมชาติความเป็นธรรมดาและความเป็นจริงทั้งหลายทั้งปวง ล้วนแล้วไม่ควรยึดมั่นถือไว้ ท่านพุทธทาสกล่าวว่า สุภาษิตท่อนนี้เป็น ธรรมชั้นหฤทัย คือคำสอนที่เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่ง และเป็นส่วนผสมของยาที่สำคัญมากที่สุดในสูตรยานี้ เป็นคาถาในการปรุง
.
เป็นความจริงที่เราพึงตระหนักไว้อยู่เสมอๆ ว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่นไว้ ร่างกายนี้ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง จิตใจอารมณ์ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ของน่ารักของน่าหวง คนน่าพึงใจ สภาวะใดๆ ที่ปรารถนา ก็เป็นเพียงธรรมอย่างหนึ่ง คือธรรมชาติ ไม่ควรถือมั่นไว้
.
ห้าตัวยาแรกท่านเปรียบเหมือนเปลือก แก่น ราก ใบ และดอก ส่วนที่เหลือเป็นดั่งลูกผล เมล็ด และคาถาในการปรุงยา เพราะห้าอย่างแรกเป็นการปรับความคิดให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ผ่านคำพูดคำสอนที่กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ สำหรับคนทั่วไป โดยอีกสามอย่างนั้นเป็นการปฏิบัติและมรรคผล เพื่อดับความมีโรคของกายใจนี้
.
เราอาจคิดรู้สึกว่ามันยากหรือห่างไกล แต่ท่านก็แนะนำในคำกลอนว่า “จัดลงหม้อ ใส่น้ำ พอท่วมยา เคี่ยวไฟกล้า เหลือได้ หนึ่งในสาม หนึ่งช้อนชา สามเวลา พยายาม กินเพื่อความ หมดสรรพโรค เป็นโลกอุดร” ท่านเปรียบกับการต้มยาโบราณ หมายถึงให้หมั่นทบทวนไว้ ทีละเล็กทีละน้อย เคี่ยวไฟกล้าคืออดทน ค่อยๆ ฝึกฝน พึงระลึกตรึกเตือนตนตลอดทั้งวัน เมื่อเผลอไปใจติดโรคก็นึกถึงฉลากยาสูตรนี้ และกระทำด้วยกาย วาจา และใจให้หมดจากการเป็นโรคตามคำแนะนำทั้งเจ็ดตัวยาหนึ่งคาถา
.
ยึดมั่นไว้นั่นก็เป็นทุกข์ หลงไปหมายมั่นไว้นั่นก็เป็นโรค ทุกข์ภายนอก โรคระบาด ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย และสิ่งนอกตัวใดๆ ไม่ใช่ศัตรูอันแท้จริง มิใช่สิ่งที่พึงกลัวและระแวงอย่างแท้จริง แต่เป็นเหตุแห่งโรคทางจิตและวิญญาณที่มีอยู่ในตัวเรานี้ ซึ่งทำให้เราตื่นกลัวแล้วรับมือกับสิ่งที่เกิดอย่างมืดบอด โลภ โกรธ หลง และ เป็นทุกข์
.
ธรรมะหรือข้อคิดเหล่านี้คือตัวยาชั้นดีในการคลี่คลายสรรพโรคที่เราติดเชื้อมาทางจิตและวิญญาณจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากมายอย่างขาดสติ จากการคิดปรุงแต่งไปอย่างไม่เข้าใจความจริง และยังเป็นเหมือนหน้ากากอนามัยป้องกันตนจากการมีกิเลสในลมหายใจอีกด้วย ธรรมะอาจมิได้ฆ่าเชื้อโรคใดใด แต่การมีธรรมะประจำใจทำให้เราไม่เป็นทุกข์แม้ต้องอยู่กับเชื้อโรคและความไม่เที่ยงแท้ต่างๆ แม้ความตายอยู่ตรงหน้าก็มิทำให้เราหวั่นไหว
.
ความไม่มีโรคคือสิ่งที่ดี ความดับจากทุกข์เป็นสิ่งที่ประเสริฐ แต่เราไม่อาจได้มาหรือไปถึงด้วยกิเลส ความกลัว ความโกรธ หรือความเกลียดชัง ไขว่คว้าด้วยตัณหาความอยากมากเพียงใดก็ยิ่งไกลห่าง ยึดมั่นด้วยอุปาทานหนาแน่นเท่าใดก็ไม่ยั่งยืน มีแต่การดำรงอยู่ในธรรมะและหลักคิดที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่านั้น อยู่ด้วยความสงบเย็น กระทำด้วยกาย วาจา และใจที่เป็นประโยชน์ จึงพาไปสู่ความไม่มีโรคและการดับจากทุกข์อย่างแท้จริง
.
.
อนุรักษ์ ครูโอเล่
คอลัมน์ ไกด์โลกจิต ตอนที่ ๕๑

 

> > > อ่านบทความคอลัมน์ไกด์โลกจิต :
www.dhammaliterary.org/คอลัมน์-ไกด์โลกจิต/
.
> > > สามารถสนับสนุนกิจกรรมและบทความ ผ่านการเข้าร่วมคอร์สของเรา
www.dhammaliterary.org/คอร์สการอบรม/

 

*๑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ๕. จูฬกัมมวิภังคสูตร (๑๓๕) [๕๘๐]
*๒ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา เถรคาถา วีสตินิบาต ๑. อธิมุตตเถรคาถา
*๓ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. ทีฆนขสูตร [๒๗๒]
*๔ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๑๕๙]
*๕ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ ๘. กามนีตชาดก (๒๒๘)
*๖ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ๑๐. ขันธสูตร [๔๙๗]
*๗ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ๖. สัมมสสูตร [๒๖๐]
*๘ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒๘๘]
*๙ ปาฐกกถาธรรม ประจำวันเสาร์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ แสดง ณ สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี